มีคนชอบแซวว่า เวลาเราไปงานนอกกระแส เช่น คอนเสิร์ตเพลงอินดี้ หากจัดในสถานที่ลึกลับหาทางไปยาก แถมไม่มีป้ายบอกทาง ให้ลองมองและเดินตามคนที่ถือถุงผ้าไป
ปี 2017 เว็บไซต์ฟังใจซีนออกบทความกึ่งภาพประกอบที่พูดน้อยต่อยหนักโดย Tuna Dunn ชื่อว่า Boys At Gig : 5 สิ่งน่าสังเกตของผู้ชายไปงานอินดี้ ซึ่งเกิดจากการที่เธอสังเกตเห็นได้ถึงลักษณะคล้ายๆ กันของผู้ที่มางานคอนเสิร์ตนอกกระแส เช่น ทรงผมย้อนยุค ถุงผ้า เสื้อฮาวาย ฯลฯ โดยผลตอบรับก็ปะปนกันไป คือมีทั้งคนขำขันเพราะว่ามันจริงมาก! มีคนที่รู้สึกโดนแซะ และคนที่คิดว่าบทความนี้ส่งเสริมให้คนแต่งตัวเหมือนๆ กันเข้าไปอีก
น่าสนใจว่าทำไมคนที่เลือกทางนอกกระแสกลับมีลักษณะและการแต่งตัวคล้ายกันเป็นกลุ่มก้อนซํ้าๆ ที่พบเห็นได้
ยิ่งเวลาผ่านไป เมื่อเราไปสถานที่รวมคนนอกกระแส กลับพบลักษณะร่วมที่คล้ายกันอย่างประหลาด เลยเกิดคำถามในใจเสมอ ขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนก็ชอบไปงานนอกกระแสเหล่านี้ เคยทำงานเกี่ยวข้องกับดนตรีนอกกระแส และถูกเพื่อนแซวแซะว่าเป็นฮิปสเตอร์เหมือนกัน ยังขำขันที่ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนที่เหมือนจะแตกต่างแต่ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมดนี้เอง
Hipster Effect เมื่อเราอยากแตกต่างแต่อาจลงเอยกลายเป็นส่วนหนึ่งของอีกกลุ่ม
ปริศนาฮิปสเตอร์นี้อาจอยู่ในใจของใครหลายคน แต่ Jonathan D. Touboul นักคณิตศาสตร์คนหนึ่งไม่นิ่งนอนใจ เขาแปลงความสงสัยนี้ให้กลายเป็นความรู้ กลายเป็นงานวิจัย THE HIPSTER EFFECT: WHEN ANTI-CONFORMISTS ALL LOOK THE SAME เพื่อหาสมการคณิตศาสตร์มาอธิบายสิ่งที่เขาจำกัดความว่า Hipster Effect โดยเรียกกลุ่มคนนอกกระแสว่า ‘Anti-Conformist’
Touboul ได้จำลองพฤติกรรมของฮิปสเตอร์และคนกระแสหลักผ่านโมเดลการถ่ายทอดข้อมูล (Inforamation Transmission) เป็นโมเดลคณิตศาสตร์โดยตั้งให้
- ธรรมชาติของกระแสหลัก (Mainstream) คือเปลี่ยนไว High Switching Rate เปลี่ยนตามเทรนด์และกระแส เขาฮิตอะไรกันก็จะไปทำ ลองอย่างรวดเร็ว ยิ่งฮิตมากก็จะปรับเปลี่ยนไวตามให้ทัน ทำให้พวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็วตามกระแส
- ธรรมชาติของฮิปสเตอร์ (Anti-conformist) คือเปลี่ยนช้า Low Switching Rate เลือกทำสิ่งที่สวนทางกับเทรนด์ที่คนส่วนใหญ่ทำ ผนวกกับความเชื่อในการเป็นตัวของตัวเอง (Originality) ยิ่งเห็นคนทำเยอะก็จะยิ่งไม่ทำ ผลคือทำให้ฮิปสเตอร์มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่า
Hipster Effect คือปรากฏการณ์ที่คนที่ต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักลงเอยด้วยที่การดูเหมือนกันไปหมด ซึ่งหากใครงงว่าศึกษาเรื่องนี้ไปทำไม คำตอบคือ ปรากฏการณ์นี้มีผลกับการลงทุน (เช่น คนที่สวนกระแสซื้อหุ้นในช่วงที่คนขาย) หรือสาขาอื่นๆ ในทางสังคมวิทยาได้ด้วย
เมื่อเวลาผ่านไป ก่อนที่ฮิปสเตอร์ผู้ยึดในความเป็นตัวของตัวเองจะรู้ตัว ยิ่งพวกเขาตามเทรนด์ใหม่ๆ ไม่ทัน ก็จะทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะเลือกอะไรเหมือนๆ กัน จนกระทั่งกลายเป็นดูเหมือนกันไปหมด แล้วในที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงไม่ทันก็ทำให้ติดอยู่กับความเป็นตัวเองและความออริจินัล
วงจรชีวิตของแฟชั่นและเทรนด์ใหม่ๆ นั้นใช้เวลาในการแพร่ข้อมูลสู่มวลชน อาจมีคนจำนวนไม่กี่คนที่ตามบล็อก (blog) หรือบทความ คนส่วนใหญ่มักรอให้คนอื่นพูดถึง รอให้ปรากฏในสื่อ หรือรอให้คนรอบตัวทำก่อนถึงจะเริ่มเห็นว่ามีกระแสเกิดขึ้น ความแปลกใหม่จึงมักถูกจำกัดอยู่ในวงคนไม่มาก คนส่วนใหญ่จึงเลือกตามที่มีตัวเลือกหรือเห็นจากคนรอบตัว
สุดท้ายแล้วทั้งคนกระแสหลักและฮิปสเตอร์ต่างก็เลือกเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสุ่มไปตามวงจรชีวิตของเทรนด์ที่เกิดและดับ ไม่มีอะไรแน่นอนว่าสิ่งไหนเป็นกระแสและไม่เป็น เช่น เมื่อคนโกนหนวดเยอะ ฮิปสเตอร์จึงเลือกไว้หนวดเครา จนถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ไว้หนวดเคราเยอะ การโกนหนวดก็กลับมาเป็นการสวนกระแสได้ ความพยายามจะต่อต้านกระแสจึงขึ้นอยู่กับกระแสอย่างตัดไม่ขาด คนที่ไม่อยากซํ้ากับคนส่วนใหญ่ก็จะต้องเหนื่อยวิ่งหนีเทรนด์ไปเรื่อยๆ
“ไม่ว่าจะพยายามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแค่ไหน
นักสวนกระแสก็จะล้มเหลวที่จะแตกต่างจากคนอื่นๆ
เพราะพวกเขาจะสร้างเทรนด์ที่สุดท้ายพวกเขา
พยายามจะหนีมันไปเมื่อมันฮิต”
– Touboul
เรื่องตลกร้ายจากงานวิจัยนี้ก็คือ เมื่องานวิจัยได้ตีพิมพ์ในบทความของ MIT Technology Review และถูกเผยแพร่ออกไปโดยมีปกบทความเป็นภาพชายคนหนึ่งที่ดูเป็นฮิปสเตอร์ทั่วๆ ไป คือมีหนวดเครา ใส่เสื้อแฟลนเนลลายหมากรุก สวมหมวก Beanie มีชายคนหนึ่งเห็นภาพนี้แล้วคิดว่าเป็นภาพตัวเอง เขาจึงเขียนจดหมายขู่จะฟ้องร้องที่เอาภาพส่วนตัวของเขามาใช้โดยไม่ขออนุญาต
ผลปรากฏว่าจริงๆ แล้ว ภาพในบทความคือภาพชายฮิปสเตอร์คนอื่นซึ่งสามารถซื้อและดาวน์โหลดได้จาก Stock ภาพ กลายเป็นว่า ฮิปสเตอร์นั้นเหมือนกันไปหมดจนตัวเราเองยังดูไม่ออกว่าคนที่คล้ายเราไม่ใช่เรา ซึ่งยิ่งตอกยํ้าความแตกต่างที่เหมือนๆ กันของฮิปสเตอร์ แต่ลองคิดดูว่าในโลกสมัยใหม่ มันมีหนทางจริงๆ เหรอที่เราจะแตกต่างจากมวลมนุษย์ขนาดใหญ่เช่นนี้ และเป็นตัวของตัวเองได้โดยสมบูรณ์ เพราะเราต่างได้รับอิทธิพลมาจากอะไรบางอย่างอยู่เสมอ
เคยคิดเล่นๆ ว่า ต่อให้มนุษย์คนหนึ่งพิเศษมากๆ มีคนแบบเราแค่หนึ่งในล้าน แต่นั่นแปลว่าประเทศไทยก็อาจจะมีคนแบบเราได้ 69.04 คนทีเดียว (อ้างอิงประชากรไทย 69.04 ล้านคน / ข้อมูลปี 2017) คือต่อให้ตัวเลือกจะดูมีมากมาย เราก็อาจจะคล้ายกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปี 2019 Junk Asia ก็ได้ออกบทความที่ชื่อ 10 คนที่คุณพบได้ในงานอาร์ตแฟร์ ซึ่งพอมองดูก็เหมือนจะเห็นผู้คนที่แตกต่างและหลากหลาย แต่กลายเป็นว่าเมื่อมีจำนวนมากพอก็กลายเป็นลักษณะภาพจำที่ซํ้าๆ กันจนสรุปได้เป็นไม่กี่ประเภท
Hans Eijkelboom ศิลปินจากเนเธอแลนด์ใช้เวลาหลายสิบปีในการเก็บภาพคนที่เดินผ่านไปผ่านมาตามท้องถนนจากเมืองทั่วโลก เขาได้เก็บ archive ตัวแทนของมนุษย์เมืองเอาไว้ จากนั้นก็นำภาพคนทั้งหมดมาจัดกลุ่ม จนแบ่งเป็นรูปกลุ่มได้หลายกลุ่มเพราะพบคนที่แต่งตัวซํ้าเยอะมาก ไม่ว่าจะใส่เสื้อวงซํ้ากัน แฟชั่นประหลาดลํ้า ดังนั้นต่อให้ไม่ตั้งใจเราก็อาจจะซํ้ากับใครสักคนอยู่ดี
หากคุณต้องการแสดงออกว่าคุณไม่เหมือนใคร โดยการใส่เสื้อที่ไม่เหมือนคนอื่น ลองทรงผมใหม่ๆ หรือพยายามใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่วันหนึ่งคุณจะพบว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของคนอีกมากมายที่จะเลือกในแบบเดียวกัน
ในเมื่อ Hipster นั้นติดอยู่ใน Paradox ทางออกของเราอาจเป็นการปล่อยวาง ช่างแม่ง อยากทำอะไรก็ทำ เหมือนคนอื่นก็ได้ ไม่เหมือนก็ได้ ไม่ต้องวิตกหากเราจะเหมือนคนอื่นถ้าเราพอใจ จะตามกระแสก็ได้ จะไม่ตามก็แล้วแต่ เลือกสิ่งที่พอใจและเหมาะกับเรา เลือกในสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจ สบายใจในรสนิยมและการเลือกของเราเอง ใครจะแซวว่าแมสหรือฮิปสเตอร์ก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นต้องแคร์ คนที่ไม่สนใจว่าตัวเองซํ้าหรือไม่ซํ้าอาจเป็นผู้หลุดพ้นจากวงจรของแฟชั่นและกระแสที่แท้จริง
แทนที่จะเศร้าใจ เราควรให้หัวเราะกับความไม่ออริจินัลของเราที่ป้องกันได้ยาก เพราะในโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีผู้คนมากมายเป็นพันล้าน ต่อให้เราอยากแตกต่างแทบตาย ก็คงลงเอยด้วยการดูเหมือนใครสักคนอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
10 TYPES OF PEOPLE YOU SEE AT ART FAIRS
The hipster effect: Why anti-conformists always end up looking the same
THE HIPSTER EFFECT: WHEN ANTI-CONFORMISTS ALL LOOK THE SAME
A Mathematician Wrote a ‘Hipster Equation’ to Figure Out Why All Hipsters Look Alike