ช่วงที่ผ่านมา มีการรวมตัว ชุมนุมกัน ทั้งในสถาบันการศึกษา และสถานที่สาธารณะหลายแห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าจะมีการจัดชุมนุมเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีรายงานว่า มีผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกตามคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการถูกตามถ่ายรูป ขอเช็กบัตรประชาชน ไปถึงมีเจ้าหน้าที่ที่ตามไปถึงบ้าน
The MATTER ได้สอบถามข้อแนะนำกับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า หากถูกคุกคามไม่ว่าจะอยู่ในที่ชุมนุม หรือหลังจากกลับมาชุมนุมแล้ว เรามีสิทธิในการป้องกันตัวเองอะไรได้บ้าง และมีสิทธิที่สามารถปฏิเสธ หรือไม่ยินยอมกับเจ้าหน้าที่อย่างไรได้บ้าง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันกับเราว่า สิทธิในการชุมนุม คือการแสดงออกโดยสงบสันติ เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย คือชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเป็นเหตุที่เราจะถูกคุกคามได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้นสิทธิในการชุมนุมก็ถือเป็นสิทธิที่เราควรจะกระทำได้ แต่ในกรณีที่ถูกคุกคาม เราก็ควรจะรู้สิทธิของเราต่อไปด้วย
หากถูกคุกคามในที่ชุมนุม
กรณีถูกขอดูบัตรประชาชน – ทางศูนย์ทนายความฯ ย้ำว่า แม้ว่าทุกคนจะต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน แต่การขอดูบัตรนั้น ไม่ใช่ขอดูทุกคนได้ โดยเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งเหตุในการขอดู เช่น มีพฤติกรรมจะทำความผิด แต่ถ้าหากไม่มีเหตุ เรามีสิทธิปฏิเสธได้
ถูกถ่ายภาพ – การถ่ายภาพถือเป็นเป็นสิทธิส่วนบุคคล เรามีสิทธิปฏิเสธทุกกรณี ถ้าไม่ยินยอม สามารถไปบอกให้ลบได้ หรือถามชื่อ-สังกัดของเจ้าหน้าที่ และถ่ายรูปเขาคืน เพื่อว่าในอนาคตหากเราไม่ปลอดภัย จะได้มีหลักฐานว่าใครเก็บรูปเราไป หรือต่อให้ทำผิด แต่ถ้าไม่ได้มีหมายเรียก หรือหมายค้น เราก็ไม่จำเป็นต้องยินยอม
ข้อควรระวัง
แม้ว่าในการไปที่ชุมนุม เราอาจจะเจอคนที่มีอุดมการณ์ ความคิดเห็นเดียวกับเรามากมาย แต่ทางศูนย์ทนายความฯ ก็แนะนำข้อควรระวังเพิ่มเติมว่า เวลาเล่นโทรศัพท์ คุยโทรศัพท์ หรือพูดคุยกับเพื่อน ให้ระวังคำพูด หรือการแสดงความคิดเห็น เพราะเราไม่รู้ว่าคนรอบข้างเป็นใคร อาจจะมีคนแฝงตัวมาได้ด้วย
หากถูกคุกคามหลังชุมนุม
ในการไปชุมนุม แม้จะไม่มีใครรู้จักชื่อของเรา แต่ทางศูนย์ทนายความฯ ก็แนะนำว่า ต้องตระหนักเสมอว่า เจ้าหน้าที่สามารถหาเราพบได้ แม้ว่าจะไม่มีใครรู้จักเรา แต่ถ้าเขาจะตามหา ก็สามารถทำได้ ซึ่งหากเราคิดว่าเราอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกติดตาม ควรลบ หรือเคลียร์ข้อมูลส่วนตัว เช่นแชทในโทรศัพท์เป็นประจำด้วย
กรณีที่มีเจ้าหน้าที่มาหาถึงที่บ้าน ศูนย์ทนายแนะนำว่า ให้เราเริ่มถามว่าเขาเป็นใคร มาทำไม มีหมายหรือเปล่า และในกรณีนี้ เราควรจะมีบุคคลอื่นอยู่กับเราด้วยเสมอ โทรหาคนที่ไว้ใจ แจ้งให้ทราบ ว่ามีเจ้าหน้าที่มาด้วยเรื่องอะไร
หากถูกถามคำถามต่างๆ ในทางกฎหมาย ถือเป็นสิทธิของเราที่จะพูด หรือไม่พูดก็ได้ โดย ‘เรามีสิทธิที่จะไม่ให้การอะไรที่เป็นปฏิป้กษ์กับตัวเราเอง ที่เป็นการปรักปรำตัวเราเอง’ เช่นหากถูกถามว่า “อันนี้เฟซบุ๊กของน้องหรือเปล่า? ” หรือ “จะไปชุมนุมหรือเปล่า? ” ซึ่งเป็นการให้การที่อาจจะนำมามัดตัวเองภายหลัง เราสามารถไม่ตอบได้
หรือหากเจ้าหน้าจะเชิญตัวเราไปสถานีตำรวจ หรือขอดูโทรศัพท์มือถือ ขอเข้าถึงพาร์สเวิร์ด หากไม่มีหมาย กรณีนี้ศูนย์ทนายความฯ ชี้ว่า เรามีสิทธิในการปฏิเสธทั้งหมด จนไปถึงมีสิทธิที่จะเลือกปรึกษาทนายได้ด้วย