“ดูแล้ว ร้องไห้มั้ย”
“อือ”
เชื่อว่าหลายคนที่ดู และอยากชวนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาลองดูซีรีส์ Move to Heaven คงจะเปิดการพูดคุยด้วยการตรวจสอบว่าหนังเรื่องนี้ทำงานกับเรามากน้อยแค่ไหน ซึ่งเอาจริงๆ Move to Heaven ทำงานกับความรู้สึกของเราอย่างมาก ตั้งแต่ประเด็นของซีรีส์ที่พูดถึงการบอกลาครั้งสุดท้าย และตัวตนหนังเกาหลีที่ชอบขยี้ต่อมน้ำตาของเราอย่างสนุกสนาน การเรียกน้ำตาของซีรีส์ชุดนี้ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของซีรีส์เกาหลีที่ทำได้อย่างล้ำลึก—และไม่ฟูมฟาย
ถ้าจะให้สรุปนิยามของ Move to Heaven ก็คงต้องบอกว่าเป็นซีรีส์ที่ ‘ยาก’ คือวางโจทย์มาดี และรวมมิตรเรื่องยากๆ ไว้ (และสปอยล์เลยว่าทำออกมาได้ดีเกินคาด) โครงเรื่องหลักพูดถึงกิจการที่ชื่อว่า Move to Heaven งานเก็บกวาดข้าวของของคนที่เสียชีวิตไป เป็นการขนส่งครั้งสุดท้ายจากโลกใบนี้สู่สวรรค์ตามชื่อเรื่อง นอกจากแค่แกนเรื่องที่ว่าด้วยความตายและการอำลาแล้ว ตัวเอกของกิจการคือเด็กหนุ่มอายุ 20 ปีที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ แถมผู้ตายส่วนใหญ่ที่ต้องการให้บริษัทเข้าจัดการครั้งสุดท้ายก็มักเป็นกลุ่มคนที่นิยามได้ว่าเป็นกลุ่มชายขอบของสังคมเกาหลี
ดังนั้นซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นการรวมเอาประเด็นร่วมสมัย ทั้งการตายอย่างโดดเดี่ยว กิจการร่วมสมัยที่ตอบสนองปัญหาของสังคม ประเด็นเรื่องความตายเป็นประเด็นที่เราอาจรู้สึกว่ายังมีแง่มุมหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะพาไปรู้สึกถึงการสูญเสียและความหมายของการมีชีวิตได้อยู่ไหม
ความน่าประหลาดใจคือซีรีส์เรื่องนี้ใช้ทั้งเรื่องและเทคนิกต่างๆ ที่ผสมผสานจุดเด่นของซีรีส์เกาหลีที่เรารู้จัก เราได้งานภาพแบบเกาหลีที่ทั้งดึงเสน่ห์ของนักแสดง และแน่นอนบทบาทผู้มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ที่เป็นแกนการเล่าเรื่อง ผนวกเข้ากับการตัดต่อและการใช้เสียงเพลงที่ค่อยๆ พาเราจมดิ่งลงสู่เรื่องราว Move to Heaven จึงเป็นส่วนผสมสดใหม่ของดราม่าแบบเกาหลี งานสืบสวนและตัวละครนักสืบตามขนบ ที่มาพร้อมปัญหาร่วมสมัย ทั้งหมดนั้นเป็นการคลี่คลายความตายผ่านตัวกลางที่ค่อนข้างไม่ฟูมฟาย เป็นความตายของคนอื่นที่กลับสัมผัสและสั่นสะเทือนหัวใจ
ข้าวของในกล่องสีเหลือง กับสุนทรียศาสตร์ของตัวตนที่ไม่ปรากฏตัว
โจทย์สำคัญของเรื่องคือการดึงความรู้สึกของเราเข้าสู่การจากไปของตัวละคร จุดเด่นที่สุดของซีรีส์นี้คืองานภาพและเสียงที่มีความประณีต หลังจากตัวเรื่องเข้าแกนเรื่องหลักคือการใช้ชีวิตของกือรูกับคุณอาสุดเท่แต่น่าปวดหัว หลังจากตอนที่ 1 เราจะเริ่มเห็นวิธีการ ‘เล่าถึง’ ผู้ตายที่มีความน่าสนใจ คือเราจะไม่เห็นใบหน้าของผู้ตายจนกว่าเรื่องจะค่อยๆ คลี่คลายลง โดยฉากไอคอนคือฉากกล่องสีเหลือง และคำอุทิศจากคนแปลกหน้าที่เป็นเหมือนหัวจิตหัวใจจากคนแปลกหน้าครั้งสุดท้าย
ประเด็นเรื่องการค่อยๆ เรียนรู้ก็ดูจะเป็นแกนสำคัญของเรื่อง เราค่อยๆ เรียนรู้เรื่องราวของคนอื่น ทั้งภายในโครงข่ายความสัมพันธ์ของตัวละครเอง และการเรียนรู้ตัวตนของคนที่ล่วงลับไป รวมถึงตัวกิจการ Move to Heaven เองก็ว่าด้วยการจัดการข้าวของเป็นสำคัญ วิธีการสำคัญของเรื่องจึงเป็นการค่อยๆ ให้เรารับรู้ตัวตนของตัวละครที่จากไปทีละเล็กละน้อย เล่าย้อนหลังอย่างกระจัดกระจาย และค่อยๆ ต่อจนกลายเป็นเรื่องราวของคนคนนั้น
น่าแปลกใจมากว่าวิธีการเล่าผ่านของ และปล่อยให้เราค่อยๆ ซึมซับตัวตนของคนคนนั้น ทั้งจากของที่ทิ้งเอาไว้ และจากเสียงเล่าของคนรอบข้าง มันเหมือนกับว่าทำให้เราค่อยๆ รู้จักคนคนนั้น ตัวตนของคนคนนั้นกลับดู ‘จริง’ และสมจริงขึ้น ในหลายระดับ ข้าวของเหล่านั้นอาจทำให้เรานึกถึงใครสักคนที่เคยทิ้งของเช่นนั้นไว้ หรือมีเรื่องราวบางอย่าง เรื่องราวที่เราอาจเชื่อมโยงได้ เช่นเด็กหนุ่มที่ดิ้นรนจากความยากจน หรือกระทั่งหญิงสาวผู้เป็นเหยื่อของความรุนแรงและฆาตกรรมที่มีที่มาจากเหตุการณ์จริง
ความรู้สึกที่มากหรือน้อยเกินไป—จริยธรรมเล็กๆ ของฮันกือรู
ความน่าสนใจของเรื่องคือการเลือกใช้ตัวละครหลักที่มีภาวะแอสเพอเกอร์—ฮันกือรู และก็ใช้มุมมองของฮันกือรูในการไขเรื่องราวต่างๆ อันที่จริงฮันกือรูถือเป็นตัวละครประเภทฮีโร่นักสืบที่เป็นไปตามแบบฉบับพอสมควร คือแม้เราจะมองว่าฮันกือรูมีภาวะออทิสติกประเภทหนึ่ง แต่ถ้าเรามองย้อนไปที่ตัวละครนับสืบต่างๆ ส่วนใหญ่ตัวละครนักสืบก็ถูกนำเสนอเป็นตัวละครที่มีความเฉพาะตัวต่างจากคนทั่วไป ทำให้สามารถมองเห็นเรื่องราวต่างๆ ได้มากกว่า เช่น เชอร์ล็อก โฮมส์ ก็มีภาวะเมาโคเคนบ้าง นักสืบยุคหลังๆ บ้างก็แยกตัวเพื่อครุ่นคิดและใช้ความหมกมุ่นนั้นพาผู้อ่านไปสู่ความจริง
ทีนี้ เงื่อนไขพิเศษของฮันกือรูตามลักษณะกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ ฮันกือรูอธิบายตัวเองว่าไม่สามารถเข้าใจพวกนัยซับซ้อนทางสังคมได้ และฮันกือรูก็ไม่ได้นำเอาความรู้สึกเข้ามาใช้หรือมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคมกับคนอื่นๆ เท่าไหร่ ภาพที่มักจะเกิดและปมขัดแย้งที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นภาพของกือรูที่ยืนอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางอารมณ์ เช่นภาพของเพื่อนบ้านที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล รังเกียจความตายของเพื่อนมนุษย์ ความกังวลที่อ้างความปลอดภัยและความรู้สึกของชุมชน
ดูเหมือนว่า ด้วยความแปลกแยกจากความรู้สึกนี้ ตัวเรื่องจะยิ่งเน้นย้ำถึงปัญหาและลักษณะของสังคมร่วมสมัยที่ถูกนิยามภายใต้คำว่าปกติธรรมดา ทำให้เห็นภาวะของสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความแปลกแยก ความหมางเมิน การเอารัดเอาเปรียบ และที่ชัดเจนมากและถือเป็นประเด็นของสังคมเกาหลีคือความรุนแรง ที่ทั้งหมดนั้นถูกกลบเกลื่อนไว้ภายใต้คำว่า ‘นัยของสังคม’
ภายใต้ค่านิยมและแนวทางอันซับซ้อนของสังคมที่เราเองก็อาจจะรู้สึกว่าปกติ แต่การถ่ายทอดเรื่องเหล่านั้นผ่านสายตาของฮันกือรู ก็ดูจะเป็นการฉายและเพ่งมองภาพของความซับซ้อนที่เราคุ้นเคยให้ดูแปลกประหลาด และขับเน้นความฟอนเฟะของสังคมให้เด่นชัดขึ้น
สำหรับฮันกือรู ถ้าหากมองเราจะเห็นลักษณะที่ตรงข้ามด้วยเงื่อนไขทางร่างกายและการเรียนรู้ของฮันกือรู ฮันกือรูมักจะต้องดำเนินตามเงื่อนไขที่เขาจดจำและเรียนรู้เอาไว้ ถ้าพูดในด้านหนึ่งคือ ฮันกือรูมีชุดจริยธรรมที่ตัวเองพยายามยึดถือและดำเนินตามอย่างเคร่งครัด แต่ตัวจริยธรรมนั้นก็มีความเรียบง่าย คือยึดคำพูด คำสอน และแนวทางอย่างเคร่งครัดถี่ถ้วน แต่ในที่สุดแล้วด้วยวิธีการมองโลกและจริยธรรมของฮันกือรูที่พ่อวางไว้นั้นกลับทำให้เรามองเห็นบางอย่างของโลกมากขึ้นไปกว่าเดิม และเน้นย้ำว่าหัวใจของฮันกือรูที่อาจถูกนิยามว่าบกพร่องนั้น ไม่ได้บกพร่องแตกต่างจากคนทั่วไปแต่อย่างใด
นิทานของมหานคร กับรอยขมวดคิ้วเล็กๆ ของความดีและความชั่ว
อันที่จริงในความซับซ้อนของประเภททั้งดราม่า สืบสวน และการนำเสนอปัญหาและภาพของคนชายขอบต่างๆ หลายครั้งตัวเรื่องก็อาจทำให้คนขี้สงสัยขมวดคิ้วอยู่บ้าง เรื่องราวที่ปรากฏหลายครั้งมีความแบนเล็กน้อยโดยเฉพาะตัวละครประกอบที่ปรากฏตัวขึ้นมาเหมือนโขกมาจากภาพจำคนชั่ว พวกเพื่อนบ้านที่สุดแสนจะเห็นแก่ตัว ญาติเห็นแก่เงิน นายจ้างหน้าเลือด หรือตัวละครฝ่ายดีที่เต็มไปด้วยหญิงชราผู้ยึดมั่นแม้จะยากจน คุณลุงผู้อารี หญิงสาวที่มีจิตใตดุจแม่พระ หรือกระทั่งตัวละครพ่อที่จากไปก็ถูกวาดให้สว่างและอบอุ่นหัวใจ แม้คุณอาเองที่ดูร้ายๆ ต่อยเก่ง แต่เราก็รู้แหละว่าคนนี้ต้องมีความอบอุ่นใจอยู่แน่นอน
ดังนั้นหลายครั้งที่ดูๆ ไปแล้วเรารู้สึกว่า เหมือนกำลังอ่านนิทานรวมเล่มที่คราวนี้เด็กหญิงบริสุทธิ์ หมาป่า สิงโต แม่มด และเจ้าชายถูกเล่าออกในบริบทเมือง เรามีเรื่องราวที่จริงๆ เป็นเรื่องเล่าที่เราคุ้นหู เรื่องของเด็กหนุ่มที่ต่อสู้ เรื่องของแม่ที่อยากจะซื้อเสื้อดีๆ ให้ลูกสักตัวและเอาแต่เดินวนเวียนอยู่อย่างนั้น ด้านหนึ่งนั้นตัวเรื่องก็แสดงความโหดร้ายของสังคมทุนนิยมและสังคมร่วมสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ภาพฝันอันสวยงามที่มีความโรแมนติกอย่างที่เรานึกฝันถึงอยู่เสมอ
ความแบนๆ และความเป็นนิทานอาจจะทำให้ขมวดคิ้วอยู่บ้าง ว่า เอ๊ะ เหยื่อต้องเป็นเหยื่อ คนเลวจะเลวอะไรขนาดนั้น หรือการปัดเป่าครั้งสุดท้ายจะมีความหมายขนาดนั้นไหม ความเชื่อบริษัท Move to Heaven จะช่วยปัดเป่ารอยแผลได้จริงไหม แต่ในที่สุดด้วยมิติของเรื่อง และด้วยความเป็นซีรีส์ในฐานะงานผลิตที่ยอดเยี่ยม ในที่สุดเราเองก็โอเคกับการชมเรื่องราวของมนุษย์ในสังคมเมืองนี้ได้—คำถามในตอนต้นที่ว่าดูแล้วร้องไห้ไหม ส่วนหนึ่งก็เหมือนมายืนยันว่าในส่วนที่ดูขาวหรือดำชัดเจนนี้ในที่สุด เราก็เชื่อและรู้สึกตามที่เรื่องพาเราไปได้
สุดท้าย Move to Heaven เป็นผลงานที่น่าประทับใจอีกเรื่องจากเกาหลี นอกจากงานโปรดักชั่นที่ยอดเยี่ยมแล้ว การนำเสนอประเด็นร่วมสมัยที่หลายเรื่องเป็นที่จับตาของสังคมเกาหลีอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ การตายอย่างโดดเดี่ยว สังคมผู้สูงอายุ ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือการกลั่นแกล้งกัน แต่ก็นิดหนึ่งว่ามันก็มีความฟ้ามีตา นิทานสอนใจเล็กน้อย
และด้วยตัวเรื่องที่เน้นนำเสนอภายใต้นิยามของความแปลกประหลาด (eccentric) ทั้งอาขีพเก็บกวาดสิ่งของของคนตาย สายตาของผู้มีกลุ่มอาการออทิสติก รวมถึงเรื่องราวของคนกลุ่มน้อยในสังคม สิ่งที่พิเศษมากๆ อย่างหนึ่งของเรื่องคือการสร้างบรรยากาศที่แปลก—แต่ดี โดยเฉพาะในการพูดถึงความตายและสังคมที่ยังมีชีวิตของผู้คน สังคมที่เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดภายใต้ความปกติธรรมดาของเรานี้