หลังจากที่โจ ไบเดน ได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอย่างเข้าร่องเข้ารอยเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น (แม้จะโดนปู่เบิร์นนี่แย่งซีนไปพอสมควรในวันสาบานตน) ด้วยผลจากทั้งความโกลาหลจากกองเชียร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุด ไปจนไปถึงท่าทีสุดแสนจะห่ามตลอดสมัยของทรัมป์เอง ทำให้ภาพการเปรียบเทียบระหว่างตัวเขากับบารัก โอบาม่า เกิดขึ้นมาโดยตลอด และกระแสการรักใคร่บูชาโอบาม่าเสมือนหนึ่งเป็นยอดมนุษย์ในหมู่ชาวลิเบอรัลนั้นเองก็ดูจะถึงจุดสูงสุดตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อวันที่ไบเดนได้ชัยเหนือทรัมป์
แม้แต่ตัวไบเดนเอง ก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมโอบาม่าอย่างออกหน้าออกตาเสมอมา กระทั่งสปีชในวันที่ผลการเลือกตั้งชัดเจนแล้วว่าเขาคือผู้ชนะนั้น ก็กล่าวชื่นชมโอบาม่ามากมาย โดยเฉพาะในฐานะคนที่เคยทำงานร่วมกันมา และดูจะ ‘โหน’ กระแสโอบาม่าเสียด้วยซ้ำ ด้วยการกึ่งๆ จะใช้โอบาม่าเป็นตัวแบบ (role model) ไม่น้อย แน่นอนว่าเหล่าเสรีชนทั้งในสหรัฐฯ เอง และทั่วโลก นับตั้งแต่สมัยการปกครองของทรัมป์ มาจนวันที่ไบเดนได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียดไปนั้น ก็ดูจะ ‘ไหล’ ตามกระแสการเชียร์โอบาม่าไปด้วยนี้ด้วยเช่นกัน
ดังที่เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก คือ หากเราตามหน้าสื่อต่างชาติดู จะพบเห็นกระแสที่ว่ามานี้เยอะมากจริงๆ ครับ ประเด็นคือ มันใช่อย่างว่า ขนาดที่พากันเฮโล เยินยอจริงๆ หรือ? และพร้อมๆ กันไป หลายคนแลดูจะฝันใฝ่ว่าจะได้เห็นโลกการเมืองใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากประธานาธิบดีที่ไม่ใช่ทรัมป์อีกต่อไปแล้ว แต่การหวังหรือฝันเช่นนี้มันเร็วไปหรือเปล่า โดยเฉพาะกับไบเดนที่ดูพร้อมจะตามรอยโอบาม่าเสียเหลือเกิน
คือ ตัวผมเองก็เห็นด้วยแบบตลอดศกนะครับว่าทรัมป์นั้นแย่มหาแย่ แต่พร้อมๆ กันไป ก็เพราะความที่ว่าทรัมป์นั้นแย่เสียเหลือเกินนี้เอง ที่เราต้องไม่ลืมไปด้วยว่า มันย่อมกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ใครก็ตามที่ถูกจับมาวางเทียบกับทรัมป์นั้น ‘ดูดี’ เป็นพิเศษขึ้นมาด้วย ยิ่งกรณีของโอบาม่านั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอยู่ตรงกลาง ถูกแซนวิชอยู่ระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่แทบจะเรียกได้ว่าเห่ยที่สุดในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา นั่นก็คือ ‘บุชคนลูก’ ที่ก่อสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก กับอีกคนซึ่งก็คือทรัมป์
เงื่อนไขนี้เอง ย่อมทำให้โอบาม่านั้นดูวิเศษวิโสเสียเหลือเกินขึ้นมาได้ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้วเขาดูดีกว่าคู่แข่งของเขามากในสายตามุมมองแบบเสรีนิยม อย่างไรก็ดีผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องหวนกลับมาคิดถึงการเมืองแบบโอบาม่าจริงจังด้วยก็คือ เราต้องไม่ลืมว่าคนแบบทรัมป์เกิดขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่ง (ใหญ่ๆ ด้วย) นั้นต้องนับว่าเป็นผลผลิตมาจากการเมืองยุคโอบาม่าเองด้วย
เพราะฉะนั้นแทนที่จะมามัวแต่นั่งให้เครดิตกับชื่นชมความดีความงามของโอบาม่า การมาพิจารณาว่าอะไรคือปัจจัยของการเมืองแบบโอบาม่าที่นำมาซึ่งคนอย่างทรัมป์ได้นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากกว่า และเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องภาวนาให้ไบเดนไม่เดินรอยตาม แม้ว่าอาจจะลำบากสักหน่อย เพราะปู่ไบเดนแกก็ดูจะชื่นชมโอบาม่าเสียเหลือเกิน (เศร้าใจแทนปู่เบอร์นี่ย์ ถ้าปู่ได้ตำแหน่ง ผมก็คงไม่ต้องมาเขียนบ่นอะไรแบบนี้แล้ว)
ประการแรกก่อน ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ความแตกต่างระหว่างโอบาม่าและทรัมป์นั้น บ่อยๆ ครั้งเป็นเรื่องของการเมืองของเรื่องเล่า การเมืองนิทัศน์ (Visual Politics) หรือการเมืองอัตลักษณ์ มากกว่า เป็นความแตกต่างในแง่ทิศทางของตัวนโยบายในตัวมันเองด้วย ว่าอีกแบบก็คือ ทั้ง 2 คนนี้เลือกที่จะนำเสนอตัวเองและสร้างอัตลักษณ์ของตนให้ผูกเข้ากับกลุ่มก้อนของสังคมที่แตกต่างกันไป
แต่หากกลับไปดูที่ผลลัพธ์ในเชิงนโยบายจริงๆ แล้ว
ไม่ได้ถึงกับแตกต่างอะไรกันมากนักนะครับ
ผมทราบดีว่าโอบาม่ามีหลายผลงานที่น่าพิศมัยจริงๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการสร้างงาน ที่ทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงาน (Job added) นั้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง รวมไปถึงการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการถอนทหารออกจากพื้นที่สงครามที่ไม่ควรจะมีสงครามแต่แรกแล้ว รวมไปถึงนโยบายอย่างโอบาม่าแคร์ เป็นต้น ท่าทีเหล่านี้ไม่แปลกครับที่จะทำให้เราคิดว่าเขาช่างวิเศษเสียเหลือเกินเมื่อวางเทียบกับทรัมป์
เอาเข้าจริงๆ การถอนทหารในรัฐบาลโอบาม่านั้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็ควรจะนับเป็นการแก้ไขในเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดแต่แรก มากเสียกว่าการทำอะไรยิ่งใหญ่ขนาดที่ควรจะได้รับรางวัลโนเบล หากจะให้ถูกต้องควรจะออกมาก้มหัวขอโทษชาวอิรักเสียด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเองก็ดูจะไม่ใช่เครื่องการันตีความดีงามอะไรอยู่แล้ว อย่างประเทศเพื่อนบ้านเรา ที่มีคนอย่าง อองซาน ซูจี ที่ได้รับรางวัลเดียวกัน ถึงท้ายที่สุดก็ดูจะกลับมาอยู่เบื้องหลังการสั่งค่าชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยมากมายได้ กรณีของโอบาม่านั้นเองผมก็ไม่คิดว่าแตกต่างมากมายอะไรนักครับ
แม้จะเป็นรัฐบาลที่สั่งให้มีการถอนหรือลดจำนวนทหารก็จริง แต่ ‘งบด้านการทหาร’ ในรัฐบาลโอบาม่าเองนั้น ไม่เคยลดลงเลย ตรงกันข้ามมันกลับมากขึ้นเป็นประวัติการยิ่งกว่ารัฐบาลใดก่อนหน้าเขาเสียอย่างนั้นไป จุดนี้เองพอต่อมายุคของทรัมป์แล้ว ทรัมพ์เองก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก งบประมาณด้านการทหารก็ยังคงอันดับหนึ่งติดชาร์ตอยู่ดี
ซึ่งว่ากันตามตรง กรณีของทรัมป์นี่ต้องนับว่าน่าประหลาดใจกว่ากรณีของโอบาม่าเสียอีกครับ เพราะแม้เขาจะมีท่าทีก้าวร้าวกวนตีนคนไปทั่วโลก แต่เอาจริงๆ จุดยืนหลักของทรัมป์ต่อหน้าสาธารณะนั้นคือ การเยียวยาภายในบ้านตัวเองก่อน เลิกยุ่งกับการแทรกแซงต่างชาติรวมถึงพันธะสากลต่างๆ ไปก่อน ซึ่งท่าทีแบบหลังนี้พัฒนามาจากฐานนโยบายแบบที่เรียกว่า Liberal Hegemony หรือเสรีนิยมอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงสงครามเย็นนั่นเอง
ฉะนั้นผมจึงบอกว่ากรณีของทรัมพ์นั้นดูจะน่าประหลาดกว่ากรณีของโอบาม่าเสียอีก เพราะอย่างน้อยๆ โอบาม่านั้นก็ยังตกอยู่ภายใต้วิธีคิดของ ‘สหรัฐอเมริกาบนวิถีทางแบบเสรีนิยมอำนาจนำ’ ที่ว่านี้อยู่ แต่ทรัมพ์นั้นดูจะนำเสนอตัวเองไปคนละทางเลย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับแทบไม่แตกต่างอะไรกันนัก ความเหมือนกันในแง่ ‘ผลงาน’ ทางนโยบายระหว่างโอบาม่ากับทรัมป์นั้น ไม่ได้ปรากฏขึ้นเฉพาะกับเรื่องงบประมาณในการทหารเท่านั้น แต่กระทั่งในเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ เอง ที่ทรัมป์ดูจะด่าโอบาม่าเสียๆ หายๆ มากมายนั้น ถึงที่สุดแล้วก็ออกมาแทบจะไม่ต่างกัน (ซึ่งโดยภาพรวมคือโอเคทีเดียว) จนกระทั่งเจอกับ COVID-19 เข้าไป ทุกอย่างจึงดิ่งลงเหว ผมอยากให้ลองดูภาพกราฟหรืออินโฟกราฟิกเหล่านี้สักนิดครับ หลายกราฟสักหน่อยนะครับเพื่อจะได้เห็นภาพรวม (กราฟทั้งหมดผมนำมาจาก Washington Post)
การจ้างงานเพิ่ม (โดยเฉลี่ยต่อเดือน) – สมัยโอบาม่าสีน้ำเงิน
การเติบโตของ GDP – สมัยโอบาม่าสีน้ำเงิน
อัตราการว่างงาน (ยิ่งต่ำยิ่งดี) – สมัยโอบาม่าคือส่วนที่แรเงา
อัตราการว่างงานของคนดำ – สมัยโอบาม่าคือส่วนที่แรเงา
รายได้ชนชั้นกลาง – สมัยโอบาม่าคือส่วนที่แรเงา
จำนวนคนอเมริกันที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือด้านอาหาร (ว่าง่ายๆ คือ มีเงินไม่พอจะกิน) – สมัยโอบาม่าสีน้ำเงิน
ปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรม – สมัยโอบาม่าคือส่วนที่แรเงา
ค่าแรง – สมัยโอบาม่า คือ ส่วนที่แรเงา
จำนวนคนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพ – สมัยโอบาม่าสีน้ำเงิน
หนี้สินของรัฐบาล – สมัยโอบาม่าสีน้ำเงิน
จากข้อมูลอันเป็นผลลัพธ์ทางนโยบายที่นำมาแสดงให้ดูนี้ เราจะพบได้ว่า แนวโน้มหรือทิศทางที่เกิดขึ้นของผลงานในยุคโอบาม่าและทรัมพ์นั้น หลายๆ เรื่องออกมาในลักษณะแทบจะเหมือนกันเลย หลายจุดอาจจะเรียกได้ว่าทรัมป์สร้างผลงานไว้ดีกว่าก็ว่าได้ จึงไม่น่าแปลกใจนักเสียด้วยซ้ำที่ทรัมป์จะมีกองเชียร์ที่เหนียวแน่น
ผมเขียนมานี้ไม่ได้เพื่อจะบอกว่าทรัมป์นั้นดีเด่อะไรนะครับ ตรงกันข้ามผมยังยืนยันว่าทรัมป์นั้นแย่ แต่ที่ยกสิ่งเหล่านี้มาก็เพื่อจะบอกว่าโอบาม่าเองนั้นไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีอะไรขนาดที่วาดฝันกันเสียเกินจริงอย่างตอนนี้เท่านั้นเอง และจากตัวเลขเหล่านี้มันบ่งชี้ประเด็นที่น่าสนใจ (และน่ากลัว) หลายอย่างกับเราอยู่น่ะครับ
ประการแรก ปริมาณการจ้างงานที่เป็นจุดขายสำคัญของโอบาม่านั้น พอกลับมาดูแล้ว โอบาม่าทำไว้ได้ดีมากก็จริง แต่กรณีของทรัมป์เองก็ไม่ได้ด้อยอะไรมากนะครับจนกระทั่ง COVID-19 มาถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างอัตราการว่างงานที่ค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับในทั้งสองยุคด้วย จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ ‘จำนวนการว่างงานของคนดำ’ ครับ เพราะทรัมพ์เองนั้นแทบจะเป็นตัวแทนของการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เป็นพวก white supremacist แบบออกหน้าออกตาอย่างที่เรารู้ๆ กัน
ตรงกันข้ามโอบาม่นั้นนอกจากจะเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน (aka คนดำ) โดยตัวเค้าเองแล้ว เขายังโปรโมตนโยบายความเท่าเทียมนี้อย่างถึงพริกถึงขิงออกสื่อตลอดเวลาด้วย แต่ผลลัพธ์ในเชิงนโยบายจริงๆ
การจ้างงานคนดำและคนต่างเชื้อชาติในสมัยของทรัมป์
และโอบาม่านั้นแทบจะไม่ต่างกันเลย บางจังหวะ
ในสมัยของทรัมป์ทำได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งส่วนหลักๆ แล้วดูจะมาจากอัตราการว่างงานที่ต่ำมากทำให้การหาแรงงานใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ผลจึงมาตกว่านายจ้างเองก็ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากการเปิดใจยอมจ้างงานคนผิวสีหรือต่างเชื้อชาติมากขึ้นนั่นเอง แต่จะด้วยเหตุผลกลการใดก็ตามแต่ ผลลัพธ์ก็คือ การจ้างงานคนผิวสีและคนต่างเชื้อชาติมีมากขึ้นจริง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่เราจะพบสถิติในวันเลือกตั้งว่ามีคนดำ คนผิวสีอื่นๆ หรือคนต่างเชื้อชาติที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ จะเลือกลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ แม้ว่าตัวทรัมป์เองจะประกาศออกไมค์หรือพิมพ์ข้อความไร้สติในทวิตเตอร์ดูถูกเหยียดหยามพวกเขาอยู่แทบทุกวันก็ตาม
ประการที่สอง บางส่วนที่อาจจะต้องนับว่าโอบาม่านั้นประสบความสำเร็จจริงๆ กลับเป็นส่วนที่ถูกมองข้ามไปในสังคมอเมริกา และกลายเป็นคนอย่างทรัมป์เสียด้วยซ้ำที่มาได้เครดิตไป อย่างเรื่องรายได้ของชนชั้นกลางนั้น นับได้ว่าตกต่ำอย่างแรงกล้ามากในช่วงที่โอบาม่าเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ๆ และจะพูดว่าโอบาม่ากอบกู้จนสำเร็จก็เป็นไปได้ ที่ทำให้ระดับรายได้ของชนชั้นกลางนั้นกระเตื้องขึ้นอย่างเป็นลำดับ แต่อาจจะด้วยการเลือกผูกภาพของโอบาม่าเองกับกลุ่มคนรายได้น้อยเป็นหลักมากกว่า
โดยเฉพาะการดันนโยบายอย่าง Obama Care ที่พยายามสร้างให้มีคนอเมริกันมีประกันสุขภาพมากขึ้นเป็นหลัก ทำให้ภาพเปรียบเทียบความต่างระหว่างผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางนั้นหดลงตามไปด้วย รวมถึงไม่ได้ถูกเน้นอะไรออกมามากมายนัก ประเด็นเรื่อง ‘รายได้ชนชั้นกลาง’ จึงเป็นประเด็นที่โอบาม่าถูกโจมตีไปเสียแทน อย่าง Bill Huizenga[1] ก็เป็นหนึ่งใน Congressman ที่โจมตีโอบาม่าอย่างหนักในประเด็นนี้ (ทั้งๆ ที่ข้อมูลได้ชี้ให้เห็นว่าโอบาม่าเป็นผู้กอบกู้สำเร็จเสียด้วยซ้ำ)
ฉะนั้นภาพในทางเศรษฐกิจของโอบาม่า
ในหมู่นักธุรกิจชนชั้นกลางเองก็ไม่ได้ราบลื่นนัก
แล้วคนที่มารับเครดิตไปเต็มๆ ก็คือทรัมป์อย่างที่บอกไป
เพราะอาศัยลมบนจากฐานความสำเร็จที่ได้มีมาก่อนหน้าแล้ว และช่วงปลายโอบาม่าต่อเข้าหาทรัมป์เอง ยังเป็นช่วงสั้นๆ เดียวที่รายได้ของชนชั้นกลางอเมริกันนั้นมีมากพอๆ กับช่วงสมัยทศวรรษ 1990s (เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและอื่นๆ แล้ว) ว่าง่ายๆ ก็คือ อำนาจในการจับจ่ายของชนชั้นกลางอเมริกันนั้นมาลงล็อกกับภาพในฝันแฟนตาซีของสิ่งที่ปราถนาจะได้เห็นในฐานะชนชั้นกลาง ก็มาเกิดเอาประมาณยุคตาทรัมป์เข้าพอดีนั่นเอง แน่นอนว่าจนกระทั่ง COVID-19 มาเยือน
ประการที่สาม ส่วนที่ควรจะกลายเป็นจุดบอดของทรัมป์ ก็ดันไม่กลายเป็นจุดบอดจริงๆ ขึ้นมาชัดเจนนักน่ะครับ เรื่องหนึ่งที่โอบาม่าผลักดันมากๆ และประสบความสำเร็จคือ Obama Care หรือการเพิ่มปริมาณคนอเมริกันให้มีประกันสุขภาพ ซึ่งแน่นอนว่าทรัมพ์นั้น ‘ต่อต้านอย่างหัวเด็ดตีนขาด’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ออกสื่อ แต่ถึงที่สุดแล้วเขาทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลของเขา ว่าง่ายๆ ก็คือ ปริมาณคนที่ไม่มีประกันสุขภาพนั้นแทบจะไม่แตกต่างอะไรจากยุคของโอบาม่าเลย ผลลบจริงๆ ในทางปฏิบัติต่อจุดบอดส่วนนี้ของทรัมพ์นั้นจึงแทบจะกล่าวได้ว่ามีน้อยมากไปซะงั้น
ประการที่สี่ ส่วนหนึ่งที่สำคัญเลยคือ ส่วนที่ทรัมป์สร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าโอบาม่าได้ และเป็นเรื่องที่จับต้องได้อย่างมากด้วย นั่นก็คือเรื่องค่าจ้าง (Wages) ซึ่งแม้จะมีเพิ่มขึ้นบ้างในสมัยโอบาม่า แต่โดยรวมๆ แล้วในสมัยโอบาม่านั้นอัตราการขึ้นค่าจ้างนั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาโดยตลอด และมีขึ้นมีลงพอสมควร แต่ในยุคของทรัมพ์นั้นขึ้นโดยสม่ำเสมอ (จนกระทั่งเจอ COVID-19 กระหน่ำ) และขึ้นเกิน 3% ครั้งแรกในรอบทศวรรษเสียด้วย
ซึ่งสาเหตุหลักๆ แล้วนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามาจากอัตราการว่างงานที่ต่ำมากในสมัยของทรัมป์นี้เองที่ทำให้เกิดเงื่อนไขจำเป็นที่ฝั่งนายจ้างจะต้องจำยอมขึ้นค่าจ้างให้มากขึ้น เพราะหาแรงงานมาแทนที่ยาก จึงต้องใช้การขึ้นค่าจ้างเพื่อล่อหรือดึงแรงงานไว้กับตน แต่สิ่งเหล่านี้เองนี่แหละครับคือสิ่งที่ทำให้ทรัมป์ได้กองเชียร์ที่เหนียวแน่นเหลือเกิน และคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ
ประการสุดท้าย ความเหมือนนานับประการที่เกิดขึ้นของผลลัพธ์ทางนโยบายของทั้งทรัมป์และโอบาม่านั้น (จะด้วยเหตุอันใดก็ตามแต่) นำมาซึ่งส่วนที่เหมือนกันก้อนใหญ่อีก 1 ก้อนด้วยนั่นคือ ‘หนี้สินของรัฐบาล’ ที่ทั้งคู่ต่างขึ้นชื่อลือชาว่าทำให้หนี้สินรัฐบาลกระฉูดขึ้นมหาศาลทั้งคู่ แต่จุดนี้เองนี่แหละครับคือส่วนที่ผมคิดว่าน่ากลัว เพราะโอบาม่าเข้ามาแก้สร้างผลงานอะไรต่างๆ ของเขานั้นด้วยจุดเริ่มต้นของการที่รัฐเป็นหนี้อยู่ราว 39% ของ GDP แต่ไบเดนในวันนี้มาเริ่มต้นที่รัฐเป็นหนี้สินประมาณ 105% ของ GDP และปัญหาที่โอบาม่าเผชิญอย่างวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์นั้นแม้จะเรียกได้ว่าหนักหน่วง แต่ก็คงไม่ผิดที่จะพูดว่า ‘เบากว่า’ วิกฤติของ COVID-19 นี้มากโขอยู่ ปัญหาคือ ภายใต้เงื่อนไขนี้ ไบเดนจะทำอะไรในทางนโยบายให้ไปคว่ำทรัมป์ได้ไหม? กล่าวตามตรงผมคิดว่าค่อนข้างจะยากมาก
และหากไบเดนทำไม่สำเร็จ ผมก็คิดว่าอาจจะต้อง
เตรียมตัวต้อนรับผีทรัมป์กลับคืนรังกันได้เลย
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องระวังในตัวขณะที่เรากำลังฝันหวานอยู่ด้วยนั้นก็คือ แนวนโยบายแบบ Liberal Hegemony หรือเสรีนิยมอำนาจนำ ที่แผ่ความสนใจและอิทธิพลไปทั่วโลกอย่างเดิม คือท่าทีแบบยุคโอบาม่า (และไบเดนมีแนวโน้มจะดำเนินรอยตามนั้น) เป็นท่าทีทางนโยบายที่สิ้นเปลืองงบประมาณไปกับคนที่ไม่ได้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตนในอนาคตโดยตรง มากกว่าท่าทีแบบ Isolationist หรือ Defensive Realist อย่างของทรัมป์มากพอสมควรอยู่อีกคำรบหนึ่งด้วย
ฉะนั้นไบเดนเองจึงยิ่งดูจะอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากกว่าที่เราจะไปฝันหวานอะไรด้วยนักได้ เพราะจุดเริ่มต้นที่มีต้นทุนที่น้อยกว่า ปัญหาก้อนใหญ่กว่า และความคาดหวังจากทั้งกองเชียร์ในประเทศเองและหมู่พันธมิตรในโลกให้กลับมายืนในจุดเดิมแบบที่สหรัฐอเมริกาเคยยืนได้มากก่อนนั้น เป็นส่วนผสมที่หากเกิดขึ้นได้จริง ก็คงต้องเรียกปาฏิหารย์เข้าแล้วกระมัง
และถึงที่สุดเลย จะเกลียดทรัมป์หรือรักโอบาม่าปานใดก็ตาม แต่เมื่อเรามองดูตามผลลัพธ์ในเชิงนโยบายแล้ว เราจะพบว่าทรัมป์และโอบาม่านั้นมีความเหมือนกันอยู่หลายประการทีเดียว แต่กองเชียร์กลับแทบจะเป็นขั้วตรงกันข้ามกันเลยและบ่อยๆ ครั้งก็มองไม่เห็น ‘ความเหมือน’ ที่ว่ามานี้ด้วย ความไม่เห็นที่ว่านี้เองที่ผมคิดว่าถึงที่สุดแล้วมันกลับมาสู่การเมืองอัตลักษณ์ หรือการผูกติดตัวตนของผู้นำเข้ากับกลุ่มการเมืองกลุ่มไหน
ในวันนี้มันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเลือกผูกตัวเองอยู่กับภาพแบบ exclusivity หรือจำเพาะพิเศษกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของทรัมป์นั้นดูจะสำเร็จ (แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม) และการเลือกผูกตัวเองกับ universality หรือท่าทีแบบสากลแบบที่โอบาม่าเคยทำนั้น มันไม่ได้ขายได้เสมอไป เพราะถึงที่สุดแล้วมันก็สร้างปีศาจอย่างทรัมป์ให้เกิดขึ้นมาด้วย (อย่าเผลอไปยกยอเกินเลยปานนั้นเลย)
และถึงที่สุดแล้วเราอาจจะต้องมาคิดกันด้วยว่า ท่าทีแบบ universality ที่ว่านี้ ในความเป็นสากลของมันนั้น พร้อมๆ กันไปมันก็ดันไป แยกขาด/แบ่งพวก (excluding) คนบางกลุ่มออกจากตัวความเป็นสากลหรือเปล่า? และเหล่าคนที่ถูกแยกขาดจากท่าทีความเป็นสากลนี้หรือเปล่าที่สร้างปีศาจอย่างทรัมพ์ขึ้นมา หรืออาจจะรอคอยที่จะฟื้นคืนชีพมันขึ้นมาใหม่?
ผมเขียนมายาวยืดทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อจะบอกว่าเราควรละทิ้งคุณค่าและจุดยืนแบบสากลนิยม แต่หากจะป้องกันไม่ให้ผีทรัมป์กลับมาใหม่ เราอาจจะต้องทบทวนถึงท่าทีของสากลนิยมที่เราพูดอ้างถึงนั้นอย่างหนักข้อขึ้นอีกสักทีแล้ว ว่าการนำเสนอและผูกตัวกับสากลนิยมแบบไหน อย่างไร ที่เราจะไม่ไปแยกขาดหรือสร้างกองเชียร์ของผีทรัมพ์ขึ้นมาอีก หรือหากสร้างก็สร้างน้อยที่สุด ผมคิดว่าก่อนหน้าทรัมป์ เราดูจะระวังเรื่องนี้กันน้อยไป แต่ตอนนี้เรามีบทเรียนราคาแพงแล้ว ก็น่าจะหาทางปรับกันเพิ่มได้ต่อไป
[1] โปรดดู https://huizenga.house.gov/news/documentsingle.aspx?DocumentID=307077