ย้อนกลับไปสักยี่สิบปี หลายคนคงเคยเอาดินสอหรือปากกา หมุนเทปคาสเซ็ตเพื่อให้แผ่นฟิล์มด้านในกลับเข้าที่เข้าทาง
จนเป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งของสองสิ่งนี้ ที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน เทคโนโลยีที่ผันเปลี่ยนอินโนเวชั่นไปตามกาลเวลา ก่อให้เกิดทักษะที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน จากยุคอะนาล็อกมาจนถึงยุค AI เราเฝ้ามองการผลัดเปลี่ยนของเทคโนโลยีและปรับตัวไปตามแรงผลักของมัน เพื่อให้ตัวเองมีทักษะและอยู่รอดในวันที่โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
หากยี่สิบปีที่แล้วคือยุคอะนาล็อกที่ผ่านพ้นไป สำหรับยุคนี้ มันคือยุคของอะไรล่ะ? เทคโนโลยีอะไรที่เราต้องปรับตัวและเรียนรู้ตาม? คำตอบคือเยอะมาก เพราะเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้ชีวิตมากขึ้น มากเสียจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
ในฐานะผู้ใช้งาน เราคลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีในแทบทุกวินาที หรือแม้แต่บทความออนไลน์ที่คุณกำลังอ่านอยู่ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดๆ ผ่านความ hype ของ fuction มามากแล้ว แต่ในยุคที่ทุกอย่างในมือเป็นดิจิทัลแทบทั้งหมด เราไม่อาจจำกัดอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน วิ่งตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ได้อีกต่อไปแล้ว ในตอนนี้เราจะก้าวไปมากกว่าเป็นแค่ผู้ใช้งาน แต่จะเป็นผู้สื่อสารและออกคำสั่งด้วย Coding ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้นี่แหละ
หลักสูตรใหม่กับเนื้อหาใกล้ตัว
หลังจากวิชาวิทยาการคํานวณ ถูกบรรจุเข้ามาในหลักสูตรเมื่อปีการศึกษา 2561 ความตื่นตัวของเด็ก ผู้ปกครอง และประชาชน ทำให้ Coding เป็น Keyword ที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหู จนเป็น Current Issue ที่ทุกคนต้องตระหนักถึงในยุคนี้ ทั้งตัวเด็กเอง ที่จะต้องเติบโตไปพร้อมกับโลกแห่งเทคโนโลยี พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกและ Generation ต่อไป
แม้คำว่า Coding ฟังดู อาจทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก เป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ขั้นสูง มากเกินกว่าการส่งรูปภาพสวัสดีตอนเช้าให้กัน มากกว่าการส่งอีเมลหากันในออฟฟิศ จนเป็นเหมือนสิ่งที่เราต้องวิ่งตามเพื่อทำความเข้าใจ แต่จริงๆ แล้ว Coding มันอยู่กับเราในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่แรกต่างหาก
อธิบายกันให้ง่ายที่สุด ฉบับอ่านรวดเดียวก็เข้าใจ Coding มันคือภาษา มาพร้อมกับหน้าตายึกยือ สัญลักษณ์ปะปนกับตัวอักษรและตัวเลข ดูไม่น่าจะสื่อสารกันได้เข้าใจ เพราะมันไม่ได้เอาไว้สื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่มันคือภาษาที่เอาไว้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์
Coding อยู่ตรงไหนในชีวิตประจำวัน?
ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าภาษาที่ว่านั่น ไม่ได้มีไว้เพียงบอกเล่าเก้าสิบ พูดคุยดินฟ้าอากาศกันอย่างที่มนุษย์ทำ หน้าที่หลัก ๆ ของภาษาเหล่านั้น คือ เอาไว้เป็นชุดคำสั่งให้กับคอมพิวเตอร์นั่นเอง ว่ากันง่ายๆ อีกที Coding คือภาษา ที่เอาไว้สร้างชุดคำสั่ง เพื่อเอาไว้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ภาษาที่เราคุ้นเคยหรือได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง C++, PHP และ Java เป็นตัวอย่างของภาษาที่ใช้ในการ Code
แม้ตอนนี้ใครๆ ต่างก็เข้าถึงคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนกันเป็นปกติ แต่ฟังดู Coding ก็ยังไม่ใช่เรื่องของเราอยู่ดี หากอธิบายเพียงแค่เรื่อง Programming งั้นลองมาดูอะไรที่ใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นอีก ลองมาดูรีโมตคอนโทรลกัน อย่างรีโมตทีวีที่ใช้กันตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง (ซึ่งมักจะเอาไว้อมมากกว่าไว้กด) ไปจนถึงผู้สูงวัยที่หลงใหลการนั่งเฝ้าหน้าจอ บนรีโมตเนี่ย มีปุ่มอยู่หลายสิบปุ่ม แต่ละปุ่มจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป เพราะแต่ละปุ่มจะมีชุดคำสั่งที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่สัญญาณไฟจราจร กำหนดให้ไฟแต่ละสีมีช่วงเวลาไม่เท่ากัน ไฟเขียว 60 วินาที ไฟเหลือง 5 วินาที ไฟแดง 90 วินาที ก็อยู่บนพื้นฐานของการถูกกำหนดด้วยชุดคำสั่งเช่นกัน
พอมองในมิตินี้แล้ว หลายอย่างรอบตัวเรามันเป็นชุดคำสั่งแทบทั้งนั้น Coding จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคอมพิวเตอร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เอาให้ง่ายกว่านั้นอีก แค่การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การแก้ปัญหาอย่างมีระบบ เช่น ตื่นเช้ามาประมวลผลในหัวอย่างรวดเร็วว่าวันนี้ตื่นสาย ต้องใช้เวลากี่นาทีในการอาบน้ำ เพื่อให้ทันรถรอบที่ไวที่สุดและไปถึงที่ทำงานด้วยเส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นพื้นฐานของการ Programming (ที่ต้องอาศัยภาษา Coding ในการออกคำสั่ง) แล้ว
และ Coding จะยังอยู่กับเราในอนาคต
วิชาใหม่อย่าง “วิทยาการคำนวณ” จึงเป็นการปูพื้นฐานของ Coding ด้วยการฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งความสร้างสรรค์ วิชานี้จึงไม่ใช่ทักษะเฉพาะทางที่ต้องเป็นเด็กเนิร์ด แว่นหนา บ้าวงการไอทีเท่านั้น ถึงจะต้องเรียนรู้หรือให้ความสนใจ แต่มันเป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรจะมีติดตัวเอาไว้ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในการค้นหาตัวเองในอนาคต การศึกษาต่อ ความชอบ งานอดิเรก หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในทุกวัน
การผลักดันของรัฐบาลในเรื่องนี้ แม้ว่าจะช้าไปหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่ดีที่เด็กในวันนี้จะมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในอนาคตของพวกเขา สุดท้ายแล้ว เมื่อเทคโนโลยีมันรุกคืบเข้ามาในชีวิตเรามากขึ้นทุกวัน อย่างที่เรามักจะได้ยินประโยคแสนหวาดระแวงอย่าง “AI จะมาแทนที่ มนุษย์จะตกงาน” การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง รู้จักการสื่อสารกับเครื่องมือดิจิทัลจึงเป็นทักษะที่ควรมีติดตัวเอาไว้ เราจึงไม่อาจเป็นแค่ผู้ใช้งาน กดปุ่มนั้น ปุ่มนี้ ไปเรื่อยๆ ได้อีกต่อไป ไม่ใช่เพียงเรียนเพื่อเป็นแต่ Programmer เท่านั้น แต่เพื่อก้าวไปให้มากกว่าการเป็นผู้ใช้งานที่รู้เท่าทัน ใช้งานอย่างมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าแค่ funtion ทั่วไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณนันท์ลภัส สันติสิธรรม
ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์ บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น
คุณธัญวรัตม์ สงวนศักดิ์