หลังจากกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียนที่อนุญาตให้สามารถไว้ผมยาวได้เพื่อให้อิสระในการไว้ทรงผมและเคารพสิทธิ เสรีภาพของของนักเรียน ก็ชวนเอาหลายคนย้อนอดีตกันไปถึงความเจ็บปวดที่เคยถูกบังคับให้ผมสั้นหรือโดนตัดผมกันหน้าเสาธงเพื่อลงโทษ ซึ่งถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพของผู้เรียน
และเมื่อหลายฝ่ายพยายามผลักดันจนทำให้ระเบียบว่าด้วยทรงผมนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลง เราก็ชวนนึกถึงระเบียบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากดุลยพินิจของครู-อาจารย์ในโรงเรียนที่มีนอกเหนือไปจากระเบียบของกระทรวงที่ชวนตั้งคำถามว่ากฎระเบียบและบทลงโทษอื่นๆ ที่มากกว่าเรื่องทรงผมที่กำลังเป็นประเด็น และชวนตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของครูในรั้วโรงเรียนว่ามีขอบเขตแค่ไหนได้บ้าง และเสรีภาพของนักเรียนอยู่ที่ไหนในรั้วโรงเรียน? เพราะบางครั้งการถกเถียงเรื่องกฎระเบียบก็ไปไม่ถึงไหนด้วยโครงสร้างอำนาจที่ครอบอยู่ในรั้วโรงเรียนไทย
วิธีทำโทษ
หลายๆ คนคงเคยได้รับการทำโทษในรูปแบบต่างๆ ที่แม้จะไม่ได้มีไม้เรียวฟาด แต่ก็ยังเจอสารพัดบทลงโทษแปลกๆ ที่น่าตั้งคำถาม เช่น ให้คลานเข่ารอบห้อง ให้ลุกนั่งแบบพับเพียบ ให้วิ่งรอบสนามบอลตอนบ่าย หรือบางคนอาจจะเคยเจอกับประสบการณ์ที่เอาของในวิชาเรียนมาไม่ครบก็ให้ถือว่าเช็คขาดจากคาบเรียนนั้นๆ
หากมองกันตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาฉบับ พ.ศ. 2548 จะพบว่า บทลงโทษของนักเรียนนั้นมี 4 สถานคือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และให้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ก็มีการเขียนไว้ว่า “ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษ ด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คํานึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรง ของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย”
เราจึงอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปว่าในวัยเด็กนั้นเคยถูกทำโทษกันอย่างไรบ้าง และการทำโทษแบบไหนที่ช่วยให้เราอยากพัฒนาตัวเอง และแบบไหนที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้คน เพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจในโรงเรียนให้ได้เห็นแนวทางการลงโทษที่จะไม่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กๆ ในอนาคต
โบว์ผูกผม
สำหรับนักเเรียนหญิง เรื่องโบว์ผูกผมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องพบเจอ ซึ่งมาพร้อมกับกฎระเบียบเคร่งครัด เช่น ห้ามใช้โบว์สำเร็จรูป หากเป็นโบว์สีขาวก็ห้ามใช้โบว์สีขาวมุก ห้ามใช้โบว์มีลวดลาย ห้ามใช้โบว์ขนาดใหญ่ หรือบางโรงเรียนก็ให้ใช้โบว์แบบที่โรงเรียนจัดจำหน่ายเท่านั้น
ถุงเท้า
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของใครหลายๆ คนที่ต้องพบเจอคือเรื่อง ถุงเท้า ซึ่งมีกฎระเบียบเรื่องถุงเท้าตั้งแต่ ห้ามใช้ถุงเท้าลอนใหญ่ ห้ามใช้ถุงเท้าข้อสั้น บางโรงเรียนนอาจมีกำหนดพับถุงเท้าให้มีความยาวตามที่ครูกำหนด ไปจนถึงที่หลายคนอาจจะพบเจอคือห้ามใส่ถุงเท้าพื้นดำในขณะที่ก็ห้าามใส่รองเท้าขึ้นบนอาคารเรียน ทำให้ถุงเท้าสีขาวนั้นสกปรกง่าย ในขณะที่บางโรงเรียนก็ระบุยี่ห้อชัดเจนว่าต้องใช้ของยี่ห้อใด
ซึ่งในระเบียบกระทรวงนั้นระบุถึงเรื่องถุงเท้าไว้เพียงว่า “ถุงเทา สั้น สีขาว” ทำให้เรื่องถุงเท้านี้กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ๆ ในเรื่องระเบียบการแต่งกายของนักเรียนด้วยว่าควรมีอิสระและพิจารณาความเหมาะสมจากปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่
ซื้อของจากโรงเรียนเท่านั้น
เรื่องการซื้อของที่ต้องเป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนนั้นไม่มีอยู่ในระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการแต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียน ซึ่งหลายโรงเรียนได้ให้เหตุผลถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักเรียน และต้องการให้เป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในโรงเรียน หลายคนจึงอาจเคยเจอเหตุการณ์ยึดกระเป๋าอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากกระเป๋าของโณงเรียนกันบ่อยๆ หรือแม้แต่เสื้อกันหนาวนั้นก็ต้องใส่เฉพาะที่โรงเรียนจำหหน่าย ห้ามใส่เสื้อกันหนาวอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็นแฟชั่น หรือสมุดเองก็ต้องใช้สมุดของโรงเรียน
นอกจากเรื่องข้าวของเครื่องใช้ ยังมีกฎระเบียบ เช่น ห้ามซื้อของกินจากภายนอกโรงเรียนเข้ามา แต่ต้องทานอาหารที่จำหน่ายในโรงอาหารของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งบางคนให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของอาหหารที่นักเรียนจะได้รับนั่นเอง
เครื่องแต่งกาย
เรื่องเครื่องแต่งกายกลายเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ในรั้วโรงเรียนน มีกฎระเบียบที่ละเอียดและซับซ้อนจนบางครั้งอาจข้ามเส้นไปลิดรอนเสรีภาพของผู้เรียนด้วย เช่น ห้ามใส่บ๊อกเซอร์ ผู้หญิงต้องใส่เสื้อซับใน ห้ามใส่นาฬิกาสีอื่นนอกจากสีดำ ห้ามใช้ยางรัดผมสีอื่นที่ไม่ใช่สีดำ ห้ามไว้ผมหน้าม้า ใช้แว่นสายตากรอบสีดำหรือขาวเท่านั้น ซึ่
หรือบางโรงเรียนก็มีการบังคับเรื่องความยาวของกระโปรงที่มากกว่าแค่การใส่กระโปรง/กางเกงคลุมเข่า หรือบางโรงเรียนไม่อนุญาตให้ใส่ชุดพละมาจากบ้าน แต่ต้องมาเปลี่ยนที่โรงเรียนเท่านั้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกายของกระทรวง แต่เป็นดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนที่เราอาจต้องตั้งคำถามต่อไปว่าจำเป็นแค่ไหนในการจำกัดเสรีภาพเรื่องเครื่องแต่งกายบนตัวนักเรียน เนื่องจากในระเบียบของกระทรวงนั้นให้รายละเอียดเพียง เสื้อนักเรียน กางเกง/กระโปรงนักเรียน การปักชื่อและอักษรย่อโรงเรียน เข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า เท่านั้น ซึ่งเรื่องเครื่องแบบนักเรียนก็ยังเป็นอีกประเด็นที่มีข้อถกเถียงมากมายว่าจำเป็นหรือไม่
ข้าวของเครื่องใช้
บาางครั้งเราก็อาจมีสิ่งของที่เราชอบใช้ แต่กลายเป็นว่าถูกห้ามโดยที่บางทีก็ไม่ได้รับเหตุผลเพียงพอ เช่น ห้ามดมยาดม ห้ามใช้ลิควิด ห้ามใช้ปากกาแดง หรืออื่นๆ ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน ใครเคยเจอห้ามใช้ของอะไรแปลกๆ มาแชร์กันได้
ห้ามเตะบอลในสนามบอล
หนึ่งในปัญหาของบางโรงเรียนที่อาจเคยเจอคือห้ามเตะบอลในสนามบอล ซึ่งกลายเป็นเเรื่องคาใจที่ชวนตั้งคำถามว่าแล้วสนามบอลในรั้วโรงเรียนมีไว้ทำอะไร ซึ่งคำตอบที่บางคนได้รับก็คือ ไม่ให้ใช้เพราะกลัวหญ้าตาย
ห้ามขึ้นลิฟต์
บางโรงเรียนที่มีอาคารเรียนชั้นสูงๆ แต่นักเรียนกลับถูกห้ามไม่ให้ขึ้นลิฟต์ด้วยเหตุผลว่าเปลืองค่าไฟ ทำให้ต้องหายใจหอบขึ้นบันไดกันไป พอไปถึงห้องเรียนก็ต้องพักหายใจตั้งสติสลัดความเหนื่อยให้หายก่อนจะเริ่มเรียนได้ กลายเป็นปัญหาระหว่างครูกับนักเรียนถึงเรื่องการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในรั้วโรงเรียนที่นักเรียนเป็นฝ่ายจ่ายค่าเทอมให้อยู่เรื่อยๆ
ต้องเรียนพิเศษกับครูเท่านั้น
สถานการณ์กระอักกระอ่วนใจที่อาจเกิดขึ้นกับใครหลายๆ คน ที่เจอกับครูในวิชาเรียนที่เปิดสอนพิเศษ และอาจใช้พื้นที่ในห้องเรียนเป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์รวมไปถึงการเก็งข้อสอบที่ต้องไปเรียนพิเศษเท่านั้นถึงจะทำข้อสอบได้ดี หรือหากใครไปเรียนก็มีคะแนนจิตพิสัยให้ เหตุการณ์เช่นนี้ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง แต่จากการสอบถามความเห็นนั้นก็พบว่ามีหลายคนที่เจอเหตุการณ์เหล่านี้จริงๆ ซึ่งชวนตั้งคำถามถึงหน้าที่ของครูที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียนด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๖๓
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. ๒๕๕๑