เรายังจำวรรณกรรม วรรณคดี เรื่องแรกในชั้นเรียนของเราได้หรือเปล่า?
เรื่องราวที่ถูกเรียงร้อยเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องเล่าเป็นลำดับ ร้อยแก้ว ความเรียง หรือใส่สำเนียงเสียงไพเราะ ร้อยกรอง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย ทั้งเก่าและใหม่ ปรากฏในชั้นเรียนเทอมแล้วเทอมเล่า ให้เราได้เสาะหาคุณค่า ความหมาย ความงาม คติสอนใจ ในเนื้อเรื่องเหล่านั้น เหมือนกับว่าการเปิดวรรณกรรมใดขึ้นมาอ่าน ต้องได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกลับไป
ความเคยชินในห้องเรียนทำให้เราติดภาพจำว่า หากเปิดวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นมา หมายความว่าเราจะต้องชื่นชมรสวรรณคดี เรื่องนี้เด่นด้วยความเอกอุในการเลือกสรรคำของผู้แต่ง เรื่องนั้นเน้นไปยังบทพรรณนาราวกับฉายภาพให้เห็นตรงหน้า ไปจนถึงคติความดีงามต่างๆ นานา
ยามบ่ายจิบชา อ่านวรรณกรรม ดื่มด่ำความสุนทรี หากเบื่อขนบทำนองนี้เต็มที เรามีวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่มีทั้งรสและลีลาไม่ต่างกันมานำเสนอ ซ้ำยังแยบคายด้วยอารมณ์ขัน นั่นคือ ‘วรรณกรรมยั่วล้อ’ (Parody) ผลงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียน ส่อเสียด แสดงความเห็นในแง่มุมอื่น อาจเป็นทั้งการล้อเนื้อหา วิธีการประพันธ์ น้ำเสียง มุมมองต่อผลงานดั้งเดิมหรือสังคม ณ ขณะนั้น
และมันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร โลกใบนี้มีการล้อเลียนเคียงคู่มานานนม ย้อนไปพอหอมปากหอมคอก็ประมาณ 446–386 ปีก่อนคริสต์ศักราช อาริสโตพานีส (Aristophanes) ตัวพ่อวงการคอเมดี้ที่นิยมเข็นผลงานล้อเลียน ส่อเสียด สังคมในยุคนั้น ล้อกันตั้งแต่สังคม การเมือง ปรัชญา และปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือ The Clouds เสียดสีการสอนของนักปรัชญาและการศึกษาของยุคนั้น
แต่ก็ใช่ว่าอารมณ์ขันในวรรณกรรมยั่วล้อจะเป็นที่ยอมรับได้เสมอไป นักวิจารณ์บางยุคสมัยมองว่า นี่เป็นเหมือนการดูถูกต้นฉบับด้วยการหยิบผลงานผู้อื่นมายำเสียใหม่ ไม่มีสำนวนเป็นของตัวเอง ไม่ต่างจากการหยิบฉวยผลงานผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง
พัฒนาการของวรรณกรรมยั่วล้อเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน เสาวณิต จุลวงศ์ ผู้ช่ายศาสตราจารย์อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวรรณกรรมล้อตามยุคสมัยไว้ว่า ยุคแรกนั้นเน้นหนักไปที่ความขบขัน ไปในทางแง่บวกต่อต้นฉบับมากกว่าแง่ลบ ขยับมาที่ยุคสมัยใหม่ หลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กลับมองว่าเรื่องล้อเลียนเหล่านี้ช่างไร้สาระ ไม่มีคุณค่าในตัวเอง ยุคหลังสมัยใหม่ ก็กลับมานิยมวรรณกรรมล้ออีกครั้งเพื่อโต้กลับทางความคิดกับยุคก่อน จะเห็นได้ว่าค่านิยมของวรรณกรรมล้อเองก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ต่างกับสิ่งอื่นในสังคม
เราไม่ได้จะพาไปไล่เลียงประวัติศาสตร์กันมากนัก เพียงชี้ให้เห็นว่าการโต้กลับทางความคิดด้วยการสร้างผลงานยั่วล้อนั้น มีมานานเพียงใด กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวอย่างไทยเราบ้าง ชนชาติที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน สารพันชวนหัว จะพลาดเรื่องสนุกแบบนี้ได้อย่างไร ไทยเรามีวรรณกรรมยั่วล้อหลากหลายรส เพียงแต่ไม่เป็นที่คุ้นหูด้วยเพราะเราคุ้นชินกับการอ่านเพื่อความงาม จนหลายครั้งอาจมองข้ามความขบขันบันเทิงเหล่านี้ไป
เราจึงอยากชวนทุกคนมาอ่านวรรณกรรมยั่วล้อของไทย ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง เบาสมองในทุกรูปแบบ แล้วจะรู้ว่าคนไทยเรานั้นเปี่ยมอารมณ์ขันและยังเฉียบแหลมทางภาษากันขนาดไหน
สรรพลี้หวน ชวนขันด้วยคำผวน
จะมาต่อบทเล่นมุก โตแมง แตงโม ชายเหมี่ยง เชียงใหม่ ก็คิดว่าฮาขี้แตกแล้ว ขอเชิญมาอัปสกิลคำผวนขึ้นไปอีกระดับกับเรื่องนี้ ‘สรรพลี้หวน’ วรรณกรรมท้องถิ่นจากภาคใต้ ที่ยังไม่ปรากฎแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่คาดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงราวๆ รัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 แต่ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งคือการใช้คำผวนในการประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ ที่เนื้อหาออกจะไม่ค่อยสุภาพ หนักไปทางหยาบโลนเสียหน่อย ผวนกันตั้งแค่ชื่อตัวละคร ไปจนถึงอากัปกริยาต่างๆ
ถึงเนื้อหาจะทะลึ่งตึงตัง แต่ก็ยังประกอบไปด้วยบทต่างๆ ตามขนบวรรณกรรมนิทานทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประพันธ์มีความรู้ความสามารถทางภาษาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่เลือกจะล้อเลียนขนบของกลอนสุภาพ ที่เน้นความงามของเสียงคล้องจอง ด้วยเสียงของคำผวนที่แทรกในแต่ละวรรค แต่น่าเสียดายที่เหมือนว่าเนื้อหาทั้งหมดที่ถูกค้นพบนั้นยังไม่จบสมบูรณ์ดี คาดว่าผู้ประพันธ์อาจเสียชีวิตไปก่อนที่จะแต่งเรื่องนี้ได้จบ
ตั้งสติกันให้ดี ลองอ่านในหัวเล่นๆ ก่อน อ่านออกเสียงเลยเดี๋ยวมันจะไอ้นั่น เรื่องราวของท้าวโคตวยและนางคีแหม ผู้ปกครองเมืองห้างกวี มีโอรสคือเจ้าชายใดหยอ ถึงคราวต้องมีคู่ครองกับเขาแล้ว เลยทาบทามธิดาท้าวโบตักและนางหิ้นปลี ผู้ปกครองเมืองห้างชี แต่ก่อนวันแต่งดันเกิดโดนปล้น ผู้คนแตกกระสานซ่านกระเซ็นไปคนละทิศละทาง ตามขนบนิทานพื้นบ้าน หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ลองตามไปอ่านกันได้ที่นี่
๏ นครังยังมีเท่าผีแหน กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศถา
เมืองห้างกวีรีหับระยับตา พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง
สูงพอดีหยีหิบพอหยิบติด ทองอังกฤษสลับสีด้วยหนีหัง
กําแพงมีรีหายไว้ขอดัง เจ้าจอมวังพระราโชท้าวโคตวย
มีเมียรักพักตร์ฉวีดีทุกแห่ง นั่งแถลงชมเชยเคยฉีหวย
เจ้าคีแหมรูปโอเมียโคตวย ท้าวหวังรวยกอดินอยู่กินกัน
มีลูกชาวไว้ใยชื่อใดหยอ เด็กไม่ลอเกิดไว้ให้คีหัน
นอนเป็นทุกข์ดุกลอยิ่งคอดัน ให้ลูกนั้นหาคู่เป็นหูรี
ต้องไปขอลูกสาวท้าวโบตัก มันตั้งหลักอยู่ไกลชื่อไหหยี
เป็นลูกเชื้อเนื้อนิลนางหิ้นปลี เมืองห้างชีปกครองทั้งสองคน
(ขุนจีเรื่องเหน, สรรพลี้หวน)
ระเด่นลันได ยั่วล้อไปกับมาตรฐานความงาม
วรรณคดีบทละครยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฝีมือการประพันธ์โดย พระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่ตั้งใจล้อกับเรื่องราวพ่อหนุ่มนักรักแห่งเกาะชวาอย่าง ‘อิเหนา’ วรรณคดีที่โด่งดังในช่วงนั้น เส้นเรื่องของอิเหนาเกิดจากเรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นใจโลเลที่ขมวดจบด้วยการมีเมียไป 10 คน ฝั่งระเด่นลันได เป็นเรื่องราวรักสามเส้า เนื้อเรื่องชิงนางคล้ายกัน เรื่องราวของแขกลันไดกับแขกประดู่ที่แย่งชิงนางประแดะอันมีความงามในแบบของตัวเอง จนเป็นที่มาของบทชมโฉมอันโด่งดัง
บทชมโฉมของอิเหนาโดดเด่นเห็นภาพ ให้รู้ว่าเมียแต่ละคนนั้นงดงามปานไหน ฝั่งยั่วล้อก็ไม่น้อยหน้า มีบทชมโฉมที่โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่ด้วยความเป็นวรรณกรรมยั่วล้อ จึงล้อความงามตามขนบ จนได้เป็นบทชมโฉมที่ออกจะขัดมาตรฐานความงามในสมัยนั้นเสียหน่อย หากอยากรู้ว่าความงามเฉพาะตัวของนางประแดะนั้นโดดเด่นขนาดไหน เชิญทัศนาได้ในบทชมโฉมนี้
“สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด
งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา
ทั้งสองแก้มกัลยาดั่งลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย
จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ
ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต้าห้อยตุงถุงตะเครียว
โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม
มันน่าเชยน่าชมนางเทวี”
(ระเด่นลันได, พระมหามนตรี (ทรัพย์))
พระมะเหลเถไถ เมื่อภาษาไหลไปเรื่อยๆ
บทประพันธ์โดยคุณสุวรรณ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ล้อกับอิเหนา (อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ายิ่งดังเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสโดนแต่งล้อเท่านั้น) เรื่องราวของ พระมะเหลเถไถ โอรสของ ท้าวโปลากะปาหงัน และ นางตาลากะปาลัน แห่งเมืองกะโปลา เรื่องมันวุ่นตรงที่เมื่อพระมเหลเถไถประพาสป่าพระอินทร์จัดการปัดขวา อุ้มสมนางตะแลงแกงจนตกล่องปล่องชิ้น แต่เจ้ายักษ์มาลาก๋อยกลับมาชิงตัวนางตะแลงแกงไป จึงเกิดศึกชิงนางรักสามเส้าขึ้น(อีกแล้ว!)
จุดเด่นของเรื่องนี้ไม่ใช่การล้อเลียนด้วยเนื้อหา แต่โดดเด่นด้วยเนื้อหาของตัวเอง เพราะเรื่องนี้ใช้คำที่ไม่มีความหมายในบทประพันธ์ ไม่เน้นความหมาย เน้นเอาเสียง เอาสัมผัสพอ โดยเฉพาะคำท้ายๆ ของวรรคที่เป็นคำแต่งขึ้นใหม่ เฮ็ดขึ้น สร้างขึ้น เอาให้มันคล้องจอง เน้นเสียงฟีลๆ ชวา ฟีลๆ อิเหนา แต่ถึงอย่างนั้น หากอ่านแต่ต้นจนจบ คนอ่านก็ยังเข้าใจถึงความหมายของเรื่องได้ไม่ติดขัด (ถ้าไม่พยายามไปเค้นเอาความหมายในคำที่สร้างใหม่เหล่านั้น)
๏ เมื่อนั้น พระมะเหลเถไถมะไหลถา
สถิตยังแท่นทองกะโปลา ศุขาปาลากะเปเล
วันหนึ่งพระจึงมะหลึกตึก มะเหลไถไพรพรึกมะรึกเข
แล้วจะไปเที่ยวชมมะลมเต มะโลโตโปเปมะลูตู
ตริแล้วพระมะเหลจึงเป๋ปะ มะเลไตไคลคละมะหรูจู๋
จรจรัลตันตัดพลัดพลู ไปสู่ปราสาทท้าวโปลา
(พระมะเหลเถไถ, คุณสุวรรณ)
จะกะโปลา กะเปเล ก็ไม่มีความหมายใด เพียงใส่ให้คำมันครบและคล้องกัน จะนับว่าเป็นอารมณ์ขันแบบหนึ่งก็ย่อมได้ ท่ามกลางกวีมากมายในยุคนั้น พระมะเหลเถไถจึงมีความโดดเด่นขึ้นมาแม้จะเต็มไปด้วยคำที่ไร้ความหมายก็ตาม
นอกจากนี้คุณสุวรรณยังมีผลงานชิ้นอื่นที่เป็นแนวยั่วล้อนี้อีก อย่างอุณรุทร้อยเรื่องที่รวมเอาวรรณกรรมเรื่องอื่นมาไว้ในเรื่องเดียว ปรากฏชื่อตัวละครนับร้อย จากหลายสิบเรื่อง หากใครสนใจ สามารถตามอ่านทั้ง 2 เรื่องได้ที่นี่
ด้วยความดิ้นได้ของภาษาไทยบวกกับความชื่นชอบในอารมณ์ขันของคนไทย แม้วรรณกรรมยั่วล้อจะมีจำนวนน้อยกว่าประเภทอื่น กลับไม่ถูกวิจารณ์ในเชิงลบหรือด้อยค่าเท่าฝั่งตะวันตกเท่าไหร่นัก ซ้ำยังถูกยกย่องว่าเสียดสีสังคม ณ ขณะนั้นได้อย่างแยบคายอีกต่างหาก
จะแยบคายจริงแท้แค่ไหนไม่อาจล่วงรู้ถึงใจผู้แต่งได้ แต่ที่แน่ๆ คนไทยรักความขบขันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วจริงๆ
อ้างอิงจาก