สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้นทุกวัน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานภายในเวลา 22.00–04.00 น. หรือที่เรียกกันว่า “เคอร์ฟิว” ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนเป็นต้นมา
แม้เคอร์ฟิวจะพอช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงมาได้บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าระบบสังคมและเศรษฐกิจของเราหมุนอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด เช่น ตลาดสดหรือร้านอาหาร ที่หลายแห่งมักจะต้องทำงานเตรียมวัตถุดิบกันในช่วงกลางคืนเพื่อให้ทุกอย่างพร้อมบริการผู้คนในตอนเช้า ยังมีแพทย์ที่ต้องเข้าเวรช่วงบ่ายและลงเวรประมาณ 4-5 ทุ่ม คนทำงานภาคกลางคืนอื่นๆ ที่เมื่อเลิกงานแล้วก็หารถกลับบ้านลำบาก หรือการที่ฉุกเฉินอะไรจะออกไปซื้อของมาใช้ก็ไม่ได้อีก
เคอร์ฟิวจึงมีทั้งผลดีและผลกระทบต่อคนทำงานและระบบเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน
ส่องผลกระทบเคอร์ฟิวต่อประชาชน
ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ รัฐบาลเลือกใช้การเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ของโรคให้ได้ไวที่สุด แม้ยังมีข้อถกเถียงถึงความสมควรในการใช้มาตรการดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ ในตอนนี้ก็คือร้านสะดวกซื้อกลับซื้อได้ไม่สะดวกอีกต่อไป และดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนอย่างกว้างขวางไปพร้อมกันด้วย เช่นตัวอย่างของผู้ประสบภัยเคอร์ฟิว 2 ท่าน ต่อไปนี้
“คืนก่อนเราปวดท้องประจำเดือน คนเป็นผู้หญิงน่าจะเข้าใจกันว่ามันทรมานยังไง แล้วยาแก้ปวดท้องประจำเดือนเราหมดพอดี ปกติถ้าปวดท้องตอนดึกๆ แบบนี้เราจะไปเซเว่นฯ แล้วซื้อแผ่นประคบร้อนมาแปะไปก่อน มันช่วยได้เหมือนกัน แต่พอเคอร์ฟิวแล้วแค่เดินออกไปปากซอยยังไม่ได้เลย เป็นคืนที่สาหัสมาก นอนน้ำตาไหลจนหลับไปตอนไหนไม่รู้” วัยรุ่นหญิงท่านหนึ่งกล่าว
“ตอนนี้ว่างงานครับ เมื่อก่อนทำงานเป็นเด็กโบกรถที่ร้านอาหารครับ เป็นร้านข้าวต้ม เปิดแค่ตอนกลางคืน ตอนนี้เขาปรับมาเปิดตอนกลางวันแล้ว แต่มันไม่ต้องมีรถมาจอดกินแล้วเพราะเขาสั่งกลับบ้านกันได้อย่างเดียว เขาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างผม” ชายวัยสามสิบสองปีเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การจ้างงานหลังจากการประกาศช่วงเวลาเคอร์ฟิวและมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราวที่ทำให้เขาต้องตกงาน พ่วงกับความห่วงหน้าพะวงหลังเพราะยังมีสมาชิกในครอบครัวให้เลี้ยงอีก 3 คน
สินค้าบางอย่างขาดตลาดและไม่ใช่ทุกคนที่จะกักตุนได้
นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศการเคอร์ฟิวทั่วประเทศในวันที่ 3 เมษายนเป็นต้นมา ก็ได้ทำให้เกิดการกักตุนสินค้าครั้งใหญ่ เรื่องกักตุนนั้นใครกำลังทรัพย์ไหวก็ได้ครอบครองก่อน แต่หลายคนก็ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะซื้อสินค้าอะไรในปริมาณมากๆ ได้ภายในครั้งเดียวน่ะสิ ดังนั้นการซื้อสินค้าเป็นรายชิ้นจึงเป็นเรื่องที่พวกเขา “ทำได้” และ “จ่ายไหว” ตรงนี้เองที่ร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำหน้าปากซอยบ้านหรือร้านสะดวกซื้อที่เราคุ้นเคยอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ได้เข้ามาตอบโจทย์ทุกคนอย่างทั่วถึง
เพราะทุกอย่างนั้นตรงตัวตามชื่อ นั่นคือร้านที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนนเหล่านั้นกลายเป็น “ความสะดวกซื้อ” ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ แต่ความสะดวกซื้อเหล่านี้ก็กลับซื้อไม่สะดวกอีกต่อไปเมื่อเราอยู่ในยุคของโรคระบาดและการห้ามออกนอกบ้านตามเวลาที่รัฐฯ กำหนด มาถึงตรงนี้ อยากชวนทุกคนลองจินตนาการสถานการณ์เช่น หากเราเกิดจำเป็นต้องการสินค้าสักอย่างขึ้นมาอย่างกะทันหันแถมไม่ได้มีสิ่งของนั้นๆ เตรียมไว้ในที่พัก เช่น ผ้าอนามัย น้ำดื่ม ชุดทำแผล หรือยาสามัญต่างๆ ในโมงยามปกติเราก็อาจจะออกจากบ้านมาหาซื้อมันที่ร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงได้ แต่ช่วงนี้หากพิสูจน์เหตุจำเป็นไม่ได้ก็ต้องจำทนเข้าไว้ เพราะไม่ว่ายังไงทุกอย่างก็ต้องชัทดาวน์ชั่วคราวในช่วงเวลา 22.00–04.00 น. และเพราะความกังวลนี้แหละที่ทำให้คนยิ่งเร่งตุนสินค้าเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมาบ้าง
ราคาที่เคอร์ฟิวต้องจ่าย
ไม่นับรวมว่าหลายงานบริการในช่วงกลางคืนก็มีอันต้องปิดให้บริการจนทำให้แรงงานหลายคนขาดรายได้ ดังนั้นเมื่อรัฐฯ ออกกฎเหล็กให้ทุกคนต้องอยู่ภายในบ้านในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ขาดการเชื่อมโยงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจเข้าไป มันจึงทำให้คนทำงานภาคกลางคืน หรือการดำเนินงานอื่นๆ ไปต่อไม่ได้โดยที่พวกเขาไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับ ชีวิตที่ต้องกดปุ่มพอสไว้เช่นนี้ก็อาจเป็นการถมปัญหาให้พอกพูนยิ่งขึ้นและสร้างปัญหาใหม่ เช่น ความยากจนซ้ำซ้อน การไม่มีงานทำ ปัญหาสังคม อาชญากรรม การฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น หรืออาจมีคนไร้บ้านมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำอย่าง บรานโค มิลานโนวิก ชี้ว่าในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ หากรัฐฯ เร่งออกมาตรการเฉพาะหน้าอย่างไม่รอบคอบและไม่มีระบบสวัสดิการทางสังคมหรือ social safety net ที่เพียงพอ พวกเราก็คงต้องเริ่มทบทวนความล่มสลายของสังคมทั้งระบบที่อาจล้มต่อกันเป็นโดมิโน่ตั้งแต่ตอนนี้ได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871922
https://www.bbc.com/thai/thailand-52240044
https://www.foreignaffairs.com/articles/2020-03-19/real-pandemic-danger-social-collapse
https://www.springnews.co.th/thailand/635915