แม้จะอ้างว่า เป็นผู้ที่เปิดตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนใคร ตั้งแต่ปี 2562
และถึงจะเคยสร้างชื่อในฐานะ NGO ผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และเรียกร้องให้ประชาชนได้ใช้พลังงานถูกลงมาตลอด 20-30 ปีหลัง กระทั่งได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.กทม. ตอนปี 2551 ด้วยคะแนนเสียงมากถึง 743,397 คะแนน
แต่ ‘รสนา โตสิตระกูล’ ก็ยอมรับว่า ตัวเองเป็นเพียง ‘ม้านอกสายตา’ หากเทียบกับแคนดิเดตคนอื่นๆ
ทว่าความเป็น ‘ม้านอกสายตา’ ดังกล่าว รสนากลับมองว่าเป็นข้อดีที่ทำให้ต่างจากผู้สมัครรายอื่น เพราะมีแต่เธอเท่านั้นที่เป็น ‘ผู้สมัครอิสระตัวจริง’ ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงทั้งจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มทุน จะได้คิดและผลักดันนโยบายให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
The MATTER ไปนั่งพูดคุยกับรสนา ผู้มีอายุ 68 ปีเศษ แต่ยังแข็งแรง กระฉับกระเฉง ตอบทุกคำถามได้อย่างฉับไว เพื่อให้คน กทม. ได้รู้จักตัวตนและเข้าใจจุดมุ่งหมายในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ของเธอให้มากขึ้น
เบื้องหลังคำประกาศ ‘อิสระตัวจริง’
“ส่วนที่สําคัญที่สุดสําหรับดิฉัน คือดิฉันต้องการความเป็นอิสระ”
ตั้งแต่เปิดตัวในฐานะว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนแรกเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ในรายการ Exclusive Talk ทางช่องเนชั่นทีวี สิ่งหนึ่งที่รสนา โตสิตระกูลย้ำมาตลอดคือ ต้องการเป็นผู้สมัคร ‘อิสระตัวจริง’ – ซึ่งหมายถึงการที่ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มทุนใดๆ หนุนหลัง
“ไม่ได้ตั้งใจจะไปแขวะใคร แต่ตั้งใจจะบอกประชาชนว่า ดิฉันต้องการให้เขามาเป็นหุ้นส่วน ต้องการให้เขาเป็นคนบอกต่อ เพราะดิฉันคงไม่มีเงินที่จะไปประชาสัมพันธ์เหมือนกับคนที่ได้รับทุนสนับสนุน”
หากไม่ใช่อิสระตัวจริง รสนามองว่า เป้าหมายในการมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ของคนๆ นั้น อาจไม่ใช่การทำเพื่อประชาชน แต่กลายเป็นการทำเพื่อ ‘ธุรกิจการเมือง’ มากกว่า
“บางคนอาจจะบอกว่าอิสระ แต่อาจจะมีพรรคการเมืองหนุนหลัง มีกลุ่มทุนหนุนหลัง อันนี้ประชาชนชาว กทม. ก็ต้องรู้ว่าถ้าคุณเลือกคนที่ไม่อิสระ คุณเลือกแต่คนฟอร์มใหญ่ ซึ่งเมื่อมาแล้วเขาอาจจะทําธุรกิจการเมืองก็ได้”
และเมื่อต้องทำธุรกิจการเมือง พวกเขาเหล่านั้นอาจต้องยกเรื่อง ‘เมกะโปรเจ็กต์’ ขึ้นมา เพื่อตอบแทนเจ้าของทุนหรือเจ้าของพรรค หรือเรียกผู้รับเหมาทั้งหลายให้มาสนับสนุน
ซึ่งเธอก็บอกไม่ใช่ว่าเมกะโปรเจ็กต์จะมีไม่ได้ แต่อยากให้ตั้งคำถามว่า มันเป็นประโยชน์กับชาว กทม. ไหม
หรือมันเป็นกิจกรรมเพื่อหาเงินทอนหรือเปล่า?
ทำไมคนกรุง ต้องเลือกรสนาเป็นผู้ว่าฯ
สำหรับรสนา แน่นอนว่าความเป็น ‘อิสระตัวจริง’ คือจุดเด่นที่เธอภาคภูมิใจ และเป็นจุดที่ทำให้แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ
“ในโปรไฟล์ของดิฉัน เราไม่เคยที่จะอยู่ภายใต้กลุ่มทุนหรือพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น การที่ดิฉันประกาศว่าเป็น ‘ผู้สมัครอิสระตัวจริง’ นั้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า เราจะเข้ามาทํางาน กทม. โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติ
“เวลานี้ สังคมเบื่อหน่ายนะ เราเคยได้ยินเรื่องการแจกกล้วยการกินกล้วยใช่ไหม เราทําให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ธรรมดานะ การที่คุณบอกว่า ตัวแทนของประชาชนที่เลือกมาต้องไปรับกล้วยจากใคร มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่ว่าโลกปัจจุบันนี้มันทําให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งดิฉันคิดว่าเราเลือกตัวแทนที่เป็นคน เราไม่ได้เลือกตัวแทนที่เป็นลิง”
นอกจากความเป็นอิสระ จุดแข็งที่รสนามองว่าตัวเองมี คือประสบการณ์ในฐานะคนทำงานภาคประชาสังคม
“เราทํางานในแง่ของสังคม-การเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด และสิ่งที่เราทำก็เป็นประโยชน์กับสาธารณะ และถ้าหากคน กทม. ได้ติดตามกิจกรรมที่ดิฉันได้ทํามา ก็จะเห็นว่าเราดําเนินการทุกอย่างเพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำในแง่ของสิทธิของประชาชน”
อีกประการหนึ่งคือ รสนาบอกว่าตัวเองเป็น ‘คนธรรมดา’ ซึ่งเธอมองว่า พื้นที่ กทม. ก็มีศักยภาพที่เอื้อให้ประชาชนมาปกครองกันเอง และเกิดเป็นประชาธิปไตยทางตรงได้ง่ายกว่าการเมืองในระดับชาติ เนื่องจากเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้กำหนดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง
“เราก็เสนอตัวเป็นตัวเลือก ดิฉันเคยพูดกับสื่อบางแห่งที่เขาสัมภาษณ์ดิฉันว่า ถ้าเปรียบเป็นร้านอาหาร เราก็เป็นร้านอาหารในซอย เราไม่ได้เป็นร้านอาหารในห้าง เราไม่ได้มีงบในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่จะทําให้ผู้คนจํานวนมากมารู้จักดิฉัน เพื่อที่จะมาอุดหนุนดิฉัน แต่เราก็มีความจริงใจเพราะเราเป็นประชาชน” รสนาระบุ
นโยบายของ กทม. ภายใต้ผู้ว่าฯ รสนา
สำหรับนโยบายที่รสนาเสนอว่าจะทำให้ฐานะผู้ว่าฯ กทม. แม้เธอจะมองว่าทุกอย่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เช่น การจราจรย่อมเกี่ยวพันกับเรื่องของคุณภาพชีวิตอย่างแยกจากกันไม่ได้
แต่เท่าที่ได้นั่งพูดคุยกัน เราพอแบ่งแนวนโยบายของรสนาออกได้เป็น 4 มิติ คือ (1) การทำมาหากิน (2) คุณภาพชีวิต (3) การมีส่วนร่วมของประชาชน และ (4) การส่งเสริมอัตลักษณ์ของ กทม. ในฐานะสังคมน้ำ
- การทำมาหากิน
รสนาเล่าว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 มาหลายระลอก คนก็มีปัญหาในเรื่องของค่าครองชีพเป็นจำนวนมาก
“เรามองเห็นว่า มันต้องสนับสนุนในเรื่องของการที่ประชาชนจะสามารถลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ อันนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง เพราะเรื่องการทํามาหากิน ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ คนเล็กคนน้อยต้องได้รับการเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ในการทํามาหากิน”
ไอเดียหนึ่งที่รสนาเสนอขึ้นมา คือ การจัดสรรพื้นที่ว่างของ กทม. หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้คนจนเมืองหรือคนชั้นกลางมาทำ ‘เกษตรอินทรีย์’ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในเมือง ซึ่งจะมีข้อดีตรงที่จะเป็นการผลิตอาหารบริโภคเอง และยังมีประโยชน์ในเรื่องของสุขภาพประชาชน
นอกจากนี้ รสนายังเสนอให้ กทม. จัดตั้งกองทุนผู้มีรายได้น้อยสำหรับกู้ยืมไปลงทุนในธุรกิจ โดยจัดให้มีดอกเบี้ยต่ำมาก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องไปอาศัยเงินกู้นอกระบบ
เธอยังสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคา เพื่อเป็น ‘ธนาคารสำหรับคนที่ไม่มีเงิน’
“ถ้าคุณติดตั้งโซลาร์รูฟ คุณลดค่าไฟได้ สมมติเดือนละ 500 บาท เท่ากับคุณได้รายได้เพิ่มขึ้น 500 บาท เพราะเราอาจจะยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้เขา แต่ถ้าคุณลดรายจ่าย มันก็คือการเพิ่มรายได้”
- คุณภาพชีวิต
แรงบันดาลใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนของรสนา มีที่มาจาก 2 แหล่ง คือบทความของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในชื่อ ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งกล่าวถึงความหวังและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่ควรจะมี ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย อีกอย่างหนึ่งคือบทเพลง นิราศนรินทร์ ของนายนรินธิเบศร์ ซึ่งกล่าวถึงการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงการก่อตั้ง กทม. ที่จะสอนให้เราต้อง “ฝึกฟื้นใจเมือง”
“เพราะเวลานี้ เราต้องบอกว่า เวลาผ่านมาหลังจากการรัฐประหาร 8 ปี คนเมืองทุกคนสลบเหมือด ทุกคนไม่มีความหวัง ดิฉันคิดว่าสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ การปลุกฟื้นความหวังของคน กทม. ขึ้นมา และสิ่งที่สําคัญที่สุดคือใจเมือง คือใจของคนที่อยู่ใน กทม. อันนี้ดิฉันพูดถึง กทม. แต่จริงๆ ก็หมายถึงว่า ประชาชนคนไทยทั้งหมดจะต้องถูกปลุกให้มีความหวังขึ้นมา”
สำหรับรสนา การพัฒนาคุณภาพชีวิตก็เป็นภารกิจของ กทม. อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครไปถึงจุดหมายนี้ได้
“เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องของอากาศสะอาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งควรจะต้องมี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะคิดค้นกันอย่างจริงจังว่า เมืองของเราจะเป็นเมืองปลอดภัย เป็นเมืองที่มีอากาศหายใจ เป็นเมืองที่มีอาหาร เป็นเมืองที่ประชาชนจะไม่ต้องไปเป็นขโมยขโจรได้อย่างไร”
- การมีส่วนร่วมของประชาชน
“กทม. มีทางออก บอกรสนา”
คือสโลแกนที่รสนาใช้หาเสียงมาตั้งแต่ต้น สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะส่วนสำคัญของการบริหารงาน กทม.
รสนาอธิบายความหมายของสโลแกนนี้ว่า ไม่ได้แปลว่า คุณมีปัญหาอะไรมาบอกรสนา แต่เราต้องการที่จะรู้ว่า ปัญหาพวกนี้คุณมีทางออกอะไรไหม ถ้าคุณมีทางออกแล้วมาบอกเรา ถ้าฟังแล้วเข้าท่า เราก็ทําเลย
แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม?
รสนาเสนอว่า จะต้องเปลี่ยนศาลาว่าการกรุงเทพฯ ให้กลายเป็น city hall ซึ่งจะเป็นที่ประชุมของประชาคมชาว กทม. เปิดโอกาสให้ประชาชนมาพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงจะต้องมีการสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมา เช่น ห้องประชุมของเมือง และต้องสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนในเขตต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้นมา เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ สะท้อนแนวคิดเบื้องหลังของรสนา คือ ความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงในพื้นที่ กทม.
“การที่เราพูดถึงเรื่องของการมีส่วนร่วม ก็เพราะ กทม. ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงโดยผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ 4 คน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงได้โดยประชาชนทั้งหมดซึ่งเป็น active citizen”
- กทม.ในฐานะสังคมน้ำ
“ดิฉันคิดว่า กทม. เป็นสังคมน้ำ และวัฒนธรรมทั้งหลายของสังคมน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้จริงๆ เรามีความแตกต่าง แต่การพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมา เราไม่ได้ให้ความสําคัญกับภูมินิเวศน์ รวมทั้งภูมิวัฒนธรรมด้วย”
ในความคิดของรสนา อัตลักษณ์ของ กทม. คือ ‘สังคมน้ำ’ แต่ที่ผ่านมา กทม. พัฒนาโดยลืมรากเหง้าของตัวเอง ส่งผลให้เราถมคลองทำถนน ทำให้คลองกลายเป็นที่ทิ้งขยะ หรือคลองตื้นเขิน
วิธีหนึ่งที่ทำได้คือหันกลับมามองอัตลักษณ์ของ กทม. และหันมาขุดลอกคูคลองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทั้งลดความแออัดบนถนน เปลี่ยนให้คนมาสัญจรทางน้ำมากขึ้น คลองยังสามารถเป็นที่ผันน้ำออกไปยังทะเล และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับล่างให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ผ่านการเกิดขึ้นของตลาดน้ำ เป็นต้น
เรื่องพื้นฐานอย่างการจราจร-การขนส่ง ก็ไม่ละเลย
“เรื่องของปัญหาที่เรียกว่ามหากาพย์อันยาวนาน ทั้งเรื่องรถติด น้ำท่วม อากาศเป็นพิษ เรื่องอะไรทั้งหลาย ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน”
รสนาบอกว่า การพัฒนาเมืองของเราไปเน้นถนน เพราะฉะนั้น มันก็มีรถติด หรือผังเมืองของเราเน้นไปในแง่ของการที่ให้สิทธิกับพวกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น เราก็มีตึกสูง เราก็มีอาคาร mixed-use จํานวนมาก โดยที่เราอาจจะไม่เคยดูเลยว่า พื้นที่ตรงนั้นมันมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน การเดินทาง น้ำ ไฟ พอที่จะทําให้คนที่มีชีวิตอยู่ในย่านนั้นมีความสะดวกสบายหรือเปล่า
สิ่งที่สำคัญสำหรับรสนาคือ แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที แต่เราจำเป็นต้องมี direction ในระยะยาว เป็นสิ่งที่ต้องมองไปในอนาคต วิสัยทัศน์อย่างหนึ่งในเรื่องนี้ที่รสนามักจะยกขึ้นมาคือ เรื่องอย่างรถไฟฟ้า จะต้องทำให้เป็นขนส่งมวลชนจริงๆ ในความหมายที่ว่า ไม่ว่าคนจะมีรายได้เท่าไรก็สามารถใช้รถไฟฟ้าได้
ในแง่นี้ การแก้ปัญหาหนึ่ง จะส่งผลให้ปัญหาอื่นๆ บรรเทาลงตามไปด้วย รสนาอธิบายให้เห็นภาพว่า “ปริมาณคนที่ใช้ [รถไฟฟ้า] อยู่เวลานี้ ประมาณ 1.2 ล้านคน/วัน อาจจะขยับขึ้นมาเป็น 3-5 ล้านคน/วัน รถบนถนนจะต้องลดลง เมื่อเรามีทางเลือกให้ กทม. จะสามารถกําหนดได้แล้วว่า รถยนต์ทั้งหลายที่จะมาเข้ามาในใจกลางเมือง ในพื้นที่รถติด คุณจะห้ามเข้า คุณจะต้องไม่ใช้ เพราะคุณมีทางเลือกแล้ว และเมื่อเราสามารถลดปริมาณรถบนถนนได้ คุณก็จะลดปัญหาในเรื่องของ PM2.5 ได้
“เพราะฉะนั้น หลายเรื่องมันเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ง่าย แต่เราสามารถเซ็ตวิธีการที่จะทําได้” เธอสรุป
เป้าหมายสูงสุดของการลงสมัคร
ทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนจุดมุ่งหมายที่รสนาต้องการจะบรรลุให้เกิดขึ้นจริงหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. นั่นคือ พัฒนาเมือง กทม. ให้สอดรับกับความต้องการในชีวิตของคน กทม. และทำให้ กทม. กลายเป็นแบบอย่างที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้
“เราจะพัฒนาเมือง กทม. พร้อมกับการมีธรรมาภิบาล และทําให้คน กทม. สามารถที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะเราพูดอยู่ตลอดเวลาว่า สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง ซึ่งมันก็เป็นแค่คําขวัญ แต่สิ่งที่ทําได้คือ ต้องทำให้มันมี action
“และเราเชื่อมั่นว่า ถ้าชาว กทม. เริ่มต้นในการเป็น active citizen มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มีโมเดลทางการเมืองของท้องถิ่นที่เป็นการเมืองประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ มันอาจจะสามารถที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศไทยได้”
ท้ายที่สุด รสนาชวนให้เราย้อนกลับไปคิดถึงปณิธานของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในข้อเขียน ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน อีกครั้ง
หากกล่าวอย่างเรียบง่าย เป้าหมายของรสนาก็คือ ทำอย่างไรที่คน กทม. จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่เกิดจากครรภ์มารดา ไปจนถึงเชิงตะกอน
ทั้งหมดนี้คือความคิดและความหวัง ของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอาจเป็นม้านอกสายตาที่ชื่อ รสนา โตสิตระกูล