(1)
ผมคิดว่าสิ่งที่สั่นสะเทือนการชุมนุมตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ก็คือปรากฏการณ์ที่มีเด็กจำนวนมาก เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มากเสียจนที่ผู้ใหญ่ และผู้ที่จัดชุมนุมก็คิดไม่ถึง
ที่น่าสนใจก็คือเด็กในที่นี่ คือ ‘เด็ก’ จริงๆ คือเป็น ‘นักเรียน’ ไล่มาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย เดินทางมาด้วยตัวเองกับเพื่อน เพื่อจะเข้ามาฟังปราศรัย แสดงจุดยืนร่วมกับ ‘เวทีใหญ่’
อันที่จริง ก่อนหน้านี้ได้เห็นปรากฏการณ์แล้วว่า ผู้ชุมนุม จะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ หลายอย่าง คนรุ่น 30+ เริ่มไม่เข้าใจว่าเขากล่าวถึงอะไร เป็นต้นว่าเพลง ‘แฮมทาโร่’ ที่เขาจัดวิ่งกันก่อนหน้านั้น ราว 1 เดือน หรือหลายมุกที่ผู้ปราศรัยประกาศบนเวที ก็เริ่มเข้าไม่ถึงกันแล้ว
แล้วเมื่อมาเจอเหตุการณ์วันต่อๆ มาอย่างการชูสามนิ้ว ขณะเข้าแถวหน้าเสาธง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เจอการชุมนุมของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ก็ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่อึ้งเข้าไปอีก ปลายสัปดาห์ที่แล้ว กรมประชาสัมพันธ์ ถึงกับต้องทำโฆษณาสั้นรณรงค์ (ก่อนจะลบออกอย่างรวดเร็ว) ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือให้เด็กเข้าใจ ‘แม่’ และขอให้เด็กเลิกต่อต้านรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับคือโดนถล่มเละ
คำถามสำคัญที่หลายคนตั้งข้อสังเกตก็คือ
ทำไมขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ
หรือขบวนการต่อต้านรัฐบาล ถึงได้อายุน้อยลง
และทำไมคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ถึงได้ตื่นตัว และออก ‘ซ้าย’ มากขึ้น
(2)
แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย แต่ทั่วโลก มีให้เห็นบ่อยๆ ในฮ่องกง การเคลื่อนไหว ‘ปฏิวัติร่ม’ เมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งมีแกนนำอายุไม่มากนัก อย่าง โจชัวร์ หว่อง (Joshua Wong) วัย 18 ปี นั้น ก็มีนักเรียน ‘มัธยม’ จำนวนไม่น้อยเข้าร่วม จากเดิมที่ผู้จัดการชุมนุมคิดไว้ว่า เมื่อชวนเด็กแล้ว จะมีเด็กเข้าร่วมประมาณ 100 คน แต่ผลสะท้อนกลับมา กลายเป็นเด็กมัธยมกว่า 3,000 คน เลิกเรียน แล้วเข้าร่วมด้วย
หลังจากนั้น ฮ่องกง ก็ไม่เหมือนเดิม การชุมนุมทุกครั้ง มีกลุ่ม ‘เยาวชน’ เรื่อยขึ้นไปจนถึง Millennial คือกลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 – 2000 หรือ Gen Y เป็นหัวหอกในการร่วมลงถนนทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อจีน จะออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง เมื่อปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา และเมื่อจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในปีนี้
สื่อต่างชาติบอกว่า เพราะคนกลุ่มนี้ คือคนที่ได้รับผลกระทบที่สุด จากการเห็นประเทศหยุดนิ่ง สภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้นว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง ซึ่งราคาสูงลิ่วอยู่แล้วนั้นสูงขึ้นไปอีก จนคนรุ่นใหม่ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ คนร่ำรวยที่สุดในเกาะฮ่องกง 10% ถือครองสินทรัพย์มากกว่าคนจนที่สุดในเกาะกว่า 44 เท่า
ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ที่ออกมาชุมนุมนั้น ไม่ใช่เด็กทั่วไป อัตราการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของเด็กฮ่องกงนั้นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และแน่นอน แม้จะมีนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจออกมาวิพากษ์ว่า การชุมนุมจะยิ่ง ‘ทำร้าย’ เศรษฐกิจฮ่องกงให้หนักกว่าเดิม แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังยืนยันชุมนุมต่อ เพราะเชื่อในอนาคตของฮ่องกงแบบยุคก่อนจีนครอบงำว่าจะมั่นคงกับเขามากกว่าอนาคต ในวันที่จีนครอบงำเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2047
การชุมนุมเชิง ‘ประเด็น’ และการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในประเทศอื่นทั่วโลก ก็มีลักษณะไม่ต่างกัน เมื่อจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสี ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตขณะถูกจับกุม ตามมาด้วยการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ไปทั่วสหรัฐอเมริกา เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ จำนวนไม่น้อยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18
สถาบัน Brooking กลุ่มคลังสมอง ในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นความหวังของชาวอเมริกันผิวขาวดั้งเดิม ว่าจะทำให้อเมริกา กลับมา ‘ยิ่งใหญ่’ อีกครั้ง แต่นโยบายหลายอย่าง กลับมองข้ามประเด็นสาธารณะที่คนรุ่นใหม่สนใจ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดผิว เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการรณรงค์เรื่องควบคุมอาวุธปืน ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะไม่สนใจแล้ว สถานการณ์เหล่านี้ ที่ ‘อ่อนไหว’ มากกับคนรุ่นใหม่ ได้เร้าให้พวกเขาลงถนนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบ่งบอกความต้องการของตัวเอง ซึ่งไม่เคยไปถึงผู้นำประเทศ
ที่สำคัญก็คือ โครงสร้างประชากรอเมริกันกำลังจะเปลี่ยนไป ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อเมริกันชนจะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ มากขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะคนขาวเป็นส่วนใหญ่ 71% เหมือนในปัจจุบัน อีก 10 ปีข้างหน้า คนขาวจะเหลือเพียง 49% เท่านั้น ขณะที่คนละตินอเมริกัน จะเพิ่มจาก 11% ในปัจจุบัน เป็น 24.8% คนผิวดำ จะเพิ่มจาก 10% เป็น 13%
เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่ในอเมริกา จึงเห็นความท้าทายในเรื่องเหล่านี้มากกว่า…
(3)
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส ตีพิมพ์บทความของ แอลล์ เชลลีย์ แบล็ก (Elle Shelley Black) ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งของ Cobalt บริษัทสตาร์ทอัพของสหรัฐฯ บอกว่ากลุ่มนักธุรกิจด้านเทคโนโลยี กำลังเจาะไปยัง Gen Z หรือเด็กที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1995 – 2012 หรืออายุตั้งแต่ 25 ลงไป ถึง 8 ขวบ ให้ลึกขึ้น โดยเรียกเป็นซับเซ็ต ว่าเป็น ‘Gen P’ หรือ Generation Protest
บทความนี้ บอกว่าจุดเด่นของ Gen P คือการแสดง ‘จุดยืน’ ของตัวเอง
ผ่านโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มสมัยใหม่
ไม่ว่าจะเป็น TikTok หรืออินสตาแกรม
และแม้คนกลุ่มนี้ จะมีอายุไม่มากพอที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้ง
แต่ก็ต้องการให้สังคมรับฟังเสียง ในแบบของตัวเอง
เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตว่ามีคนแห่จองบัตรเข้าฟังการปราศรัยของเขาที่โอกลาโฮมา มากถึง 1 ล้านคน แต่พอถึงวันจริง ที่นั่งในงานกลับว่างโล่ง และมีคนเข้าฟังเพียง 6,200 คน เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะบรรดา Gen P ซึ่งสืบไปสืบมาพบว่าเป็น ‘แฟนดอม’ เกาหลี ‘ต้องการประท้วง’ ทรัมป์ ด้วยการไปป่วนเว็บจองตั๋ว จนทำให้ประธานาธิบดีหัวเสีย
ผลสำรวจด้านการตลาดของประชากรรุ่นนี้ ยังพบว่า Gen P ซึ่งเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่า ยังสำรวจลงลึกไปถึงต้นกำเนิดของแบรนด์ ข่าวในทางบวก และในทางลบ รวมถึงแบรนด์นั้นๆ แสดงจุดยืนในประเด็นสังคม ประเด็นการเมืองอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ จนคนกลุ่มนี้รู้สึก ‘เชื่อใจ’ จริงๆ ว่าแบรนด์มีจุดยืนตรงกันกับเขา และหากไม่ ก็พร้อมจะหันไปหาซื้อแบรนด์อื่น
ทั้งหมดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่บรรดา แบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กรุ่นใหม่ จึงรีบออกมาประกาศตัวว่า ไม่ได้ลงโฆษณาใน ‘ช่องนั้น’ อีกต่อไป เมื่อบรรดาชาว Gen P ออกมารณรงค์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้แบนสินค้าที่สนับสนุนช่องดังกล่าว
(4)
กลับมาที่ไทย คำถามสำคัญก็คือ เกิด Error อะไรในระบบ ที่ไปปลุกเด็กที่หลับใหลมานาน เรียกได้ว่าไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องการเมืองเลยนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง..
นอกเหนือจากเหตุผลว่าด้วย ‘อนาคต’ คล้ายๆ กับในฮ่องกง และเหตุผลว่าด้วยนโยบายการเมืองที่ละเลยคนกลุ่มนี้ เหมือน ในสหรัฐฯ รวมถึงความ ยั่วประสาทอันเป็นบุคลิกของ Gen P แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบ ‘การศึกษา’ น่าจะมีส่วนสำคัญ ที่สร้างเด็กรุ่นคิดนอกกรอบให้ออกจากโลกเสมือนจริงจาก TikTok ทวิตเตอร์ หรือ IG ให้ลงถนนมากขึ้น
เพราะในระยะ 6 ปีเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้ ‘ทหาร’ เป็นใหญ่นี้ องคาพยพทั้งหมด มุ่งเน้นไปที่การปลูกฝัง ‘ชาตินิยม’ ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะเรื่องแบบนี้ ทหารเคยใช้มาแล้ว เมื่อ 40 ปีก่อน หลังจากสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจนได้รับชัยชนะ วิธีการแบบนี้บรรดา ‘เบบี้บูมเมอร์’ ต่างก็คุ้นเคยเป็นอย่างดี การสร้างศัตรู คอยวาดภาพให้น่ากลัว ปลูกฝังความรัก – ความสามัคคีในชาติ ได้ทำให้คนอายุ 40+ เข้าใจว่าเรื่องพวกนี้จำเป็นอย่างไร และน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้วิธีแบบเดิม ยังประสบความสำเร็จสำหรับคนกลุ่มนี้อยู่
หากประเทศไทย สามารถคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ และมีผู้นำที่แข็งแกร่งประหนึ่ง สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เรื่องพวกนี้ ก็คงประสบความสำเร็จ เด็กรุ่นใหม่คงรักชาติ เชื่อฟังแบบเรียน และทำตามโดยไม่มีใครหืออืออะไร
แต่เรื่องกลับตรงกันข้าม ยิ่งโตขึ้น ยิ่งนานวัน เขากลับพบว่าหลักสูตรแบบเรียน โดยเฉพาะวิชาสังคม ที่พูดถึงความรักชาติ ความดีงามในขนบเดิม ไม่ได้ช่วยอะไร สังคมไทยยังอุดมไปด้วยความขัดแย้ง ระบบอุปถัมภ์ยังคงเข้มข้น และระบอบการเมืองยังคงวนเวียน กับผู้นำที่ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดูอย่างไร บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นเพียงนักเลงโบราณ จึงทำให้ความหวังของพวกเขา ที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า ห่างไกลออกไปทุกที..
ยิ่งในโลกอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้าง มีประวัติศาสตร์นอกตำราให้อ่านอีกมาก ยิ่งในทวิตเตอร์ ใน TikTok มีคนที่คิดเหมือนกันอีกเป็นหมื่นเป็นแสนคน ก็ยิ่งทำให้ Circle ของเด็กกลุ่มนี้กว้างขึ้น ไปพร้อมๆ กับความรู้ที่ขยายปริมณฑลออกไปอีก การปะทุทางความคิด ออกจากโลกโซเชียล มายังโลกภายนอก เมื่อมีคนเริ่มเปิดออกมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะอย่างไร ด้วยสภาพแบบนี้ ก็ต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง
การออกจากโลกออนไลน์ มาสู่โลกออฟไลน์ จึงเป็นความท้าทายสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ใช้ต้นทุนของความรักชาติและความเป็นชาติในตัวเอง ไปกับการปฏิรูปที่ไม่เกิดขึ้นจริง และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อย่างน้อยก็ในทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยึดอำนาจ พวกเขาเปลี่ยนผ่านด้านอายุ และความคิด จากเด็กประถม สู่เด็กมัธยม และจากเด็กมัธยม เติบโตเป็นเด็กมหาวิทยาลัย
เมื่อคนรุ่นนี้ ไม่เชื่อในตัวประยุทธ์ ก็พาลไม่เชื่อในความเป็น ‘ชาติ’ แบบเดิมด้วย การลงถนนในครั้งนี้ จึงเท่ากับการบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่ายด้วยตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะวาดอนาคตแบบใหม่ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องผูกขาดความเป็น ‘ชาติ’ เอาไว้กับผู้นำ แบบเรียน หรือกับใครก็แล้วแต่อีกต่อไป
อ้างอิงจาก