การสร้างข่าวเท็จ (Disinformation), ป้ายสี (Defame/Libel) หรือการอ้างข่าวสารวงใน (Insider’s Information) มาเพื่อสร้าง เพื่อควบคุม หรือเพื่อเสริมมูลค่าให้กับตนเองหรือกระแสทิศทางสังคมที่ตนอยากจะหันเหนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดครับ สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหลายลักษณะ ในหลายวงการ ตั้งแต่ในทางการทหารหรือยุทธศาสตร์ที่บางทีเราเรียกว่าจิตวิทยามวลชน หรือในกรณีที่ทำอย่างเป็นองค์กรจัดตั้งมากขึ้นมาหน่อยก็เรียกปฏิบัติการควบคุมข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation) ที่เราคุ้นชินกันนั่นเอง ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อ หรือเกินจริงต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นได้ทั้งในทางการเมือง หรือกระทั่งกับการโฆษณาสินค้าผลิตภัณฑ์ทั่วๆ ไป
ในยุคหนึ่ง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป และในระดับหนึ่งก็กล่าวได้ว่าเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป การล่าและเผาผู้ถูกเรียกว่าเป็นแม่มดนั้น ก็เรียกได้ว่า ทั้งหมดล้วนมาจากการสร้างข่าวเท็จ ป้ายสี หรือความไม่เข้าใจต่างๆ ทั้งสิ้น หรือการใช้งานข่าวสารปลอมเพื่อล่อลวงฝั่งตรงข้ามในสงครามตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้น ก็ปรากฏขึ้นเสมอ และหากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เรื่องเล่าอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ในแทบทุกที่ของโลกนั้น ก็เป็นเรื่องของการพยายามสร้างข้อมูลเท็จ (Disinformation) เพื่อควบคุมฝูงชนหรือประชาชนใต้ปกครอง ให้ดำเนินชีวิตไปในวิถีทางที่เรื่องเล่าและผู้ปั้นแต่งนี้เห็นสมควร รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมากมหาศาลให้แก่ตัวกษัตริย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของสมมติเทพ ข้อมูลเท็จที่ว่าความดีงามและคุณสมบัติของผู้ปกครองนั้นสืบทอดได้ทางสายเลือด หรือคุณสมบัติเหนือมนุษย์อื่นๆ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยเป็นเรื่องปกติ กระทั่งได้รับการยอมรับโดยทั่วไปครับ แต่อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะต้องเพิ่มเติมไปด้วยก็คือ บ่อยๆ ครั้งไป คนที่ลุ่มหลงและสลัดทิ้งข้อมูลเท็จเหล่านี้ได้ยากที่สุดนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของข้อมูลลวงเองนี้ด้วย อย่างกษัตริย์ในหลายๆ ประเทศที่ปกครองสืบทอดต่อมาจากบรรพชนของตน ด้วยความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับคุณงามความดีและความสูงศักดิ์ทางสายเลือดนั้น ก็มักจะพาลหลงคิดหลงเข้าใจไปเสียจริงๆ ว่าตนนั้นวิเศษวิโสเหนือผู้อื่น สมควรแล้วกับการเคารพบูชาที่ได้รับ หลงคิดไปว่านี่คือสภาวะที่เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติในจักรวาลวิทยา ในมโนทัศน์ของตนเองไปเสีย ในแง่นี้ Disinformation จึงอาจจะไม่ได้เกิดกับเฉพาะตัวผู้ถูกปกครอง แต่ฝั่งผู้ปกครองเองนั้นก็เป็นผู้ได้รับผลของข้อมูลผิดๆ ดังว่าได้เช่นกัน
โดยเฉพาะเมื่อมันถูกเล่าซ้ำๆ ต่อเนื่อง
ยาวนานจนยากจะหาที่มาที่ไปพบและ
ถูกนับเสมือนว่าเป็นความจริงไป
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมดังว่านี้ถูกทำให้หมดสภาพความเป็นปกติไป ขอเน้นย้ำว่า ‘หมดสภาพความเป็นปกติ’ ไม่ใช่หมดสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงนะครับ ยังไงเสียมันก็ยังคงมีอยู่ แค่ไม่ได้รับการยอมรับในทางสากลอีกต่อไป เป็นสภาวะที่เราเรียกกันว่า Regime (of thought) change หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบอบ (ในทางความคิดความเข้าใจ) ด้วยการเกิดขึ้นของ Scientific Revolution หรือการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ครับ
คือ ในทางสากลโลกแล้ว การปฏิวัติทางการภูมิปัญญา (Intellectual revolution) เป็น 3 ครั้งหลักๆ คือ กรีกโบราณ, คริสตจักร, และการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าการแบ่งแบบนี้เป็นการบ่งชี้ถึงความคิดแบบ Euro-/Western-centric (มียุโรป/ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง) อยู่ด้วย และมันไม่ตอบโจทย์กับทุกพื้นที่แน่ๆ แต่พร้อมๆ กันไป เราเองก็ปฏิเสธ “ผลลัพธ์” ของความเป็นสากลในแง่ของ “วิถีอันพึงเป็น” หรือทิศทางทางภูมิปัญญาและการเมืองของโลกโดยองค์รวมว่าเอนมาตาม “ศูนย์กลาง” ที่ว่านี้ไม่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคล่าอาณานิคม, หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด และต่อด้วยสงครามเย็น ที่ทำให้ความเป็นสากลของ “การปฏิวัติภูมิปัญญาครั้งที่ 3” อย่างการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นั้นกระจายไปทั่วโลกด้วย
อะไรบ้างที่ Scientific Revolution ส่งผลกับภูมิทัศน์ทางภูมิปัญญา (Intellectual landscape) ของโลก? แน่นอนครับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องร่ำเรียนสายวิทยาศาสตร์มาหรือเชี่ยวชาญในตัว “องค์ความรู้” ในด้านวิทยาศาสตร์ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะไม่ได้รับผลจาก Scientific Revolution เราพูดได้ด้วยซ้ำว่าทุกคนและแทบทุกสังคมที่อยู่ในกระแสของโลกสมัยใหม่นั้นได้รับอิทธิพลในเชิงภูมิปัญญาทั้งสิ้น โดย 2 แก่นทางความคิดที่สำคัญที่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์นำมาให้เรานั้น ก็คือ Hypothetical Deductivism และ Falsifiability ครับ ซึ่งเป็นส่วนหลักที่สำคัญมากของวิธีคิดแบบที่เราเรียกว่า scientific method (กระบวนการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์) รวมไปถึงการวางรากฐานกับระบบตรรกะสมัยใหม่ด้วย
กล่าวโดยรวบรัด Hypothetical Deductivism นั้นก็คือ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ “ให้พิสูจน์ข้อสงสัย ข้อเสนอหรือสมมติฐาน” ด้วยหลักฐาน การทดลอง การค้นคว้า หรือข้อมูลที่จะสามารถมาอธิบายประกอบข้อเสนอนั้นๆ ได้อย่างรัดกุมนั่นเองครับ และ Falsifiability หรือความสามารถในการจะ “ผิดได้” นี้ก็เป็นคุณสมบัติที่แยกขาดไม่ได้จาก Hypothetical Deductivism ที่ว่านี้เลย เพราะไอ้ข้อสงสัย ข้อเสนอ หรือสมมติฐานที่ว่ามานั้น มันย่อม “ผิดได้” ด้วยหากหลักฐาน, การทดลอง, การค้นคว้า, หรือข้อมูลนั้นบ่งชี้เป็นอื่นไป และพร้อมๆ กันไป “ข้อสงสัย ข้อเสนอ หรือสมมติฐานใดๆ” ที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ที่ว่ามานี้ ย่อม “ไม่มีคุณสมบัติที่จะเชื่อถือได้” ในทางวิทยาศาสตร์นั่นเองครับ (และต่อให้เป็นข้อเสนอ/ข้อมูลที่อยู่ในสถานะเชื่อถือได้แล้ว เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วชั้นหนึ่ง ก็ยังคงคุณสมบัติที่จะ “ผิดได้” ไปตลอดกาลอยู่นะครับ หากมีการทดลอง หรือข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมาค้านของเดิม)
คุณสมบัติสำคัญทั้ง 2 ประการนี้เองครับที่มันมาทำลาย
“สภาพปกติ” ของการสร้างข่าวเท็จ การเต้าข่าว
หรือป้ายสีต่างๆ นานาที่ว่าไป
เพราะตราบเท่าที่มันยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ยังไม่มีหลักฐานอะไรใดๆ มาประกอบ “ข้อมูล/ข้อเสนอ/เรื่องเล่า” ที่ว่านั้น มันย่อมไม่มีราคาหรือมูลค่าความน่าเชื่อถือใดๆ ในตัวอยู่เลย ว่าง่ายๆ ก็คือ “ใครจะพูดห่าอะไรยังไงก็ได้ หากจะเขียนเล่าแบบไม่มีหลักฐานอะไรอย่างที่ว่ามา” เพราะฉะนั้นเอง การเล่า การอภิปราย การนำเสนอ ฯลฯ ที่จะได้รับการยอมรับว่ามีความน่าเชื่อถือนั้น จึงต้องอาศัยข้อมูล บทวิจัย หรืออื่นๆ เช่น ตัวอย่าง มาประกอบด้วยนั่นเอง จะมาอ้างว่าเทพยดาหรือภูติผีที่ไหนเข้าฝันมาบอก จึงต้องเชื่อ อะไรต่างๆ นั้น “ไม่สามารถนับว่ามีความน่าเชื่อถือได้อีกต่อไป”
อย่างน้อยที่สุด หากไม่มีหลักฐานกลการใดเลยประกอบ ก็ต้องเป็นบทนำเสนอที่ประกอบขึ้นบนชุดของเหตุผลที่หนาแน่นเป็นอย่างมาก ที่อาจจะพอมีค่าความน่าเชื่อถือบ้าง แต่ก็จะยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างถึงที่สุดอยู่ดี ลักษณะแบบที่ว่านี้อาจจะเห็นได้จาก “การประเมิน การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ” ซึ่งอาศัยข้อมูลที่มีในตัว และชุดเหตุผล ความเป็นไปได้ต่างๆ มาประเมิน “ความน่าจะเป็น” ซึ่งในบางกรณีอาจจะถือว่าเป็นค่าความเชื่อถือสูงสุดเท่าที่พอจะหาได้ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ต่อเรื่องดังกล่าวแล้วก็เป็นได้ อย่างไรเสีย มันก็เป็นเพียงการประเมิน เป็นเพียงความเป็นไปได้ที่มีแนวโน้มสูงกว่าแบบอื่นๆ อ้าง แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในระดับที่ผ่านการพิสูจน์แล้วอยู่ดีครับ
เช่นนี้เอง การเกิดขึ้นของ Scientific Revolution มันจึงมาทำลายความเป็นปกติของการใช้ข่าวเท็จต่างๆ แบบที่เคยเป็นมา เพราะการอุปโลกน์อย่างว่านั้น จะทำโดยใครก็ได้ เช่นนี้เอง อีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีที่อยากจะ “ปั่นเรื่อง” แต่พร้อมๆ กันไปก็ไม่มีข้อมูลหลักฐานอะไรจะมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องที่พยายามจะ “ปั่น” อยู่ได้ ก็เกิดการอ้าง “ความใกล้ชิดกับบุคคลหรือเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจ” ขึ้นมาแทน ว่าง่ายๆ ก็คือ การอ้างความเป็นวงในนั่นเอง บ้างก็อ้าง “คนวงใน” บ้าง บ้างก็อ้าง “ข้อมูลวงใน” บ้าง และชำนาญสักหน่อยก็จะมีการบรรยายให้ผู้รับสารเห็นถึงภาพความเป็นวงใน ความใกล้ชิด หรือความอยู่ในหมวดหมู่ที่จะทำให้ตนดูเป็นผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาได้ประกอบด้วย (แต่ก็มักจะไม่มีหลักฐานอะไรอยู่ดีทั้งเพื่อจะยืนยันความใกล้ชิด ทั้งกับเรื่องราวที่นำเสนอ)
การอ้างแบบนี้นั้น ก็เช่นเดิมครับว่า “ใครจะอ้างจะเล่าอย่างไรก็ได้” อย่างสมมตินะครับ ผมพอจะรู้จักพี่ทราย อินทิรา เจริญปุระบ้าง เคยหลังไมค์คุยกันบ้าง เท่านี้ ผมก็สามารถทำทีเป็นว่า ผมสนิทและเป็นวงในได้แล้ว หากคิดจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับพี่ทราย และทำทีเป็น “วงใน” ด้วยให้แลดูน่าเชื่อถือขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผมนั้นห่างไกลจากการเป็นคนรู้จักสนิทสนมกับพี่ทรายมาก ไม่ได้รู้อะไร “วงใน” เลย เป็นมิตรสหาย เป็นคนรู้จัก และเป็นคนที่ผมเคารพชื่นชมในทางอุดมการณ์เท่านั้น แต่นั่นแหละครับ ผมไม่ได้รู้และเป็นอะไรไปมากกว่านั้น ผมแค่จะชี้ให้ดูว่าการจะกล่าวอ้างความเป็นวงในอะไรนั้นมันทำได้ง่ายมากๆ
และไม่ต้องไปถึงข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า หากมันมีสิ่งที่เรียกว่าข้อมูลวงในจริง ทุกคนย่อมทราบดีว่า “มันคือสิ่งที่มีราคาในตัวมันเอง” ยิ่งกับเรื่องที่อ่อนไหวหรือสำคัญมาก ราคามันยิ่งสูง มันไม่ได้มีโผล่มาง่ายๆ หรอกครับข้อมูลวงในจริงๆ ที่โผล่ออกมาแบบฟรีๆ หรือออกมาโดยไม่คำนึงถึงราคาในตัวมันเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ โดยมากแล้ว มันมักจะเป็นเพียงข้อมูลลวงโลกธรรมดา ที่ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากไปกว่าการมั่วเลขหวยนั่นเองครับ แต่แน่นอนหากมันจะมีข้อมูลวงในอะไรหลุดออกมาสู่สาธารณะขึ้นมาจริงๆ กรณีแบบนี้กลับยิ่งต้องระวัง เพราะข้อมูลมันมีราคาอย่างที่ว่าไป ฉะนั้นหากผู้ที่ถือครองข้อมูลชุดนั้น เลือกที่จะปล่อยข้อมูลนั้นออกมา มันจึงมักเป็นการทำแบบหวังผลอะไรบางประการอยู่เสมอด้วย (และทำงานในหลายระดับมากๆ เช่น การปล่อยความจริงวงใน แต่เฉพาะแค่ส่วนที่จะทำประโยชน์ให้กับตนได้ เป็นต้น)
โดยสรุปท้ายสุดก็คือ สิ่งที่เรียกว่าข้อมูลวงในอะไรต่างๆ นั้น หากมันไม่มีหลักฐาน ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนรัดกุมประกอบ มันก็ไม่ต่างอะไรจากข่าวเท็จปาหี่ทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้มีราคาค่างวดในตัวมันหรอกครับ อย่างไรก็ดี
ในระยะหลังนี้เราเห็นการทำงานของ “ข่าววงใน ที่สร้าง
ข่าวลวงสารพัด” ขึ้นมาโดยตลอด และคนก็เฮโลไปให้
ความสนใจ ความเชื่อถืออย่างไม่บันยะบันยัง
ซึ่งผมคิดว่าอันตรายเหลือเกิน
สำหรับผมแล้ว นี่ดูจะเป็นผลพวงของการที่สังคมไทย ยังไม่เคยผ่านช่วงของการ “ปฏิวัติวิทยาศาสตร์” ในทางภูมิปัญญาจริงๆ การนำเข้าวิทยาศาสตร์และแนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลสมัยใหม่ของไทยเรานั้น ถูกนำเข้าโดยราชสำนัก จับผสมรวมกับคติและเนื้อเรื่องของศาสนา (โดยเฉพาะโดยเจ้าฟ้ามงกุฎ และต่อมาขับเน้นอีกรอบในยุคของพุทธทาส) ความรับรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเราไม่เคยแยกขาด แตกหักกับเรื่องเล่าทางศาสนาแบบในโลกตะวันตก ทั้งที่มันควรจะแตกหักกัน เพราะแก่นหลักของ 2 สิ่งนี้นั้นขัดแย้งกัน ฝั่งหนึ่งตั้งมั่นในเรื่อง Falsifiability ในขณะที่อีกฝั่งยืนยันใน Absolute Truth แถมยังอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เคยแยกรัฐกับศาสนา (Secularization) อย่างจริงๆ จังๆ อีกต่างหาก
ตรรกะสมัยใหม่แบบโลกวิทยาศาสตร์ในสังคมเราเลยค่อนข้างจะเลอะๆ เลือนๆ ตามไปด้วย หลงเฮโลตามข่าวสาร เรื่องเล่าที่ไม่มีหลักฐานข้อพิสูจน์อะไรได้ง่ายๆ ซึ่งที่น่าตลกก็คือ เกิดขึ้นกับผู้ที่อ้างว่าตนเองนั้นเป็น “เสรีชน ผู้ตาสว่าง” ไม่น้อยเลยด้วย แต่การเฮโลตามข่าวลวง ที่ปั่นขึ้นมาเพื่อสนองความ “หิวแสง” ของผู้ปั่นเรื่องนั้น ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการเชื่อในคุณงามความดีที่พิสูจน์อะไรไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์เลย ในแง่นี้ ผมไม่แน่ใจนักว่าเสรีชนเหล่านี้ แตกต่างอะไรจาก “สลิ่ม” ที่พวกเขา/เธอนั้นพากันปรามาสไหม?
ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ข่าวเท็จและวงในมันทำนั้นก็คือ การบีบให้สังคมเราเข้าสู่ภาวะที่ตัดสินเรื่องราวผ่าน Perception Bias หรืออคติทางการรับรู้ แทนที่เหตุผล ข้อมูล และหลักฐานไปเสีย เป็นการบีบให้ผู้รับสารต้องกำหนดฝั่งว่า “ตนจะเชื่อใจใครมากกว่ากัน” ว่าง่ายๆ ก็คือ กลับไปสู่แนวคิดเรื่อง trust and loyalty แทนเสีย ไม่ใช่เรื่องหลักฐาน เหตุผล ข้อมูลและการตรวจสอบอีกแล้ว และการอ้าง “วงใน” ทั้งหลายนี้เอง ที่เป็นการจงใจสร้าง Perception Bias ให้กับคนที่ติดตามข่าวสาร แต่อยู่ห่างออกไปจากตำแหน่งศูนย์กลางของเรื่องราว ให้ “เอนเอียงความเชื่อใจ” มาที่ผู้เล่าที่อ้างความ “วงใน” ของตนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง ผมจึงคิดว่าเราควรจะต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งการระมัดระวังให้มากขึ้นนี้ นอกจากต้องไม่หลงลืมเรื่องคุณสมบัติในการตรวจสอบ การมีหลักฐาน และการผิดได้ที่ว่ามาแล้ว การเข้าใจใน “ตรรกะ” (Logic) พื้นฐานนั้นก็จำเป็นมากครับ
ในที่นี้ ผมขอเสนอลักษณะอัน “ผิดตรรกะ” (logical fallacy) ระดับพื้นฐาน ที่ผมเห็นว่าเหล่ามนุษย์หิวแสงทั้งหลายนิยมนำมาปั่นกันเยอะ ให้ได้ลองดู และเผื่อว่าจะได้ระวังกันต่อไปได้ครับ
- False Dichotomy หรือการสร้างขั้วตรงข้ามแบบ ขาว-ดำ ปลอมๆ ขึ้นมา เสมือนว่า หากไม่ใช่ A ก็จะต้องเป็น B เท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง อาจจะเป็น C, D, E, F, ฯลฯ ได้อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น หากด่าเฟมทวีต แปลว่าจะต้องเป็นแอนตี้เฟมฯ แน่นอน! ข้อสรุปแบบนี้นับว่าผิดตรรกะและเลื่อนลอย เพราะการแอนตี้เฟมฯ เป็นเพียงความเป็นไปได้หนึ่งเท่านั้น การไม่สนใจเฟมฯ ใดๆ เลย รวมไปถึงการสมาทานสำนักคิดสายสตรีนิยมอื่นๆ ที่ไม่ได้ต้องตรงกับเฟมทวีตฯ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หรือกระทั่งการสมาทานสำนักเดียวกัน แต่เห็นว่าฝั่งเฟมทวีตฯ ตีความผิดก็เป็นได้ เป็นต้น
- Straw man หรือการสร้างหุ่นฟางเป็นคู่ชก มันคือการจงใจสร้าง “ตัวแทน” ของคู่ต่อสู้/คู่ถกเถียงแบบลวกๆ หยาบๆ ขึ้นมา เสมือนเป็นหุ่นฟาง แล้วก็โจมตีหุ่นฟางนั้นในฐานะตัวแทนของคู่ต่อสู้ไป เช่น การจงใจดึงเอาท่อนเล็กๆ สั้นๆ หรือเนื้อความซึ่งไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นแก่นของเนื้อหา มาปั่น มาโจมตี เสมือนว่าสิ่งนั้นคือข้อเสนอหลักของฝั่งที่เราโจมตี (กรณีที่ไชยันต์ ไชยพร ใช้โจมตีงานของณัฐพล ใจจริงนั้นก็กล่าวได้ว่า เข้าข่ายเงื่อนไขที่ว่านี้)
- Ad Hominem หรือ การเบี่ยงประเด็นมาสู่ตัวบุคคล กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถจะเถียงหรือตอบโต้ในทางเหตุผลต่อประเด็นหนึ่งๆ ได้แล้ว ก็ย้ายหลบมาโจมตีที่ตัวบุคคลแทนเสีย (ตัวอย่างเยอะจนเลือกไม่ถูก คาดว่าคงเคยเห็นกันมาบ้าง)
- Slippery Slope หรือ การสร้างความเป็นเหตุเป็นผลขึ้นจากสิ่งซึ่งมันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันจริงๆ เช่น ที่พวกมึงโดนจับขังคุก ก็เพราะไม่ยอมยกระดับการชุมนุมอย่างที่พวกกูบอกนี่ไง ฯลฯ จะเห็นได้ว่าท่อนแรก กับท่อนที่สองนั้น ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลต่อกันเลย แต่ถูกใช้เสมือนว่ามันเป็นเช่นนั้น
- Petito Principii หรือ การตั้งธงไว้ก่อนแต่แรกแล้วว่าสิ่งหนึ่งนั้นถูก ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นเช่นนั้นย่อมถูก และที่ต่างจากนี้ย่อมผิด (ว่าง่ายๆ ก็คือ “การด่วนสรุป) เช่น ข้อมูลวงในจะต้องถูกต้องแน่เลย ฉะนั้นหากมีคนที่บอกว่าได้รับข้อมูลมาจากวงในก็จะต้องน่าเชื่อถือกว่าคนที่ไม่ใช่วงในแน่ๆ หรือ อั้ม (นามสมมติ) อ้างว่าได้รับข้อมูลวงในของนายเก่ง (นามสมมติเช่นกัน) มา ว่าใช้เส้นสายในการเข้าสู่ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย คนที่รับสารฟังอั้มแล้ว ก็สรุปว่าน่าเชื่อถือ เพราะอั้มอ้างข้อมูลวงใน เช่นนี้แปลว่าฝั่งคนที่รับสารแล้วสรุปว่าน่าเชื่อถือนั้น ตกอยู่บน fallacy ที่เรียกว่า Petitio Principii นี้
- Hazy Generalization หรือ การตีขลุมสร้างข้อสรุปแบบหยาบๆ เกินไป เช่น กะทิ (นามสมมติ) ซึ่งเป็น LGBTQ+ ได้นำเสนอข้อความที่ยังไม่อาจพิสูจน์น่าเชื่อถือได้ออกไป แต่เมื่อโดนโต้กลับหรือเห็นค้าน กะทิกลับสรุปอย่างหยาบๆ ไปเลยว่า “การที่คนเห็นค้านตนนั้น เป็นเพราะตนเป็น LGBTQ+” โดยไม่ได้สนใจข้อโต้แย้ง หรือเนื้อหาที่อีกฝั่งใช้ถกเถียงใดๆ เป็นต้น
แน่นอนครับว่ายังมีความตรรกะรั่วแบบอื่นๆ อีกมาก แต่ผมคงไม่สามารถยกมาทั้งหมดได้ และก็คิดว่าน่าจะมีคนเสนอเรื่องตรรกะพื้นฐานไปไม่น้อยแล้ว ก็น่าจะพอลองหากันดูได้ ผมเพียงแต่ยกความผิดพลาดที่ตัวผมเองเห็นว่าเกิดขึ้นบ่อยมาเท่านั้น และอย่าลืมว่า เราอยู่ในยุคที่ตีค่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล เรื่องเล่าบนวิถีวิทยาศาสตร์กันแล้ว อย่าให้การชี้นำลอยๆ การล่าแม่มด เรื่องเล่าอภินิหารอันพิสูจน์ไม่ได้ มันกลายเป็นความปกติอีกต่อไปเลย ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ความชิบหายและลำบากจากสภาพดังกล่าวให้เราได้ศึกษามากจนเกินพอแล้วครับ