ในระหว่างที่หลายๆ คนกังวลกับ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ว่าจะทำให้ภาครัฐเข้าสอดส่องข้อความในแชทเราได้ไหมนะ จะตามติดความเคลื่อนไหวเราได้ทุกๆ ที่หรือเปล่า วันดีคืนดีจะทำให้มีตำรวจบุกพังประตูเข้ามาจับกุมเราไปไว้ในห้องขังได้ไหม
สิ่งที่น่าหวาดวิตกไปกว่า และหลายๆ คนยังไม่รู้ตัวดีก็คือ ความจริงแล้ว เราได้ทิ้งร่องรอยหรือปล่อยข้อมูล (data) สู่สาธารณะ โดยตัวเราเอง ..มากเกินกว่าที่เราจะคิดหรือจินตนาการได้
ทุกๆ สิ่งที่เราทำบนโลกออนไลน์ คลิ๊กเข้าเว็บไหน โพสต์หรือแชร์อะไร ดูเนื้อหาอะไร ทุกๆ การกระทำ จะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ไม่แปลกใจเหรอว่า พอเราสนใจสินค้าอะไร ไถๆ หน้าฟีดก็เจอโฆษณาสินค้านั้นโชว์หรา หรือแค่คิดว่าอยากจะกินอะไร จู่ๆ ร้านอาหารยั่วน้ำลายเราก็ตามมาให้ได้เห็น หรือแค่คิดๆ ว่าอยากจะไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกสักครั้ง เอ๊ะ โปรฯ ไฟไหม้ก็เด้งออกมาให้ต้องห้ามใจไม่คลิ๊กเข้าไปซื้อตั๋วเครื่องบินราคาถูก
ทั้งหมดทั้งมวล เป็นสิ่งที่อัลกอริทึมจัดสรรให้ โดยประมวลจากข้อมูลที่เราให้ไว้เองบนไซเบอร์สเปซแทบทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในปีก่อน เราๆ ท่านๆ ก็คงจะได้เห็นข่าว บริษัทเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียชื่อดังถูกเปิดเผยว่า นำข้อมูลของผู้ใช้งานล้านๆ คนไปใช้โดยไม่ได้ขอ หรือเก็บความเคลื่อนไหวของเราไปทุกฝีก้าวแม้จะปิด GPS ไปแล้ว
นี่เป็นเรื่องของ data ที่ออกมาจากตัวเรา ไม่ว่าจะโดยรู้หรือไม่รู้ตัว ยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามที และปลายทางของผู้เก็บข้อมูลจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน
คำว่า ‘ความเป็นส่วนตัว’ หรือ privacy มีเส้นแบ่งที่ลางเรือนจนแทบไม่มีอยู่จริงในโลกยุคปัจจุบัน
แต่ใช่ว่า การให้ข้อมูลดังกล่าวจะมีแต่ข้อเสีย สารพัดอุปกรณ์ smart ต่างๆ ที่ทำงานโดยใช้ข้อมูลของเรา หรือการแนะนำสินค้าและบริการบนเว็บไซต์ต่างๆ ก็ทำให้ชีวิตของเราดีและง่ายขึ้นไม่ใช่หรือ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ จะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้เท่าทันการปล่อย data ของเราเอง จนพอจะมีอำนาจควบคุมมันได้ระดับหนึ่ง
หรือใช้ประโยชน์จากการปล่อยข้อมูลนั้นๆ อย่างไรได้บ้าง
เร็วๆ นี้ มีการแปลหนังสือชื่อ Data for the People (ชื่อไทย ‘รู้อะไรไม่สู้ รู้ data’) เขียนโดย Andreas Weigend ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Social Data Lab อดีตหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ ของ Amazon รวมถึงบทบาทการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจอีกหลายๆ แห่ง เช่น Alibaba เคยไปสอนในสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่ง รวมถึงเคยร่วมงานกับ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนปัจจุบัน
ไวเกนด์ไม่มาถกเถียงแล้วว่า ในปัจจุบันเรายังมีความเป็นส่วนตัวอยู่ไหม แต่พุ่งไปที่ว่าในยุค post-privacy นอกเหนือจากบริษัทต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเรา ตัวเราเองจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นๆ อย่างไรได้บ้าง
เพราะการใช้โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ดังๆ อย่าง Facebook Google Youtube LinkedIn Tinder Amazon ฯลฯ ต่างบ่งบอกพฤติกรรมของตัวเราทั้งสิ้น กระทั่งบ่งบอกวิถีการใช้ชีวิต ไปจนถึงความสัมพันธ์ของคนรอบๆ ข้างได้ กระทั่งรู้ว่าคนคู่ใดจะคบกัน ก่อนที่พ่อแม่หรือเพื่อนสนิทของคนคู่นั้นๆ จะรู้ได้ด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับรู้ว่าใครมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองไปจนถึงฆ่าตัวตาย
ไวเกนด์ เริ่มด้วยการเล่าถึงชีวิตประวันของตัวเองเขาที่ให้ข้อมูลต่างๆ ไว้จำนวนมาก และบอกว่า ข้อมูลบางอย่างมันไม่ได้มีผลกระทบแต่กับตัวเรา แต่ยังรวมถึงคนรอบๆ ที่สำคัญ คือมีผลกับตัวเราในอนาคตอีกด้วย เพราะข้อมูลที่เราทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ยากจะหาไปได้ง่ายๆ
เขาเสนอว่าในโลกยุค post-privacy สิ่งที่องค์กรผู้เก็บข้อมูลต่างๆ ควรจะมี มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ 1.) หลักความโปร่งใส และ 2.) หลักการดำเนินการ
หลักความโปร่งใส (transparency) ก็คือ สิทธิของบุคคลที่จะได้รู้ว่าข้อมูลของตัวเองถูกเก็บไว้อย่างไร และถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร รวมถึงว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวได้สัดส่วนกับความจำเป็นหรือไม่
หลักการดำเนินการ (agency) ก็คือ สิทธิของบุคคลที่จะกระทำการใดๆ กับข้อมูลของตัวเอง คุณสามารถเลือกทำอะไรกับข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้หรือไม่ ปรับแต่งข้อมูลอะไรไหม หรือเปลี่ยนเงื่อนไขในการถูกจัดเก็บข้อมูลได้หรือเปล่า
ทั้งนี้ จุดยืนของผู้เชี่ยวชาญด้าน big data ระดับโลกรายนี้ ไม่ได้คัดค้านการเก็บข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ในอีกทางหนึ่งกลับสนับสนุนให้ปล่อยเสรีข้อมูลให้มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ แต่ก็เรียกร้องให้ส่งเสริมสิทธิที่เจ้าของข้อมูลจะเข้าถึงข้อมูลของตัวเองที่ถูกบริษัทต่างๆ เก็บเอาไว้ด้วย ไม่ใช่ให้เก็บไว้ฝ่ายเดียว