‘ผู้นำเขาขอโทษคนได้เหมือนกันเนอะ’
เป็นประโยคแรกที่ผุดขึ้นมาหลังจากสมองช็อตไปชั่วขณะเมื่อเห็นโพสต์เฟซบุ๊กที่ว่าที่ผู้นำคนหนึ่งโพสต์เพื่อขอโทษแท็กซี่ที่เกิดความเข้าใจผิดต่อกันและกันไม่กี่วันที่ผ่านมา
เราขอโทษเมื่อเราส่งงานเลยเวลาส่ง พ่อแม่อาจขอโทษเราเมื่อพูดอะไรทำร้ายจิตใจ หรือเพื่อนอาจขอโทษกันและกันเมื่อนัดกันไปข้างนอกแล้วมาสาย การขอโทษเป็นเรื่องธรรมดาในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ แต่ความธรรมดานี้กลับกลายเป็น ‘ของแรร์’ ไปซะอย่างนั้นเมื่อพูดถึงผู้นำในประเทศเรา
หนึ่งในความเข้าใจผิดในการเป็นผู้นำคือความเชื่อที่ว่า การขอโทษคือการแสดงออกถึงความอ่อนแอและความไม่เด็ดขาด แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่การขอโทษแสดงออกคือการรับรู้ถึงข้อผิดพลาดต่างหาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติแกนหลักของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership) ภาวะผู้นำที่มุ่งเน้นไปที่การรับฟังฟีดแบ็กจากคนในและนอกองค์กรในการพัฒนาและการบริหารองค์กร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และทัศนคติโดยรวมของผู้ตามและสังคมมากกว่าของตัวเอง
ในทางกลับกัน การไม่ขอโทษเองก็ไม่ได้แปลได้ถึงความมั่นคงหรือความเด็ดขาดเท่านั้น จากงานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องหลังการขอโทษโดย คาริน่า ชูแมนน์ (Karina Schumann) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า กำแพงที่กั้นไม่ให้คนคนหนึ่งขอโทษมีอยู่ 3 กำแพง นั่นคือความไม่ใส่ใจในผู้ถูกกระทำ การป้องกันอีโก้ภายในตัวของผู้กระทำผิด และสุดท้ายคือความเชื่อส่วนตัวที่เชื่อว่าขอโทษไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
ทั้งสามกำแพงข้างต้นมีจุดร่วมกันคือเป็นการให้ความสำคัญต่อตัวเองมากกว่าผลของสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป ในขณะที่ self-care จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การให้ความสำคัญต่อตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นจะนำไปสู่ภาวะผู้นำแบบไหน?
ในวารสาร Journal of Business Ethics พบว่า การขอโทษโดยผู้นำองค์กรนั้นสามารถให้ประโยชน์ทั้งแก่ผู้นำและผู้ตาม โดยพบว่าผู้นำที่ขอโทษเป็นสามารถสร้างความเชื่อใจ สร้างความพึงพอใจในองค์กร และสร้างความต้องการจะมีส่วนร่วมในองค์กรของบุคคลากรภายในได้ผ่านความถ่อมตัว
และแม้ว่าในงานวิจัยบางงานจะมีหลักฐานว่าการไม่ขอโทษจะสามารถสร้างความรู้สึกมีอำนาจให้แก่คนได้ ในแง่ของการเป็นผู้นำแล้วความรู้สึกมีอำนาจอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยในวารสารเดียวกันกับข้างต้นยังบอกข้อดีเกี่ยวกับการขอโทษว่ามันสามารถเสริมความมั่นใจในตัวเอง ความพึงพอใจในการทำงานของตัวเอง เพิ่มความน่าเคารพ และเสริมความน่าปฏิสัมพันธ์ให้กับตัวผู้นำ
‘เราจำกัดความคำพูดผ่านวิธีการที่ผู้พูดใช้มัน การขอโทษก็ถูกใช้ในรูปแบบที่หลากหลาย มันจึงสามารถทำได้หลายหน้าที่ เช่นเดียวกันกับทุกปฏิสัมพันธ์’ เดบอราห์ แทนเนน (Deborah Tannen) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์เขียนในบทความว่าด้วยวิธีการขอโทษ โดยเธอยกตัวอย่างว่ามันอาจทำหน้าที่ในการเชื่อมสัมพันธ์ที่ถูกทำลายไป บางทีอาจทำหน้าที่การแสดงความเคารพ หรือบางทีก็ทำหน้าที่ในการทำให้บทสนทนาไม่ติดขัด ซึ่งผู้ขอโทษต้องสื่อสารออกมาให้ชัดเจนเพื่อการขอโทษที่มีประสิทธิภาพ
การขอโทษมีบริบทมากมาย โดยเฉพาะในการขอโทษระดับองค์กรและระดับชาติ ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ขอโทษ’ จากผู้นำของเราสักครั้งเลย แต่หลายๆ ครั้งการขอโทษไม่ได้ทำหน้าที่ขอโทษ แต่ทำหน้าที่อื่นๆ
จากการรวบรวมคำขอโทษของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาในปี พ.ศ.2560 โดยสำนักข่าว ThaiPBS และในปี พ.ศ.2564 โดยมติชนออนไลน์ หากไปดูลักษณะการขอโทษของเขามักมีจุดประสงค์ในการเสียดสี เช่น ขอโทษที่พูดจาไม่สุภาพกับสื่อ เพราะสื่อเองก็ไม่สุภาพ ใช้เป็นการให้เหตุผลต่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเขาโดยไม่มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เช่น ขอโทษที่อารมณ์เสียบ่อยๆ เป็นนิสัยส่วนตัว และใช้เป็นเครื่องมือการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ เช่น ขอโทษที่ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่นักข่าว แล้วถามต่อว่าใครเอาไปเผยแพร่
และนอกจากจุดประสงค์แล้วแม้แต่วิธีการขอโทษก็เป็นเรื่องสำคัญ จากการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยโคลอมเบียพบว่า เมื่อบุคคลสาธารณะกล่าวขออภัยเมื่อพวกเขาแสดงความคิดเห็นที่เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสังคม โดยมากผู้ฟังคำขอโทษเหล่านั้นหากไม่รู้สึกเฉยๆ ก็ต้องการให้ผู้ขอโทษได้รับโทษมากกว่าเดิม
การขอโทษระดับองค์กรและระดับชาตินั้นทำหน้าที่มากกว่าการแสดงความรู้สึกผิดส่วนบุคคล แต่สามารถเป็นการแสดงออกถึงเรื่องที่องค์กรนั้นๆ ให้ความสำคัญและให้คุณค่า หรือเจตจำนงที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ผู้ฟังจำนวนมากจึงมองหาความชัดเจน ความครบถ้วน ความตรงเป้า ความจริงใจ และที่สำคัญคือสัญญาของความเปลี่ยนแปลงในคำขอโทษนั้นๆ มากกว่าการมองหาคำขอโทษเฉยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก