ตระการตาไปด้วยโชว์ศิลปะ – พิธีเปิดโอลิมปิก ปารีส 2024 ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งกรุงปารีส
กล่าวได้ว่า พิธีเปิดครั้งนี้เป็นการเชิดชู 3 คุณค่าหลักของฝรั่งเศส นั่นคือ เสรีภาพ (Liberté) เสมอภาค (Égalité) ภราดรภาพ (Fraternité) – การถ่ายทอดสดเริ่มจากชายนิรนามในชุดคลุมถือคบเพลิง ก่อนที่กล้องถ่ายทอดสดจะขยับสู่งานศิลปะมากมาย หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้น โมนาลิซา (Mona Lisa)
และโชว์หนึ่งที่สะท้อนคุณค่าหลักด้านความเสมอภาคของฝรั่งเศส ก็คือการแสดงเพลง ‘Ça Ira’ ของวง Gojira ที่ประกอบไปด้วย มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ยืนหัวขาดอยู่ที่กงซีแยร์เฌอรี (Conciergerie) สื่อถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างชัดเจน
แต่พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ก็เริ่มกลายเป็นปัญหา เมื่อการแสดงศิลปะบางชิ้นสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับคนบางกลุ่ม
การถ่ายทอดสดขยับไปสู่ บาร์บารา บุตช์ (Barbara Butch) ดีเจและนักเคลื่อนไหวเลสเบียน รายล้อมไปด้วยแดร็กควีนที่ยืนเรียงหน้ากระดาน จนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่า นี่คือการล้อเลียนศาสนาคริสต์ ผ่านภาพ อาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ของศิลปิน เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) หรือเป็นภาพที่สื่อถึงไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้ากรีกแห่งไวน์และเทศกาลกันแน่
โอลิมปิกไม่ใช่แค่กีฬา แต่ยังหมายรวมถึงศิลปะ และศิลปะก็เชื่อมโยงกับสังคมการเมืองอย่างแยกไม่ขาด
พิธีเปิดโอลิมปิกในปีนี้ จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจ นำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วศิลปะอยู่ตรงไหน? มีบทบาทอย่างไรในสังคม?
The MATTER นำประเด็นทางสุนทรียศาสตร์เหล่านี้ไปอภิปรายกับ เกษม เพ็ญภินันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขื่นขม กระอักกระอ่วน แต่ก็เป็นศิลปะ
“ถ้ามันไม่สวย มันทำให้หม่นหมอง ขื่นขม กระอักกระอ่วน แต่ถามว่า นั่นเป็นความรู้สึก (feeling) ที่มันเกิดขึ้นหรือเปล่า และศิลปะควรทำมากกว่าแค่ความสวยสิ” คือข้อสังเกตของเกษม
หากจะถกเถียงและเข้าใจกันในเรื่องบทบาทของศิลปะ เขาชวนทำความเข้าใจลักษณะสำคัญของ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ที่ข้ามพ้นกรอบของความสวยงาม หรือก้าวพ้นการถกเถียงว่าด้วยเป้าหมายของศิลปะ อย่างเช่น การถกเถียงว่า จะต้องเป็นศิลปะเพื่อศิลปะเอง (art for art’s sake) หรือเป็นศิลปะเพื่อสังคม เพื่อชีวิต ซึ่งเกษมบอกว่า เป็นการถกเถียงที่จบไปแล้ว
ประการแรก ศิลปะร่วมสมัยนั้นติดดิน (down-to-earth) หมายความว่า ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นการเล่นกับสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ของยุคสมัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองเป้าประสงค์บางอย่าง
ประการที่สอง ศิลปะร่วมสมัยไร้พรมแดน (borderless) หมายความว่า เราไม่สามารถจัดจำแนกประเภทของศิลปะ – เช่น ประติมากรรม จิตรกรรม ฯลฯ – หากแต่เป็นการผสมผสานทุกๆ สื่อกลางมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงาน
ประการที่สาม ศิลปะร่วมสมัยเคลื่อนออกจากความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ (anthropocentrism) หรือความเป็นวัตถุ (object) ของงานศิลปะ
“ศิลปะเคลื่อนออกจาก anthropocentrism มันไม่จำเป็นต้องยึดโยงคุณค่าบางอย่างที่เป็นคุณค่าของมนุษย์ อย่างเช่น การตัดสินทางสุนทรียภาพ (aesthetic judgment) บางอย่าง ที่บอกว่า มองจากสายตาของมนุษย์ ความสวยคือสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ความสุข ให้เรารู้สึกรื่นรมย์ แช่มชื่น”
ในขณะเดียวกัน เกษมอธิบายว่า “ด้านหนึ่ง มันออกจากความเป็นวัตถุ ดังนั้น เราก็เจอดีเบตจำนวนหนึ่ง อย่างเช่น ศิลปะจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า final product หรือเปล่า
“อันนี้คือโลกที่มันเปลี่ยนไป สิ่งที่อยู่ในพิธีเปิดโอลิมปิกทำให้เห็นว่า โลกของศิลปะเองเป็นเรื่องของการผสมผสาน (mixture) ของสิ่งต่างๆ และผมคิดว่า อันนี้คือความงดงามอันหนึ่งของการเชื่อมต่อกับพื้นที่ของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และการทำให้พื้นที่ที่เป็นไปไม่ได้ทำงานผ่านจินตนาการ ความเป็นอิสระ เสรีภาพ
“คุณค่าของจินตนาการอยู่ในแง่ของการทำให้พื้นที่สิ่งที่เรียกว่า unknown หรือ unthought ให้สามารถรับรู้ได้ หรือคิดได้ และงานศิลปะคือสิ่งที่พยายามจะถ่ายทอด ขยายพรมแดน หรือพื้นที่ของจินตนาการเหล่านี้ ให้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อยู่ตลอดเวลา” เกษมอธิบายต่อมา
ศิลปะแยกไม่ขาดจากการเมือง แต่ก็ไม่ใช่เครื่องมือ
สำหรับเกษม คุณค่าที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ศิลปะเป็นศิลปะ คือ เสรีภาพ (freedom) และความเป็นอิสระ (autonomy) “เพราะอะไร? อย่าลืม เรากำลังพูดถึงเรื่องของ การสร้างสรรค์ (creativity) เราไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ ถ้าเราไม่มีพื้นที่รองรับให้กับเสรีภาพและความเป็นอิสระ”
และแม้จะเป็นดังที่กล่าวไปว่า ศิลปะนั้นติดดิน หมายความว่า “เราไม่สามารถแยกสิ่งที่เรียกว่า โลกศิลปะ ออกจากโลกความเป็นจริง โลกธรรมชาติที่เกิดขึ้นและปรากฏได้” แต่ศิลปะ ซึ่งวางอยู่บนพื้นที่ของจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ก็ทำงานแยกขาดจากการเมือง
“การเมืองคือการตอบโจทย์ในเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ตอบโจทย์ในเรื่องของการโน้มน้าว ตอบโจทย์ในเรื่องของการกำหนดทิศทางของสังคมในการอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ศิลปะคือการถ่ายทอดในเรื่องของความรู้สึก การเข้าใจผ่านองค์ประกอบทางสุนทรียะ ที่เป็นเนื้อในของตัวงานศิลปะ” เกษมอธิบาย
“สิ่งที่สำคัญอยู่ตรงนี้ เราไม่สามารถลดทอนตัวศิลปะให้เป็นเครื่องมือ ทั้งในเชิงอุดมการณ์ หรือเครื่องมือทางการเมืองใดๆ คืออย่าทำให้ศิลปะเป็น instrument อย่าทำให้ศิลปะเป็นเพียงแต่สิ่งที่ขับเคลื่อนสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่ขับเคลื่อนตัวของมันเอง
“ผมคิดว่าอันนี้เรื่องใหญ่กว่า เพราะคนจะเข้าใจผิดในประเด็นนี้ ในขณะที่โลกศิลปะมันไปไกลกว่าวิธีที่เราเข้าใจแบบเดิม” เขาว่า
ตัวอย่างหนึ่งที่คลาสสิกของการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ ซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 คือกรณีที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำแห่งนาซีเยอรมนี มอบหมายให้ผู้กำกับหญิง เลนี รีเฟนชตาห์ล (Leni Riefenstahl) กำกับภาพยนตร์ Triumph of the Will (1935) ที่กลายมาเป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อของระบอบนาซี
ในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับการเมือง เกษมอธิบายต่อมาว่า ความเข้าใจผิดหนึ่งที่จะกลายเป็นปัญหา ก็คือการที่คนมองว่าศิลปะเท่ากับความเป็นจริง หรือสิ่งต่างๆ ทางสังคมการเมืองที่ศิลปะพยายามจะสื่อถึง
“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การสร้างสรรค์งานจำนวนหนึ่งมันแยกไม่ออกจากโลกความเป็นจริง แต่เราก็ไม่ได้ทำให้ชุดของประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ (creative experience) อันนี้ต้องเท่ากับความเป็นจริง
“แต่คนไม่สามารถเข้าใจว่าประสบการณ์เชิงสร้างสรรค์ของศิลปะกับความเป็นจริง ที่คุณมีประสบการณ์ต่อโลกความจริงที่คนเผชิญหน้ากัน มันไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน มันอาจจะสอดคล้อง แต่มันไม่ใช่กระจกสะท้อนต่อกัน
“และเมื่อไหร่ที่มันถูกทำให้เท่ากัน มันจะไปลดทอนทั้งตัวชิ้นงานศิลปะ และระดับของเสรีภาพและความเป็นอิสระในสังคม”
พิธีเปิดโอลิมปิก 2024: เฟสติวัลของงานสร้างสรรค์
หากมองศิลปะตามคำจำกัดความที่เกษมให้ไว้ข้างต้น พิธีโอลิมปิก 2024 ที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นการแสดงเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าทางศิลปะในตัวของมันเอง
“ปัญหาคือ คุณมาตัดสินจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (historical facts) ทำไมคุณไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือการสร้างสรรค์ ทำไมคุณไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือการแสดงศิลปะ (art show) ชุดหนึ่ง ปัญหาของเราคือ เราคิดว่า สิ่งที่นำเสนอคือ fact คือข้อเท็จจริง โลกของความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อะไรก็ตาม” เกษมกล่าว
“ทำไมคุณไม่มองว่า นั่นคือเฟสติวัล (festival) มันคืองานสร้างสรรค์
“เขาไม่ได้ต้องการสื่อสารข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เขาต้องการสื่อสารคือ ให้คนนึกถึงอะไรบางอย่างว่า นี่คือ มรดกตกทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งมันคือศิลปะ คือการสร้างสรรค์ของเขา”
นอกเหนือจากเรื่องคุณค่าทางศิลปะ เกษมยังมองว่า พิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้เป็นการ ‘แสดงความกล้าหาญ’ อยู่ 2 ประการด้วย
ประการแรก เป็นการใช้พื้นที่เปิดของกรุงปารีสจัดงาน ซึ่งไม่ได้อยู่ในสนามที่เป็นพื้นที่ปิดแต่เพียงอย่างเดียวเฉกเช่นงานครั้งก่อนๆ จึงเป็นการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ของสถานที่จัดงาน ทำให้ทุกส่วนของกิจกรรมเชื่อมโยงกันผ่านมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส
มันทำให้ “คนรู้จักปารีส ไม่ใช่รู้จักสนามแข่ง” เกษมให้ความเห็น
ประการที่สอง โอลิมปิกครั้งนี้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่แล้วในพิธีเปิดและในการแข่งขัน ถือเป็นการ ‘ประหยัดเงิน’ อย่างถึงที่สุด เพราะไม่ต้องลงทุนเพื่อเนรมิตสร้างสนามใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็ขยับพิธีเปิดทั้งหมดมาสู่พื้นที่ของเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของการแข่งขันครั้งนี้อยู่แล้ว เชื่อมโยงกับประการแรกข้างต้น
“อยากให้มองโอลิมปิกครั้งนี้ใหม่ – พูดง่ายๆ มหกรรมกีฬาคือเฟสติวัลแล้ว มันคือศิลปะ” เขาว่า