สิ้นสุด 4 ปีในการเก็บประสบการณ์ เสมือน ‘เด็กฝึกงาน’ ในบทบาทผู้บริหารของ กทม. ก่อนปักหมุดใหม่ในศึกชิงผู้ว่าฯ ด้วยชูจุดเด่นคนรู้งานหวังเรียกเสียงคนกรุง
ภาพชายวัยสี่สิบปีเศษ สวมกางเกงยีน รองเท้าผ้าใบสีขาวมาพร้อมแว่นคู่ใจ สะดุดตาด้วยเสื้อยืดที่มีข้อความ ‘กทมmore’ กลางอก ทำเอาแปลกตาไปจากที่คุ้นชิน
แต่ ‘สายรัดข้อมือสีเหลือง’ และ ‘ทรงผมซิกเนเจอร์’ กลายเป็นสองสิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าเรามาพบไม่ผิดคนแน่
ถึงจะเป็นคนที่เปิดตัวท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ก่อนรับสมัครไม่ถึงเดือน แต่การประกาศลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ของ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ หรือ รองฯ จั้ม ตามที่หลายคนรู้จัก กลับไม่ได้ผิดคาดเท่าไหร่นัก เจ้าตัวเองยังออกปากว่าไม่ใช่การตัดสินใจที่ยาก เพียงแต่โอกาสมาเร็วกว่าที่คิด
The MATTER มีโอกาสไปพูดคุยกับสกลธี ยังที่ทำงานชั่วคราวใจกลางเมือง ถึงเป้าหมายของการลงชิงเก้าอี้ ผ่านโยบายเด่นชูโรง พร้อมหาคำตอบว่าเขาคือใคร ภายใต้ภาพจำคนแขวนนกหวีดที่ไม่มีวันสลัดหลุด
“ผมว่าความใฝ่ฝันของ ส.ส.เขตใน กทม. 80-90% ต้องอยากมาบริหาร กทม. ได้เข้ามายิ่งรู้ว่าชอบ ถูกจริตกับงาน”
สกลธี เล่าย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อนกับการเป็น ส.ส. กทม.เขต 4 (พญาไท บางซื่อ หลักสี่และจตุจักร) ใต้ร่มพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำให้การได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. กลายเป็นความฝันมาโดยตลอด
หากใครพอจำกันได้ก่อนหน้านี้ ทยา ทีปสุวรรณ เป็นหนึ่งคนที่มีข่าวคราวว่าจะเป็นแคนดิเดต แต่ด้วยต้องคำพิพากษาถูกตัดสิทธิทางการเมือง สกลธีซึ่งเคยตั้งใจจะเป็นหนึ่งในทีมทำงานจึงตัดสินใจลุยต่อ
กทม. + more
อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เริ่มต้นการพูดคุยด้วย การทำความเข้าใจบทบาท ‘รอง’ ของตนเอง “ชื่อมันบอกแล้วว่า ‘รอง’ ผู้ว่าฯ กทม. เพราะฉะนั้นการที่เราจะทำอะไรมันก็ได้เฉพาะที่ผู้ว่าฯ กทม. มอบ”
การสัมผัสพื้นที่จริง และได้รับฟังเสียงร้องเรียนของประชาชนมาล้นหลาม ทำให้เข้าใจธรรมชาติของปัญหาใน กทม. อย่างดีว่าจุกจิกจนน่าปวดหัว แต่ด้วยหลายสิ่งเกินกว่าภาระงานที่รับผิดชอบ จึงทำได้เพียงทดไว้ในใจ
นั่นจึงเป็นที่มาของสโลแกนเปิดตัว ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ ที่พยายามสื่อความตั้งใจทำให้ดีขึ้น
“ที่ผ่านมาผมมองว่ามันดีหมด ที่ผู้ว่าฯ กทม. แต่ละท่านทำ มันดีแต่มันดีในยุคนั้น สิ่งที่มันดีกว่านี้ได้ คือเราเข้ามาในยุคนี้ เราจะเอาตัวช่วยทั้งหมด ทั้งเทคโนโลยี การบริหารจัดการที่มันเหมาะ”
อย่างไรก็ตามสกลธีย้ำว่า ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปงัดกับสโลแกน ‘กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว’ ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนแต่อย่างใด เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาเดิม ที่กำลังจะมาเป็นหนึ่งคู่แข่งคนสำคัญ
“ถ้าถามว่าเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พรุ่งนี้ทำได้เลย เพราะรู้หมดแล้วว่าใครเป็นใคร สำนักไหนใครเป็นใคร คนนี้เก่งคนนี้ไม่เก่ง คนนี้โอเคคนนี้ไม่โอเค”
การมีอำนาจให้คุณและโทษ นับเป็นเรื่องเดียวที่สกลธียังไม่ได้สัมผัสจากการเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แต่เป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริหารจำเป็นต้องเลือกใช้ให้ถูกจังหวะ หากเขามีโอกาสได้ทำงานก็เชื่อว่าจะสามารถเริ่มงานได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับตัวมาก
“คนที่ลุยแก้ปัญหา และมีพลังจริง ไม่ใช่คนที่จะนั่งประชุม เพ้อฝันอย่างเดียวไม่ได้” นับเป็นจริตผู้ว่าฯ กทม. ที่เห็นว่าเหมาะสม ทั้งเชื่อว่าตนเองมีสิ่งเหล่านี้อยู่ครบถ้วน
กับดักภาพจำแกนนำม็อบ
สกลธียอมรับว่าจุดอ่อนของเขาคงหนีไม่พ้น การถูกจับเชื่อมโยงกับสีเสื้อทางการเมือง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังเดินหน้าทำความเข้าใจ
“ภาพจำผมในสายตาคนอาจแตกต่างกันตามแต่วัย ถ้าคนอายุประมาณ 25 ปี ก็เห็นเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ถ้า 30 กว่าก็อาจจะเคยเห็นอยู่ม็อบ แต่ถ้า 40 กว่า 50 ก็อาจจะเห็นตั้งแต่เป็น ส.ส. ปชป.”
แม้จะผ่านประสบการณ์มาไม่น้อยกับสนามการเมืองบนโต๊ะ แต่ภาพจำการเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. ก็มาพร้อมเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในที
“เราก็ยอมรับว่าสิ่งที่เราทำ มันเป็นอุดมการณ์ของเราช่วงนั้น มันปฏิเสธไม่ได้ภาพมันมีอยู่ ณ วันนี้ อยากให้ดูว่า ถ้าเราอาจจะมาเพราะเราเป็นสลิ่มมา ถ้าเราทำงานแล้วแย่ คุณก็ด่าเลย แต่ถ้าดีก็ต้องดูที่เราทำ ใช่ว่าคุณเห็นผมคิดว่าผมเป็นสลิ่ม แล้วด่าผมเลยมันไม่แฟร์”
ไม่เพียงต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวครั้งเก่าเท่านั้น การตอบคำถามว่าสกลธีคือใคร โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกก็เป็นเป้าสำคัญ เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าอาจอยู่ในอันดับรั้งท้ายของการเป็นที่รู้จักในขณะนี้
โดยเขาเชื่อในพลังของโซเชียลมีเดีย และการเข้าถึงข่าวสารอย่างรวดเร็วของคนกรุง ที่หมายรวมประชากรแฝงที่เป็นผู้อยู่ร่วมกับปัญหาไม่ต่างกัน จะช่วยลดช่องว่างการเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้สมัคร
สานต่อสิ่งเก่าริเริ่มสิ่งใหม่
ไม่ว่าจะมีเสียงด่าทอลอยมาตามลมอย่างไร คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ข้อได้เปรียบสำคัญของแคนดิเดตคนนี้ คือการมีผลงานที่เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว จึงง่ายที่จะต่อยอดงานที่เคยเริ่มต้นไว้ อีกทั้งเก็บเกี่ยวสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในอดีต จนกลายมาเป็นนโยบายเด่นที่ใช้สู้ศึก
– จับมอเตอร์ไซค์ทางเท้า
ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จัดการผู้ที่จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งสกลธีเคยมีหน้าที่ดูแลสำนักการจราจรและขนส่ง จึงเอาจริงกับการบังคับใช้และฝากผลงานเอาไว้ และต้องการต่อยอดใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน ยอดการปฏิบัติการที่ใช้เพียงกำลังคน
“ก่อนที่จะมาดูปีนึงจับได้หลักแสนบาท แต่เรามาดู 3 ปี ได้ 46 ล้าน เฉลี่ยปีละ 15 ล้าน อันนี้ใช้เฉพาะคนจับอย่างเดียวนะ”
– ส่งเสริมโรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการ
ด้วยโอกาสจากการดูแลสำนักพัฒนาสังคม สกลธีจึงความจำเป็นของการขยายโรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเข้าศึกษาได้ในโรงเรียนทั่วไป แต่มีศักยภาพในการทำงานในอนาคต อย่างที่เขาเคยพยายามผลักดันการจ้างงานคนพิการ “ถ้าทำสำเร็จจะเป็นหน่วยงานแรกของรัฐบาลเลย ที่จ้างคนพิการได้เยอะหลักร้อยคน”
– เพิ่ม feeder
สำหรับนโยบายเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะสายรอง ดูจะไม่ได้แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นมากนัก แต่สกลธียังคงเน้นย้ำว่ายังไงก็เลี่ยงพูดไม่ได้ เพราะการสร้างทางเลือกเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยแบ่งเบาปัญหาคนกรุงได้
“บางทีรถไฟฟ้าเยอะจริง แต่จากบ้านเราไปสถานีมันไกล หรือจากสถานีไปจุดมุ่งหมายมันไกล…เราอยากทำ feeder (ระบบขนส่งรองไว้ป้อนระบบขนส่งหลัก) เพื่อที่จะเกี่ยวคนไปหย่อนที่ตามสถานีรถไฟฟ้าใหญ่ๆ สักที่ อาจทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง”
นโยบายอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด
เคยเลือกคนจากนโยบายไหม? กลายเป็นคำถามชวนคิดตามของสกลธี ระหว่างการพูดคุย
“ถามจริง ๆ ว่าที่ผ่านมา เคยเลือกคนจากนโยบายไหม มันไม่เลือกหรอก แต่นโยบายมันต้องมี เพราะไปดีเบต ไปโชว์กึ๋น มันแสดงให้เห็น”
เหตุผลที่สกลธีคิดเห็นเช่นนี้ เพราะว่าที่ผู้สมัครแทบทุกคนล้วนทำการบ้านกับปัญหาของ กทม. คล้ายคลึงกัน นั่นจึงทำให้ ‘การแสดงตัวตน’ มีอิทธิพลอย่างมากกับการตัดสินใจของประชาชน
เมื่อพูดถึงตัวตนที่ประกอบสร้างมาเป็นเขาแล้วนั้น สกลธีให้คำจำกัดความว่า “ลุยงาน จิกปัญหา กล้าตัดสินใจ” ซึ่งทั้งหมดเป็นผลลัพธ์ที่ผสมผสาน ทั้งจากการเคยเป็น ส.ส. ที่ลงพื้นที่อย่างหนัก จากการนำม็อบเคลื่อนไหวที่ต้องสมบุกสมบัน และการเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยทำงานมาแล้ว
ความท้าทายของสนามปราบเซียน
“คน กทม. พร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้ามีสิ่งที่ดีกว่า”
ด้วยการเป็นคนกรุงแต่กำเนิด และผ่านร้อนผ่านหนาวมาในเมืองหลวงมานับไม่ถ้วน สกลธีจึงยกให้ กทม. เป็น ‘สนามปราบเซียน’ ของผู้สมัครทุกคน
ด้วยปัจจัยการแบ่งแยกทางการเมืองที่ฝังลึกมายาวนาน ทำให้ขั้วคะแนนคน กทม. เทเป็น 2 ขั้วมาตลอด และเมื่อผู้สมัครมาจากฟากฝั่งใดก็ทำให้เกิดการแบ่งเค้กกันเอง จนยากที่จะคาดเดาผล
แต่เขาเชื่อว่า ครั้งนี้ใครที่ได้เกิน 7 แสนคะแนนก็น่าจะมีโอกาสชนะแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้ถึงกว่า 1 ล้านคะแนน เหมือนการเลือกตั้ง 4-5 ครั้งก่อน เนื่องจากแคนดิเดตหลายคนต่างมีความน่าสนใจ
“ที่บอกว่าคนเป็นกลาง ไม่มีใครกลางหรอก คืออย่างน้อยในหัวมันนิดนึงละที่ bias ไป มันอยู่ที่ว่า ใครจะชิงเค้กตัวเองได้ และจะมี hybrid บางส่วนมาเลือกไหม”
เมื่อพูดคุยมาถึงตรงนี้ คงอดไม่ได้ที่เราจะถามถึงการประกาศตัวลงสมัครในนาม ‘อิสระ’ ที่ดูจะเป็นเทรนด์ของการเลือกตั้งหนนี้
สกลธีตอบอย่างหนักแน่นว่า เขาต้องการอิสระในการตัดสินใจ เป็นเหตุผลที่ทำให้เลือกจะละทิ้งแบรนด์พลังประชารัฐ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าถ้าสวมเสื้อตัวนั้นแล้ว อย่างไรเสียก็มีคะแนนติดกระเป๋ากลับบ้าน
“สมมติผมได้เป็นขึ้นมานะ ผมไม่อยาก เฮ้ย จั้ม คุณเอารองผู้ว่าฯ กทม. ไป 2 คนจากพรรค เราไม่อยากไง เราอยากเอาคนที่อยากให้มาทำงานกับเรามากกว่า”
“ผมว่าคนกรุงเทพฯ เขาฉลาดในการเลือก ถึงเวลาเขารู้เลยว่าเขาควรจะเลือกใคร สมมติฐานมันซ้ำซ้อนกันอยู่ เขาจะมองละว่าใครมีโอกาสมากสุด ถึงเวลาเขาเทเปรี้ยงเลย”
คนนอนมาไม่มีจริง โอกาสเป็นของทุกคน
“หวังชนะ” เป็นตอบสั้น ๆ แต่หนักแน่นของสกลธี เพื่ออธิบายผลลัพธ์ที่คาดหวังของการลงชิงเก้าอี้ผู้บริหารเมืองกรุงครั้งนี้ ทั้งช่วยยืนยันว่าเขาไม่เคยคิดมาเล่น ๆ
“เรามาลงเพื่อชนะ เรายังเห็นโอกาส เห็นช่องที่ไปชนะอยู่ แต่ถามว่าวันนี้เขานำไหม เขานำ แต่ไม่ใช่นำจนตามไม่ได้”
สกลธีเล่าถึงคำถามที่เขามักเจออยู่เสมอ ว่าหนักใจหรือไม่ที่ต้องแข่งขันกับบรรดาแคนดิเดตที่ต่างจบการศึกษาด้านวิศวกรรมกันเป็นส่วนใหญ่
แคนดิเดตรายนี้ ตอบทีเล่นทีจริงว่า “ผู้ว่าฯ กทม. คงไม่จำเป็นต้องเป็นซูเปอร์แมนที่ทำได้ทุกอย่าง” เพราะเขาสามารถที่จะดึงคนเก่งมาร่วมตัดสินใจแน่ อีกทั้งหน้างานจริงคงไม่ได้มีเพียงก่อสร้าง
การเลือกตั้งระดับชาติใน กทม. ในครั้งล่าสุด เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งที่หลายคนคงลืมไม่ลง ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ คงไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าของสัมปทานเดิมอย่าง ปชป. จะไม่สามารถรักษาเก้าอี้ได้สักตัว ในขณะที่พรรคตั้งใหม่กลับแบ่งที่นั่งกันจ้าละหวั่น
“หลายแมตช์ชี้ให้เห็นแแล้วว่าผลมันคาดเดายากมาก ที่ว่าชัวร์ นอนมา ล้มกันมาเยอะแยะ อันไหนไม่ชัวร์ ปึ้งขึ้นมาเฉย
“ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จะทำให้ดีที่สุด อาจฟังดูโม้ แต่จะทำให้ดีกว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นเคยทำมา เพราะเซ้นส์เรามันเป็นการบริหารแบบนักการเมืองอยู่แล้ว” สกลธีพูดกับเราด้วยความมั่นใจ