ในช่วงสัปดาห์นี้ หนึ่งในภาพยนตร์ที่ฮ็อตที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่อง Spiderman : Homecoming ในฐานะที่ผมค่อนข้างเป็นแฟนหนังแนวนี้ ก็แน่นอนว่าฝ่าฝูงชนช่วงเข้าพรรษาไปดูมากับเค้าแล้ว (จริงๆ ในฐานะอุบลบอย ผมอาจจะควรเขียนเรื่อง ‘วันเข้าพรรษา’ มากกว่า แต่ความรู้เรียกได้ว่าไม่มีเลย ก็เลยต้องปล่อยผ่าน) ตามประสาคนที่เป็นมนุษย์ฝั่งดีซี ผมก็รำคาญการพยายามยัดมุกพร่ำเพรื่อของค่ายมาร์เวลตามตำรา แต่ก็เห็นว่าไหนๆ เพิ่งไปดูมา และอยู่ในอารมณ์ติดพันหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วย (2 วันก่อนเพิ่งดู Gotham season 3 จบไปอีก) วันนี้เลยชวนคิดเรื่องหนังซูเปอร์ฮีโร่เสียหน่อยดีกว่า
งานชิ้นนี้อาจจะมีการเปิดเผยบางส่วนของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ดังๆ รวมถึงเรื่องสไปเดอร์แมนที่กำลังฉายอยู่ ณ ตอนนี้ (แต่หากมีผมก็จะพยายามจำกัดให้มากที่สุด) เพราะฉะนั้นแล้วท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาเอาเองนะครับว่าจะอ่านหรือไม่ หรือว่าจะอ่านอย่างไร
หลายคนดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ในฐานะสื่อที่ว่ากันตามตรงคือ ดูเอามันแบบหนังแอ็คชั่นแบบหนึ่ง บางคนอาจจะมองว่าเป็นหนัง ‘เด็กๆ’ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่วันนี้ผมอยากจะลองเสนอให้ลองมอง ‘ภาพรวมของหนังซูเปอร์ฮีโร่’ ในอีก 2 มุมมอง คือ (1) ฐานะภาพสะท้อนต่อนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นเจ้าของหลักของอุตสาหกรรมหนังซูเปอร์ฮีโร่พวกนี้) และ (2) ฐานะของภาพสะท้อนต่อการเมืองและความมั่นคงภายในรัฐ ซึ่งมีลักษณะที่สากลหรือ universal มากกว่า เพราะสถานะนี้เป็นการให้คำอธิบายในเชิงอุดมการณ์มากกว่าการเป็นนโยบายเฉพาะของรัฐใดรัฐหนึ่ง
I
หนังซูเปอร์ฮีโร่ในฐานะภาพสะท้อนต่อนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ
ผมคิดว่าการหนังซูเปอร์ฮีโร่นั้นสามารถแบ่งได้หยาบๆ เป็น 2 ยุคใหญ่ๆ นั่นคือ หนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคก่อนสงครามเย็นสิ้นสุด และหนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง
หนังซูเปอร์ฮีโร่ยุคก่อนสงครามเย็นสิ้นสุดนั้น ก็ตามสภาพชื่อของยุคบอกนั่นแหละครับ คือ นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ยาวมาจนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็นนั้น เป็นยุคที่เรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกามีศัตรูที่ชัดเจน ทั้งฝ่ายอักษะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
ด้วยเหตุนี้เองภาพของอเวนเจอร์คนแรกอย่างกัปตันอเมริกันจึงต้องสะท้อนหรือขับเน้นความเป็นชาติ และความเป็นฝ่ายถูกต้องของตนออกมาอย่างเต็มที่ เราจึงเห็นการเอาธงชาติมาพันตัวเป็นชุดคอสตูม อาวุธหลักคือโล่ที่สะท้อนภาพหลักในฐานะ ‘ผู้ป้องกันหรือปกป้อง’ ไม่ใช่การรุกราน ไปจนถึงลักษณะสำคัญคือ การที่ซูเปอร์ฮีโร่ในยุคนี้ มักจะเป็นคนดีแบบดีบริสุทธิ์ ทำความดีเพื่อความดีเหลือเกิน ในขณะที่ฝ่ายตัวร้ายนั้นก็จะเลวเพื่อความเลวไปเลย เรียกได้ว่าเลวสุดขั้วกันไป
อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยสหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้ได้รับชัยชนะและอาจะเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว คำถามคือ “แล้วใครกันเล่าคือศัตรูของสหรัฐอเมริกา?”
คำตอบต่อคำถามดังกล่าวนี้มีคำตอบจากนักวิชาการดังๆ หลายคน ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ว่า ฝ่ายซ้ายที่ดังๆ ที่ผมอยากยกคำมาให้ฟังก็คือ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) โดยชิเช็กได้ให้คำตอบต่อคำถามนี้ว่า
“…poor people around the world dream about becoming Americans – so what do the well-to-do Americans, immobilised in their well-being, dream about? About the global catastrophe that would shatter their lives.”[1]
หรืออาจจะพอแปลได้ว่า
“เหล่าผู้ยากไร้ทั่วโลกต่างเฝ้าใฝ่ฝันกัน หวังว่าจะได้มีชีวิตเยี่ยงคนอเมริกัน แล้วเหล่าชนอเมริกันผู้มีอันจะกินและถูกกักขังอยู่ในภาพของความสมบูรณ์พูนสุขของตนนั้นเล่าเฝ้าฝันถึงสิ่งใด? นั่นก็คงจะเป็นความล่มสลายของโลกที่จะมาทำให้ชีวิตของพวกเขาป่นปี้ลงได้”
ในทำนองเดียวกับฌอง โบดริยาร์ด (Jean Boudrillard) นักคิดคนสำคัญของฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ว่า “We dreamt of this event [9/11]. … They did it, but we wished for it.”[2] ซึ่งก็แปลง่ายๆ ตามตัวเลยนั่นแหละครับว่า “เรา (โลกตะวันตก) เป็นผู้ซึ่งใฝ่ฝั่นให้เกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น…พวกเขาคือผู้ก่อเหตุ แต่เราคือผู้หวังถึงมัน”
ไม่ใช่แค่นักคิดฝ่ายซ้ายนะครับที่มีคำอธิบายแบบนี้ แม้แต่นักคิดฝ่ายขวาตัวพ่ออย่างไอร์วิ่ง คริสตอล (Irving Kristol) ผู้ได้สมญานามว่า Godfather of Neoconservativism นั้นก็กล่าวในทำนองเดียวกันนี้ ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดได้ไม่นานด้วยซ้ำ คริสตอลกล่าวว่า
“We may have won the Cold War, which is nice – more than nice, it’s wonderful. But this means that now the enemy is us, not them.” หรือก็คือ “เราอาจจะสงครามเย็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ดีซะยิ่งกว่าดีเสียอีก แต่นั่นหมายความว่าตอนนี้ศัตรูของเราคือเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น”
นี่คือภาพที่มีต่อมุมมองของทิศทางด้านความมั่นคระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในโลกของซูเปอร์ฮีโร่เองก็สะท้อนภาพของทิศทางที่ว่านี้เช่นเดียวกัน เมื่อฮีโร่เองเริ่มมีด้านมืด หรือมีศัตรูตัวฉกาจเป็นภาพสะท้อนด้านมืดของ ‘ตัวเอง’ ไม่ว่าจะเป็นเวน่อมในเรื่องสไปเดอร์แมน, ซูเปอร์แมนด้านมืด, หรือซูเปอร์ฮีโร่ที่แสดงตัวตนหรือยอมรับการมีอยู่ของด้านมืดของตนเอง อย่างแบทแมน หรือแม้แต่วอนเดอร์วูแมนเองก็ตาม ที่สะท้อนลักษณะของฮีโร่ในยุคนี้ แม้แต่พ่อยอดชายแสนดีอย่างกัปตันอเมริกันเอง ก็ยังมีบทที่แสดงตัวตนด้านมืดของตนเองออกมา ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญในการสะท้อนภาพนโยบายความมั่นคงในยุคหลังสงครามเย็นนี้
ตัวตนของฮีโร่เอง ได้กลายมาเป็นศัตรูคนสำคัญที่ของตนเองไป ดังเช่นที่ศัตรูของสหรัฐอเมริกามีตัวเองกลายเป็นศัตรูหลักของตนเอง
จริงๆ ตัวอย่างในรายละเอียดอาจจะมีอีกมาก แต่เนื้อที่ใกล้จะหมดเดี๋ยวไม่ได้เขียนอีกประเด็น ก็คิดว่าหากนึกตามน่าจะพอเห็นภาพระดับหนึ่งอยู่ แต่ผมอยากจะขอแทรกเนื้อที่อีกสักนิด พูดถึงสไปเดอร์แมนตัวล่าสุดนี้ (อาจจะมีสปอยล์) โดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่ามีการสะท้อนภาพลักษณ์ที่เชียร์ทรัมป์พอสมควร (ว่ากันตามตรงในฐานะดีซีบอย ผมอาจจะมีอคติโดยส่วนตัวได้ไม่น้อย นี่ขอแจ้งไว้ก่อน เพราะดราม่า ‘ดีซี – มาร์เวล’ นี่ก็มีให้เห็นตลอด) คือ ภาพของสไปเดอร์แมนภาคล่าสุดนี้ถูกฉายภาพออกมาให้เฉิ่มสนิท เบ๊อะสนั่น พลาดรัวๆ ว่ากันภาษาบ้านๆ คือ มันดูโง่มาก (ไม่ใช่โง่ในเชิงวิชาการนะครับ เพราะเรื่องวิชาการนี่นางเก่ง) มีทั้งทำให้สถานการณ์ที่เตรียมการแก้ไขไว้แล้ว ให้เละเทะมากขึ้น มีการด่วนตัดสินใจไปเองจนทำให้เกิดความผิดพลาดในการ ‘ปฏิบัติภารกิจฮีโร่’ ฯลฯ สำหรับผมแล้วในเชิงโครงสร้างภาพรวมมันราวกับท่านประธานาธิบดีทรัมป์พิกล ที่โดนคนค่อนขอดไปค่อนโลกว่าบ้าบ้าง โง่บ้าง
แต่การรับมือกับคนประเภทนี้ ที่ดันโง่แต่ถือครองอำนาจอย่างล้นเหลือ (การเป็นซูปเปอร์ฮีโร่นี่ถือครองอำนาจมากนะครับ เดี๋ยวผมอธิบายในประเด็นต่อไป) นั้นคืออะไร? หนังเรื่องนี้บอกกับเราว่า “ให้โอกาสเค้า เดี๋ยวเค้าจะเรียนรู้เอง และจะฉลาดขึ้นสักวันจนทำหน้าที่อันทรงอำนาจของเขาได้อย่างสมศักดิ์ศรีเข้าสักวัน” พวกเราควรทำตัวเป็น ‘ผู้ใหญ่’ (ตามในเรื่องคือแบบโทนี่ สตาร์ก) ที่เฝ้าคอยการเติบโตของเขาและเชื่อมั่นในตัวของเด็กโง่คนนี้ สำหรับผมมันคือการเชียร์คนแบบทรัมป์นี่แหละครับ แต่ไม่ใช่การเชียร์ด้วยสายตาแบบเชียร์สุดจิตสุดใจ แต่เป็นการเชียร์แบบที่วางตำแหน่งแห่งที่ของตนในฐานะ “ผู้สูงส่งกว่า ที่ใจกว้างพอจะให้เด็กน้อยน่าโง่คนนั้น ได้ฝึกหัดในตำแหน่งแห่งอำนาจของตนตามสมควรก่อน”
ที่ผมว่ามาไม่ได้ครอบคลุมหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดนะครับ แต่พูดในเชิงโครงสร้างภาพรวม ตัวละครอย่าง V ใน V for Vendetta ของค่าย DC เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะต้องแยกพูดถึงไปต่างหากเลย เป็นต้น
II.
ฐานะของภาพสะท้อนต่อการเมืองและความมั่นคงภายใน
ผมอยากเริ่มต้นส่วนนี้ด้วยการเสนอว่า ในหนังซูเปอร์ฮีโร่นั้น โดยทั่วๆ ไปแล้วจะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ 1. ตัวซูเปอร์ฮีโร่, 2. ศัตรู และ/หรือภัยที่แข็งแกร่ง, และ 3. ตำรวจ, ทหาร หรือตัวแทนฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ของรัฐ คือ แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงหนังซูเปอร์ฮีโร่ คนย่อมพูดกันถึงตัวฮีโร่และตัวร้ายเป็นหลัก เพราะถือว่าเล่นบทเด่นในเรื่อง แต่สำหรับผมแล้ว บทที่สำคัญไม่น้อยกว่า 2 ตัวที่ว่ามาเลย แต่กลับได้รับความสนใจน้อยกว่ามากคือ พวกตำรวจหรือทหารในเรื่องนี่แหละครับ
หากเราเริ่มต้นมองหนังซูเปอร์ฮีโร่จากฟังก์ชั่นของตำรวจหรือทหารในหนัง เราอาจจะได้เห็นโครงสร้างของหนังฮีโร่ที่แตกต่างไป คำถามเริ่มต้นของผมเลยก็คือ “ตำรวจและทหารทำหน้าที่อะไรในเรื่อง?” หรือ “จะมีพวกนี้ไปทำไม?”
พวกเขามีอยู่เพื่อแสดงถึงตัวตนของกลไกความมั่นคงปกติของรัฐ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักสำคัญที่สุดของหนังซูเปอร์ฮีโร่ (รวมถึงหนังสายลับ) แทบทุกเรื่องกันเลยทีเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นไปได้ในการจะมีอยู่ของตัวตนพิเศษที่เรียกว่าซุปเปอร์ฮีโร่นั้นจะมีขึ้นได้ (โดยคนดูรู้สึกว่าชอบธรรม) ก็ต่อเมื่อกลไกความมั่นคงปกติของรัฐนั้นมันล้มเหลวลง
ทหารกับตำรวจในหนัง มีขึ้นเพื่อแสดงความล้มเหลวของตน เพื่อสร้างเงื่อนไขในการใช้ช่องทางอำนาจพิเศษ ‘เหนือกลไกปกติของรัฐ’ (Legitimized Extralegality) เพื่อใช้ในการจัดการกับ ‘ภัยพิเศษบางประการ’ ที่ไม่อาจจะจัดการด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายปกติทั่วไปได้
สภาวะดังกล่าวนี้บางทีในทางวิชาการเรียกกันว่า ‘ภาวะยกเว้น หรือ State of Exception’ ตามคำอธิบายของจอร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) ที่อธิบายถึงสภาวะยกเว้น (อำนาจของกฎหมาย) ในสังคม เมื่อสังคมเผชิญกับภัยที่ถูกทำให้มองว่าไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยกลไกปกติธรรมดา ซึ่งมันก็นำมาสู่การประกาศสภาวะฉุกเฉิน, การรัฐประหาร หรือการลอบสืบราชการลับต่างๆ ในโลกจริงนั่นเอง
ในทางภาพยนตร์สิ่งที่ถูกนำมาเป็นภาพแทนกลไกการแก้ปัญหาที่ ‘เหนือกฎหมาย’ หรือ ‘เกินกว่ากลไกปกติ’ ก็คือตัวซูเปอร์ฮีโร่นั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้วในกรอบคิดนี้ หนังซูเปอร์ฮีโร่แทบทุกเรื่อง เป็นหนังที่สนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยม หรือการยอมรับใน Good Tyranny (เผด็จการคนดี) ที่สามารถทำอะไรก็ได้ นอกเหนือกฎหมายแค่ไหนก็ได้ ในนาม ‘คนดีความดี’ หรือในนามการทำเพื่อ ‘ปกป้องพวกเรา’
ผมคิดว่าภาพที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของกรอบวิธีการมองหนังซูเปอร์ฮีโร่ในกรอบนี้ก็คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเอง ที่มีภัยที่ยิ่งใหญ่มากเกิดขึ้น นั่นคือเหตุการณ์ 9/11 ที่มีเครื่องบินชนตึกและทำเนียบขาว มันทำให้สังคมมองไม่เห็นช่องทางในการจัดการกับปัญหานี้ ‘ภายในกรอบของกฎหมาย’ เลย จึงรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องใช้วิธีการนอกเหนืออำนาจของกฎหมายทั่วไปมาจัดการแล้วแหละ และ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ของเหตุการณ์ 9/11 ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกไปเสียจากตัวสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2003 ที่ไปบุกอิรัก ที่เป็นการใช้อำนาจแบบ Extralegality (Beyond Legal) หรือเหนือล้นกฎหมายอย่างชัดเจนนั่นเอง
เมื่อมองในกรอบนี้แล้ว เราจะพบว่าฮีโร่แทบทั้งหมดคือ ‘ภาพตัวแทนของความเลว’ ต่างหาก ไม่ใช่ตัวแทนของคนดีอะไรเลย เพียงแต่ในโลกนี้ “คนเลวมักจะอยู่ในคราบที่เรียกตัวเองว่าคนดี และคนในสังคมก็มักจะอยากให้อำนาจกับคนดีในคราบเหล่านี้เสียด้วย ไม่ว่าอำนาจนั้นมันจะไม่ชอบธรรมหรือขัดกับกฎหมายเพียงใด”
และผมบอกได้สั้นๆ เพียงคำเดียวว่า กรอบคิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ที่สหรัฐอเมริกา หรือรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่มันอาจจะสะท้อนถึงชุมชนการเมืองใดก็ได้ โดยเฉพาะรัฐที่ภูมิใจในความเป็นอำนาจนิยมคนดีของตน และชอบอ้างใน ‘ภัยหรือวิกฤติ’ ตลอดเวลาด้วย ก็คงต้องยิ่งถามคำถามว่า “ฮีโร่ของคุณคือใคร?” … แต่ฮีโร่ในที่นี้คงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นคำชื่นชมอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดอ่าน Slavoj Zizek, Welcome to the Dessert of the Real!: Five Essays on September 11 and Related Dates
[2] โปรดดู Jean Boudrillard, The Spirit of Terrorism