คุณเคยฝันถึงแฟนเก่าไหม? ถ้าเราจะเปรียบเปรยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นเหมือนคนรัก รุ่นพี่อย่าง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ปี 2540 ก็คงเป็นรุ่นพี่ที่ป๊อปมากในผู้คนที่นิยมระบอบประชาธิปไตย
คำถามคือ ทำไม สสร.40 ถึงมักถูกพูดถึงบ่อยๆ ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย? ทำไมเหล่ารุ่นพี่ 40 ถึงสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตยขึ้นมาได้? วันนี้ The MATTER จะพาไปรู้จักกับรุ่นพี่และสิ่งที่เหล่ารุ่นพี่เคยทำไว้มาให้ดูกัน
1) ที่มา : การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นผ่านกระบวนการอยู่หลายขั้นตอน โดยแบ่งออกเป็น 2 สาย ได้แก่ สายที่มาจากตัวแทนประชาชน 76 คน ที่เริ่มต้นจากแต่ละจังหวัดเลือกตั้งตัวแทนจังหวัดละ 10 คน (รวม 760 คน) พอได้แล้วให้รัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) เลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน
ส่วนอีกสายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ (23 คน) ซึ่งสถาบันการศึกษาเป็นคนคัดเลือก ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ 8 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน 8 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง-บริหารแผ่นดิน 7 คน
2) กระบวนการรับฟังความเห็น : สำนักข่าวประชาไทยรายงานว่า ในสมัยนั้นมีการรับฟังความเห็นอยู่หลายระดับ ได้แก่
-รับฟังความเห็นขั้นต้น (629,232 คน)
-มีประชาพิจารณ์ทุกจังหวัด (122,584 คน)
-เวทีฟังความเห็นระดับภาค (3,828 คน)
-แบบสอบถาม (87,912 คน)
-รวม 843,556 คน
3) อำนาจและหน้าที่ : ประเด็นนี้ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อสมาชิก สสร. ส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกของประชาชนในขั้นต้น และผ่านการคัดกรองอีกครั้งจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ถือว่ากระบวนการมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่พอสมควร ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีหน้าที่ในการรับฟังความเห็นของประชาชนที่เป็นผู้คัดเลือกเข้ามาด้วย นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการ คัดเลือกกรรมาธิการร่างรธน และเสนอแก้ไขเนื้อหาร่างรธน.ได้ทุกเรื่อง ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะยกร่างได้จัดทำขึ้นมา
อ้างอิงจาก
https://prachatai.com/journal/2007/05/23509
illustration by Waragon Keeranan