ช่วงเวลาฤดูกาลเลือกตั้งเช่นนี้ เราจะได้เห็นการนำเสนอแนวคิดในการชักชวนให้ผู้คนออกไปเลือกตัวแทนของพวกเขาเข้าไปในสภา หรือ การเลือกผู้นำ ไอเดียหนึ่งที่เราได้ยินกันมาตลอด คือ คำถามไดเล็มม่าว่า ระหว่าง ‘คนดี’ กับ ‘คนเก่ง’ ควรจะเลือกอะไรดี ในโลกอุดมคติเราย่อมอยากได้ทั้งคนดีและคนเก่ง แต่ในความเป็นจริงบางทีมันก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น มันจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะมาสำรวจไอเดียนี้กันอีกสักครั้งก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้งดีกว่า
ก่อนอื่นคงต้องย้ำว่า การเป็นคนดีและเป็นคนเก่ง คือ ปัจจัยที่เป็น ‘เงื่อนไขจำเป็น’ ในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร มันไม่ใช่ทางเลือกว่าจะเอาอันไหนและไม่เอาอีกอัน แต่มันไม่ง่ายเช่นนั้น การเลือกใครสักคนเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทน หากเลือกแล้วมันไม่ดี มันก็จะมีราคาที่สังคมเราต้องจ่าย
เราจะหามาตรวัดความดีมาจากไหน เราจะบอกได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี บางคำนำเสนอเรื่อง “ความน่าเชื่อจากภาวะสะสม” หมายถึง เพราะรู้จักหรือติดตามเขามานาน แล้วเห็นว่าเขาดีกับเรามาตลอด คำถามคือแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะดีกับคนอื่น หรือจะดีต่อสังคม? เพราะมันยังมีเรื่องสถานะที่แตกต่างอีก
เราคงเคยได้เจอคนที่เป็นเพื่อนที่ดี แต่อาจจะไม่ใช่สามีที่ดี เป็นพ่อที่ดี แต่ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้เรื่อง เป็นคนเห็นแก่ตัวในเรื่องหนึ่ง และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือความจริงของมนุษย์ มันหลากหลายมากเสียจนมาตรวัดความดีเป็นเพียงสมมุติคติที่ผ่านมาจากอัตตะวิสัยของแต่ละปัจเจกบุคคล และคงเป็นเรื่องไม่ฉลาดหากจะใช้สิ่งนี้มาเป็นมาตรวัดสากล
ในขณะที่มาตรวัดด้านความสามารถ อาจจะหาดูได้ง่ายกว่าเช่น ใบปริญญาบัตร ประสบการณ์และผลงานที่ทำมาก่อนหน้า การแสดงวิสัยทัศน์ ความคิด และการดำรงชีพ เป็นต้น
เราอาจเคยได้ยินเรื่องที่ว่า “เด็กทุกคนเกิดมาเป็นผ้าขาว แล้วจึงที่แต่งแต้มเติมสีสันเข้าไปเมื่อเติบโต และเราจึงต้องทำความเข้าใจกับเด็กก่อนจึงค่อยชักชวนให้เขาได้แต่งแต้ม” นี่เป็นแนวคิดของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักคิดนักปรัชญาชื่อดังผู้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “หลักการสิทธิทางการเมือง หรือสัญญาประชาคม” อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย
รุสโซเชื่อว่า ทุกคนเกิดมาบริสุทธิ์และสิ่งที่ทำให้คนบางคนเป็นคนไม่ดี ก็เกิดมาบนรากฐานของความไม่เท่าเทียม ซึ่งจัดแบ่งได้ 2 แบบ คือความไม่เท่าเทียมตามธรรมชาติ เช่น สังขาร และความไม่เท่าเทียมทางศีลธรรมการเมือง เช่น อำนาจ สถานะ ฐานะ เหตุนี้เองที่บางคนมีอันจะกินมากกว่าอีกคนทั้งที่อาจทำงานน้อยกว่า สิ่งเหล่านี้ได้แต่งแต้มสีสันพวกเขาให้เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด โดยละเลยศีลธรรมที่ควรยึดถือ คนไม่ดีก็จึงเปรียบเสมือนคนดีที่ขาดโอกาส
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักปรัชญาชื่อดังอย่าง โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เห็นแย้งกับแนวคิดนี้ เขาได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ไว้ในหนังสือ Leviathan เลอไวอะธาน เป็นชื่อของสัตว์ประหลาดที่เหี้ยมโหดในท้องทะเลซึ่งถูกพูดถึงไว้ในหนังสือไบเบิ้ลของชาวฮิบรู หรือชาวยิว โดยนำเสนอถึง “คนทุกคนเกิดมาชั่วบริสุทธิ์ มาพร้อมกับสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ไม่ได้เกิดมาพร้อมศีลธรรม”
เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่า มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์จะทำอะไรบางอย่างโดยละเมิดเส้นแบ่งทางศีลธรรม เพราะเราต่างเริ่มต้นจากความเห็นแก่ตัวเป็นทุน แค่การมีชีวิตอยู่ของเราก็คือภาระของโลกใบนี้ การตัดสินใจใดๆ ล้วนแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น เช่น การที่เราให้ที่นั่งแก่คนชราในที่สาธารณะ ก็เพื่อที่วันนึงเราแก่ตัวไป จะมีคนให้ที่นั่งแก่เราบ้าง การมีลูกก็เป็นการทำเพื่อตัวเอง ไม่ว่าจะมีเพื่อให้สืบสกุล เพื่อสืบธุรกิจ มีไว้เลี้ยงเราตอนแก่ก็ตาม มนุษย์เราอยู่รวมกันเป็นสังคมก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวพวกเราเอง นั่นคือแนวคิด
ผมจึงมองว่า แนวคิดเรื่องคนดีนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างอัตตะวิสัยมาก ไม่ได้มีมาตรวัดที่ชัดเจน ยิ่งถ้าหากเรามาเปรียบในบริบทของการเมืองไทย ก็ยิ่งพบว่า แต่ละคนมีแนวคิดต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น การเลือกคนดีไม่ดี อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรเลยก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญ อาจเป็นการเลือกคนเก่ง ที่เข้าไปอยู่ในระบบที่ดี
ซึ่งระบบที่ดี ควรจะทำหน้าที่คัดกรองคนไม่ดีออกจากระบบ
และบีบให้ทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ จำต้องเป็นคนดี
ถ้าใช้ภาษาแบบปรัชญาอาจใช้คำว่า “คนดีคือคนที่ทำชั่วน้อยที่สุด บนบรรทัดฐานที่สังคมอดทนรับได้มากที่สุด“ หมายถึงเราไม่คาดหวังให้ใครคนไหนทำสิ่งที่ดี แต่เราคาดหวังว่าเขาจะทำชั่วที่ไม่มากเกินความอดทนของคนในสังคม นั่นเป็นความคาดหวังที่ต่ำแต่อาจเหมาะจะเป็นรากฐานในการขีดเส้นแบ่งศีลธรรมตามสังคมก็ได้
ลองยกตัวอย่าง ประเทศที่ใช้ระบบที่ดีมาบีบให้คนเป็นคนดีกัน เช่น ประเทศเยอรมันมีระบบขนส่งสาธารณะที่เรียกได้ว่า ชวนตะลึงงันสุดๆ เพราะระบบรถไฟของเยอรมันใช้ระบบ Trust-based system คือระบบเชื่อใจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีที่แตะหรือเสียบบัตร ที่เป็นด่านตรวจตั๋วขวางกั้นเพื่อจะเข้าถึงตัวรถไฟ และก็ไม่มีคนมาตรวจตั๋ว นั่นหมายความว่า คุณสามารถเดินขึ้นรถไฟโดยไม่ต้องซื้อตั๋วก็ได้ แต่น่าสนใจที่ผู้คนจำนวนมากก็ซื้อตั๋วรถไฟอยู่ดี จะบอกว่าเป็นเพราะคนเยอรมันเป็นคนดีรึเปล่า ก็อาจเร็วเกินไป
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มีคนตรวจตั๋ว แต่เขามีระบบสุ่มตรวจ ซึ่งนานๆ จะเจอที เทียบปริมาณผู้โดยสาร 2 หมื่นถึง 5 หมื่นคนจะเจอคนตรวจตั๋วสักคน และแน่นอนว่าถ้าหากโดยจับได้ นอกจากจะโดนค่าปรับหฤโหด อนาคตคุณอาจสูญเลยก็ได้ โดนครั้งแรกยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามีครั้งที่สอง คุณจะถูกสันนิษฐานทันทีว่าไม่ได้ทำแค่ 2 ครั้งแน่นอน และเมื่อคุณไปสมัครงาน ก็จะถูกแบล็คลิสต์ การลักลอบขึ้นรถไฟอาจได้ไม่คุ้มเสียก็ได้ และในขณะที่ระบบรถไฟเยอรมันไม่ต้องมีด่านตรวจบัตร ก็ทำให้พวกเขาประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปเยอะ ตั๋วรถไฟในเยอรมันจึงจัดว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป
นอกจากนั้น มีการเก็บข้อมูลจากสำนักข่าว The Tagesspiegel ว่า มีผู้ลักลอบขึ้นรถไฟเยอรมันเป็นปริมาณถึง 3-5% เท่านั้นซึ่งน้อยกว่าประเทศอังกฤษ ทั้งๆ ที่อังกฤษมีระบบบัตรไร้สัมผัส Oyster และด่านตรวจบัตร แต่มีผู้ลักลอบมากกว่าอยู่ประมาณ 1% ซึ่งแปลว่าระบบรถไฟที่อังกฤษจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าไปโดยปริยาย
ต่อมา อีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีระเบียบวินัย และความปลอดภัย ในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นที่รู้กันดีว่า หากคุณทำของมีค่าหล่น มีโอกาสสูงมากที่คุณจะได้คืน ในหลายครั้งมันอาจจะวางอยู่ที่เดิม ในตำแหน่งเดิมที่คุณทำตกเลยก็ว่าได้ ในนั้นอาจมีเงินเป็นแสนเยนเลย แต่ผู้คนจำนวนมากก็เลือกจะไม่ขโมย เป็นเพราะพวกเขาเป็นคนดีรึเปล่า ยากที่จะบอก
ความเป็นจริงมันดูเหมือนพวกเขาไม่ได้แยแสกับของของคนอื่นมากกว่า เพราะถ้าเป็นคนดีจริง เขาน่าจะหาทางเก็บ นำไปส่งให้ตำรวจ หรือส่งให้เจ้าของคืน ซึ่งก็มีบ้างที่ทำเช่นนั้น แต่ส่วนมากพวกเขาแค่ปล่อยมันไป และไม่ขโมยมัน ในทางหนึ่งเพราะคนญี่ปุ่นมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ลืมตาอ้าปากได้ ไม่ได้อู้ฟู้ร่ำรวย แต่ค่านิยมของความรวยไม่ใช่บางอย่างที่พวกเขายึดถือ โดยดูได้จากวัฒนธรรมการให้ทิปในประเทศนี้ มักจะถูกมองว่าเป็นการแสดงออกที่ไร้มารยาท เพราะถึงแม้คุณจะให้เขาด้วยความหวังดี แต่เขาเองก็เชื่อว่า เขาได้รับเงินมากพอสมค่าแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว
ฉะนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องขโมยของที่ตกอยู่ เพราะหากถูกจับได้ เขาอาจได้ไม่คุ้มเสียกับอนาคตหน้าที่การงานต่าง ๆ นานา และการที่เขาจะเอาของมีค่าที่ตกหล่นอยู่ไปคืนให้เจ้าของ หรือไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มันก็ทำให้เขาต้องเสียเวลาดำเนินการ มันจึงไม่ใช่ทุกคนที่คิดจะทำ ก็จึงพูดได้ยากว่านี่คือความดีรึเปล่า
สรุปได้ว่า มันอาจเข้าข่ายกับคำว่า คนดีคือคนที่ทำชั่วน้อยที่สุด บนบรรทัดฐานที่สังคมอดทนรับได้มากที่สุด ฉะนั้นการสร้างระบบที่ดี ก็จะแทนที่การใช้มาตรวัดความดีของผู้คนไปโดยปริยาย เราจะไม่ต้องเสียเวลาหาว่าใครดี แต่สามารถใช้เวลาเต็มที่กับการดูว่าใครเก่ง และเลือกคนนั้นเข้ามาทำงาน ระบบจะบีบให้คนเก่งต้องเป็นคนดี ถ้าไม่ดีก็จะถูกลงโทษ ในวันนี้บนบริบทการเมืองไทย ความเห็นส่วนตัวผมคงอยากจะเลือกคนที่เข้าใจถึงหลักการในการสร้างระบบ อันจะเป็นระบบที่อยู่ต่อไปแม้คนที่ผมเลือก และตัวผมจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม
วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2563 หัวข้อ : ธรรมชาติมนุษย์ในปรัชญาของโทมัส ฮอบส์ Human Nature in Thomas Hobbes’ Philosophy, ชัยณรงค์ ศรีมันตะ (Chainarong Srimanta)