Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม อาจไม่ใช่สิ่งใหม่อะไรในปี 2018 เพราะว่ากันตามจริงแล้วมันเป็นเทรนด์ที่พูดถึงในประเทศไทยมานานนับปี แต่หากคุณไม่รู้จักจริงๆ ละก็ มาทำความรู้จัก SE ผ่านผู้ประกอบการสัญชาติไทยเจ๋งๆ ทั้ง 5 กิจการนี้กัน
Social Enterprise หรือ SE เป็นกิจการที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ แต่มีวิธีหารายได้ สร้างกำไรและทำการตลาดไม่ต่างจากธุรกิจทั่วไป พูดง่ายๆ คือการรวมข้อดีของภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้ารวมกัน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์อาชีพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่หัวใจรักโลก เพราะไม่เพียงแต่จะแสวงกำไรเท่านั้น แต่ยังแสวงหาทางแก้ปัญหาสังคมอีกด้วย
ที่ว่าเป็นเทรนด์ก็เพราะคนรุ่นใหม่สมัยนี้ น้อยคนนักจะอยากเป็นลูกจ้างใคร ส่วนใหญ่ก็ปรารถนาประกอบกิจการส่วนตัวและเป็นนายตัวเองกันทั้งนั้น ด้วยกลิ่นของความอิสระอันหอมหวน ชวนให้ปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งสังคมสมัยนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหา ทำให้คนเรามองหาการแก้ไขที่เริ่มได้เองและทันท่วงทีมากกว่ารอจากหน่วยงานส่วนกลางอีกต่อไป ในเมื่อเราสามารถแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจได้แล้ว เราก็ขอจัดการแก้ไขมันเองซะเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม ก็คือต้นทุนทางความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ในการค้นหารูปแบบและวิธีการดำเนินการธุรกิจใหม่ๆ ให้สมกับคำว่า ‘พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา’ รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและดำเนินกิจการไปอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้เห็นภาพกิจการเพื่อสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น เราขอหยิบ Social Enterprise สัญชาติไทยสัก 5 กิจการที่มีแผนทางธุรกิจเป็นรูปธรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และมีทิศทางการดำเนินงานในกิจการเพื่อสังคมได้อย่างยั่งยืน มาแนะนำให้รู้จักกัน
ถ้าพร้อมแล้ว ไปทำความรู้จักพวกเขากัน
FarmTo เมื่อผู้บริโภคและเกษตรกรเติบโตไปพร้อมกัน
ฟาร์มโตะ (FarmTo) คือช่องทางการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ที่เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภค ผ่านวิธีการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร เพื่อให้ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรได้ช่วยเหลือและดูแลผลผลิตไปด้วยกัน โดยผู้บริโภคสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมเพาะปลูกกับเกษตรกร แล้วรอรับผลผลิตที่จัดส่งไปให้ถึงบ้าน หรือไปรับผลผลิตจากมือเกษตรกรด้วยตนเองที่ฟาร์มได้เลย
“มันเป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ถูกกดราคาสินค้า และไม่มีต้นทุนทางการค้าครับ” โต – อาทิตย์ จันทร์นนทชัย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการฟาร์มโตะกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการริเริ่มกิจการ “ด้วยมิชชั่นของฟาร์มโตะสองอย่างคือการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรอินทรีย์ราคาตกต่ำ และสองคือแก้ไขปัญหาเกษตรที่ไม่มีทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูก, กู้หนี้ยืมสิน หรือกู้นอกระบบ สุดท้ายเขาก็จะถูกยึดที่นาหรือไม่มีที่ทำกิน เราจึงคิดโมเดลให้ผู้บริโภคลงทุนเพาะปลูก แล้ว FarmTo จะลงเงิน 50% กับเกษตรกรไปเริ่มต้นเพาะปลูก”
ด้วยเหตุนี้ฟาร์มโตะจึงเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ตั้งราคาขายผลผลิตด้วยตัวเอง ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองในอนาคต ส่วนผู้บริโภคก็จะได้ความมั่นใจในคุณภาพที่สดใหม่ เพราะได้ร่วมดูแลและเห็นการเจริญเติบโตจนได้รับผลผลิตมาอยู่ในมือ
ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรในเว็บไซต์มีประมาณกว่า 10 เกษตรกร 20 ผลผลิต โดยคุณโตวางแผนพัฒนาเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นในปีนี้ เพื่อขยายการรองรับเกษตรกรกว่าอีก 1,000 รายในอนาคต
“ตอนแรกมีเกษตรกรชาวเขาที่เข้ามาร่วมโครงการกับเราหนึ่งครอบครัว ตอนนี้กลายเป็นครอบครัวชาวเขากว่า 10 ครอบครัวแล้วที่มาร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตในพื้นที่ พวกเขาได้รวมตัวกลุ่มทำฟาร์มสเตย์เล็กๆ ให้กับผู้บริโภคที่เข้ามาร่วมจองผลผลิตได้เข้ามาพัก และได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเขาไปด้วย”
คุณโตยังกล่าวเสริมถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากมีฟาร์มเป็นของตัวเองว่า หากอยากมีฟาร์มเกษตรอินทรีย์ให้ลองมาเพาะปลูกกับเกษตรกรในเครือข่ายฟาร์มโตะ เช่น ใครอยากเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ก็ทดลองไปเรียนกับเกษตรกรชาวเขาจริงๆ ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปเพาะปลูกที่บ้านเอง อีกทั้งยังเข้าใจระบบการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคซื้อผลผลิตอย่างไร้ข้อกังขาอีกด้วย
“ที่ผ่านมา คอนเซ็ปต์ฟาร์มโตะเป็นที่สนใจของเกษตรและผู้บริโภค อนาคตหากแอพพลิเคชั่นสำเร็จเมื่อไหร่ เราอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคมาสมัครกันเยอะๆ เราอยากทำผลผลิตดีๆ มีคุณภาพให้ผู้บริโภคได้ทดลองทานกัน และเพาะปลูกร่วมกันครับ” คุณโตกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มและหัวใจสีเขียวดวงโตๆ
ข้อมูลติดต่อ : FARMTO
PAK-DONE เห็นขยะเป็นทองคำ
PAK-DONE อ่านว่า ผัก-ดัน เป็นชื่อไทยเท่ๆ ที่ล้อไปกับคำว่า ผลักดัน กิจการเพื่อสังคมที่ร่วมก่อตั้งโดย โจ๊ก – ธนกร เจียรกมลชื่น เกิดจากความตั้งใจในการจัดการปัญหาขยะในครัวเรือน ด้วยการลดขยะอินทรีย์ผ่านการหมักแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เปลี่ยนร่างขยะเหล่านั้นให้กลายเป็นปุ๋ยและดินที่มีคุณภาพสำหรับเพาะปลูก
“ผัก-ดัน เริ่มมาจากน้องในทีมที่สนใจเรื่องการปลูกผักกินเองในบ้าน แล้วเราอยากทำปัจจัยเพาะปลูกด้วยตัวเอง ก็เลยคิดถึงเศษอาหารที่นำมาหมักเป็นปุ๋ยได้” คุณโจ๊กกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการกิจการเพื่อสังคมที่เปลี่ยนขยะเป็นทองคำ “การทำปุ๋ยจากขยะมันสามารถจัดการปัญหาขยะจากคนเมือง เพราะเศษอาหารของคนเมืองทุกคนจะมีประมาณหนึ่งกิโลกรัมต่อคน เท่ากับว่าทุกๆ วันกรุงเทพฯ จะมีขยะประมาณหมื่นตันต่อวัน ปัญหาดังกล่าวนับเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก ไม่มีการคัดแยกขยะที่ชัดเจนจึงไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อ”
ผัก-ดัน จึงเข้ามาส่งเสริมต้นทางของขยะ ให้ผู้บริโภคสามารถจัดการปัญหาผ่านผลิตภัณฑ์ ‘กล่องหมักปุ๋ย’ ที่สามารถนำเศษอาหารมาหมักได้ด้วยตัวเอง การหมักดังกล่าวมีหลักการคล้ายการหมักปุ๋ยหมักแบบกลับกอง แต่มีท่ออาหารต่อเข้าภายในเพื่อให้การหมักครบกระบวนการ พอครบเวลาประมาณ 1 เดือนก็จะได้ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารมาใช้ในการเพาะปลูกต่อไป
“ถ้าเศษอาหารประมาณ 15 กิโลกรัมมาผสมกับวัสดุหมัก ก็จะได้ปุ๋ยประมาณ 20 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำเอามาใช้ในการปลูกพืช ปลูกผักได้”
ในอนาคต ผัก-ดัน วางแผนการแก้ปัญหาจากสเกลครอบครัวให้พัฒนาขยับขยายไปถึงระดับร้านอาหารและภัตตาคารขนาดเล็ก เพราะร้านเหล่านั้นแต่ละวันจะมีเศษอาหารในปริมาณมาก ทางโครงการจึงคิดหาแนวทางการปัญหาให้เป็นระบบมากขึ้น
“ปีนี้เรากำลังสร้างพื้นที่ทดลองกันอยู่ครับ รวมไปถึงการตอบโจทย์ผู้ที่อยู่อาศัยแบบคอนโดและออฟฟิศมากขึ้น เราอยากมีพื้นที่กลางที่จะมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะขยะมันเอามาทำประโยชน์ได้มากกว่าแค่ทิ้งไป ซึ่งเป็นภาระให้กับพวกเราเองรวมถึงตัวประเทศชาติ”
สุดท้ายคุณโจ๊กยังกล่าวถึง Social Enterprise ว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพราะทุกคนย่อมมีความปรารถนาในการแก้ไขปัญหาสังคมสักอย่างหนึ่ง เมื่อคุณความมีความถนัดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็สามารถนำมาเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
“ถ้าเราไม่ช่วยกัน ปัญหามันก็ไม่คลี่คลายหรอกครับ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องคว้า ถ้าเราไม่ลงมือทำ มันก็ไม่ได้เริ่ม”
ข้อมูลติดต่อ : ผักDone
Bhukram เสียงคำรามจากภูพาน
เชื่อเถอะ ร้อยละร้อยเห็นด้วยกับประโยคว่า “ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา”
ก็แน่ละ ใครๆ ก็อยากใช้ชีวิตที่บ้านเกิดด้วยกันทั้งนั้น แต่ด้วยปัญหาในพื้นที่บ้านเกิดหลายอย่างที่ไม่มีระบบการทำงานที่ยั่งยืน หรือการมีทัศนคติว่าการทำงานในพื้นที่เป็นเรื่องล้าสมัย จึงผลักให้คนส่วนใหญ่หนีออกจากเมืองไปต่อสู้ดิ้นรนในเมืองหลวงแทน
และนั่นคือปัญหาหลักที่กิจการเพื่อสังคม ภูคราม (Bhukram) แบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จากพื้นที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร โดย เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง ต้องการจะแก้ไข
จากหญิงสาวนักประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้ทำงานเชิงประวัติศาสตร์บูรณาการที่ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ มากมาย ทว่าชุมชนบ้านตัวเองกลับไม่รู้จักใคร เธอจึงกลับมาบ้านเกิดเพื่อลองดูว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
“ประมาณ 3-4 ปีก่อน ในชุมชนเริ่มกลับมาทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ เราก็เริ่มเอามาให้เพื่อนๆ ที่ออฟฟิศดู ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี เราก็เริ่มมารื้อฟื้นและเห็นเสน่ห์ของชุมชมตัวเองมากขึ้น ค่อยๆ ศึกษาว่าชุมชนตัวเองมีอะไร เริ่มดึงคุณค่าออกมา และค่อยๆ ทำผลิตภัณฑ์”
สินค้าแบรนด์ภูครามส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่มทั่วไป เน้นงานทอและงานปักลายธรรมชาติบนเทือกเขาภูพานโดยคนภูพานเอง ซึ่งผ้าแต่ละชิ้นจะไม่เหมือนกัน เพราะทำงานผ่านมุมมองช่างปักแต่ละคน แต่ละอารมณ์ แต่ละวัน
“เราอยากดูแลทั้งชาวบ้านและลูกค้า” เธอกล่าว “สิ่งสำคัญคือการดูแลชาวบ้าน เพราะงานเหล่านี้เป็นงานฝีมือ ไม่ใช่การทำซ้ำแบบแรงงาน ทุกคนเหมือนเป็นศิลปินคนหนึ่งที่คิดงานด้วยตัวเอง เหมี่ยวจึงพูดชาวบ้านเสมอว่า เราไม่ใช่พนักงาน เราไม่ใช่แรงงานนะ เราเป็นศิลปินที่เราทำงานในชุมชน นี่คือสิ่งที่เราแชร์กันกับชาวบ้าน”
ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่นเสมอไป หนึ่งในอุปสรรคทางใจคือคำครหาที่ว่า ‘เรียนจบสูงๆ แล้วกลับมาทำไม?’ ซึ่งคุณเหมี่ยวประสบคำถามนี้กับตัวเองเช่นกัน โดยการรับมือของเธอคือการ ‘ปล่อยวาง’ และ ‘ลงมือทำ’ จนประสบความความสำเร็จ
“กลับมาแรกๆ เราเครียดนะ กดดัน แต่เราก็ปล่อยวางแล้วทำหน้าที่ของเราจริงๆ เป็นตัวของตัวเอง ทำงานโดยไม่ต้องไปยึดกับคำพูดใคร เพราะเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่… เหมี่ยวเชื่อว่าเราแค่พูด แต่เขาจะไม่เห็น เราต้องทำให้ดูก่อนว่าเราสามารถทำได้ค่ะ”
ปัจจุบันภูครามสร้างรายได้จากการงานปัก ให้ทั้งกลุ่มคนว่างงาน นักเรียน นักศึกษา คนทุพพลภาพ และคนที่ต้องการงานในชุมชนตัวเองโดยไม่ไปทางานที่อื่นอีกต่อไป
“เหมี่ยวอยากชวนให้คุณกลับไปมองพื้นที่หรือสิ่งที่ชุมชนของตัวเอง ลองไปค้นหา แล้วอยู่กับมันจริงๆ มันมีอะไรที่พิเศษมากกว่านั้น ดีกว่าไปค้นหาสิ่งที่เราไม่มีข้างนอกค่ะ”
ค้นหาความพิเศษของตนเอง และใช้มันให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
ข้อมูลติดต่อ : ภูคราม Bhukram
ART for CANCER ศิลปะคือยาใจแห่งชีวิต
จากประสบการณ์ตรงที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก่อนลามไปต่อมน้ำเหลืองเมื่อ 5 ปีก่อนของ ออย – ไอรีล ไตรสารศรี กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ความทุกข์และเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ศักยภาพตามที่ตัวเองถนัดอย่างศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นสื่อกลางในการให้กำลังใจผู้ป่วยโรคมะเร็ง นำมาซึ่งโครงการส่วนบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ ART for CANCER
“มะเร็งมันเข้ามาสอนให้เห็นคุณค่าของเวลาที่มันมีอยู่” เธอกล่าว “อย่างแรกคือเราอยากทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าที่สุด เราไม่อยากตายไปเปล่าๆ และอย่างที่สองคือเราไปเห็นผู้ป่วยมะเร็งมากมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และกำลังใจ เราจึงรู้สึกอยากช่วยเพื่อนร่วมโรคที่เขาขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษา นั่นคือจุดเริ่มต้น”
ใช่ เธอใช้คำว่า ‘เพื่อนร่วมโรค’
“เราเรียกว่าเพื่อนร่วมโรคเพราะมะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้กำลังใจและทัศนคติในการรับมือกับโรคที่ถูกต้อง มันถึงจะทำให้เราผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้”
ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วก่อน ART for CANCER จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจเพื่อสังคม คุณออยเริ่มจากการบริจาคระดมทุนงานศิลปะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้งานศิลปะมีคุณค่ามากกว่าความสุนทรีย์เฉพาะบุคคล แต่สามารถใช้มันเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาสังคม
ต่อมาก็เริ่มมีโปรดักซ์และเซอร์วิสที่สามารถหารายได้ พร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ยกตัวอย่าง โปรดักซ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นสร้อยคอที่มีคำว่า just be happy หรือ I’m alive ซึ่งถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่ผู้ป่วยบอกกับตัวเอง ผ่านกิมมิคตัวอักษรกลับด้านที่จะต้องส่องกระจกถึงจะเห็นคำนั้นๆ
ซึ่งไม่เพียงแต่การดูและให้กำลังใจผู้ป่วยแล้ว ทาง ART for CANCER ยังทำการสื่อสารไปถึงผู้ดูแลหรือ Caregiver ควบคู่กันไปด้วย
“เราตั้งใจปรับทัศนคติในการมองและการรับมือโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง หลายปีที่ผ่านมา คนมักมองว่ามะเร็งต้องเท่ากับจุดสิ้นสุดของชีวิต หรือมีเวลาในชีวิตอีกไม่นาน แต่ด้วยประสบการณ์ตรงที่เราเป็นมะเร็ง จนตอนนี้เรากลับมาตรวจพบมะเร็งอีกรอบเป็นระยะที่ 4 แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร เราก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่อย่างที่เห็น ไม่ได้เหมือนผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 ที่ต้องอยู่โรงพยาบาล เรายังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม “เราจะบอกทุกคนว่ายาเม็ดแรกที่เราต้องกินเข้าไป ก่อนทำการรักษา ยาอันนั้นคือสติชีวนะ เหมือนเป็นยาที่เราควรจะตั้งสติ ยอมรับความเป็นจริง พูดง่ายๆ มันคือยาใจ เราต้องรักษาใจตัวเองให้ดีก่อน ให้เราพร้อมที่จะก้าวต่อไป”
อนาคต ART for CANCER ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรตัวกลางของคนในสังคมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในแก้ไขปัญหาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย โดยจะมีการให้การสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ในโรงพยาบาลรัฐ และมีช่องทางในสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วยมะเร็งได้ในระยะยาว พร้อมๆ ไปกับการเสริมสร้างกำลังใจ และแรงบันดาลใจผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
สุดท้ายคุณออยอธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ ART for CANCER เปลี่ยนจากโครงการส่วนตัวมาเป็น Social Enterprise ก็เพราะการกลับมาป่วยอีกรอบ ทำให้เธออยากมีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนเพื่อดำเนินการต่อเนื่องในวันที่เธอไม่สามารถดูแลโครงการนี้ได้อย่างเต็มที่ และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมตอบโจทย์โครงการพอดิบพอดี
“เราตัดสินใจต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเพราะมันสามารถสร้างรายได้ และสร้างคุณค่าทางสังคมไปพร้อมๆ กันได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย “ถ้าองค์กรเติบโต มันก็จะสามารถเพิ่ม Social Impact ไปได้พร้อมๆ กัน เราก็เลยคิดว่า Social Enterprise ตอบโจทย์ให้ Art for Cancer อยู่ได้อย่างยั่งยืนค่ะ”
ข้อมูลติดต่อ : Art for Cancer by Ireal
HEARTIST จากใจสู่ใจ
HEARTIST มาจากคำว่า Heart บวกกับ Artist
HEARTIST จึงหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ใจทำทั้งหมด
และ HEARTIST คือแบรนด์กระเป๋าผ้าทอบำบัดของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ
โปสเตอร์ – วริศรุตา ไม้สังข์ คือหญิงสาวที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Heartist ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเด็กพิเศษและครอบครัว พร้อมแสดงการมีตัวตนและศักยภาพของเขาในสังคมอีกครั้งผ่านสินค้าที่เขาผลิตขึ้น
“เราเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่มาจากคนพิเศษ เราไม่มีการกำหนดลวดลาย ไม่กำหนดสีสัน น้องอยากทอแบบไหนก็เป็นขั้นตอนการบำบัด เราให้เขาทำเต็มที่ จากนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่เอามาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ค่ะ”
จุดเริ่มต้นของ HEARTIST เกิดจากคุณโปสเตอร์ไปเป็นอาสาสมัครในโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งเธอบอกว่า เหมือนการเข้าไปอีกโลกหนึ่ง
“เราไม่เคยรู้จักโลกของเด็กพิเศษเลยค่ะ รู้จักแค่ดาวน์ซินโดม เป็นออทิสติก แต่พอเข้าไปเราเห็นอะไรมากกว่านั้น มีอาการหลากหลายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” เธอเล่าให้ฟังด้วยแววตาสดใส “พอเราไปอยู่ก็เห็นศักยภาพของเขาในเรื่องง่ายๆ อย่างการทอผ้า ซึ่งเรานั่งทอนานๆ ก็รู้สึกเบื่อ แต่น้องนั่งทอที 4-6 เดือนจนได้ผลิตภัณฑ์ พอเสร็จก็เก็บเอาไว้เฉยๆ อย่างน่าเสียดาย เราจึงมองเห็นมูลค่าที่สามารถกลับมาเป็นรายได้ให้น้อง และทำให้สังคมภายนอกรับรู้การมีตัวตนกับศักยภาพของเขาด้วย”
เธอการันตีว่า กระเป๋าผ้าทอบำบัดทุกใบมีใบเดียวในโลกแน่นอน เพราะผ้าทอบำบัดแต่ละผืนมีความพิเศษตรงที่กี่ทอเปรียบเสมือนผืนผ้าใบให้เด็กวาดระบายความรู้สึก ฉะนั้นแล้วผ้าหนึ่งผืนก็เหมือนบันทึกเรื่องราวของเด็กพิเศษ ในแต่ละช่วงอารมณ์
“บางผืนอาจมีตำหนิ มีรอยปุ่มบ้าง แต่เราไม่เคยตัดออก เพราะเรารู้สึกว่าตำหนิไม่ใช่ความผิด มันคือความยูนีคของกระเป๋าแต่ละใบค่ะ”
เราสงสัย แล้วการทอผ้าช่วยการบำบัดได้อย่างไร?
“หนึ่งคือน้องหลายคนไม่รู้ฟังก์ชั่นร่างกายตัวเอง มือ แขน ขา ตา ซึ่งการทอมันต้องใช้มือ ขา ตา พร้อมๆ กัน” เธออธิบายด้วยความเข้าใจ “สองคือน้องมีหลายประเภท ทั้งนิ่งๆ เหมือนไม่อยู่กับร่องกับรอย การทอผ้าถ้าเขาสติหลุด ทุกอย่างจะหลุดออกหมดเลย ผ้าก็หลุด ด้ายก็หลุด แล้วเราจะสังเกตได้ทันที ถ้าเขาเครียด รอยปุ่มก็จะเยอะ แล้วมันจะฝึกขั้นต่อไปคือการแก้ปัญหา การทอผ้าของเขา 1000% ต้องมีด้ายพันกัน สำหรับเรามันดูง่าย แต่สำหรับเขามันคือการฝึกแก้ด้าย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าค่ะ”
ไม่เพียงแต่รายได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ HEARTIST ให้แก่เด็กกลุ่มนี้คือการได้รับการยอมรับ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะบริบทสังคม แต่คือในบริบทครอบครัวด้วย
“ส่วนมากครอบครัวที่มีลูกพิเศษจะอาย ไม่กล้าเอาลูกออกจากบ้าน เหมือนเขามีประสบการณ์ไม่ดีเวลาพาลูกออกมาแล้วเจอคำพูดหรือเจอสายตาผู้คน บางทีพ่อแม่ญาติพี่น้องเองก็ไม่ยอมรับด้วยซ้ำ ฉะนั้นการประสบความสำเร็จของเราไม่ได้วัดจากรายได้ เราวัดแค่การมีครอบครัวยอมรับน้องมากขึ้น เปิดตัว-เปิดใจให้น้องมากขึ้น นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จของเราค่ะ”
เป็นความสำเร็จที่มากกว่ารายได้
คือความสำเร็จที่เด็กพิเศษได้กลับมามีตัวตนสู่สังคมอีกครั้ง
ข้อมูลติดต่อ : HEARTISTdid
แล้วเราจะเริ่มเป็น Social Enterprise ได้อย่างไร?
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนที่ไอเดียสดใหม่และไฟทำงานอันพลุ่งพล่าน อาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า แล้วเราจะเริ่มกิจการเพื่อสังคมได้อย่างไร เราไม่มีความรู้ ไม่มีคอนเน็คชั่น และไม่มีเงินทุนมากนัก
แต่ช้าก่อน ทุกปัญหาล้วนมีทางออก!
ด้วยความเชื่อในพลังสร้างสรรค์และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นวัยที่กล้าคิด กล้าทำ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเวทีในการสร้าง “ผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมรุ่นใหม่” (Young Social Entrepreneur) ที่มีความคิดสร้างสรรค์และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นในรูปแบบ Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โดยโครงการ “Banpu Champions for Change (BC4C) – พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” จะเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่อายุ 20 – 35 ปี จากทั่วประเทศ ส่งแผนกิจการเพื่อสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมตามความถนัดและความสนใจของตนเอง เพื่อขอรับการสนับสนุนรวมกว่า 2 ล้านบาททั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษา เข้าร่วมเวิร์คช็อปจากผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแผนธุรกิจ การตลาด การสร้างแบรนด์การหาแหล่งทุน การระดมทุน การบริหารทางการเงิน และการวัดผลทางสังคมตลอดโครงการรวมถึงมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมระหว่างเพื่อนร่วมรุ่น หรือระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในโครงการฯ เพื่อร่วมพัฒนาวงการกิจการเพื่อสังคมไทยให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ
เปิดรับสมัคร: 1 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2561
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions
สอบถามเพิ่มเติม: โทร.087-075-4815 หรืออีเมล์ banpuchampions@gmail.com