ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าธุรกิจใด ก็ได้รับผลกระทบไปถ้วนหน้า รวมถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ตามปกติแล้วมักจะออกหนังสือใหม่ๆ มาให้เราได้ซื้อหากัน ยิ่งในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติยิ่งเป็นช่วงเวลาที่คึกคักเป็นพิเศษ แต่ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 รอบแรกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2563 ก็ทำให้สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เมื่องานสัปดาห์หนังสือที่จะจัดที่เมืองทองธานีถูกยกเลิกไป และย้ายมาจัดแบบซื้อหาผ่านทางออนไลน์แทน
ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครคาดคิดว่าผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จะรุนแรง แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงปีแรก งานหนังสือที่แม้จะย้ายมาจัดบนโลกออนไลน์ ก็ยังคงทำกำไรให้กับเหล่าสำนักพิมพ์บ้าง โดยยอดขายโดยรวมในงานสามารถขายไปได้กว่า 36 ล้านบาท แต่ในปีนี้ พ.ศ. 2564 บรรยากาศเหล่านั้นอาจไม่หวนกลับมา
หลังจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้ประกาศจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 17 – 25 เมษายน แต่แล้วการระบาดของ COVID-19 รอบสามก็เกิดขึ้น และทำให้งานหนังสือในครั้งนี้ต้องเลื่อนไปอย่างทันที
เราไปคุยกับเหล่าบรรณาธิการ ถึงสถานการณ์ในห้วงเวลานี้ รวมไปถึงการซัพพอร์ตและความช่วยเหลือจากรัฐว่ามีอะไรบ้าง และท้ายที่สุดพวกเขามองอนาคตตัวเองกันยังไง
คราวที่แล้วเผาเล่น คราวนี้เผาจริง
“เราก็คุยๆ กับคนในวงการสำนักพิมพ์แล้วก็รู้สึกเลยว่า คราวที่แล้วเผาเล่น คราวนี้เผาจริง คือจริงๆ วงการสำนักพิมพ์ก็ผ่านอะไรมาเยอะ ตั้งแต่ช่วงที่รุ่งโรจน์ตอนจัดที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ถ้าดูยอดขายทั้งงานแต่ก่อนก็ได้กว่า 200 ล้านบาท พอย้ายมาเมืองทองก็มีผลกระทบ แต่ก็ยังรู้สึกว่าคนบ่นยังไง เราก็ยังรู้สึกว่ายังไปได้อยู่ ยอดอาจไม่ได้ดีเท่าเดิม แต่ก็ยังอยู่กันได้ คนทำหนังสือก็ทำได้อยู่”
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์ bookscape เล่าถึงความรู้สึกของเขาให้ฟังถึงผลกระทบจากงานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้
“ครั้งนี้ เรารู้สึกเลยว่าผลกระทบมันเห็นจริง ตัวสำนักพิมพ์ยอดตก ซึ่งหลายๆ สำนักพิมพ์คงเป็นเหมือนกัน ตกมากตกน้อยอาจไม่เท่ากัน คือถ้าเปรียบเทียบงานหนังสือที่ขายออนไลน์เหมือนกัน ปีที่แล้วยอดขายแต่ละวันจะประมาณ 3-4 ล้านบาท แต่ปีนี้เดาจากตัวเลขแต่ละวันที่สมาคมฯ บอกมา วันนึงมันประมาณสูงสุดก็ 1 ล้านบาท ถ้าแย่สุดก็ 6 แสนบาท อันนี้คือทั้งงานรวมกัน”
โดยแม้ว่าจะมีหลายคนที่ตั้งคำถามว่าเป็นเพราะประเทศของเรานั้นอิงการขายหนังสืออยู่กับแค่งานหนังสือหรือไม่ ทำให้เมื่องานหนังสือจัดขึ้นไม่ได้ จึงได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งวรพจน์ก็ให้เหตุผลถึงความจำเป็นของการมีงานหนังสือว่า
“งานหนังสือยังมีความจำเป็นกับสำนักพิมพ์เพราะ 1.เรื่องของการไหลเวียนของเงิน ที่เราได้เงินกลับคืนมาทันทีเวลาไปขาย ไม่เหมือนกับการฝากสายส่งที่เราต้องรอ 3-4 เดือนกว่าจะได้เงินกลับมา พอเราขายตรงกับลูกค้า เราก็สามารถจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าได้ สูงสุดเป็น 20% เลยก็ได้”
“ตามธรรมชาติของธุรกิจหนังสือ คือต้องจ่ายต้นทุนค่าแปล ค่าพิมพ์ ค่าจ้างต่างๆ ไปก่อน แต่ดอกผลที่จะกลับมาต้องใช้เวลานาน ดังนั้นอย่างสำนักพิม์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีสายป่านยาวมาก เขาก็ต้องระวังตัวนิดนึง จากเดิมที่ประมาณ 1 ปีอาจจะได้ทุนกลับมา ตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลา 2 ปีแล้วก็ได้ มันก็อธิบายต่อไปว่างานหนังสือยังคงสำคัญ”
แต่วรพจน์ก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของคนทำสำนักพิมพ์ด้วยกันว่ามีการเห็นด้วยว่ารอบนี้ได้รับผลกระทบที่แสนสาหัส นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตว่าในปีนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ผู้คนล้วนอยากเก็บเงินเผื่อฉุกเฉินไว้ก่อน อีกทั้งในทางจิตวิทยา ห้วงเวลานี้หลายคนอาจรู้สึกว่าหนังสือไม่ใช่ของจำเป็น เพราะหนังสือนั้นต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวความพึงพอใจ แต่ตอนนี้คนอาจต้องการความสุขที่สามารถได้รับอย่างรวดเร็วมากกว่า หรืออาจพูดได้ว่าในช่วงเวลานี้คนยังไม่ได้มีอารมณ์อยากอ่านหนังสือเท่าไหร่ นี่คือเหตุผลที่วรพนจ์ สะท้อนให้เราฟังว่าทำไมตลาดหนังสือถึงเงียบเหงาลง
เช่นเดียวกับ ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ ที่เห็นตรงกันว่าหนังสือไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่คนต้องการในเวลานี้
“COVID-19 รอบนี้ดูหนักกว่าที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่คิดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่าพอมันมีภาวะแบบนี้ หนังสือมันไม่ใช่ปัจจัยหลักที่คนจะซื้อเป็นลำดับแรกๆ พอรู้ตัวว่าเป็นภาวะแบบนี้ เราจะต้องเจออะไร ก็ยังพยายามสื่อสาร หรือเผื่อๆ เอาไว้ว่าถ้าเขามองหาหนังสือ ฝั่งเราจะทำอะไรได้บ้าง”
“ฝั่งเราก็พยายามไม่ให้คนลืมว่าสำนักพิมพ์มีหนังสือออกในช่วงนี้”
โดย ปฏิกาล ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “รอบนี้มันมีผลกระทบเพราะว่ามันมีภาวะครึ่งๆ กลางๆ ในการสื่อสาร อย่างตอนประกาศว่าจะไม่จัดงานรอบนี้ ก็รู้สึกว่าประกาศช้าไปประมาณนึง เพราะว่าปีที่แล้ว เขาประกาศเร็วกว่านี้ คือประกาศล่วงหน้าเกือบๆ เดือน แล้ววิธีการในการสื่อสารที่บอกว่าจะจัดออนไลน์ไปก่อน และเลื่อนการจัดที่ไบเทค ไปเดือนหน้า ซึ่งในมุมของเราพอมันไม่ชัดเจน ก็ทำให้การรับรู้ของคนมันขาดตอน คืออาจทำให้คนเข้าใจว่างานหนังสือเลื่อนอย่างเดียวก็ได้ ไม่ได้เข้าใจว่าเลื่อน แต่ตอนนี้ยังมีออนไลน์ ในขณะที่คนที่รู้ว่ามี ก็คิดว่ายังไม่ต้องซื้อออนไลน์ก็ได้ เดี๋ยวค่อยไปเดินที่ไบเทค ตอนที่เขาจัดงานดีกว่า เอาไว้ก่อน ค่อยซื้อ”
โดยเขามองว่านี่คือปัญหาคาราคาซังที่ยิ่งทำให้ผู้คนลังเลในการซื้อหนังสือ และอาจทำให้บางคนที่อาจไม่ได้อยากซื้อหนังสือจริงๆ ตัดสินใจไม่ซื้อหนังสือไปเลย และกลายเป็นงานหนักของทางสำนักพิมพ์ที่ต้องแบกรับการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนไม่ลืมว่าสำนักพิมพ์ของพวกเขายังคงออกหนังสือปกใหม่ๆ กันอยู่
รังสิมา ตันสกุล บรรณาธิการจาก Library House อีกหนึ่งสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่แม้จะไม่ได้เข้าร่วมการออกบูธกับทางสมาคมฯ แต่ผลกระทบจากงานหนังสือก็ยังส่งผลต่อสำนักพิมพ์เช่นกัน แม้ว่านี่เป็นเรื่องที่เธอคาดการณ์ไว้อยู่บ้างว่าจะเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น
“แผนระยะใกล้เราก็ทำใจกับสิ่งที่เผชิญว่าเราไม่มีแผงหนังสือให้ไปฝากขาย เพราะฉะนั้นเราต้องไปขายออนไลน์ ซึ่งปีนี้ทุกคนสัมผัสได้เลยในฐานะผู้จัดพิมพ์ว่ามันไม่ได้อู้ฟู่ ตูมตามเหมือนปีที่แล้ว สภาพการจับจ่ายที่ไม่ใช่แค่หนังสือ แต่รวมไปถึงของกินของใช้ ต้นไม้ ต่างๆ นานา ทุกอย่างดูเงียบกว่าปีที่แล้ว ตอนนี้มันไม่ได้เกิดภาวะทุกคนอยากช่วยเหลือกัน ทุกคนอยากเอาเงินมาช่วยซื้อของใช้จ่ายกันเหมือนปีที่แล้ว ยิ่งหนังสือมันถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ อันนี้เราก็ทำใจว่ายอดขายมันจะไม่เหมือนเดิม ช่วง 4 – 5 เดือนนี้ เราก็ต้องนิ่ง รัดเข็มขัดให้มากที่สุด ไลบรารี่ เฮ้าส์ ก็ชะลอการพิมพ์หนังสือใหม่”
โดยเธอเล่าต่อว่าจากตอนแรกที่เธอตั้งใจจะทยอยออกหนังสือใหม่ไปตลอดทั้งปี กลายเป็นว่าเธอต้องรีบผลักให้หนังสือที่มีอยู่ในมือปล่อยออกสู่ตลาดซึ่งออกมาครบแล้วทั้งหมดสี่เล่มในระยะเวลาสี่เดือน โดยเธอได้สื่อสารกับทางแฟนๆ สำนักพิมพ์ว่าเธอจะออกหนังสือแค่นี้ก่อน และรอประเมินสถานการณ์ เผื่อให้แฟนๆ ที่ติดตามได้ทราบความเคลื่อนไหวของสำนักพิมพ์ และเป็นการบอกว่าไลบรารี่ เฮ้าส์ไม่ได้หายไปไหน
ดิ้นรนด้วยตัวเอง ในวันที่ธุรกิจสำนักพิมพ์ไม่เคยอยู่ในสายตารัฐแต่แรก
เมื่อเราถามถึงการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ถึงสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ บรรณาธิการทั้งสามต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีเลย”
“เราไม่เคยเห็นการสนับสนุน หรือช่วยเหลือ หรือเยียวยา คือเอาจริงๆ งานหนังสือระดับ ‘ชาติ’ มันเลื่อน ยังไม่เห็นข่าวคราวว่ารัฐบาลจะส่งตัวแทนหรือใครมาซัพพอร์ต แล้วพอเลื่อนหรือยกเลิกไปแบบไม่มีกำหนดใหม่เลย มันเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วยิ่งเป็นสินค้าเพื่อปัญญา การที่งานนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เรารู้สึกว่าช่างไม่มีความหมายเลยเนอะ จริงๆ พวกเราก็เหมือนบ่นกันเองว่าเราจะไปหวังอะไรกับการที่เขาไม่เห็นคุณค่าในหนังสือ เอาแค่วัคซีนกว่าจะสรุปเป็นเรื่องเป็นราวได้ คนก็ตายไปเยอะแล้ว” รังสิมาบอกกับเราเช่นนี้ โดยเธอมองว่าขนาดเป็นงานระดับชาติ แต่รัฐบาลยังไม่มีวี่แววเข้ามาช่วยเหลือเลยสักนิด
“เอาจริงๆ งานหนังสือระดับ ‘ชาติ’ มันเลื่อน
ยังไม่เห็นข่าวคราวว่ารัฐบาลจะส่งตัวแทนหรือใครมาซัพพอร์ต”
เช่นเดียวกับ ปฏิกาล ที่มองว่าวงการหนังสือและสำนักพิมพ์ไม่เคยอยู่ในสายตารัฐมาตั้งแต่แรก “รัฐบาลนี่ไม่มี ไม่ต้องหวังอะไรเลย ไม่เคยคิดถึงอุตสาหกรรมหนังสืออยู่แล้ว เขาไม่น่าจะคิดว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือศิลปะก็สามารถได้รับผลกระทบ หนังสือมันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความสนใจของเขาแต่ต้น เราก็ได้แต่ตัดพ้อ ไปจนถึงเรียกร้อง แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบจากรัฐบาล จนรู้สึกว่าพูดถึงรัฐบาลไปมันก็เรื่องเดิมๆ”
ส่วน วรพจน์ เองให้ความเห็นคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างการช่วยเหลือจากต่างประเทศให้ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรออกมาสนับสนุนหรือช่วยเหลือ “ต่างประเทศเขามีนโยบายอย่างลดภาษีกระดาษ หรือการช่วยเหลือโดยตรง อย่างมีกองทุนหนังสือที่รัฐช่วยซื้อหนังสือที่มองว่าเป็นหนังสือที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม หนังสือบางเล่มที่หากเป็นไปตามกลไกตลาดอาจไม่ทำงานก็ให้เอาหนังสือเหล่านี้เข้าไปอยู่ในห้องสมุด หรืออย่างน้อยที่สุดรัฐบาลอาจไม่ต้องช่วยเหลือทางตรง แต่สนับสนุนวัฒนธรรมโดยรวมให้เอื้อต่อหนังสือ คนก็จะมาซื้อหนังสือกันมากขึ้นเอง ก็เป็นการช่วยเหลือโดยอ้อม ”
นอกจากนี้เมื่อเราถามถึง สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ว่าได้มีการเรียกร้อง หรือยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสำนักพิมพ์ยังไงบ้าง วรพจน์ก็บอกกับเราว่า
“ก็เห็นความพยายามของทาง PUBAT อยู่ คือเขาก็โฟกัสที่งานหนังสือ พยายามจัดงานหนังสือให้ดีที่สุด แต่ว่านโยบายโดยรวมที่จะไปทำงานกับภาครัฐเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือ อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน”
“ผมว่าบทบาทของ PUBAT ไปโฟกัสที่งานหนังสือค่อนข้างมาก ซึ่งงานสมาคมฯ สามารถมีมิติที่หลากหลายกว่านั้นได้ ถ้ามองไปไกลกว่านั้น การทำให้งานออกบูธมันน้อยลงเรื่อยๆ แปลว่าแพลตฟอร์มการขายอื่นๆ มันก็จะสำคัญมากขึ้น สมาคมฯ อาจจะต้องลองคิดว่าทำยังไงจะให้วงการหนังสือโดยรวมโตไปได้มากกว่านี้”
ในขณะที่ปฏิกาลก็มองว่าทาง PUBAT เองก็มีความพยายามในการทำให้งานหนังสือไปต่อได้และเข้าใจคนทำหนังสือพอสมควร แต่ปัญหาคือเรื่องของการสื่อสารในครั้งนี้ที่อาจทำให้คนสับสน และเกิดข้อผิดพลาดได้
หรือนี่อาจเป็นบทสุดท้ายของบางสำนักพิมพ์?
เพราะไม่มีการช่วยเหลือจากภาครัฐ และการต้องดิ้นรนกันเองของสำนักพิมพ์ ซึ่งอาจส่งผลให้สำนักพิมพ์บางแห่งเลือกปิดตัว หรือเงียบหายไป เราจึงลองถามกับ 3 บรรณาธิการว่าพวกเขามองเห็นอนาคตของวงการหนังสือและสำนักพิมพ์อย่างไรบ้าง
“COVID-19 มีผลมากๆ ที่จะทำให้สำนักพิมพ์บางที่อยู่ไม่ได้ ซึ่งอาจรวมไปถึงสำนักพิมพ์ใหญ่ด้วย ไม่มากก็น้อย อาจไม่ถึงขั้นล้มละลาย แต่อาจปิดตัว เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้ขาย แล้วร้านหนังสือเองก็แย่ คือมันแย่ทั้งวงจรสำหรับหนังสือ” ปฏิกาลพูดถึงความกังวลต่ออนาคตของวงการสำนักพิมพ์ให้เราฟัง
“สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายก็ได้ เพราะแทนที่สมมติ สำนักพิมพ์ A จะพิมพ์หนังสือประมาณ 40 ปก พอมา COVID-19 รอบนี้อาจจะต้องคิดแล้วว่าพิมพ์ขนาดนั้นอาจไม่คุ้ม ต้องพิมพ์แค่ 5-10 ปกรึเปล่า ซึ่งปัจจัยเท่านี้ก็ส่งผลต่อความหลากหลายของหนังสือในตลาด และอาจส่งผลไปถึงว่าสำนักพิมพ์อาจจะเลือกตีพิมพ์หนังสือที่เขามั่นใจว่าจะขายได้ในช่วงนี้ ส่งผลต่อความหลากหลายของเนื้อหา หรือหนังสือที่มีความเป็นหนังสือทดลองอาจหายไป”
วรพจน์ เองก็เล่าให้เราฟังถึงภาพของวงการสำนักพิมพ์ก่อนเกิด COVID-19 “เราเคยมียุคที่สำนักพิมพ์เล็กๆ มันเกิดขึ้นเยอะ แล้วการที่มีสำนักพิมพ์เล็กๆ เกิดขึ้นมันดีกับวงการหนังสือ เพราะเจ้าเล็กๆ เขาเลือกทำหนังสือที่เขามีแพชชั่นจริงๆ ก็จะเห็นความปราณีตในการผลิตหนังสือออกมา ผมคิดว่าเจ้าเล็กผลิดหนังสือได้ไม่แพ้เจ้าใหญ่ หรือดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขารู้จักหนังสือจริงๆ แต่ละเล่ม เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับแต่ละเล่ม ไม่ว่าจะต้นฉบับ หน้าปก วิธีการสื่อสาร” ซึ่งเขามองว่าสถานการณ์ในตอนนี้อาจทำให้ความรุ่งโรจน์ของวงการหนังสือที่มีความหลากหลายนี้ต้องจางหายไป
“เราเคยมียุคที่สำนักพิมพ์เล็กๆ มันเกิดขึ้นเยอะ
แล้วการที่มีสำนักพิม์เล็กๆ เกิดขึ้นมันดีกับวงการหนังสือ
นอกจากนี้เมื่อธุรกิจหลายอย่างต้องปรับตัว แม้แต่สายส่งเองก็ดูเหมือนว่าจะกระโดดเข้ามาเป็นสำนักพิมพ์เองด้วย ทำให้วรพจน์เกิดข้อกังวลใจอีกข้อคือการผูกขาดการค้า
“ตอนนี้เห็นว่าสายส่งกระโดดเข้ามาทำสำนักพิมพ์เอง ซึ่งมองจากคนอ่านก็อาจจะดี มีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่ว่าอีกด้าน ในแง่สำนักพิมพ์เล็กอาจตั้งคำถามบ้างว่าพอสายส่งกระโดดมาทำสำนักพิมพ์ ก็มีความได้เปรียบจากการที่คุณถือครองพื้นที่ ซึ่งคุณอาจจกีดกันการค้าก็ได้ ผมก็กังวลบ้าง แต่หวังว่าเขาจะไม่ทำกันอย่างนั้น เพราะมันจะเป็นการผูกขาดการค้า”
แม้ว่าบรรณาธิการจากสองสำนักพิมพ์อย่าง bookscape และแซลมอนบุ๊คส์ จะเป็นกังวลต่อสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ในทางกลับกัน รังสิมา มองว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ อาจอยู่รอดได้มากกว่า
“ด้วยความที่สำนักพิมพ์เล็กๆ มี fixed cost น้อยกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ เช่นเรามีสำนักพิมพ์ที่ใช้บ้านเป็นออฟฟิศ ก็จะไม่มีค่าเช่าสำนักงาน นอกจากนี้คนร่วมงานก็จะเป็นฟรีแลนซ์ ค่าใช้จ่ายผูกพันก็ไม่มี แล้วการปรับแผนธุรกิจ สำนักพิมพ์เล็กก็ขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คน อย่าง Library House ก็ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว เราก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะไม่พิมพ์หนังสือ เราไม่ต้องซื้อเวลาเพื่อรอประชุม รอถามคนซ้ายมือขวามือ เพราะเวลาก็เป็นต้นทุนอย่างนึง แล้วยิ่งการทำหนังสือต้องมีกระบวนการตัดสินใจหลายขั้นตอนมาก ทั้งการผลิต การขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์”
แต่เธอเองก็มองว่าแม้สำนักพิมพ์เล็กๆ จะไม่ได้ล้มหายไปไหน แต่ว่าภาระงานของสำนักพิมพ์ก็หนักขึ้น อย่าง Library House ที่ในช่วงก่อตั้งสำนักพิมพ์นั้น เธอตั้งใจว่าจะไม่ขายออนไลน์ด้วยตัวเอง แต่จะขายผ่านร้านหนังสือเป็นหลัก เพื่อช่วยเหลือวงการหนังสือให้เติบโตไปพร้อมๆ กันได้ แต่ในวันนี้ที่ร้านหนังสือเองก็อ่อนแรงลง เธอเองก็ต้องผลักให้สำนักพิมพ์ยังไปต่อได้ เธอจึงต้องเปิดเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เพื่อขายออนไลน์ และนั่นทำให้จากเดิมที่เธอมีหน้าที่เป็นแค่บรรณาธิการ กลับต้องมาทำงานรับออเดอร์ ส่งหนังสือ เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่เธอมองว่าสำนักพิมพ์ควรเป็นแค่คนผลิต ไม่ควรเป็นร้านขายไปด้วย ซึ่งเธอบอกความรู้สึกกับเราว่า “ความปั่นป่วนนี้มันบังคับให้คนต้องทำอะไรหลากหลาย อย่างเราก็แค่อยากนั่งอีดิตหนังสือ ตรวจงาน แต่อยู่ดีๆ ก็ต้องมานั่งรับออเดอร์ ต้องไปส่งของ มันบังคับให้เราต้องทำ”
ในขณะที่เราเองก็ถามถึงอนาคตของสำนักพิมพ์ที่พวกเขาต้องดูแล วรพจน์ก็บอกกับเราว่า “รอบนี้เราก็ต้องเริ่มคิดหนักแล้วว่าต้องเลือกหนังสือระวังมากขึ้น หนังสือที่แต่ก่อนอาจจะทำแม้จะยังไม่ชัวร์มากก็ต้องพักไว้ก่อน ทำเฉพาะหนังสือที่มั่นใจจริงๆ รวมไปถึงอาจจะลดกำลังผลิตดูบ้าง หรือปรับยอดพิมพ์ให้ลดลง”
ส่วนปฏิกาลเองก็บอกกับเราว่าพวกเขาไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้อีกต่อไป อย่างมากก็วางแผนสำหรับสองอาทิตย์ข้างหน้าเท่านั้น ทั้งๆ ที่การทำหนังสือจริงๆ แล้วต้องใช้เวลา แต่เขายังไม่กล้าวางแผนระยะยาวเท่าไหร่
“ทุกวันนี้ก็ทำงานแบบหวาดระแวงว่า ถ้าเล่มไหนไม่ได้ออก
เราวางแพลนไว้ยัง จะออกช่วงไหนได้อีก ต้องคิดเผื่อเยอะมาก”
และเขายังเสริมต่อไปด้วยว่า “เราว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดในการทำสำนักพิมพ์มา มันคือสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะทำงานมามากแค่ไหน ก็ไม่สามารถหาคำตอบหรือทางออกได้ คนทำงานมา 10-20 ปี ก็น่าจะไม่เคยเจอ คือเราไปคุยกับใคร ทุกคนก็เหวอกันหมด เราว่าทุกคนอาจจะไม่ได้รู้หรอกว่าต้องหาทางออกจากมันยังไง แต่ว่าเริ่มปรับตัวกับสถานการ์ณประมาณนี้ได้แล้วมากกว่า อย่างที่แซลมอนเป็นอยู่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นี้ แต่ว่ามันน่าจะเป็นการเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่ปกติมากกว่า แค่เหนื่อยกว่าปกติ ต้องใช้แรงกับมันมากกว่าเดิม”
ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายว่า “มันมีคนพูดเล่นๆ ว่าผ่าน COVID-19 ไปได้ก็เก่งขึ้นแล้ว ก็อยากรู้ว่าวันที่มันจบลง เราอาจจะสบายมากขึ้น หรืออาจจะเอาตัวไม่รอด แต่ตอนนี้ก็บอกไม่ได้ว่าแซลมอนอยู่ดีมีสุข ก็เป็นการทรงตัวไม่ให้ล้มดีกว่าในสถานการณ์นี้ หรือล้มก็ต้องรีบลุก”
ส่วนเจ้าแห่งสำนักพิมพ์ Library House ก็บอกกับเราก่อนจากกันว่า “ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อยู่ยากแน่นอน ทุกอาชีพแหละ ยิ่งรัฐบาลชักช้า ยิ่งทำให้เวลาของคนนั้นสูญเปล่าและถดถอย นึกภาพปีที่แล้วเราพอมองเห็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบชัดๆ อย่างแอร์ฯ กัปตัน การโรงแรม การท่องเที่ยว พอปีนี้เริ่มเป็นร้านอาหาร นักร้อง นักดนตรี แล้วปีหน้าทุกอย่างก็จะยิ่งสะสม คนจะค่อยๆ ตาย แล้วสุดท้ายจะไปเหลืออะไร ซึ่งเราพูดถึงแค่ในบริบทไทยเท่านั้นเลย เพราะอย่างเมืองนอก ตามที่เห็นในข่าว พิพิธพัณฑ์ลูฟวร์จะเปิดแล้วนะ”