ใบสมัครงาน ตำแหน่ง…ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร…
ชื่อ–นามสกุล : สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (เอ้)
สังกัด : พรรคประชาธิปัตย์
อายุ : 49 ปี
อาชีพ : วิศวกร
สโลแกน : เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้
สิ่งที่จะทำหากเป็นผู้ว่าฯ : เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการ
เป็นอีกหนึ่งแคนดิเดตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ที่อยู่ในกระแสมาตลอดนับแต่เปิดตัวช่วงปลายปี 2564 ไม่ว่าจะในฐานะทายาทสายตรงไอน์สไตน์ หรือลีลาการหาเสียงที่ถูกวิจารณ์ว่า (อาจจะ) พูดเยอะไปนิดนึง
แต่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้แทนตัวเองว่า “พี่เอ้” ยืนยันว่า เขาไม่ได้มีดีแค่วาทศิลป์เท่านั้น เพราะนโยบายพัฒนาเมืองหลวงของผู้สมัครเบอร์ 4 รายนี้ ก็ผ่านการขบคิดมาอย่างดี เพื่อ ‘เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวัสดิการ’
ซึ่งนโยบายที่ว่านี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ‘เปลี่ยนชีวิตคน’ และ ‘เปลี่ยนเมือง’
ส่วนรายละเอียดเป็นยังไง และมีอะไรบ้าง The MATTER ชวนมาอ่านกัน
สำหรับนโยบาย ‘เปลี่ยนชีวิตคน’ ใน กทม. ที่สุชัชวีร์เสนอนั้น ได้แก่
1.เรื่องปากท้อง เงินต้องเต็มบ้าน งานต้องเต็มมือ
สนับสนุนการจ้างงานใน กทม. ในลักษณะ ‘ทำงานแลกเงิน’ โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานในทุกชุมชน โดยมี กทม.เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการอัดฉีดเงินและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าจัดเทศกาลใหญ่ 12 ครั้ง แต่เทศกาลย่อยในแต่ละเขตรวม 50 เขต เพื่อส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน
2.เรื่องสาธารณสุข หมอมี สาธารณสุขดี และใกล้บ้าน
ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขขนาดย่อยในแต่ละเขต มีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย และครบครัน รวมถึงมีแพทย์ผู้เฉพาะทางมาประจำการอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลง่ายขึ้น พร้อมเสนอให้ทำระบบแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมงเพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
3.โรงเรียนดี อยู่ใกล้บ้าน
สนับสนุนให้แต่ละพื้นที่มีโรงเรียนประจำเขต ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยทุกเขตมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน มีครูที่เชี่ยวชาญครบทุกกลุ่มสาขาวิชา เพิ่มการเรียนระบบ 3 ภาษา และสนับสนุนทักษะด้านอื่นๆ นอกจากวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ดนตรี และทักษะวิชาชีพต่างๆ
ส่วนนโยบาย ‘เปลี่ยนเมือง’ ที่สุชัชวีร์ตั้งเป้าจะทำหากได้เป็นผู้ว่าฯ มี 3 เรื่องหลัก คือ
1.แก้ปัญหาจราจร-พื้นที่สัญจร
ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาแก้ไขปัญหาจราจรอย่างครบวงจร สร้างทางเท้าที่ได้มาตรฐาน และเพิ่มทางเลือกการเดินทางด้วยการสร้างทางจักรยานลอยฟ้าเพื่อให้ประชาชนสามารถขี่จักรยานสัญจรได้
นอกจากปัญหาเชิงพื้นที่ สุชัชวีร์ยังเสนอให้มีการแก้ปัญหาระบบและกฎหมายจราจร ต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและเท่าเทียมกันในทุกระดับ
2.แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำเท่า และน้ำหนุน
นำเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าและประตูระบายน้ำอัตโนมัติมาช่วยแก้ปัญหา ในกรณีที่เกิดฝนตก หรือน้ำท่วมขังบนท้องถนนกีดขวางทางสัญจร ให้นำโครงการแก้มลิงมาช่วยระบายน้ำในลงใต้ดิน เพื่อลดปริมาณน้ำบนผิวถนน รวมถึงเสนอให้มีระบบป้องกันน้ำทะเลหนุน เพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม กทม.ในอนาคต
3.สร้างเมืองน่าอยู่และปลอดภัยสำหรับทุกคน
แก้ปัญหามลพิษทางอากาศและทางน้ำ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณมลพิษ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ยกเลิกการให้บริการขนส่งโดยสารที่ปล่อยฝุ่นควันเกินค่ากำหนด ปฏิวัติระบบเก็บขยะ ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะ เพื่อนำไปจัดการได้ถูกประเภท และตั้งจุดแลกขยะเป็นทรัพย์สิน
นอกจากแก้ปัญหามลพิษ ยังต้องสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีไปพร้อมกัน ผ่านการเพิ่มสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า หรือ Pocket Park ด้วยกลไกลดที่ดินภาษีให้เอกชนที่ให้สิทธิ กทม.เข้าไปเช่าพื้นที่
สุชัชวีร์เคยบอกกับ The MATTER ไว้ว่า กทม. ในฝันของเขาคือ เมืองที่ทุกคนอยู่ได้โดยไม่ต้องมีห่วง ไม่ต้องห่วงลูกว่าจะไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ต้องห่วงครอบครัวว่าจะเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข ไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้อง และนโยบายเหล่านี้คือสิ่งที่จะพา กทม.ไปเป็นเมืองไร้ห่วงอย่างที่เขาฝัน
แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะสำคัญ แต่นโยบายพัฒนาเมืองที่ก็สำคัญไม่แพ้กัน หลังจากได้ฟังมุมมองการบริหาร กทม.ของสุชัชวีร์และคนอื่นๆ แล้ว คุณมีตัวเลือกในใจหรือยัง และสุชัชวีร์ใช่หนึ่งในนั้นไหม?