บทสรุปเลือกตั้งท้องถิ่น กทม. ในวันที่ 22 พ.ค. 2565
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ กทม. ในฐานะหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง รายงานผลคะแนนอย่างไรเป็นทางการ ณ เวลาประมาณตีหนึ่งของวันที่ 23 พ.ค. 2565 มีดังนี้
เพื่อไทยกวาด ส.ก. 19 ที่นั่ง – ก้าวไกล 14 ที่นั่ง
การเลือกตั้ง ส.ก.
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,357,098 คน
- ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,635,283 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.48%
- เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน
ชัชชาติทำลายสถิติผู้ว่าฯ 1.38 ล้านเสียง
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73%
- บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80
- บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50
- บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
ผลการนับคะแนนผู้ว่าฯ กทม. ปรากฎว่า หมายเลข 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน
ถือเป็นคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากที่สุด มากกว่าเมื่อปี 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับ จำนวน 1,256,349 คะแนน
กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อ กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค. 2565
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควรให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค. 2565 โดยสามารถแจ้งเหตุได้ 3 ช่องทาง คือ
- ทำเป็นหนังสือยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นแทน
- ทำเป็นหนังสือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุฯ
- แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือ แอพพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
ทั้งนี้เหตุที่ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ประกอบด้วย 1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล 2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร 6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง และ 7. เหตุสุดวิสัยอื่น
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ทั้งหมดได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #TheMATTER