ในปี ค.ศ. 1981 ฌ็อง โบรดิยาร์ด (Jean Baudrillard) นักปรัชญาคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 ได้เขียนผลงานชิ้นสำคัญของเค้าขึ้น ชื่อว่า Simulacra and Simulation เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดกับสังคมโลกสมัยใหม่ ผ่าน ‘สื่อ’ (Simulation) เอาจริงๆ คำว่า Simulation นั้นไม่ใช่ศัพท์แสงที่ยากนัก ก็น่าจะพอนึกออกได้ว่ามันคืออะไร สื่อพวกนี้ก็อย่างที่เรารู้กันนี่แหละครับ พวก ภาพยนตร์ ละคร ข่าว ซีรีส์ นิยาย เพลง การ์ตูน การศึกษา แฟชั่น ฯลฯ ที่เราเสพๆ กันอยู่ทุกวัน แต่คำว่า ‘Simulacra’ นั้นล่ะ แปลว่าอะไร? หากผมจำไม่ผิด อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เคยแปลความคำนี้ไว้ และผมชอบมากๆ ว่า ‘โลกจริงจำลอง’ (หากจำผิดผมขออภัยด้วยล่วงหน้านะครับ หนังสือเล่มที่อ่านหาไม่เจอแล้วจริงๆ)
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องโลกจริงจำลองนี้ ถ้าพูดด้วยภาษาบ้านๆ แบบที่ตอนนี้เราคุ้นชินกัน มันก็คือ ‘กะลา’ ที่เราคิดไปเองว่ามันคือ ‘โลก’ นั่นเอง วันนี้ผมเลยคิดว่าอยากถือโอกาสชักชวนมาพากันสำรวจ ‘กะลา’ ที่เราพูดถึงกันมานานสองนานแล้วดูสักหน่อยครับ บอกไว้ก่อนเลยนะครับว่า เรื่องที่เขียนถึงวันนี้ค่อนข้างยากพอสมควร ผมพยายามย่อยมาให้แบบสุดพลังแล้ว โปรดค่อยๆ ลองอ่านดูนะครับ
โบรดิยาร์ดเริ่มต้นเล่าถึง อาณาจักรแห่งหนึ่งครับ แผ่ขยายดินแดนไปเรื่อยๆ โดยพร้อมๆ กันไปอาณาจักรแห่งนี้ก็สร้างแผนที่ขนาดเท่าพื้นที่จริงของดินแดนตนเองด้วย เมื่อดินแดนของอาณาจักรนี้ขยายตัว แผนที่ก็ขยายตาม ประชากรของอาณาจักรนี้ก็เฝ้ามองความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรพวกเขาผ่านแผนที่ที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งอาณาจักรล่มสลายลง แต่ประชาชนของอาณาจักรแห่งนี้ก็ยังคงคิดว่าอาณาจักรของตนนั้นยิ่งใหญ่เกรียงไกรอยู่ เพราะหลงคิดไปเสียแล้วว่าแผนที่คือตัวอาณาจักรไปเสียเอง หรือก็คือ ประชาชนเชื่อว่าความเป็นจริงเสมือนหรือความเป็นจริงจำลองนั้น ‘จริง’ เสียยิ่งกว่าความเป็นจริงที่แท้จริง
สภาวะนี้นี่เองที่โบรดิยาร์ดเรียกมันว่า Simulacra หรือ โลกจริงจำลองครับ และสิ่งที่เป็นอุปลักษณ์แทน สื่อ หรือ Simulation ก็คือ ตัวแผนที่นั่นแหละ
ทั้งนี้ ผมคิดว่าผมควรเน้นย้ำเพื่อความถูกต้องชัดเจนลงไปด้วยว่า Simulacra ที่โบรดิยาร์ดเคลมนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘สื่อกลาง’ ของความจริง (Mediations of Reality) หรือ ‘สื่อกลางบางอย่างเพื่อปิดบังความจริง’ (Deceptive mediations of reality) ว่าง่ายๆ ก็คือ สำหรับโบรดิยาร์ดแล้ว Simulacra ไม่ใช่ ‘ภาพลวงตาของความจริง’ ซึ่งในทางหนึ่งการเป็นภาพลวงตาของความจริงนั้น มันจะอ้างอิงตัวเองอยู่กับความเป็นจริงบางอย่างอยู่หรือไม่ก็กำลังปิดบังความจริงอะไรบางประการไว้อยู่ แต่ Simulacra หรือโลกจริงจำลองนั้น ‘ไม่ได้อิงอยู่กับความเป็นจริงหรือพยายามจะซ่อนความจริงใดๆ ไว้’ หากแต่ตัว Simulacra เองนั้น มันถูกรับรู้ในฐานะ ‘ความจริง’ โดยตัวมันเองเลย
Simulacra ไม่ได้มีเพื่อ ‘แทน’ หรือ ‘ซ่อน’ ความจริง แต่ตัวมันเอง ‘กลายเป็นความจริง’ โดยไม่สนใจ ไม่อ้างอิงอยู่กับ ‘ความเป็นจริงแท้จริงที่เกิดขึ้นเลย’ เหมือนกับแผนที่ที่กลายเป็นความจริงในการรับรู้ โดยไม่สนใจความเป็นจริงว่าแผ่นดินหรือดินแดนนั้นหายไปหมดสิ้นแล้ว
สิ่งที่ถูกเรียกโดยเปรียบเปรยว่า ‘กะลา’ ของสังคมไทย ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก ‘แผ่นที่’ ที่ใหญ่กว่าแผ่นดินของโบรดิยาร์ดนัก เพราะหน้าที่ของกะลาคือ ‘การสร้างความจริงที่ใหญ่ล้นเกินกว่าความเป็นจริง โดยไม่สนความเป็นจริงใดๆ เลย’ เราจึงมีโลกความเป็นไทยที่ ‘ไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ตามความจริงที่กะลาสร้างและเราเชื่อมัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แพ้ ‘ใครๆ ในโลก’ แทบทุกด้านอยู่
โบรดิยาร์ดแบ่งลำดับพัฒนาการของ ‘กะลา’ หรือ Simulacra เป็น 4 ช่วงหลักๆ คือ
ช่วงที่ 1 คือ ช่วงของการ ‘คัดลอกภาพด้วยความซื่อสัตย์’ (Faithful copy) ในช่วงนี้ภาพที่สื่อสร้างขึ้นนั้น อาจจะมีความถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง ‘จริงๆ’ ที่เกิดขึ้นได้ ขั้นตอนนี้โบรดิยาร์ดมองว่ามันคือ reflections of profound reality หรือภาพสะท้อนของความจริง (แบบลึกซึ้ง) ซึ่งหากจะกลับไปเทียบกับภาพเปรียบเรื่องแผนที่ของโบรดิยาร์ดเองแล้ว ขั้นตอนนี้ก็เสมือนหนึ่งขั้นตอนการเขียนแผนที่ตามขนาดของอาณาจักรนั่นแหละครับ ที่เขียนตามความจริงอย่างละเอียดลึกซึ้ง และมันนำมาซึ่ง ‘ภาพลักษณ์ที่ดี’ ในฐานะตัวแทนของสิ่งที่มันกำลังสะท้อนอยู่ คำเรียกเป๊ะๆ ของโบรดิยาร์ดสำหรับขั้นตอนนี้ก็คือ ระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ the sacramental order
ช่วงที่ 2 คือ ช่วงของ ‘ความจริงที่วิปลาศ’ (Perversion of reality) ช่วงนี้คือช่วงที่ ‘สื่อ’ ถูกมองว่า เริ่มจะไม่ได้คัดลอกความเป็นจริงอย่างเคร่งครัดหรือซื่อสัตย์อีกต่อไปแล้ว (Unfaithful copy) หากแต่มันทำหน้าที่ในการบดบังและลดทอนความถูกต้องของความจริงครับ หากช่วงแรกสื่อถูกมองว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีแล้ว ในขั้นนี้สื่อก็คือสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น ‘ภาพลักษณ์ที่ชั่วร้าย’ หรือระเบียบของความชั่วร้าย (the order of maleficence) มันคือช่วงที่สื่อถูกมองว่าไม่ได้เผยความจริงครบถ้วนให้กับพวกเรา แต่มันก็ยังคงเกริ่นให้เห็นถึงตัวตนหรือความจริงที่ตัวสื่อเองไม่อาจครอบคลุมได้นั้นอยู่บ้าง
ในขั้นนี้ที่ผมพอจะนึกภาพเปรียบเทียบได้ใกล้เคียงที่สุด อาจจะเป็นตอนที่ยุครัฐบาลทักษิณน่ะนะครับ ที่ทั้งโดนกระหน่ำโจมตีว่าแทรกแซงสื่อ หรือใช้นโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชน (คือ ตัวนโยบายทำหน้าที่ ‘สื่อ’ แบบที่โบรดิยาร์ดว่ามา ซึ่งตัวนโยบายที่โฆษณาออกมามันไม่ตรงกับความเป็นจริงของตัวตนของนโยบายเหล่านั้น ฯลฯ) จริงๆ กรณีรัฐบาลปัจจุบันก็อาจจะใช้ได้ด้วย แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า ‘ตรง’ เท่ากับกรณีของรัฐบาลทักษิณ ส่วนหนึ่งเพราะผมมองว่าประเทศไทย ‘ข้ามผ่าน’ ขั้นตอนนี้มาแล้ว เมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน และอีกเหตุหนึ่งก็คือ วิธีการดีลกับสื่อของรัฐบาลนี้ อย่าง ม.44 หรือการใช้การข่มขู่อย่างเข้มงวดนั้น มันไม่ใช่กรณีของการ ‘เป็นสื่อที่ไม่สะท้อนความจริง’ แล้ว แต่เป็นการ ‘ริบบทบาทของสื่อ’ ไปเลยมากกว่า ทำให้ผมคิดว่าเคสของรัฐบาลทักษิณตรงกว่าครับ
ช่วงที่ 3 คือ ช่วงที่ความเป็นจริง ‘จริงๆ’ (profound reality) กำลังหายตัวไป หรือเริ่มหมดความสำคัญลง มันเกิดขึ้นเมื่อสื่อเริ่มทำเสมือนว่า ‘ตัวเองคือความจริง’ ทั้งๆ ที่สิ่งที่มันกำลังพูดถึงหรือคัดลอกมาเพื่อฉายภาพให้เห็นนั้น ‘เป็นการคัดลอกที่ไร้ซึ่งต้นฉบับใดๆ’ หรือก็คือ สื่อทำหน้าที่เป็นความจริงโดยไม่สนการมีอยู่ ไม่สนห่าอะไรเลยว่าความจริง ‘จริงๆ’ นั้นมันจะเป็นอย่างไร มันจะมีอยู่หรือเปล่า? ว่าง่ายๆ ก็คือ ช่วงนี้คือช่วงที่ ‘สื่อไร้ซึ่งความสัมพันธ์กับความจริง หรือ การคัดลอกที่ไม่จำเป็นต้องมีต้นฉบับ’ โบรดิยาร์ดเรียกช่วงนี้ว่า the order of sorcery หรือระเบียบของมนตรา เพราะ ความจริงกลายเป็นสิ่งที่ถูกปลุกเสกขึ้นมา
โดยส่วนตัวผมมองว่าประเทศไทยกำลังคาบเกี่ยวอยู่ระหว่าง ช่วงที่ 3 นี้ กับช่วงที่ 4 (ที่จะพูดถึงต่อไป) ฉะนั้นเราจึงจะเห็นปรากฏการณ์การตัดสัมพันธ์กับความจริงจากสื่อต่างๆ ได้ทั่วไปหมด ตั้งแต่กรณีของเรื่องทั่วๆ ไป ยันการเมืองระดับชาติ อย่างกรณีล่าสุดกับข่าวของคุณทราย อินทิรา เจริญปุระ ที่โดนสื่ออย่าง Spring News และ T-News เขียนถึงอย่าง ‘ไร้ซึ่งความสนความแคร์ต่อความจริงใดๆ’ จนถึงขั้นต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน (และผมก็อยากจะขอประกาศตัวเอาใจช่วยคุณทรายอย่างเต็มที่มา ณ ที่นี้ด้วย) และไล่ไปถึงสารพัดเรื่อง ตั้งแต่ข่าวกรณีที่คุณยิ่งลักษณ์ถูกเขียนถึงทั่วไปหมดว่ากิ๊กกับคนนั้น นอนกับคนนี้ หรือแม้แต่คะแนนโพลความนิยมทะลุฟ้ากว่า 96% ของพลเอกประยุทธ์ เป็นต้น เหล่านี้เองคือสิ่งที่ผมมองว่ามันบ่งชี้ว่า อย่างน้อยที่สุดกะลาไทยมีพัฒนาการถึงช่วงที่ 3 นี้แล้ว
ช่วงที่ 4 คือ ช่วงที่โบรดิยาร์ดมองว่าสังคมนั้นเข้าสู่สภาวะของโลกจริงจำลอง หรือ Simulacra อย่างเต็มตัวแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ Simulacra ตัดขาดตัวเองอย่างสิ้นเชิงกับความจริง และสิ่งที่สื่อสะท้อนนั้นก็ไม่เกี่ยวโยงอะไรกับความจริงอีกเลย มันเป็นเพียงแค่การสะท้อนกันไปกันมาของสื่อด้วยกันเอง หรือเพื่อสนองตอบต่อสิ่งที่ผู้บริโภคสื่อต้องการจะเสพเท่านั้น ในช่วงที่ 4 นี้เอง สำหรับโบรดิยาร์ดแล้ว แม้แต่การที่สื่อในช่วงนี้จะมีการอ้างตัวเองว่า ‘กำลังอ้างอิงอยู่กับความจริงอยู่’ ก็ไม่ใช่การอ้างอิงหรือมีความสัมพันธ์กับความจริงในทางใดๆ อีกแล้ว เพราะ ‘การอ้างว่าอิงกับความจริง หรือการพูดว่าต้องการความจริงนั้น’ โดยตัวมันเองแล้ว ก็กลายเป็นเพียงแค่การประดิษฐ์หรือวลีประดิษฐ์ (artificial phrase) เท่านั้น
เหตุที่โบรดิยาร์ดว่ามาเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า (ในช่วงที่ 4 นี้) เราไม่ได้พูดว่า ‘อิงกับความจริงหรือต้องการความจริง’ จากการต้องการอย่างที่ว่าจริงๆ แต่การพูดหรือการเคลมของเรานั้นมันเป็นเพียงการสะท้อนบทบาทของเราที่เป็นผลผลิตจากสื่อซึ่งเป็นแค่ความจริงประดิษฐ์อีกต่อหนึ่ง อย่างที่บอกไปโลกจริงจำลองในช่วงนี้มันตัดขาดจากความจริงไปแล้ว สิ่งที่มันสะท้อนจึงไม่ใช่ตัวความจริง แต่มันคือการสะท้อนภาพไปมาระหว่างสื่อด้วยกัน ฉะนั้นในแง่นี้สื่อคือผลผลิตของสื่อด้วยกันเองที่ต่างพากันอุปโลกตนเองว่าตนคือความจริง (แต่ไม่ได้สนใจความจริงใดๆ เลย) ในชั้นนี้เราจึงเป็นเพียงผลผลิตของ ‘ความจริงของความไม่จริง’ ที่สะท้อนกัน ขยายกันไปมา จนกลายเป็นสิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า ‘ความจริงล้นจริง หรือ hyperreality’
ในสภาวะดังกล่าวนี้เอง โบรดิยาร์ดมองว่า คนที่คิดอย่างพาซื่อ (naïve) และเสแสร้งต่อความจริง (pretension to reality) หรือคิดว่าตัวเองต้องการความจริงด้วยตนเอง ตนเป็นผลผลิตของความจริงอะไรต่างๆ อย่างที่ว่ามานั้น เป็นเพียงพวกที่ขาดซึ่งความวิพากษ์ต่อการรับรู้ของตนเอง (bereft of critical self-awareness) ซึ่งสุดท้ายก็นำมาซึ่งความความอ่อนไหวทางอารมณ์อย่างล้นเกิน (oversentimental)
จริงๆ แล้วโบรดิยาร์ดยังอธิบายต่อไปอีกมากมายเกี่ยวกับโลกจริงจำลอง หรือ Simulacra นี้ เช่น ความเข้มข้น หรือ Degree ของโลกจริงจำลองที่แบ่งตามยุคสมัย จากยุคก่อนสมัยใหม่ (Pre-modern) ที่หลักๆ แล้วเป็นระยะของช่วงที่ 1 – 2, ยุคสมัยใหม่หรือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Modern/Industrial Revolution) ที่โดยรวมอยู่ในช่วงที่ 2 – 3 และสุดท้ายสังคมยุคหลังสมัยใหม่หรือทุนนิยมตอนปลาย (Post-modern / Late capitalism) ที่จะอยู่ในช่วงที่ 3 – 4 นั่นเองครับ ผมคงจะไม่ลงรายละเอียดว่าทำไมสังคมแต่ละยุค ถึงสะท้อน ‘ช่วงของโลกจริงจำลอง’ อย่างที่ว่ามา เนื่องจากพื้นที่เขียนจะหมดแล้ว และพูดกันเรื่องยากๆ มาเยอะแล้ว
ผมอยากใช้พื้นที่ช่วงสุดท้ายนี้ ชักชวนให้ลองนำสิ่งที่โบรดิยาร์ดเสนอย้อนกลับมามองประเทศเราเองและที่สำคัญที่สุดคือวิธีคิดและการรับรู้ของเราเอง ว่าเราขาดซึ่งความวิพากษ์หรือการตั้งคำถามอย่างถึงแกนต่อการรับรู้ของตัวเราเองหรือเปล่า?
ทำไมเราต้องคิดว่าประเทศไทยดี? มันดีจริงหรือ? หรือแค่กะลาบอกเรา แล้วเราเชื่อตามกะลา?
ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก? ไม่แพ้จริงๆ หรือ? หรือแค่กะลาบอกเรา แล้วเราเชื่อตามกะลา?
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน? นานจริงหรือ? หรือแค่กะลาบอกเรา แล้วเราเชื่อตามกะลา?
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ผมสามารถไล่ลิสต์ได้อีกยาวมากครับ แต่คงไม่จำเป็น ผมแค่คิดว่าเราควรย้อนกลับมาคิดจริงจัง ว่าทำไมเราต้องโมโหรุนแรงถ้ามีคนมาบอกว่า “ประเทศไทยมันห่วย”…ประเทศนี้มันห่วยไม่ได้หรือ? หรือทำไมเราต้องฟูมฟายจะเป็นจะตาย เมื่อมีคนตั้งคำถามถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย? หรือทำไมเราเชียร์ทีมชาติไทยปานจะตายไปด้วยให้ได้ ทั้งๆ ที่ 2 เดือนก่อนหน้านั้นเรายังไม่ได้รู้จักกีฬาที่ทีมชาติกำลังแข่งอยู่เลย?
ผมคิดว่าการตั้งคำถามเหล่านี้สำคัญ ว่าเราเห็นหรือไม่ว่าเรานั้นเป็นเพียงผลผลิตของกะลาใบใหญ่ และมันดูจะใหญ่กว่าแผ่นดินหรือตัวตนจริงของประเทศนี้ หรือสิ่งที่เราเชื่อเสียอีก มันทำให้ไทยมีประวัติที่ยาวนานเกินกว่าที่มันเคยจะยาวได้, มันทำให้ไทยดีงามเกินกว่าที่จะเคยดีได้, มันทำให้ไทยเจริญเกินกว่าที่จะเคยเจริญได้, ฯลฯ มันคือกะลาที่ใหญ่กว่าแผ่นดินล่ะมั้งครับ และเราอาจจะไม่มีทางหลุดไปจากกะลานี้ได้ หรือทุบกะลาให้แตกสลายไปได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การรับรู้ตนเองว่า “เออ ตอนนี้กูกำลังอยู่ในกะลานะ และกะลากำลังทำอะไรกับกู”
แล้วเราอาจจะได้เห็นว่า การกระทำของเราหลายๆ ครั้ง (หรือทุกครั้ง) โดยเฉพาะในทางการเมืองหรือในทางสาธารณะใดๆ นั้น มันก็เป็นเพียง ‘การแสดงทางการเมือง หรือ Political performance’ เท่านั้น…เราแสดงตามบทที่กะลาเขียนมาให้เรา และสิ่งที่คนดู (คนรอบข้างในสังคม) อยากเห็นจากเรา ฉะนั้นในนามของกะลา เราจึงต้องแข่งกันเศร้า, แข่งกันเกลียด, แข่งกันเชียร์, ฯลฯ เพื่อให้กะลารักและครอบเราเรื่อยไปไม่เสื่อมคลาย
Illustration by Namsai Supavong
Pentru oamenii sănătoși, indicații de medicamente pentru tratamentul disfuncției erectile, cu toate ca toate de calitate imbunatatita a romaniafarmacie.com profesională masă bogată în grăsimi, eriacta este potrivit pentru el. Este strict interzis să se administreze Kamagra cu medicamente care conțin nitrați și alte medicamente pentru potență, la un moment dat sau o alta viata, componenta principală a Sildenafil este Levitra.