ข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในแวดวงเทคโนโลยีบ้านเรา เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มต้นทำงานอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ คนใหม่ ซึ่งบอกว่า หนึ่งในนโยบายที่อยากจะทำคือจัดตั้ง ‘fake news center’ หรือศูนย์สกัดกั้นข่าวปลอม
แม้รูปแบบจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่เนื้อหาคร่าวๆ ที่เปิดเผยออกมาก็คือเป็นหน่วยงานที่ผลักดันข้อมูลข่าวสาร และคอยดูแลจัดการเรื่องข้อมูลที่เข้าใจผิดกันในโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้เกิดข่าวไม่จริง ข่าวหลอกลวง โดยจะเน้นไปที่ข่าวที่กระทบความมั่นคงของประเทศ เช่น ภัยพิบัติ สาธารณสุข ข่าวยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยก รวมถึง ข่าวปลอมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรและสถาบันที่สำคัญต่างๆ
จริงอยู่ที่ข่าวปลอมเป็นปัญหา (และเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก) แต่คำถามที่น่าคิดกันต่อไปก็คือ แล้วการที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาจัดการข่าวปลอมด้วยตัวเองมันมีข้อน่ากังวลอะไรบ้างรึเปล่า?
เมื่อรัฐเป็นผู้นิยามข่าวปลอม : ความกังวลจากนักวิชาการ
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศน่าจะสะท้อนภาพให้เราเห็นได้เหมือนกัน ถึงการที่ (ผู้มีอำนาจ) รัฐเอาตัวเองลงมาเล่นในเกมจัดการข่าวปลอม และต้องเจอกับปัญหาที่ ‘นิยาม’ ข่าวปลอมโดยอิงจะมุมมองของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว
เราน่าจะได้เคยเห็นภาพที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คำว่า ‘ข่าวปลอม’ วิจารณ์สื่อต่างๆ ที่ตั้งคำถามกับเขาอยู่เสมอ จนกลายเป็นข้อวิจารณ์ว่าทรัมป์กำลังใช้คำนี้เป็นเครื่องมือมากเกินไปรึเปล่า
อาจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงปัญหาทำนองนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับศูนย์สกัดข่าวปลอมของไทยที่จะจัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัล
“fake news ที่ภาครัฐให้นิยามกับประชาชนให้นิยามใช้ตัวเดียวกันไหม ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าข่าวที่เขียนโจมตีตัวเขาคือ fake news มันก็ไม่ถูกต้อง และถูกมองว่าเอาข้ออ้าง fake news มาปิดปากประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนมองไปทางนั้นได้ว่าตนเองห้ามตั้งคำถามกับภาครัฐ” อ.เจษฎา อธิบายผ่านบทความ
และยังมีบ่อยครั้งเองที่ตัวทรัมป์ผู้วิจารณ์คนอื่นว่าเป็นข่าวปลอม ก็เป็นคนเผยแพร่ข่าวปลอมอยู่บ่อยๆ ครั้ง Washington Post เคยเปิดเผยสถิติที่พบว่า ทรัมป์เคยให้ข้อมูลผิดๆ ต่อหน้าสื่อมวลชนและต่อสาธารณะไปแล้วอย่างน้อย 10,796 ครั้ง
เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็ดูเหมือนจะอันตรายและเสี่ยงไม่น้อยเลยเนอะ กับการให้อำนาจกับผู้มีอำนาจรัฐเป็นคนนิยามว่า ข่าวแบบไหนปลอมหรือไม่ปลอม เพราะมันมีความเป็นไปได้ว่า ข่าวปลอมจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อโจมตีและทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน และผู้เผยแพร่ข่าวสารต่างๆ
ยิ่งถ้าหากรัฐบาลตั้งหน่วยงานสกัดกั้นข่าวปลอมขึ้นมาแล้ว เราจะมีอะไรเป็นเครื่องการันตีได้ไหมว่า รัฐบาลเองจะไม่เลือกตรวจสอบข่าวปลอมเฉพาะฝั่งตรงข้าม? เหมือนกับที่ อ.เจษฎา ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ “รัฐบาลจะสามารถตรวจสอบข้อมูลฝั่งตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนว่าจริงหรือไม่จริง หากเป็นอิสระไม่มีคนควบคุมจะต้องตั้งคำถามและตรวจสอบได้ มิฉะนั้นจะเป็นที่ครหาของประชาชน” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุ
ตัวอย่างในบางประเทศ ที่สร้างกลไกจากภาครัฐเพื่อเข้าไปควบคุมและกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับข่าวปลอมนั้น ก็เป็นบทเรียนที่น่าสนใจไม่น้อย จริงอยู่ที่มันจัดการข่าวปลอมได้ในชั่วครั้งชั่วคราว แต่คำถามใหญ่มากๆ คือเส้นแบ่งระหว่างสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการควบคุมโดยรัฐ
ปรากฏการณ์ในหลายๆ ประเทศก็คือกฎหมายหรือกลไกรัฐที่ออกมาใช้เพื่อต่อต้านข่าวปลอม มักถูกวิจารณ์ว่าไปละเมิดสิทธิการแสดงออก และเอื้อให้รัฐใช้เครื่องมือเพื่อสอดส่องประชาชน ด้วยนิยามของ ‘ข่าวปลอม’ ที่คลุมเครือ และเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่รัฐนำไปจัดการกับคนคิดต่างทางการเมือง
หากเราย้อนกลับมารายงานข่าวที่สื่อไทยหลายๆ สื่อได้นำเสนอเรื่องนโยบายนี้ของรัฐมนตรีดิจิทัลฯ เราก็จะพบคีย์เวิร์ด (ที่คุ้นหูมากๆ) เช่นคำว่า ‘เพื่อความสงบเรียบร้อย’ และ ‘เพื่อป้องกันความแตกแยก’ ซึ่งก็เป็นคำเจ้าปัญหาที่ถูกตั้งคำถามมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ด้านรัฐมนตรีดิจิทัลฯ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ในเรื่องการนิยามข่าวปลอมนั้น ทางกระทรวงเองก็รับรู้ถึงปัญหา จึงจะใช้วิธีการการประสานงานไปยังหน่วยงานภายนอก หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาเป็นผู้ชี้แจงข่าวปลอมนั้นๆ โดยทำการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารของกระทรวงดิจิทัลฯ
ทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากตั้งศูนย์สกัดข่าวปลอม?
ไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เคยระบุถึงเรื่องนี้ในเวทีเสวนาเรื่อง fake news เอาไว้ว่า การจัดการเรื่องข่าวปลอมมันก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่รัฐไม่ต้องใช้กฎหมายมาลงโทษคนก็ได้
“สร้างพื้นที่สนับสนุนให้ media literacy มันเติบโตขึ้นมา บทบาทที่ทำได้อย่างหนึ่งก็คือ open data และ data ที่ใช้งานได้” คือข้อเสนอของไกลก้อง ขณะเดียวกัน เขาก็เชื่อว่า บทบาทสื่อเองก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้นเพื่อสืบค้นหาความจริง
เพิ่มบทบาทของ Fact Checker ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง
ปัญหาข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่ไหนใน แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่คุกคามความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารทั่วโลก
อย่างในสหรัฐฯ ก็ได้มีความพยายามคิดค้นหาวิธีแก้ไขข่าวปลอมแบบต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอหรือ ‘มอบอำนาจ’ ให้รัฐบาลไปจัดการด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาคิดว่ามันเสี่ยงเกินไป
หนึ่งในทางเลือกที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ คือความพยายามของสื่อมวลชนที่จัดตั้งหน่วยงานด้านตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือที่เรียกกันว่า ‘fact checker’
ตัวอย่าง face checker ที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยๆ และค่อนข้างได้รับความน่าชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ PolitiFact ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมือง
หรือสื่อเบอร์ใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ก็กำลังแข่งกันทำงานในด้านนี้ ทั้ง The Washington Post ก็มีฐานข้อมูล ‘the washington post fact checker’
หรือสำนักข่าวที่เน้นเรื่องการเมืองเป็นหลักอย่าง Politico ก็เคยทำฐานข้อมูล ‘fake news database’ เพื่อช่วยให้ประชาชนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งนั้นมันจริงหรือมันปลอมบ้าง?
ในบทความว่าด้วย Politico นั้น The MATTER ก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า หรือจริงๆ แล้วการทำหน้าที่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น มันก็คือภารกิจพื้นฐานที่สื่อมวลชนควรทำอยู่แล้วตามปกติ ทั้งในแง่ของการเป็น gatekeeper และเป็น fact checker ให้กับประชาชน (มากกว่าที่จะยกอำนาจหน้าที่ หรือบทบาทนี้ไปให้กับหน่วยงานของรัฐบาล)
การรับมือกับข่าวปลอม จึงไม่ได้มีแค่กลไกที่ใช้กฎหมายหรือใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการอย่างเข้มข้นอะไรขนาดนั้น
แต่มันยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกน้อยกว่า ทั้งการใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ก็เริ่มปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา รวมไปถึงการผลักดันให้วาระเรื่องการรู้เท่าทันโลกดิจิทัล หรือ digital literacy มันเกิดขึ้นอย่างจริงจังในบ้านเรามากกว่านี้
เพราะถ้าเรายังเชื่อมั่นใจเรื่องการแข่งขันกันของข้อมูลในสังคมแบบประชาธิปไตยแล้ว การแก้ปัญหาข่าวปลอมด้วยการลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก คงไม่ใช่คำตอบที่น่าสบายใจเสียเท่าไหร่นัก
การมอบอำนาจให้บางหน่วยงาน สามารถจัดการหรือนิยามข่าวปลอมได้ตามอำเภอใจของตัวเอง นั่นอาจจะน่ากลัวและอันตรายกว่าข่าวปลอมในตัวของมันเองอีกด้วยซ้ำไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://prachatai.com/journal/2019/05/82641
http://www.komchadluek.net/news/scoop/380525
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646816
https://www.washingtonpost.com/news/fact-checker/