ผมยอมรับว่า ผมเคยหวังเช่นเดียวกับดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ จาก TDRI ว่า วันหนึ่ง พวกเราภาคประชาชนจะหยุด ‘แซะ’ กัน แล้วจับมือร่วมกันสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์การแซะทั้งหลายดู (รวมถึงผมที่ถูกแซะเอง) แล้ว ผมก็เข้าใจว่า การแซะมีหน้าที่เฉพาะของมัน ที่เรามิอาจมองข้ามไปได้
หากมองข้ามผ่าน ‘วาทเวร’ ที่อาจกวนใจเราไปได้ ผมมองว่า การแซะ คือ การทวงถาม การเสนอ หรือการแย้งถึงการจัดลำดับความสำคัญของคุณค่าที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้คนที่มีความคิดแตกต่างกันในสังคม
ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีหลายครั้งหลายหน ที่เราอาจเลือกให้ความสำคัญกับคุณค่าด้านใดด้านหนึ่ง มากกว่าอีกด้านหนึ่ง (หรือถึงขั้นละเลยคุณค่าอีกด้านหนึ่งไปเลย) แต่บังเอิญมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดลำดับความสำคัญกลับกันหรือแตกต่างไปจากเรา เขาจึงรู้สึกเจ็บปวดที่เราไปละเลยคุณค่าที่ยึดถือและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกหรือลำดับต้นๆ
จะว่าไปแล้ว หลายครั้ง เราก็อาจจะปฏิเสธว่า จริงๆ เราไม่ได้ละเลยคุณค่านั้น (เช่น ประชาธิปไตย) เพียงแต่ว่า ณ ขณะนั้น เราขอเรียงลำดับโดยเอาคุณค่าอื่นขึ้นมาเป็นลำดับแรกก่อน หรือแม้กระทั่งพักคุณค่านั้นไว้ชั่วคราว ซึ่งนั่น ก็อาจจะเพียงพอแล้วที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจได้
แล้วทำไมไม่คุยกันตรงๆ? ทำไมต้องแซะกันด้วย?
การคุยกันตรงๆ นั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากการที่ทั้งสองฝ่าย (หรือมากกว่า) จะคุยและยอมรับกันได้ ทั้งสองฝ่ายต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและความไว้วางใจกันระดับหนึ่ง แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง พื้นที่ปลอดภัยและความไว้วางใจมักมีจำกัดตามไปด้วย
จะว่าไป ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่าย (หรือมากกว่า) ก็ได้พยายาม ‘อย่างเป็นทางการ’ เช่น การเขียนบทความ การปาฐกถา ที่จะสื่อสารถึง ‘คุณค่า’ ที่ตนยึดถือ และความคับข้องใจที่อีกฝ่ายละเลยการให้ความสำคัญกับคุณค่านั้นๆ
แต่ความพยายามแบบจริงจังดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ทุกวัน ในขณะที่เรื่องราวในสังคม (ทั้งโลกจริงและโลกออนไลน์) กลับมีเรื่องราวที่ต้องให้เราจัดลำดับความสำคัญหรือถกเถียงกันเรื่อง ‘คุณค่า’ ในทุกๆ วัน (หรือถี่กว่านั้นด้วยซ้ำ) การแซะจึงเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว ด้วยการไถ่ถามและแย้งถึงคุณค่าที่แตกต่างกัน ด้วยภาษาที่มีสีสันและแหลมคม เพราะเราสามารถแซะ (และถูกแซะ) ได้บ่อยครั้งกว่านั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงยอมรับการแซะและการถูกแซะ ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร หรือถกเถียงเรื่อง ‘คุณค่า’ ที่แตกต่างกัน ในสังคมที่มีพื้นที่ปลอดภัยและความไว้วางใจจำกัด
แต่การแซะก็มีต้นทุนที่ต้องเสียไปมากเช่นกัน ซึ่งผมจะกล่าวในลำดับถัด ไป
ลด ‘แซะ’ ด้วย ‘ขอโทษ’
สำหรับผม ผมคิดว่า วิธีเดียวที่จะลดหรือหยุดการแซะได้คือ ‘การขอโทษ’
การขอโทษคือ การแสดงออกถึง ‘ความรู้สึกผิด’ ในการกระทำของเรา ที่อาจละเลย หรือให้ความสำคัญต่อคุณค่าที่อีกฝ่ายยึดถือน้อยเกินไป ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเกิดเป็นความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่าง) ตามมา
และการขอโทษยังเป็นการบอกว่า เราพร้อมที่จะเรียงลำดับความสำคัญของ ‘คุณค่า’ ต่างๆ กันใหม่ โดยจะไม่ละเลยคุณค่าที่อีกฝ่ายหนึ่งยึดถืออีก
การขอโทษจึงมีสรรพคุณในการลด หรือป้องกันการแซะได้ดีพอควร
ผลลัพธ์ของการ ‘ขอโทษ’
สำหรับตัวผู้ที่ต้องกล่าวคำขอโทษเอง การขอโทษกลับให้ผลลัพธ์สองด้านที่อาจตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
ในด้านหนึ่ง การขอโทษอาจทำให้ผู้ขอโทษรู้สึกภูมิใจและเคารพในตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากการขอโทษจะแสดงถึงความกล้าหาญในการยอมรับผิดแล้ว การขอโทษยังแสดงให้เห็นว่า ตนเองยังคงเคารพในคุณค่าที่ตนได้เคยละเลยหรือละเมิดมา
ในหลายกรณี การขอโทษแบบนี้ยังมีผลให้ทั้งสองฝ่าย (หรือมากกว่า) เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นด้วย
ในทางตรงกันข้าม การขอโทษในบางกรณีก็อาจทำให้มีความภูมิใจในตนเองลดลง เพราะรู้สึกว่า ตนต้องตกเป็นเบี้ยล่างหรือเป็นฝ่ายยอมรับกับ ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ ว่าตนได้ละเลยคุณค่าที่อีกฝ่ายยึดถือไป
ในกรณีที่สองนี้ การขอโทษจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจ และอาจเกิดขึ้น เพราะผู้ที่ต้องกล่าวคำขอโทษนั้น ‘จำนน’ กับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นหลักฐาน หรืออำนาจต่อรอง เพราะฉะนั้น หากเลือกได้ ผู้ที่ทำผิดในกรณีที่สอง ก็จะพยายามปฏิเสธหรือเลื่อนการขอโทษออกไปให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้
ต้นทุนของการ ‘แซะ’
ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่าง การขอโทษที่เต็มใจและให้ผลในด้านบวก กับการขอโทษที่ไม่เต็มใจและให้ผลด้านลบ (หรือไม่ยอมขอโทษเลยในกรณีหลัง) คือ คำว่า ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’
แน่นอนว่า ทั้งสองกรณี การขอโทษมักมีอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ แต่ในกรณีการขอโทษที่เต็มใจและให้ผลทางด้านบวก คำว่า ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ มิได้เป็นตัวแปรสำคัญมากนักในการตัดสินใจขอโทษ เพราะผู้ขอโทษให้ความสำคัญกับความกล้าหาญและการเคารพในหลักการหรือคุณค่าที่ตนได้ละเลยหรือละเมิดมามากกว่า
แต่ในกรณีการขอโทษที่ไม่เต็มใจและให้ผลด้านลบ คำว่า ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ จะเป็นตัวแปรสำคัญมาก หมายความว่า ความรู้สึกไม่เต็มใจในการขอโทษ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณค่าที่ตนได้ละเลย หรือละเมิดมา แต่เกี่ยวข้องกับคำถามว่า ทำไมตนจึงต้องไปยอมรับกับ ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ มากกว่า
ตรงนี้แหละที่เป็น ‘ต้นทุนของการแซะ’เพราะความแหลมคมของ ‘การแซะ’ ที่นอกจากจะทิ่มแทงใจของ ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ ยังมีผลให้ฝ่ายที่ถูกแซะไม่พอใจฝ่ายที่แซะมากขึ้นด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทำให้คำว่า ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น การแซะจึงมีผลให้ ‘การขอโทษ’ ที่เต็มใจและให้ผลทางบวกเกิดยากขึ้น หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
นักแซะจึงควรคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย ยกเว้นแต่ว่านักแซะเองก็ไม่ต้องการกลับมาร่วมมือกับอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่มุ่งหวังให้อีกฝ่ายหนึ่งขอโทษอยู่แล้ว
เรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัว…
ตัวผมเองก็เคยกระทำผิด ด้วยการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการพยายามสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลคสช. (แต่สุดท้ายไม่ได้รับเลือกนะครับ)
ในกรณีนี้ เห็นได้ชัดว่า ผมได้ให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับการปฏิรูป (ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง) มากกว่าประชาธิปไตย (ที่เสียไปจริงๆ)
เมื่อผมสารภาพและขอโทษ แม้ผมจะถูกแซะและถูกด่าไม่น้อย แต่ผมก็ไม่เคยเถียง (เพราะรู้ว่าผิดจริง) และพยายามขอโทษทุกครั้งที่ถูกแซะหรือถูกถาม จนล่าสุด เพื่อนหลายคน (แต่ไม่ใช่ทุกคน) ก็ให้อภัย และกลับมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปด้วยกัน
คำว่า ‘ให้อภัย’ ไม่ได้หมายความว่า เพื่อนๆ จะลืมเหตุการณ์นั้น แต่เพื่อนๆ ให้โอกาสผมในการเรียงลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ กันใหม่ หลังจากที่ผมได้เรียงลำดับผิดไปในครั้งนั้น และได้ยอมรับความผิดพลาดของตนด้วยการขอโทษ
สำหรับผมแล้ว การขอโทษมิได้สร้างความหนักใจให้ผมเลย และการที่ผมรู้สึกว่า เพื่อนๆ ยังไม่ลืมเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีให้ผมไม่กระทำผิดในลักษณะเดิมอีก
เพราะฉะนั้น ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการออกจากสถานการณ์นี้คือ ‘การขอโทษ’
จุดจบของการแซะจึงอยู่ที่การขอโทษนั่นเอง