จากยุคเปิดเทปคาสเซทมาจนถึงซีดีจนวันนี้เรามีมิวสิคสตรีมมิงแพลตฟอร์มมากมายที่ทำให้เราเบาแรงไม่ต้องพกวอล์กแมนหรือซาวน์เบาท์ไปมา เราก็ฟังเพลงได้
เปิดบทความมาแบบนี้คุณผู้อ่านอาจจะพอเดาได้ว่าผู้เขียนน่าจะมีอายุไม่หย่อน 30 ด้วยอาชีพการงานทำให้ดิฉันได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่มากมายและหลายต่อหลายคนก็เลิกคิ้วสงสัยเวลาที่ดิฉันพูดถึงซาวน์เบาท์หรือวอล์คแมน
ก็แน่ล่ะ เพราะสมัยนี้เรามีบริการมิวสิคสตรีมมิงแพลตฟอร์มมากมายที่เพียงเรามีแค่โทรศัพท์เราก็สามารถฟังเพลงได้สบายๆ แต่ในสนามรบของมิวสิคสตรีมมิงแพลตฟอร์ม คงต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มที่มาแรงที่สุด ได้รับความนิยมสูงที่สุดในยุคนี้คงจะหนีไม่พ้น…
Spotify
บริษัทมิวสิคสตรีมมิงแพลตฟอร์มสัญชาติสวีเดนที่เบียดแรงแซงทุกรุ่นพี่ที่ก้าวขามาในสนามดนตรีนี้ก่อนแบบไม่ไว้หน้าไหนทั้งนั้น ทั้ง Apple Music, Youtube Music หรือ Amazon Music
ถามว่าเราวัดจากตรงไหนว่า Spotify คือ บริการมิวสิคสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในขณะนี้ วัดง่ายๆ แบบไวๆ คงวัดได้จากความนิยมบนโลกโซเชียลที่เมื่อสิ้นปีเมื่อไหร่ ใครต่อใครก็ต่างพากันแชร์ข้อมูลสรุปส่งท้ายปลายปีว่าตนเองใช้เวลาฟังเพลง ฟังพอดแคสต์บน Spotify ไปแล้วทั้งปีๆ นี้ กี่นาที? เพลงที่ฟังบ่อยที่สุดคือเพลงอะไร? หรือศิลปิน 5 อันดับที่เรานิยมฟังที่ผ่านมาในปีนี้ทั้งหมดมีใครบ้าง
ถือเป็นการต่างตอบแทนของเราและ Spotify เมื่อ Spotify ช่วยเราสรุปผลการดำเนินงานในรอบปี กับ Spotify wrap ว่าเรานิยมชมชอบใครบ้างตั้งแต่เดือนมกราเรื่อยมาจนถึงธันวา ส่วนเราเองก็อยากจะโพสต์บันทึกเอาไว้เป็นฟุตปริ้นต์บนโลกออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นการฟรีพีอาร์ให้ Spotify ไปในตัว
หากไม่นับเอาความถี่ที่เราได้เห็น Spotify wrap ของเหล่าเพื่อนฝูงบนโลกออนไลน์ ตัวเลขที่ไม่สามารถโกหกกันได้ คือจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกที่มากถึง 456 ล้านคนทั่วโลก และใน 456 ล้านคนนี้มีคนถึง 195 ล้านคน ที่ยอมจ่ายเงินรายเดือนเพื่ออัพเกรดให้ตนเองสามารถฟังเพลงโดยไม่มีโฆษณาคั่น สามารถเล่นเพลงหรือข้ามเพลงไหนก็ได้ตามใจชอบ
จำนวนคนเกือบ 200 ล้านคน ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง ทั้งๆ ที่หากจะฟังเพลงฟรีก็ย่อมได้ (เพียงแค่ต้องฟังโฆษณาทุก 30 นาทีสักหน่อย) แต่เกือบ 200 ล้านคนนั้นเลือกที่จะใช้บริการและสนุบสนุน Spotify แบบรายเดือน ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขผู้ใช้งานและตัวเลขสมาชิกของแพลตฟอร์มดนตรีที่อลังการและยิ่งใหญ่นำหน้าใครๆ ที่มายืนอยู่ในสนามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก่อนหน้า
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ Spotify กลายเป็นแพลตฟอร์มดนตรียอดฮิตของคนยุคนี้ ก็น่าจะสรุปออกมาได้ 3 ข้อ
แนะนำแต่เพลงดีโดนใจรายสัปดาห์
ไม่ว่าคุณจะรักจะชอบศิลปินคนหนึ่งแค่ไหน แต่เชื่อว่าฟังๆ ไป ก็คงอยากจะเปลี่ยนไปฟังเพลงของศิลปินอื่นบ้างในบางที
Spotify รวบรวมเอาข้อมูลของผู้ใช้งานทั่วโลกมาประมวลผลให้เกิดประโยชน์ ทั้งการเสิร์ซหาคีย์เวิร์ด แนวเพลงที่คุณชอบฟัง รวมถึงการสร้างเพลย์ลิสต์ และข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาประมวลผลไขว้กับลักษณะประชากร ว่าคุณเป็นใคร อาศัยอยู่ที่ไหน อายุประมาณเท่าไหร่
สรุปแบบง่ายๆ คือ Spotify ใช้ข้อมูลการฟังเพลงของคนนับล้านๆ คนทั่วโลกมาประมวลแล้วคำนวณดูว่า คนที่ฟังเพลงแบบนี้ แนวนี้ อายุประมาณเท่านี้ ชอบเสิร์ซคีย์เวิร์ดหาเพลงแนวนี้ น่าจะชอบศิลปินคนไหน น่าจะชอบฟังเพลงใด
จากนั้น Spotify จะสร้างเพลย์ลิสต์ขึ้นมาให้คุณแบบ เฉพาะตัว ขอเน้นย้ำที่คำว่า เฉพาะตัว คือ Spotify จะสร้างเพลย์ลิสต์แนะนำขึ้นมาให้คุณแบบรายสัปดาห์ในทุกวันจันทร์เพื่อนำเสนอศิลปินหน้าใหม่ๆ หรือเพลงใหม่ๆ ที่คำนวณมาให้คุณแล้วว่า คุณน่าจะชอบพวกเขานะ
ซึ่งในปีแรกที่ Spotify เริ่มใช้ระบบแนะนำเพลงรายสัปดาห์เป็นจำนวนสัปดาห์ละ 30 เพลง ให้ผู้ฟัง ปรากฏว่ามีคนประมาณ 40 ล้านคนทั่วโลกกดเข้าไปฟังเพลย์ลิสต์รายสัปดาห์จาก Spotify ทำให้ทั้งตัวผู้ฟังเองก้ได้ค้นพบกับศิลปินใหม่ๆ หรือเพลงใหม่ๆ ที่เขาและเธออาจจะไม่เคยได้ฟังมาก่อน แถมมีแนวโน้มที่จะชอบด้วย และศิลปินหน้าใหม่ๆ เองก็ได้มีโอกาสแนะนำตัวให้กับกลุ่มคนฟังที่ดูมีแนวโน้มจะชอบพวกเขา ส่วนตัว Spotify เองก็ได้ใจคุณผู้ฟังไปในแง่ที่ว่าได้แนะนำเพลงดีๆ ใหม่ๆ ให้คุณผู้ฟัง
เรียกได้ว่า ทุกคนต่าง วิน-วิน-วิน ทุกฝ่าย
เล่นเพลงที่(น่าจะ)ชอบต่อไปแบบไม่หยุดพัก
นอกจากจะแนะนำเพลงและ/หรือ ศิลปินหน้าใหม่รายสัปดาห์ Spotify ยังใช้พลังของข้อมูลในการมาคำนวณค้นหาว่าเพลงที่เราน่าจะชอบคือเพลงอะไร แล้วก็จัดแจงเล่นให้เราต่อไปได้เลย
เป็นอีกครั้งที่ Spotify ใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมาคำนวณ โดยคำนวณจากจำนวนครั้งที่กดเล่นซ้ำในเพลงนั้นๆ จำนวนครั้งที่เพลงนั้นถูกกดบันทึก หรือจำนวนครั้งที่หน้าเพจของศิลปินคนนั้นๆ ถูกกดเข้าไปดู เมื่อนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาเปรียบเทียบกับลักษณะของผู้ฟัง ว่าผู้ฟังคนนี้ อายุเท่านี้ ชอบกดเข้าไปฟังเพลงนี้ซ้ำๆ Spotify เองก็จะทำการจดจำและจัดแจงให้เพลงนั้นๆ ถูกแนะนำไปยังคนที่มีลักษณะพฤติกรรมคล้ายๆ กันได้
ฉะนั้นความความเป็นไปได้ที่คุณจะชอบเพลงที่ Spotify เลือกให้จึงเป็นไปได้สูง เพราะอัลกอริทึ่มของ Spotify คำนวณตามหลักสถิติมาให้คุณแล้วว่า คนที่มีรสนิยมในการฟังเพลงใกล้เคียงกับคุณดูน่าจะชอบเพลงนี้ Spotify จึงแนะนำเพลงนี้ให้คุณยังไงล่ะ
วิเคราะห์ความน่าจะชอบของคนจากรูปแบบของเพลง
ถ้าจะมีมิวสิคสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มไหน ที่พูดถึงความเท่าเทียมกันทางโอกาสได้ดีที่สุดสักแพลตฟอร์มหนึ่ง ก็คงต้องยกให้ Spotify
ลองจินตนาการตามว่า หากคุณเป็นศิลปินหน้าใหม่ เพิ่งออกอัลบั้มครั้งแรก คุณจะเข้าไปอยู่ในอัลกอริทึ่มของ Spotify ได้อย่างไร หากเพลงของคุณไม่เคยถูกเปิดฟังเลยจากใครก็ตามบนโลก (ก็เป็นศิลปินหน้าใหม่นี่นา)
Spotify คิดถึงใจของศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้ จึงใช้โมเดลที่เรียกว่า Audio Model คือการตรวจจับคลื่นความถี่และรูปแบบของเสียงที่อยู่ในดนตรีว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกับศิลปินใด สมมติว่าเพลงของคุณเป็นเพลงใหม่ และคุณคือศิลปินหน้าใหม่ แต่รูปแบบโครงสร้างของเพลงคุณไปสัมพันธ์กับโครงสร้างและรูปแบบของเพลงที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว เพลงของคุณก็อาจจะถูกจัดลำดับให้เล่นต่อจากเพลงที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเวลาที่ผู้ฟังเพลงเปิดเพลงที่ได้รับความนิยมนั้นๆ
ถือเป็นการได้แนะนำตัวคุณให้กับผู้ฟังได้ค้นเจอคุณ โดยคุณผู้ฟังนั้นก็คือกลุ่มที่น่าจะชอบเพลงแนวที่คุณทำด้วย เป็นอีกครั้งที่ Spotify ก็วินเพราะได้จำนวนเวลาใช้งานเพิ่ม ศิลปินที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วก็ได้รับเวลาในการสตรีมมิ่ง รวมถึงศิลปินใหม่ก็ได้รับการเปิดตัวและได้เป็นที่รู้จักของคนที่น่าจะเป็นแฟนเพลงในอนาคต
ทั้งความสะดวกสบายที่ทำให้เราฟังเพลงที่ไหนก็ได้ขอแค่มีโทรศัพท์ มีคอมพิวเตอร์มีแท็บเล็ต ทั้งการช่วยเลือกเพลงที่เราน่าจะชอบ ทั้งการแนะนำเพลงใหม่ๆรายสัปดาห์ให้อยู่ทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ Spotify จะเป็นที่นิยมในหมู่คนรักเสียงเพลงในยุคนี้
ฝรั่งเขาว่ากันว่าหนึ่งในคนที่เราควรถนอมเอาไว้ให้ใกล้ตัวที่สุด คือคนที่คอยแนะนำเพลงใหม่ๆให้กับเรา ดิฉันคิดว่า คนคนนั้นในยุคนี้มีชื่อว่า Spotify
อ้างอิงจาก