มนุษย์อ่อนแอแบบเรามักใฝ่ฝันถึงโลกที่มียอดมนุษย์แบบซูเปอร์แมนคอยคุ้มครอง แต่เอาเข้าจริง โลกที่มียอดมนุษย์อาจไม่ได้น่าอยู่อย่างที่เราคิด เพราะไม่มีอะไรประกันว่าผู้มีอำนาจอันไร้ขอบเขตเหล่านี้ จะใช้อำนาจพิทักษ์โลกเสมอไป พวกเขาอาจเปลี่ยนใจมากดขี่พวกเราเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นหากมี Justice League เกิดขึ้นจริง เราคงอยู่กันอย่างหวาดระแวงมากกว่าจะมีความสุข
แบทแมนเองก็เป็นตัวละครหนึ่งที่มองเห็นถึงประเด็นนี้ ใครเป็นคอการ์ตูนค่ายดีซีคอมิกส์คงทราบกันดีว่าหลังก่อตั้ง Justice League ได้ไม่นาน แบทแมนแตกหักกับสมาชิกคนอื่น เนื่องจากเพื่อนๆ จับได้ว่าเขาแอบรวบรวมข้อมูลจุดอ่อนและสร้างอุปกรณ์สำหรับปราบสมาชิกแต่ละคนเก็บไว้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นแผนการสำหรับถ่วงดุลและจัดการ ในกรณีที่เกิดมียอดมนุษย์ทำตัวออกนอกลู่นอกทางขึ้นมา
ตัวอย่างจะเห็นได้จากเนื้อเรื่อง Justice League ภาค Doom เช่นแบทแมนแอบทำกระสุดจากแร่คริปโตไนต์เก็บไว้ เนื่องจากแร่ดังกล่าวมีคุณสมบัติทำให้ซูเปอร์แมนอ่อนแรง
สำหรับกรีนแลนเทิร์นที่สร้างพลังจากจิตมุ่งมั่น แบทแมนก็วางแผนปราบด้วยการแอบสร้างแก๊สที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในจิตใจ และอาศัยปมทางจิตใจออกแบบสถานการณ์ที่จะทำให้ยอดมนุษย์ผู้นี้รู้สึกผิดต่อตนเอง
ส่วนวันเดอร์วูแมน แบทแมนใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนเรื่องนิสัยทระนงตัวไม่ยอมแพ้ใครของเธอ สร้างสารเคมีที่ทำให้เธอเห็นภาพลวงตาเป็นศัตรูจำนวนไม่จำกัด ซึ่งจะทำให้เธอไม่ยอมหยุดไล่ล่าและต่อสู้ไปเรื่อยๆ จนหมดแรงตายไปเอง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นตัวละครคิดและทำอะไรทำนองนี้ ปกติการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ของอเมริกามักสร้างพล็อตจากประเด็นการเมืองร่วมสมัย ซึ่งประเด็นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจก็เป็นหัวใจของระบอบการเมืองอเมริกาตลอดมา ดังนั้นเราจึงเห็นพล็อตดังกล่าวปรากฏอยู่บ่อยๆ
ในเนื้อเรื่องฝั่งดีซี รัฐบาลอเมริกาจัดตั้งทีม Suicide Squad สำหรับเป็นคานงัดในกรณีฉุกเฉินที่ซูเปอร์แมนกลายเป็นทรราช สมาชิกหลายคนใน Justice League ที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมอำนาจซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดไว้ที่องค์กรเดียว ก็แยกตัวออกไปตั้งทีมต่างๆ เพื่อกระจายอำนาจออกไป ในฝั่งมาเวล รัฐบาลพลเรือนก็จำกัดอำนาจซูเปอร์ฮีโร่ ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้พวกเขามาลงทะเบียนและทำงานภายใต้คำสั่ง ความขัดแย้งต่อนโยบายดังกล่าวนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างยอดมนุษย์อย่างที่เราเห็นใน Civil War
ในวิชารัฐศาสตร์เราเรียกแนวคิดแบบนี้ว่า การออกแบบกลไกแบ่งแยก ตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ วิธีคิดก็คือการรวมอำนาจไว้ที่คนคนเดียวหรือสถาบันเดียวนั้นอันตรายเกินไป ดังนั้นจึงควรกระจายอำนาจไปไว้หลากหลายแหล่งที่เป็นอิสระจากกัน แล้วให้อำนาจเหล่านี้ตรวจสอบคานงัดกันไป ตัวอย่างก็เช่นการแยกอำนาจและการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างรัฐบาล รัฐสภา ศาล และหน่วยงานราชการ รวมถึงเปิดให้สื่อ ภาคประชาชนสังคม และประชาชนกำกับอำนาจรัฐทั้งหมดนี้ผ่านการใช้สิทธิเสรีภาพหรือการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง
รายละเอียดของการถ่วงดุลระหว่างสถาบันต่างๆ อาจแตกต่างกันไปตามลักษณะองค์กรและบริบทสังคม แต่หลักคิดกว้างๆ ก็จะเป็นดังที่สไปเดอร์แมนว่าไว้ คือ อำนาจต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ ยิ่งอำนาจมากก็ยิ่งต้องถูกจับตาตรวจสอบมาก
ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนี้? เหตุผลก็คือมนุษย์เราพยายามหาผู้นำหรือรัฐบาลที่ดีกันมาเป็นพันๆ ปีแล้วพบว่าไม่สำเร็จ ได้ผู้นำดีบ้างไม่ดีบ้าง ที่ว่าดีบางทีอยู่ไปสักพักก็ไม่ดี พอมีรัฐบาลที่ไม่ดี จะเปลี่ยนแต่ละทีก็ต้องนองเลือด ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาชวนปวดหัวที่ว่าแต่ละคนมองเรื่องความดีไม่เหมือนกัน ดังนั้นแทนที่จะมุ่งหายกอำนาจเบ็ดเสร็จให้ ‘คนดี’ เราจึงเปลี่ยนใจหันมาตั้งสมมติฐานว่าอำนาจมีแนวโน้มโอนเอียงไปสู่ความฉ้อฉลเสมอ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ระบอบการเมืองที่ดีในระยะยาวจึงไม่ใช่ระบอบของคนดี แต่เป็นระบอบที่มีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในตนเอง
เปรียบง่ายๆ ก็คือฝากมีดไว้กับใครก็เกิดปัญหาทั้งนั้น ทางออกจึงได้แก่การจัดมีดขนาดเท่าๆ กันให้ทุกคนถือไว้คนละเล่ม เมื่อทุกคนมีมีดและจับตากันไปมา โอกาสที่ใครจะแอบแทงใครก็น้อยลง และเมื่อแทงกันลำบาก โอกาสหันมานั่งคุยกันก็มากขึ้น
หลายคนอาจสงสัยว่าแนวคิดนี้กำลังเสนอให้เราสนใจแต่การกระจายอำนาจและจ้องจับผิดกันอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องการหาคนตั้งใจดีมีความสามารถและการมอบอำนาจให้เขาทำเรื่องใหญ่ๆ เลยหรือเปล่า? ไม่ใช่นะครับ แนวคิดนี้ไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของเรื่องหลัง เพียงแต่บอกว่าเวลาเราคิดเรื่องการบริหารจัดการอำนาจ การออกแบบกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นเรื่องที่เราละเลยไม่ได้เช่นกัน จะสมดุลระหว่างสองประเด็นนี้อย่างไรก็ต้องไปว่ากันในรายละเอียด แต่การเลือกทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเลยนั้นไม่ฉลาดเท่าที่ควร
เพราะหากดูจากประวัติศาสตร์นับพันปีของคนทั่วโลก กลไกลถ่วงดุลอำนาจคือนวัตกรรมที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันทรราชในระยะยาว ที่มนุษย์ผู้ไร้อำนาจอย่างเราพอจะคิดกันออก
ที่แบทแมนมานั่งคิดอะไรแบบนี้ก็เพราะจริงๆ แล้วแกเป็นคนธรรมดาเหมือนเราเนี่ยแหละครับ จึงรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยกับการใช้ชีวิตภายใต้อำนาจของเหล่ายอดมนุษย์ เทียบกับคนอื่น แกไม่มีพลังวิเศษอะไรเลย ที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาได้ ก็อาศัยพลังสติปัญญา ความรอบคอบ จิตมุ่งมั่น การฝึกฝนร่างกายอย่างหนัก เทคโนโลยี เส้นสาย และอำนาจเงิน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ก็เหมือนกับที่พวกเราแต่ละคนมีมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
มองในมุมนี้ แบทแมนก็คล้ายเป็นภาพตัวแทนของพลังอำนาจทั้งหมดที่ประชาชนมีทั้งหมด ขนาดแบทแมนที่มีพลังอำนาจเท่ากับพวกเราทุกคนรวมกัน แกยังคิดว่าตัวแกเองเอาพวกผู้มีพลังพิเศษไม่อยู่ จนต้องมาคิดเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเลยครับ ดังนั้นใครที่คิดว่าเราสามารถยกอำนาจเบ็ดเสร็จให้คนใดคนหนึ่ง แล้วควบคุมเขาไปในทางที่ดีได้ตลอดไป คนแบบนี้ถ้าไม่ใช่คนที่เก่งกว่าแบทแมน ก็ต้องพวกคนที่ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย
ถ้าไม่ชอบประวัติศาสตร์ อย่างน้อยก็ควรหันมาอ่านการ์ตูนคอมิกส์กันให้มากขึ้นครับ