วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นวันแรกของชุมนุมใหญ่ที่ประชาชนนำโดย ‘คนรุ่นใหม่’ ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใต้เงื่อนไขเผด็จการเท่านั้น แต่ยังตีแผ่ปัญหาทางสังคมวัฒนธรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมากมายที่คนหลายรุ่นต้องอดทนมาเป็นเวลานาน รวมทั้งเรื่องเพศ เช่น สิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมทุกเพศสภาพเพศวิถี ยกเลิกมาตรา 301 เพื่อสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์โดยเจ้าของครรภ์ ในวันนั้นยังเป็นวันที่ถูกเรียกว่า ‘วันสันติภาพไทย’ ที่เป็นผลพวงจากการประท้วงรัฐบาลเช่นเดียวกันแต่เป็นการไม่ยอมรับการตัดสินใจที่รัฐบาลยอมจำนนให้ญี่ปุ่นยาตราทัพผ่านไทยไปยังพม่าและสิงคโปร์ในปลาย พ.ศ. 2484 และถูกบีบให้ประกาศเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรอเมริกาและอังกฤษในต้น พ.ศ.2485
เมื่อปี พ.ศ.2488 ในวันที่16 สิงหาคม ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ได้ออกประกาศสันติภาพ ทำให้การประกาศสงครามของรัฐบาลต่ออเมริกาและอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2485 นั้นเป็นโมฆะ เพราะถือว่าขัดต่อเจตจำนงของประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนรวมตัวกันเคลื่อนไหวใต้ดินเป็นขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาล รวมกันช่วยเหลือปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลเหนือไทยในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2
เพราะได้ต้องการรวบรวมประชาชนจำนวนมากมาเป็นองค์กรลับทั้งในและต่างประเทศ เสรีไทยจึงได้รวบรวมประชาชนหญิงมาปฏิบัติหน้าที่ลับ ทั้งหญิงชาวไทยในประเทศและนักเรียนหญิงไทยในอังกฤษ อเมริกา ที่ปฏิบัติการให้กับเสรีไทยอังกฤษ เสรีไทยอเมริกา เช่น จินตนา ยศสุนทร (2463-2544) เดิมนามสกุลนาควัชระ เธอเป็นนักเรียนทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศส แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เธอต้องย้ายมาเรียนที่แคนาดาและอเมริกา มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่วอชิงตัน เธอปฏิเสธที่จะกลับประเทศตามคำเรียกของรัฐบาลที่เข้าเป็นสมาชิกอักษะ จินตนาสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสรีไทยและเลขานุการส่วนตัวของอัครราชทูตที่วอชิงตัน ทำหน้าที่เขียนและแปลภาษาไทยบนแผนที่ให้กับกระทรวงกิจการภายในของอเมริกาและกรมแผนที่ทหาร ระหว่างร่วมขบวนการเสรีไทยเธอพบรักและแต่งงานกับนักเรียนไทยที่นู่นเช่นกัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเธอก็กลับไทยมาเป็นอาจารย์ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1]
สุภาพ ยศสุนทร ศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษปี พ.ศ.2481 วิชาพาณิชยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เธอพบรักและแต่งงานกับนักเรียนชาวไทยที่เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อมีการก่อตั้งเสรีไทย ไม่เพียงเธอจะทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ซึ่งเป็นอีกอาชีพของผู้หญิงสมัยใหม่ขณะนั้น ให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้นำจัดตั้งเสรีไทยในอังกฤษ ยังทำงานด้านด้านเอกสาร ติดต่อรวบรวมคนไทยในอังกฤษสมัครเข้าขบวนการเสรีไทย จากนั้นเธอถูกส่งไปเป็นผู้แปล เขียนและประกาศข่าวภาษาไทยให้กับสถานีวิทยุ All India Radio ที่นิวเดลี เพื่อให้ไทยได้ทราบถึงสถานการณ์สงครามและการเคลื่อนไหวของสัมพันธมิตร[2]
อัมพร มีศุข เป็นนักเรียนทุนหญิงไทยในอเมริกาที่เรียนทั้งแรดคลิฟฟ์ และฮาร์วาร์ด เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าราชการและนักศึกษาไทยถูกเรียกตัวกลับ เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคนไทยที่ปฏิเสธไม่กลับเพราะไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยอมเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับอักษะ เธอจึงเข้าร่วมกับเสรีไทยทำงานที่สำนักข่าวสงคราม (Office of War Information) ที่ซานฟรานซิสโก เพื่อรวบรวมและแปลข่าวแล้วกระจายข่าวเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับสัมพันธมิตร
ในปี พ.ศ.2486 อัมพร มีศุขและสามี ที่พบรักกันที่นั่นได้เข้ามาร่วมงานเสรีไทย เหมือนกับหลายคู่เสรีไทยที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสที่สถานทูตวอชิงตัน ดี.ซี. เช่นคู่ของจรูญ บุณยรัตพันธุ์ (หลวงดิฐการภักดี) กับสายหยุด เก่งระดมยิง, คู่ของบุญเยี่ยม มีศุขกับ อัมพร ชัยปาณี, คู่ของสมจิตร ยศสุนทร กับจินตนา นาควัชระ และคู่มาลัย หุวะนันทน์ กับอุบล คุวานเสน
เมื่อเสรีไทยได้นำหญิงสมัยใหม่ นักเรียนไทยในต่างประเทศ
เข้ามามีส่วนร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และต่อมา
ก็ได้กลายเป็นรัฐบาลภายหลัง ที่มักเรียกกันในนาม ‘รัฐบาลเสรีไทย’
อดีตเสรีไทยหญิงสายสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าสู่พื้นที่ราชการ
เสรีไทยในต่างแดนโชคดีกว่าหญิงเสรีไทยในประเทศหน่อยนึงตรงที่พวกเธอไม่สุ่มเสี่ยงถูกรัฐบาลจับกุมตัว มีสมาชิกบางคนที่ทำงานให้เสรีไทยแล้วถูกทางการจับขังเช่นนักเขียนในนามปากกา “สุรีย์”
สุรีย์เขียนหนังสือ สตรีปฏิวัติ ชื่อเดียวกับสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือ และหนังสืออุทิศแก่แม่ของผู้เขียนที่ล่วงลับไปแล้ว คือ ยงค์ ทองวานิช[3] เดิมเป็นบทความสั้นๆ เพียง 4 บทลงคอลัมน์ผู้หญิงในเสียงไทยสมัยรายวัน มีผู้อ่านหญิงจำนวนมากเขียนจดหมายหาผู้เขียนกระตุ้นให้เขียนต่อ ทว่าในปี 2486 “…ผู้เขียนต้องถูกจับกุมและถูกศาลพิเศษสั่งจำคุกตลอดชีวิตในคดีต้องหาจัดตั้งคณะไทยอิสสระขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นและวางแผนการณ์ล้มโค่นรัฐบาลจอมพล ป.”[4]
สุรีย์จึงต้องเขียนบทความต่อในช่วงเวลาที่อยู่ในคุกบางขวาง 3 ปี 7 เดือน 25 วัน[5] หนังสือ สตรีปฏิวัติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองภาครัฐ หากแต่ปลุกระดมผู้อ่านหญิงที่ผู้เขียนใช้คำว่า ‘เพื่อนสตรี’ และ ‘เพื่อนหญิง’ ให้เปลี่ยนแปลงตนเองให้สมกับเป็นผู้หญิงในระบอบการปกครองใหม่ ทั้งการดำรงชีวิตประพฤติปฏิบัติตนและทัศนคติ รู้จักปฏิสังสรรค์ในที่สาธารณะ บริหารการเงินเอง ประกอบอาชีพนอกบ้านเหมือนผู้ชายเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีสมรรถภาพเท่าผู้ชายและทำให้ผู้หญิงไม่ต้องพึ่งพาใครและได้เข้าไปอยู่ในศูนย์กลางของสังคม รู้จักคุมกำเนิด หาคู่ครองสร้างครอบครัว และการรับมือกับการอกหักและหย่าร้าง
‘สตรีปฏิวัติ’ จึงเป็นหนังสือ how to ของหญิงสมัยใหม่ รู้จักปฏิบัติตนในยุคสมัยใหม่ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่ผู้หญิงแบบเก่าที่ขึ้นตรงต่อผู้ชาย เช่นการหาคู่ครองที่ผู้หญิงเมื่อเริ่มมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกคู่ครองด้วยตัวเองแล้ว ไม่ได้หลับหูหลับตาแต่งงานกับผู้ชายตามที่ครอบครัวคลุมถุงชน หนังสือจึงได้แนะแนวการมีผัวโดยให้ตัดสินใจถึงคุณค่าของหนุ่มๆ ที่มีต่อสาธารณสังคม หนังสือสอนใจให้ผู้หญิงเลือกผู้ชายว่า
“อย่ารักเขา แม้เขาจะเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ ถ้าทรัพย์สมบัติของเขาเหล่านั้นได้มาจากการกดขี่เบียดเบียฬ สูบเลือดเชือดเนื้อผู้อื่น
อย่ารักเขา แม้เขาจะมีความรู้เปรื่องปราชญ์ ถ้าความรู้ของเขามิได้นำมาใช้ เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม
อย่ารังเกียจเขาว่าไม่มีความสามารถ ถ้าเขาได้ทุ่มเทกำลังทั้งหมดที่เขามีอยู่ เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกแล้ว
อย่ารังเกียจเขา ว่าเป็นคนยากคนจนเพราะความจนไม่ใช่ความผิดความชั่ว…”[6]
และในบทคุมกำเนิด สุรีย์ก็บอกว่า ผู้หญิงต้องพิจารณาว่า เด็กเกิดมาตามธรรมชาติแต่ธรรมชาติที่มีพร้อมที่จะให้เด็กเกิดหรือไม่ เป็นภาระหนักเกินไปหรือต้องอาศัยกำลังของเราเพียงลำพัง หลายคนมักเชื่อว่าการคุมกำเนิดเป็นบาป แต่ก็ต้องลืมตาจากความงมงายไม่ปล่อยให้ความเชื่อบุญบาปกรรมเวรมาปิดหูปิดตาหลอกหลอนจนเราไม่ยอมคุมกำเนิด
“ผู้ที่ไม่มีกำลังเลี้ยงดูลูก แต่ปล่อยให้ลูกเกิดมา
นั่นแหละเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมสร้างบาปแก่ตัวเอง
เพราะเธอหาความทุกข์ใส่ตัวและสร้างทุกข์ทรมานให้กับลูก
โดยที่เธอให้ชีวิตเขาเกิดมาแล้วให้เขารับทุกข์…”[7]
ในช่วงเวลานี้มีทั้งนักเขียนชายและหญิงพยายามอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและเสรีภาพของผู้หญิงในนาม ‘ปฏิวัติ’ ในปี พ.ศ.2484 ‘อินทรายุธ’ ซึ่งเป็นนามปากกาของอัศนี พลจันทร ที่ใครหลาย ๆ คนรู้จักเขาด้วยนามปากกา ‘นายผี’ เขียนบทความ ‘การปฏิวัติของหญิง’ ลงหนังสือพิมพ์ เอกชนรายสัปดาห์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านรัฐบาลที่เข้ากับญี่ปุ่นตอนประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรรวมไปถึงโจมตีรัฐบาลที่นับวันเริ่มมีลักษณะฟาสซิสม์ เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นผู้หญิงให้กระตือรือร้นยกระดับสถานภาพทางสังคมของตนเอง ขณะเดียวกันเขาในฐานะคนรุ่นใหม่ในช่วงเวลานั้น ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำราวิชาดั้งเดิมว่าเป็นองค์ความรู้รุ่นเก่าที่เต็มไปด้วยการกดทับทางเพศ นิยามให้ผู้หญิงมีคุณค่าด้อยกว่าผู้ชาย
ทั้งนี้ก็เนื่องจากการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลคณะราษฎรเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในทศวรรษ 2480 เพราะไร้การก่อกวนจากราชสำนักและกลุ่มอำนาจการเมืองจากระบอบเก่า ทำให้รัฐเริ่มมีโอกาสพัฒนาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทัศนคติของประชาชนให้สมกับปฏิวัติการปกครองเพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ตื่นตัวอย่างมากกับการมีรัฐธรรมนูญและสิทธิพลเมือง พยายามปรับปรุงตัวให้มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย
เพราะการปฏิวัติต้องมาจากประชาชน และไม่เพียงเป็นการพลิกระบอบระบบการเมือง แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] จ.ย.ส. (นามปากกา). จากวันนั้นถึงวันนี้. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนาเพรส แอนด์ กราฟฟิค, 2545. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ณ เมรุ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2545.
[2] อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท.ช.,ท.ม.,ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2517.
[3] สุรีย์ (นามแฝง). สตรีปฏิวัติ. พระนคร : สุรีย์, 2489.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. ก-ข.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. ก-ง.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 1.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 138.