เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนบังเอิญเจอผลงานศิลปะอันน่าสนใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของศิลปินคนโปรดที่สุดคนหนึ่ง ที่สำคัญ ผลงานชิ้นนี้ยังบังเอิญพ้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันอย่างน่าประหลาด เลยอยากเอาเรื่องราวของผลงานชิ้นนี้มาเล่าสู่กันฟัง ผลงานที่ว่านี้มีชื่อว่า
Perspective: le balcon de Manet (Perspective: Manet’s Balcony), 1950
ภาพวาดสีน้ำมันของ เรอเน มากริตต์ (René Magritte) จิตรกรชาวเบลเยียม หนึ่งในศิลปินชั้นนำแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (surrealsim) ผลงานของเขามีรายละเอียดอันโดดเด่นเหนือธรรมดา และเต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกประหลาดน่าพิศวงจนดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้แต่ในความฝันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพขบวนรถจักรไอน้ำที่พุ่งออกมาจากเตาผิง (Time Transfixed, 1938) หรือภาพก้อนหินขนาดมหึมาที่มีปราสาทสถิตอยู่บนยอด กำลังล่องลอยอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆบนท้องฟ้าราวกับไร้น้ำหนัก (The Castle of the Pyrenees, 1959)
ในทางกลับกัน เขากลับซ่อนจินตนาการอันโลดโผนพิสดารเอาไว้ภายใต้บุคลิกเรียบร้อย สุขุม เงียบขรึม ท่ามกลางเหล่าเพื่อนพ้องศิลปินร่วมขบวนการที่ต่างก็มีบุคลิกโดดเด่นแปลกประหลาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินสุดซ่าอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี ที่มีบุคลิกตรงข้ามกับมากริตต์ราวฟ้ากับเหว) เขาเร้นกายจากแสงไฟสาดส่องราวกับเป็นบุคคลปริศนา เช่นเดียวกับภาพวาดตัวเขากับเงาสะท้อนในกระจกที่หันให้เห็นแต่ข้างหลัง (La Reproduction interdite (Not to Be Reproduced), 1937) แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายโลกแห่งความเป็นจริงด้วยสิ่งที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาในผลงานศิลปะของเขาตลอดมา
ส่วนภาพวาดที่เรากำลังจะพูดถึงในตอนนี้อย่าง Perspective II, Manet’s Balcony (หรือที่ผมตั้งชื่อให้เองว่า “โลงมองดูบนระเบียง” เหมือนเวลาเราเพี้ยนเสียงในภาษาฝรั่งเศสสมัยเรียนมัธยมปลาย) ชิ้นนี้เองก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่ต่างกับผลงานชิ้นอื่นๆ ของมากริตต์ นั่นก็คือการหลอมรวมระหว่างความจริงกับความฝันเข้าด้วยกันจนไม่อาจแยกแยะ รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวและวัตถุที่แฝงความคิดอันคลุมเครือ ชวนให้ตั้งคำถามและตีความไปต่างๆ นานา
เดิมทีมากริตต์ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้จากผลงาน Le balcon (The Balcony), 1869 ของศิลปินชาวฝรั่งเศส เอดูอาร์ มาเน (Édouard Manet) ที่เป็นภาพของสุภาพสตรีในชุดขาวสองคนนั่งเหม่อมองอะไรสักอย่างอยู่บนระเบียง โดยมีสุภาพบุรุษในชุดสากลคนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลัง และอีกคนหันมามองจากข้างในห้อง (ซึ่งอันที่จริงมาเนเองก็ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้มาจากภาพวาด Las majas en el balcón (Majas on a Balcony), 1814 ของศิลปินเอกชาวสเปน ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) อีกทอดหนึ่งเหมือนกัน)
มากริตต์จำลองภาพวาดของมาเนภาพนี้ออกมาในรายละเอียดเดิมแทบไม่ผิดเพี้ยน เว้นแต่บุคคลทั้งสี่ในภาพที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโลงศพมานั่งๆ ยืนๆ มองอยู่บนระเบียงแทนอย่างน่าพิศวง
เมื่อถูกนักปรัชญาและนักวิจารณ์ชื่อก้องชาวฝรั่งเศสอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ถามว่าทำไมเขาถึงเห็นโลงศพแทนที่จะเป็นตัวละครขาวซีดแบบในภาพวาดของมาเนในภาพนี้ มากริตต์ตอบทางจดหมายอย่างเรียบง่ายว่า “สำหรับผม ตัวภาพเองก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าฉากบนระเบียงนั้นเหมาะสมที่จะเอาโลงศพวางลงไป”
เขายังตอบอีกว่า “การเผย ‘กลไก’ เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้อาจทำหน้าที่อธิบายความหมายเชิงวิชาการและอาจตอบคำถามของคุณได้ ซึ่งผมไม่อาจทำได้ แต่ถึงแม้จะบอกไปก็ไม่ได้ทำให้ความน่าพิศวงของมันน้อยลงไปอยู่ดี”
มากริตต์กล่าวว่าภาพวาดภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดจากซีรีส์ Perspective ที่นอกจากจะจำลองภาพวาดของมาเนแล้ว เขายังจำลองภาพวาดของจิตรกรชาวฝรั่งเศสชื่อก้อง ฌาค-หลุย ดาวีด (Jacques-Louis David) และ ฟร็องซัว เจอราร์ด (François Gérard) ออกมาใหม่ในองค์ประกอบและรายละเอียดที่คล้ายคลึงกับภาพเดิม แต่เปลี่ยนบุคคลในภาพให้กลายเป็นโลงศพแทน
เขายังชี้ให้เห็นว่าชื่อซีรีส์ของภาพวาดชุดนี้อย่าง “Perspective” (ทัศนียภาพ) นั้นมีความหมายที่แตกต่างไปจากความหมายปกติของมัน ทำให้นักวิจารณ์บางคนตีความว่านี่อาจเป็นการเล่นคำทางภาพและภาษาของเขา เหตุเพราะคำว่า ’perspective’ ในภาษาฝรั่งเศสสามารถแปลได้ในความหมายอื่นว่า ความคาดหวังหรือคาดการณ์ถึงอนาคตข้างหน้า หรือชะตากรรมที่รอพวกเราทุกคนอยู่ (ซึ่งในภาพก็คือ โลงศพ หรือ ความตาย อันเป็นหนึ่งในสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้นนั่นเอง) ลักษณะเช่นนี้เป็นการเล่นมุกทางภาพที่เชื่อมโยงกับภาษา หรือ visual pun (เช่นเดียวกับที่ปรากฏในภาพวาด “นี่ไม่ใช่กล้องยาสูบ” หรือ The Treachery of Images (1928–1929) อันโด่งดังของเขา) ที่มากริตต์โปรดปรานและใช้ในงานศิลปะของเขาเสมอมา จนอาจกล่าวได้ว่ามากริตต์เป็นศิลปินที่ทำงานในลักษณะเดียวกับ มีม (meme) ผู้มาก่อนกาลก็เป็นได้
จะว่าไป การที่มากริตต์หยิบเอาผลงานของ เอดูอาร์ มาเน ศิลปินสัจนิยม (realism) และยังเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (impressionism) หรือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตคนอื่นๆ มาตีความใหม่ในรูปแบบเหนือจริงของศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ ก็อาจมีความหมายแฝงเร้นถึงการโบกมืออำลาและการล้มหายตายจากของยุคสมัยทางศิลปะที่เคยเฟื่องฟูในยุคก่อนหน้า และเป็นการต้อนรับกระแสความเคลื่อนไหวและแนวคิดทางศิลปะในยุคสมัยใหม่ๆ ที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นมาก็เป็นได้
ในขณะเดียวกัน ภาพวาดอายุ 70 กว่าปี ของศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษภาพนี้เองก็สะท้อนสถานการณ์และชะตากรรมของผู้คน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชะตากรรมของประชาชนในประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลบางประเทศแถวๆ นี้) ในช่วงเวลาของการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกของไวรัส COVID-19 ในยุคปัจจุบันได้อย่างบังเอิญจนน่าขนลุกจริงๆ อะไรจริง!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ, ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์ Salmon Books
- This Is Not a Pipe, มิเชล ฟูโกต์