“..ไม่ว่าจะ สปุด สปุ๊ดนิกวี คอนวีนีเซีย แอดไฟว์ แอนด์ แอนด์ คัฟเวอร์ แอนด์ คัฟ แอดไฟว์ แอนด์ โควิด แอนด์ แคสสิโน่ ไบโอโรจิก ชิโนฟาม โควักซีน บาแรก ไบโอแทก ไบโอเทก หรือไฟเซอร์..”
จากคำอ่านชื่อวัคซีน COVID-19 ที่รัฐบาลกำลังติดต่อขอซื้อแบบผิดๆ ถูกๆ จนกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2564
คล้อยหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลก็ประกาศเดินหน้าหา ‘วัคซีนทางเลือก’ อื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะ Pfizer, Johnson&Johnson, Sputnik V และ Sinovac อีกยี่ห้อละ 5-10 ล้านโดส รวมประมาณ 40 ล้านโดส โดยไม่รวมที่ภาคเอกชนจะจัดหามา ซึ่งจะไม่ซ้ำยี่ห้อกับที่ภาครัฐจัดหา เช่น Moderna
นอกจากนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ยังยอมให้ตัวแทน Sinopharm เข้าพบ เพื่อพูดคุยเรื่องวัคซีน
ความพยายามทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณชน คือคนไทยได้ฉีดวัคซีน COVID-19 รวม ‘100 ล้านโดส-50 ล้านคน’ ภายในปี 2564
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูดีๆ ก็จะเห็นได้ว่า คำประกาศหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมข้างต้น ยังไม่ชัดเจนทั้งเรื่องของ ‘จำนวน’ และ ‘เวลา’ ส่งมอบ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการสู้กับโรคระบาด ที่ต้องแข่งกับความเป็นความตาย
ใน ‘เวลานี้’ เราจึงยืนยันได้เพียงว่า คนไทยจะมีวัคซีน COVID-19 ให้ฉีดอยู่เพียง 2 ยี่ห้อ คือ AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส และ Sinovac อีก 6 ล้านโดส เท่านั้น*
จนบางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า หรือคำประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติม จะเป็นแค่การพูดเพื่อลดกระแส ในช่วงเวลาที่รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องวัคซีน ‘มาน้อย’ และ ‘มาช้า’
The MATTER เองก็สงสัยว่า ปัญหาในการจัดหาวัคซีน COVID-19 ของรัฐบาลไทย เกิดจากอะไร
จึงใช้เวลาหลายวัน ย้อนรอยเส้นทางการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ ตั้งแต่ไทยเริ่มนับหนึ่งมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนแรก (เป็นนักท่องเที่ยวจีน, 8 ม.ค.2563) มีคนไทยติดเชื้อคนแรก (31 ม.ค.2563) เริ่มจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. (12 มี.ค.2563) รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (26 มี.ค.2563) ที่ยังต่ออายุมาจนถึงวันนี้
ไปจนถึงการเกิด cluster หรือการแพร่ระบาดหมู่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากสนามมวยลุมพินีของกองทัพบก (6 มี.ค.2563) ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร (17 ธ.ค.2563) และสถานบันเทิง กทม. (ต้นเดือน เม.ย.2564) ที่ทุกวันนี้ได้ระบาดลามไปทั่วประเทศจนแทบหาต้นตอไม่ได้แล้ว
เพื่อดูว่า ภาครัฐเองมีแผนในการจัดหาวัคซีนอย่างไรบ้าง และปรับแผนให้ทันกับสถานการณ์มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางมหาวิกฤตโรคระบาดที่สร้างความเสียหายให้ทั้งไทยและโลกอย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
ประเมินพลาด หรือมีวาระอื่นแฝง จึงเลือก ‘แทงม้าตัวเดียว’
หลังจากเริ่มตระหนักว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ตามที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ พล.อ.ประยุทธ์จึงได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 จัดตั้ง ศบค. ขึ้นมา เพื่อรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา โดยที่ตัวเองนั่งเป็นประธาน
ตลอดทั้งปี 2563 มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่รวมกัน 16 ครั้ง พบว่ามีการพูดถึง ‘วัคซีน’ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมองว่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ยุติปัญหาโรคระบาดนี้ได้อย่างยั่งยืนในที่ประชุม อย่างน้อย 10 ครั้ง
ระยะแรก การพูดถึงวัคซีนในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ จะเป็นไปในลักษณะการรายงานความคืบหน้ามากกว่า ทั้งการพัฒนาวัคซีนในต่างประเทศรวมถึงในไทยเอง จนเมื่อเข้าสู่กลางปี 2563 ถึงเริ่มพูดถึงความพยายามในการเจรจาซื้อวัคซีนจากจีน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐฯ โดยยังไม่ระบุถึงชื่อยี่ห้อ เพราะขณะนั้น ยังไม่มีวัคซีนใดที่ ‘ประสบความสำเร็จ’
กระทั่งการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข รายงานข้อมูลที่อ้างจากผู้เชี่ยวชาญของ WHO ว่า วัคซีนชนิด viral vector ของบริษัท AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับ ม.ออกซ์ฟอร์ด “ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก” จึงเสนอให้ภาคเอกชนไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ม.ออกซ์ฟอร์ด นำวัคซีนชนิดนี้มาผลิตในไทย
“แต่ไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล จะสามารถผลิตวัคซีนได้ภายใน 6 เดือนหลังได้รับการอนุมัติจากภาครัฐและผู้ใช้สิทธิ ทั้งนี้จะมีวัคซีนใช้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2564 และจะมีกำลังการผลิต”
นพ.ปิยะสกลยังกล่าวถึง ‘บริษัทเอกชน’ แห่งหนึ่ง ที่มีศักยภาพในการรับเทคโนโลยีจาก ม.ออกซฟอร์ดมาผลิตวัคซีน AstraZeneca ปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้ว 4,500 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐ ที่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ไทยมีโอกาสใช้วัคซีน “เป็นประเทศแรกๆ ของโลก”
ถึงวันนี้ เรารู้กันแล้วว่า ‘บริษัทเอกชน’ ที่อดีต รมว.สาธารณสุขรายนี้กล่าวถึง ก็คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (Siam Bioscience)
เดือน ส.ค.2563 คือห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่า กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เริ่มต้นจัดหาวัคซีน
ตัดภาพมาอีกที วันที่ 12 ต.ค.2563 อนุทินในฐานะ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG (ผู้ที่มีสัมพันธ์อันดีกับ ม.ออกซฟอร์ด) และ AstraZeneca ก็ไปร่วมลงนามในการจัดซื้อและรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน COVID-19 โดยจะเป็นฐานการผลิตของวัคซีนยี่ห้อนี้เพื่อกระจายให้ชาติต่างๆ ในอาเซียนด้วย
ส่วนงบสนับสนุนที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้จากภาครัฐไทย คือได้เงิน 600 ล้านบาทจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่ง นพ.นคร เปรมศรี ในฐานะ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ตามข้อตกลงในสัญญาทางบริษัทจะคืนวัคซีนให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตามมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าว “เพื่อลบข้อสงสัยว่าสนับสนุนบริษัทเอกชน จึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญา”
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 พ.ย.2563 อนุมัติงบกลาง 6,049.72 ล้านบาท เพื่อ ‘จองซื้อ’ วัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดส
คาดว่าจะได้วัคซีนราวเดือน มิ.ย.2564
ในเอกสารอ้างประโยชน์ที่จะได้รับคือ ลดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 400,000 ล้านบาท
และนั่นเป็นวัคซีน COVID-19 ‘ยี่ห้อเดียว’ ซึ่งรัฐไทยจัดหา ตามที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ และเอกสารจากที่ประชุม ครม. ตลอดทั้งปี 2563 แม้จะมีการอ้างถึงแผนการจัดหาวัคซีนจาก COVAX อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมนัก เช่นเดียวกับการอ้างถึงคำพูดของ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ว่าด้วยการเจรจาซื้อวัคซีนกับ Pfizer ในเดือน พ.ย.2563 แต่เบื้องหลังผลการเจรจา ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่า Pfizer จะส่งมอบวัคซีนล่าช้าคือปลายปี 2564 และยังเสนอขายให้ในราคาแพง (เมื่อต่อรองขอให้ส่งมาเร็วที่สุด ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ก็ได้เพียง 1-2 แสนโดสเท่านั้น) จึงตัดสินใจยังไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
พร้อมกับคำอ้างติดปากผู้มีอำนาจ “ในช่วงเวลาวิกฤต ตลาดเป็นของผู้ขาย ไม่ใช่ของผู้ซื้อ”
เช่นเดียวกับคำอ้างที่ว่า ในช่วงกลางถึงปลายปี 2563 ไทยคุมโรค COVID-19 ได้ดี จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
แต่คำอ้างทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นก่อนจะเกิดการระบาด cluster ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และสถานบันเทิง กทม. ในเวลาต่อมา
“อะไรจะเกิด..ก็ต้องเกิด” กับแผนจัดหาวัคซีนที่ถูกปรับเปลี่ยน
ก่อนที่จำนวนผู้ป่วย COVID-19 จะลามไปทั่วประเทศในเดือน เม.ย.2564 เชื่อหรือไม่ว่า แผนการจัดสรรวัคซีนในเดือน ก.พ.2564 ของกระทรวงสาธารณสุข คือจะฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย บุคลากรการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ‘ใน 18 จังหวัด’ เท่านั้น ยังไม่ใช่ ‘ทั้งประเทศ’
โดยวัคซีนที่จะฉีด ก็คือ Sinovac (ซึ่งมีเอกชนไทยเข้าไปถือหุ้นบริษัท 15%) จำนวน 2 ล้านโดส ที่ดีลมาภายหลัง โดยจะฉีดระหว่าง มี.ค.-พ.ค.2564
เพราะกว่าที่ AstraZeneca จะมาก็คือเดือน มิ.ย.2564
การพึ่งพิงวัคซีนเพียง 1-2 ยี่ห้อ ถามไทม์ไลน์การมาถึงยังค่อนข้างช้า เป็น ‘รูโหว่’ ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดประเด็นไว้ในเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 ที่วิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทยว่า ซื้อมาน้อยยี่ห้อเกินไป และซื้อมาช้าเกินไป แต่แทนที่ผู้เกี่ยวข้องจะเลือกชี้แจงด้วยข้อเท็จจริง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ขณะนั้น กลับร้องศาลให้ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในเฟซบุ๊กไลฟ์ดังกล่าว และแจ้งความเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
และเมื่อสื่อออนไลน์ workpointTODAY เปิดประเด็นว่า ไทยเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ ‘ตกขบวน’ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก คนในกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่า ไม่ได้ตกขบวน แต่เลือกเดินลงจากขบวนมาเองเพราะ 1.ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง จึงไม่ได้วัคซีนฟรี 2.ราคาวัคซีนจากโครงการนี้อาจจะสูงกว่าที่จัดหาจากแหล่งอื่น และ 3.เราไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนเองได้
หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง ในเดือน เม.ย.2564 ทั้งจาก cluster สถานบันเทิงใน กทม. (ที่มีข่าวพาดพิงถึงบุคคลสำคัญในรัฐบาล แต่เจ้าตัวปฏิเสธ) และจากการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ปีนี้ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ยกเลิกวันหยุดเพื่อสกัดกั้นการเดินทางของผู้คนเช่นปีก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด”
ทำให้การตั้งคำถามเรื่องวัคซีน ‘มาช้า-มาน้อย’ กลับมาดังกระหึ่มอีกครั้ง
แต่กว่าที่รัฐบาลจะขยับทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรม ก็ต้องรอให้ CEO จากภาคเอกชน 40 บริษัทยักษ์ใหญ่ ออกมาบอกว่า ภาครัฐหาวัคซีนช้าและฉีดได้น้อยมากๆ จึงจะขอหาวัคซีนทางเลือกมาฉีดเอง วันถัดมา พล.อ.ประยุทธ์ถึงค่อยบอกว่า เจรจาซื้อวัคซีนจาก Pfizer อยู่ 5-10 ล้านโดส และในวันที่ 23 เม.ย.2564 ก็แถลงว่าจะหาวัคซีนในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส!
แต่ตามสภาพข้อเท็จจริง ณ วันนี้
ไทยมีวัคซีนที่ ‘คอนเฟิร์มแล้ว’ เพียง 67 ล้านโดส* แบ่งเป็นจาก AstraZeneca 61 ล้านโดส (ราว 91%) และ Sinovac 6 ล้านโดส (ราว 9%) ซึ่งไทม์ไลน์การมาถึง จะทยอยๆ มากว่าจะครบก็สิ้นปี ซึ่งจะทำให้บางช่วงเวลามีวัคซีนให้เลือกฉีด ‘เพียงยี่ห้อ’ เดียว เช่นเดียวกับตอนนี้ ที่ส่วนใหญ่จะเป็น Sinovac หรือกลางถึงปลายปี 2564 ที่จะเป็น AstraZeneca
โดยงบประมาณที่ใช้ไปกับการซื้อวัคซีน จนถึงตอนนี้ สำหรับ AstraZeneca กว่า 12,604.54 ล้านบาท สำหรับวัคซีน 61 ล้านโดส และ Sinovac กว่า 1,549.60 ล้านบาท สำหรับวัคซีน 2.5 ล้านโดส จากทั้งหมด 6 ล้านโดส (อีก 5 แสนโดสรัฐบาลจีนบริจาคให้ฟรี ส่วนอีก 3 ล้านโดส ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้งบเท่าใด)
เมื่อหักค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าจัดเก็บ ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายธุรการ วัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อจะมีราคาเฉลี่ยต่อโดส ดังนี้ AstraZenca ราคาเฉลี่ย 159-162 บาท/โดส ส่วน Sinovac ราคาเฉลี่ย 554-580 บาท/โดส (มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ราคาวัคซีนจาก AstraZeneca ถูกกว่า อาจเพราะไทยไปเซ็นสัญญาซื้อขายในราคาเท่าทุนยังไม่เอากำไร ในช่วงที่โรค COVID-19 ยังแพร่ระบาดอยู่)
สำหรับความเร็วในการฉีดวัคซีน นับแต่วันแรก (28 ก.พ.2564) จนถึงล่าสุด (1 พ.ค.2564) ซึ่งไทยฉีดวัคซีนไปได้ 1.48 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละกว่า 2.4 หมื่นโดสเท่านั้น
หากจะฉีดให้ได้ตามเป้า 100 ล้านโดส คำนวณคร่าวๆ จะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยวันละ 3.3 แสนโดส ซึ่งด้วยอัตราการฉีดในปัจจุบันยากมากๆ ที่จะทำให้สำเร็จ เพราะแค่ ‘ฉีดมาก’ อย่างเดียวยังไม่พอ ต้อง ‘มีวัคซีน’ ให้ฉีดด้วย
ยิ่งฉีดช้า ยิ่งเสียหาย ว่าแต่ใครจะรับผิดชอบ?
อนุทินเคยกล่าวไว้ในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.ว่า หากสามารถฉีดวัคซีนให้ ‘เร็วขึ้น’ เพียง 1 เดือน จะช่วยสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ถึงกว่า 250,000 ล้านบาท!
คำถามคือ แล้วการที่วัคซีนมาถึงช้า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากมาย หลายคนป่วยหนัก จำนวนไม่น้อยเสียชีวิต จนต้องออกยาแรงมาคุมโรค ที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการและต่อการหารายได้ของประชาชน ใครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ?
แน่นอนว่า วิกฤตโรคระบาดนี้ไม่มีใครอยากจะให้มันเกิด แต่เมื่อเกิดแล้ว ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
ยิ่งเป็น ‘โรคอุบัติใหม่’ ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน การปรับเปลี่ยนแผนงานไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่การปรับแผนดังกล่าว ตรงโจทย์และทันกาลแค่ไหน
ไม่รวมถึงการตอบโต้แรงๆ กับผู้ที่ออกมาวิจารณ์แนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งแจ้งความข้อหาร้ายแรงใส่ หรือการเมินเฉยบอกว่า “ไม่ฟังคนที่อยู่ต่างประเทศ” ทั้งที่ช่วงเวลาแบบนี้ ความเห็นใครมีประโยชน์ก็ควรจะรับฟังทั้งหมดใช่หรือไม่ หรือจะฟังเฉพาะคนที่ตัวเองอยากฟัง ฟังเฉพาะคนที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งที่คำเตือน-คำวิจารณ์อันแสลงหู อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
วิกฤตโรค COVID-19 จึงทดสอบทั้งฝีมือและหัวใจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไปในเวลาเดียวกัน
เป็นรัฐบาลที่มีผู้นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้คำสัญญาว่า ปลายปี 2564 จะฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ 70% ของประชากร หรืออย่างน้อย 50 ล้านคน