กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise คือหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม (Social impact) ได้อย่างมาก แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทาย ทั้งในเรื่องของเงินทุนและเป้าหมายเพื่อสังคมที่มีความละเอียดอ่อน ทำให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ต้องฝ่าฟันขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่ออยู่รอดและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และ สถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ร่วมกันจัด ‘โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ ปีที่ 9 หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) 9 ภายใต้แนวคิด ‘ก้าวที่กล้า.. เดินหน้าสร้างกิจการเพื่อสังคมของคุณอย่างยั่งยืน’ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 6 เดือนที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้การดำเนินกิจการทางธุรกิจ ไปพร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมอย่างอย่างยั่งยืน
รูปแบบโครงการได้เปิดให้กิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมจำนวน 34 กิจการ เตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการ โดยหลังจากนั้นผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการอบรมและเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปอย่างเข้มข้นในทุกหัวข้อที่ครอบคลุมตั้งแต่การคิดและพัฒนาแผนธุรกิจ การทำแบรนด์ดิ้งและการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย การสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม การร่วมพัฒนาและทดสอบแผนการตลาดทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การร่วมกิจกรรม Mentor Matching กับผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับสิ่งที่กิจการนั้นๆ ต้องการพัฒนาเพิ่มเติมหรือต่อยอด ไปจนถึงการค้นหาคุณค่าของสินค้าและบริการ รวมทั้งเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น (Initial funding) ทั้งนี้ เพื่อบ่มเพาะให้แผนธุรกิจนั้นเข้มแข็งและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ก่อนจะคัดเลือกให้เหลือ 5 กิจการเพื่อสังคมดีเด่น
โดยโครงการฯ ได้เปิดตัว 5 กิจการเพื่อสังคมดีเด่น ภายในงาน ‘Impact Day 2019: สนามของคนสร้างสรรค์ ต่อเติมพลัง เปลี่ยนแปลงสังคม’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยการออกร้านของกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการฯ และเครือข่ายจากทั่วประเทศ แฟชั่นโชว์ยกระดับงานคราฟท์ไทย เวิร์กช็อปจากกิจการเพื่อสังคม และการเสวนาบทเรียนทางธุรกิจที่สำคัญ โดยผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ ส่วนไอเดียและแผนธุรกิจของ 5 กิจการเพื่อสังคมดีเด่นจะเป็นอย่างไร ลองไปติดตามกัน
เพียงใจ
ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องนอน เบาะรองนั่ง ที่แปรรูปจากวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเครื่องนอนยางพารา โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจากปัญหาการกำจัดยางพาราที่เหลือจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ซึ่งเป็นขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดไอเดียในการนำเศษยางพาราเหล่านี้มาแปรรูปใหม่ ผ่านการทดลองและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก่อนจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติกระจายแรงกดทับได้อย่างดีเยี่ยมและสามารถระบายอากาศได้ดี จนได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
หัวใจสำคัญของโมเดลธุรกิจ คือนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะยางพาราแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยเน้นการจ้างแรงงานในชุมชนเพื่อให้รายได้ของสมาชิกในกลุ่มต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ลดอัตราการออกไปทำงานไกลบ้าน และทำให้เกิดความสุขมวลรวมของชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
Heaven on Earth
ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากใบชาที่ปลูกในพื้นที่ป่าชุมชนหมู่บ้านห้วยหินลาดในจังหวัดเชียงราย โดยทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาสินค้า ด้วยการนำวัตถุดิบจากป่าที่มีคุณภาพ ทั้งใบชา สมุนไพร และน้ำผึ้ง มาเพิ่มมูลค่าทางตลาด ด้วยองค์ความรู้ในวิธีการแปรรูปวัตถุดิบ การทำการตลาด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่คนในชุมชน ซึ่งแรงบันดาลใจของชื่อกิจการมาจากความเชื่อที่ว่า ‘เราสร้างสวรรค์บนดินจากถิ่นฐานเกิดได้’
รูปแบบโมเดลธุรกิจ คือการทำการตลาดผ่านคุณค่าของวัตถุดิบ โดยสื่อสารว่าแหล่งผลิตวัตถุดิบนั้นมาจากการทำเกษตรยั่งยืนและช่วยดูแลรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ เพื่อสร้างการรับรู้และจิตสำนึกในการบริโภคที่ให้คุณค่ากับแหล่งที่มาของวิถีชุมชน และที่สำคัญคือการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ผ่านการซื้อ – ขาย จัดการ และแปรรูปวัตถุดิบที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ก่อให้เกิดธุรกิจที่สนับสนุนให้ผู้คนในชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
Young Happy
ธุรกิจคอมมูนิตี้ของผู้สูงวัย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ลดปัญหาทางด้านร่างกายที่เสื่อมถอยตามกาลเวลาและจิตใจของผู้สูงอายุ ป้องกันโอกาสเสี่ยงในการเป็นกลุ่มติดบ้านและติดเตียง ผ่านกิจกรรมที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ได้ออกมาทำกิจกรรมเข้าสังคมที่สนุกสนานและมีความสุข เพื่อขยายช่วงเวลาของการเป็น Active Aging หรือผู้สูงอายุที่ยังคงแอคทีฟออกไปให้มากที่สุด ด้วยคอนเซปต์ ‘สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้’
โมเดลธุรกิจเป็นการเชื่อมกันระหว่างผู้สูงวัยกับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่มีทั้งกิจกรรมที่เป็นมิตรให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วม พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนหรือโซเชียลฯ สำหรับผู้สูงวัย บทความที่เป็นประโยชน์ และบริการอื่นๆ สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมี ธนาคารเวลายังแฮปปี้ (YoungHappy Time Bank) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยสามารถสะสมเวลาการทำความดีในด้านต่างๆ เพื่อสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นของรางวัลหรือบริการต่างๆ ได้ สร้างคุณค่าให้ผู้สูงวัยสามารถพึ่งพาตัวเองและมีความสุขได้อย่างยั่งยืน
Orgafeed
ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสุนัขที่ผลิตจากแมลง เกิดจากไอเดียตั้งต้นในแก้ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารและปัญหาเศษขยะอินทรีย์ที่เหลือทิ้งจำนวนมากจากการผลิตและบริโภคอาหาร ลดปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกวิธีที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะอาหารเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นอาหารให้กับแมลงในฟาร์มเลี้ยง ก่อนจะถูกแปรรูปให้กลายเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกส่งให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อีกทางหนึ่ง ซึ่งแมลงนั้นนับเป็นแหล่งโปรตีนที่มีสิทธิภาพมากกว่าโปรตีนอื่นๆ ที่นิยมบริโภคกันในปัจจุบัน
รูปแบบโมเดลธุรกิจ คือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าอย่างผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวของสุนัข ที่มีสารอาหารพื้นฐานที่สุนัขจะได้รับประโยชน์อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบำรุงขนและบำรุงกระดูกให้แข็งแรงขึ้น พร้อมทั้งยังสร้างวงจรหมุนเวียนของขยะอินทรีย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณขยะเหลือทิ้งให้มากที่สุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างแหล่งอาหารใหม่ที่ช่วยแก้ไขวิกฤตเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารไปพร้อมๆ กัน
อัตลักษณ์
ธุรกิจผลิต ออกแบบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก จากผ้าพื้นเมืองและงานหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน และที่สำคัญคือแก้ไขปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่หม้ายในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ขาดรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว เนื่องจากมีภาระหน้าที่คือลูกเล็กๆ จึงทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานไกลบ้านได้ ส่งผลให้มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่ารายจ่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก
รูปแบบโมเดลธุรกิจ คือการพัฒนาแรงงานที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวให้มีฝีมือและความชำนาญในการผลิต เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานรับรองการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียนจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และก้าวไปสู่แบรนด์สินค้าของฝากของที่ระลึกพื้นเมืองที่โดดเด่น เป็นที่จดจำในฐานะหัตถศิลป์พื้นเมืองอีสาน และเป็นไอคอนของประเทศไทยในอนาคตได้สำเร็จ
หลังจากที่ได้เปิดตัว 5 กิจการเพื่อสังคมดีเด่นกันไปแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญในงาน Impact Day 2019 คือการเดินแฟชั่นโชว์ยกระดับงานคราฟท์ไทย Ethical Craft Fashion Show 2019 ภายใต้ธีม Could Thai crafts be high fashion? ซึ่งเป็นการรวบรวมแบรนด์แฟชั่นที่เป็นกิจการเพื่อสังคมด้านสิ่งทอและเครือข่าย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมงานหัตถกรรมของชุมชน
ความน่าสนใจของแฟชั่นโชว์ในครั้งนี้ คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงอยู่แล้ว นำมาช่วยยกระดับแรงงานด้อยโอกาสที่สังคมมองไม่เห็น พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตจากกิจการเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับตลาดแรงงานได้อย่างมาก เอกลักษณ์สำคัญคือการประยุกต์เอาความเป็นไทยผสานเข้ากับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว เกิดเป็นแฟชั่นระดับสูงที่พิสูจน์ได้ถึงคุณค่าทั้งด้านราคาและความสวยงามที่ก้าวไปสู่ระดับโลกได้
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญในงาน คือการเสวนาบนเวที ‘เคล็ดลับสู่ล้าน สร้าง Impact ให้สังคมอย่างยั่งยืน’ โดยตัวแทนศิษย์เก่าที่เคยเข้าร่วมโครงการ Banpu Champions for Change ในปีก่อนๆ โดยมีตัวแทนอย่าง พล – อมรพล หุวะนันทน์ จาก Moreloop, เสก – สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ จาก Toolmorrow และ อุ๋ย – นิโลบล ประมาณ จาก Flow Folk ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผ่านมาในการประกอบกิจการเพื่อสังคม
โดยทั้งสามคนได้แชร์ถึงการเรียนรู้ผ่านโครงการฯ กับบ้านปูฯ จากการพบเจออุปสรรคในการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความยากและท้าทายอย่างมาก แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ ก็สามารถประยุกต์นำเอาองค์ความรู้มาพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจทำธุรกิจเพื่อสังคมกันมากขึ้น อย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะประสบการณ์จะค่อยๆ หล่อหลอมให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น ทั้งยังมีผู้สนับสนุนโครงการฯ คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำอยู่เสมอ ซึ่งตัวแทนจากทั้ง 3 กิจการก็สามารถยืนยันถึงความสำเร็จได้เป็นอย่างดีว่า กิจการเพื่อสังคมสามารถอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจ และสามารถสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมได้จริงๆ
“บ้านปูฯ ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลัก ESG หรือ Environmental, Social, and Governance ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เราจึงต่อยอดนำหลัก ESG มาพัฒนารูปแบบการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมจากทั่วประเทศผ่าน ‘โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ ปีที่ 9 เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมให้มีความพร้อมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนมาถึงงาน Impact Day ที่มุ่งเชื่อมโยงคนที่มีอุดมการณ์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสร้างสรรค์ให้ได้พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน เป็นพื้นที่ในการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต อันจะส่งผลให้เครือข่ายกิจการเพื่อสังคมไทยเติบโตอย่างแข็งแรง ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
คุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงบทบาทของบ้านปูฯ และ ChangeFusions ในการเป็นผู้สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม ผ่านการพัฒนาบทเรียนที่เป็นประโยชน์ใน SE.School (Social Enterprise School) แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ความรู้ด้านกิจการเพื่อสังคม รวมถึงจัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งการสนับสนุนนี้จะเปลี่ยนเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน