ปัญหาที่คุกรุ่นทั้งประเทศไทยและทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้นเห็นจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องของฝุ่น PM 2.5 และปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาจากประเทศจีน ที่หากใครได้เห็นภาพฟุตเทจเหตุการณ์ซึ่งหลุดออกมาและนำมาเผยแพร่กันแล้ว[1] ก็คงจะนึกถึงภาพโลกหลังการล่มสลาย หรือฉากของหนังซอมบี้เอาได้ง่ายๆ ผิดเพียงแค่ว่านี่คือภาพของจริง
ภายใต้สภาวะดังกล่าวนี้เองมีผู้เชี่ยวชาญมากมายทั้งของจริง และที่อุปโลกน์ตัวเองในโลกโซเชี่ยลเสนอสารพัดวิธีในการรับมือเต็มไปหมด ตัวผมเองมีความรู้ในเรื่องการจัดการปัญหาทั้งสองนี้ตื้นเขินเกินกว่าจะไปร่วมวงอะไรด้วยได้ หากจะให้ลองเสนอเองดูบ้างก็ไม่มีอะไรใหม่จะไปช่วยเสนอเขาได้ ก็วนๆ อยู่แต่พวกการแจกมาสก์ให้ทุกครัวเรือน ออกมาตรการบังคับให้สวมใส่ หยุดโรงเรียนไปก่อนสักสัปดาห์สองสัปดาห์ หรือกำหนดช่วงเวลาในการเปิด-ปิดทำการของกิจการต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนให้มีช่วงสับหว่างกันบ้าง เพื่อลดปริมาณการจราจรเป็นการเฉพาะหน้าอะไรทำนองนั้น ซึ่งมีคนเสนอไปมากแล้ว และไม่ควรจะต้องมาพูดถึงให้มากความอีกนัก แต่ควรจะไปรีบลงมือได้แล้ว
ประเด็นที่ผมพอจะมีปัญญาร่วมวงขอถกด้วยได้ และคิดว่าน่าจะลองทำความเข้าใจดู คือ เรื่องคำถามต่อท่าทีของคนจำนวนมากในไทย (และจีนที่เป็นต้นกำเนิดของไวรัสตัวใหม่นี้) มากกว่า ว่าเพราะเหตุใดการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ฝุ่นเมืองจึงกลายเป็นเรื่อง ‘ชังชาติ’ ในสายตาของหลายๆ คนไปได้ หรือทำไมคนไทยรวมถึงจีนจำนวนมากจึงนิยมชมชอบกับมาตรการที่อำนาจนิยมสุดขั้วปิดกั้นข้อมูลสุดขีดของประธานาธบดีจีนอย่างสีจิ้นผิง หลายคนถึงขั้นเถียงคอแตกเพื่อรัฐบาล หรือเชียร์สุดเสียงให้กับสีจิ้นผิง โดยไม่สนข้อเท็จจริง หลักฐาน หรือกระทั่งสิ่งที่ปรากฏชัดคาตาอยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว ท่าทีนี้แหละครับทีอยากจะลองมานั่งขบดูว่าอะไรกันหนอที่สร้างประชากรที่น่ารัก เชื่อฟังผู้นำได้มากถึงเพียงนี้
ผมคิดว่าคำตอบอยู่ที่ ‘การเมืองวันสิ้นโลก’ (apocalyptic politics) หรือ ‘โวหารวันสิ้นโลก’ (apocalyptic rhetoric) นั่นเองครับ
ภาพของสภาวะสิ้นโลกนั้นไม่ใช่อะไรที่ใหม่เลย จริงๆ แล้วเราคุ้นชินกับมันมากๆ เพราะถูกผลิตซ้ำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานผ่านสารพัดสื่อ ไม่ใช่แต่เพียงหนังวันสิ้นโลก ซีรีส์ซอมบี้ครองเมือง หรือข่าวสงครามและการก่อการร้ายเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโวหารวันสิ้นโลกนี้สามารถนับย้อนไปได้หลายพันปีเลย เพราะมันเป็นองค์ประกอบสำคัญในคำสอนของแทบจะทุกศาสนา
สภาวะวันสิ้นโลกในคำสอนทางศาสนานั้นปรากฏอยู่ทั่วไปในสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่พระเจ้าส่งน้ำมาท่วมโลกแบบศาสนาคริสต์ วิกฤติครั้งใหญ่ในสังคมแบบโซโรอัสเตอร์ การผลัดเปลี่ยนโองการสวรรค์ (Mandate of Heaven) ของจีน สงครามสุดท้ายของตำนานปกรณ์นัมนอร์ส หรือกลียุคแบบพุทธ-พราหมณ์ อย่างไรก็ดี การสูญสลายครั้งใหญ่หรือการชำระล้างโลกต่างๆ นี้ แม้จะเป็นมหาวิกฤติในตัวมันเอง แต่มักจะเป็นการสื่อถึง ‘การเริ่มต้นใหม่ที่สวยงามและบริสุทธิ์ยิ่งกว่าเดิม’ ด้วย
การหมุนวนสู่การเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่านี้เองนำมาซึ่งมโนทัศน์ของเวลาทางศาสนา หรือที่เราเรียกกันว่า ‘เวลาแบบก่อนสมัยใหม่’ ซึ่งมีได้ทั้งลักษณะของเวลาที่หมุนเป็นวงกลม (cyclical timeline) และเวลาที่เป็นเนตรงแต่มีจุดสิ้นสุด (finite linear timeline) ซึ่งตรงกันข้ามกับคติของเวลาแบบสมัยใหม่ที่เป็นเส้นตรงและไร้จุดสิ้นสุด (infinite linear timeline) หรือก็คือเวลาที่ไหลจากอดีตที่ดูจะไร้จุดสิ้นสุดไปหาอนาคตที่ไกลจนไร้ซึ่งปลายทาง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะภายใต้เวลาที่หมุนวน หรือจุดจบของกาลเวลาก็ตามที เงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งการพลิกกลับของหายนะเข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ หรือบั้นปลายของยุคสมัยนั้น คือ การปรากฏตัวขึ้น ‘ฮีโร่ผู้ทรงธรรม’ ตามคติแนวคิดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมสไซอาห์ ฮ่องเต้องค์ใหม่ หรือพระศรีอาริย์ก็ตามที ลักษณะของการใช้โครงเรื่องของ ‘ฮีโร่ผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถและความทรงธรรม’ ที่จะเข้ามาสร้างการเริ่มต้นใหม่ให้กับสภาวะวิกฤติในเรื่องเล่านั้นๆ เราเรียกกันว่า Dues Ex Machina (เดส เอ็กซ์ มาคีนา)
ในทางหนึ่ง Dues Ex Machina คือ ตัวละครใหม่ในเรื่องเล่าใหญ่นั้นๆ ที่ดูจะโผล่มาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยนัก แล้วสามารถมาหยุดยั้งมหาวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ชนิดที่ไม่มีใครมีปัญญาทำได้อย่างง่ายๆ ด้วยตัวคนเดียว ฉะนั้นแล้วในทางวรรณกรรม การแก้ปัญหา ‘ทางตันของเนื้อเรื่อง’ ด้วย Dues Ex Machina บางครั้งจึงถูกมองเป็นการมักง่ายไปสักหน่อย แต่กระนั้นก็เป็นโครงเรื่องที่อยู่กับสังคมมนุษย์มาแทบจะทุกสังคม และผ่านช่วงเวลาเป็นพันๆ ปีโดยไม่เสื่อมคลาย ฉะนั้นแม้จะเป็นเนื้อเรื่องที่มักง่ายไปสักหน่อย แต่จะไปดูถูกพลังในการหล่อหลอมทัศนคติของสังคมก็คงจะไม่ได้เสียทีเดียว ไม่นับอีกด้วยว่าโครงเรื่องของ Dues Ex Machina นี้เองที่บอกกับเราว่า ฮีโร่ที่มาช่วยให้เกิดการเริ่มต้นใหม่นี้ คือ ผู้ซึ่งถึงพร้อมและควรค่าที่จะปกครองเราด้วยสิทธิอันเด็ดขาด
พลังของโวหารวันสิ้นโลกมีอิทธิพลมากขนาดที่ว่า คำอธิบายสำคัญประการหนึ่งของการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งก็เพราะเขาเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ยืนยันสนับสนุนประเทศอิสราเอล ทั้งยังสัญญาว่าจะยอมรับและย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาในอิสราเอลจากกรุงเทลอาวิฟมายังกรุงเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวง จุดนี้เองที่สามารถซื้อใจคนยิวและผู้นับถือนิกายเอวานเกลิสต์ (Evangelist) ทั่วฟ้าอเมริกาได้ (ซึ่งตามสถิติที่ออกมาก็ดูจะเป็นจริงตามนั้น เพราะเกือบ 80% ของคนกลุ่มนี้ลงคะแนนให้ทรัมป์ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากระดับที่มีผลกับผลลัพธ์ใหญ่เลยทีเดียว) ซึ่งสำหรับคนที่นับถือนิกายนี้ การยอมรับกรุงเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของดินแดนตามพันธะสัญญาดูจะเป็นจุดสำคัญของวันสิ้นโลก และการมาถึงของเมสไซอาห์คนใหม่ที่จะช่วยนำพาโลกไปสู่การเริ่มต้นใหม่ได้นั่นเอง ซึ่งหากคำอธิบายนี้จริง เราก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าโวหารวันสิ้นโลกนี้ทรงอิทธิพลจริงๆ ในทางการเมือง
การเมืองวันสิ้นโลกไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่เรื่องเล่าของความเชื่อและศาสนาเท่านั้นนะครับ แต่โวหารและภาพอุปมาแบบเดียวกันนี้ยังมีให้เห็นได้โดยทั่วไปในหมู่นักคิดทฤษฎีทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักคิดสายสัจนิยม (realist thinkers) ไล่มาตั้งแต่มาคิอาอาเวลลี, โทมัส ฮอบส์ ไปจนถึงฮานส์ มอเกนธาว นักรัฐศาสตร์สายสัจนิยมคนดังแห่งศตวรรษที่ 20 เลย
งานของนักคิดเหล่านี้ โดยเฉพาะโทมัส ฮอบส์ ดูจะให้ภาพของ ‘โลกในวันสิ้นโลก’ อย่างถึงพริกถึงขิงมากที่สุด เพราะเขาอธิบายถึงสภาวะดังกล่าวว่าเป็นสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ (State of Nature) ที่ไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆ อีกต่อไป อันจะนำมาซึ่ง War of All against All หรือสงครามที่ทุกคนล้วนฆ่าฟันกันหมดทุกทิศทุกทาง เพราะสำหรับฮอบส์แล้ว มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว อำมหิต โหดเหี้ยม และน่าขยะแขยงโดยสันดาน ในทางหนึ่งก็คือ มหาวิกฤติจากความไร้ระเบียบ ซึ่งละม้ายคล้ายกับกลียุคในคติแบบศาสนานั่นเอง
ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อู่ฮั่น (Wuhan) หากท่านใดได้เห็นภาพฟุตเทจเหตุการณ์จะเห็นได้ว่า นอกจากฉากคนล้มลงอย่างกะทันหัน ก็ยังจะได้เห็นภาพของความโกลาหลมากมายของคนที่พร้อมจะอาละวาดใส่กันตลอดเวลา ทั้งในห้างร้านที่แย่งกันซื้อของไปตุนเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง หรือในโรงพยาบาลก็ตามที ไม่ต้องนับถึงข่าวที่ลงใน Yahoo Taiwan[2] ที่กล่าวถึงผู้ป่วยติดเชื้อคนหนึ่งซึ่งดูจะหมดทางรอดแล้ว และได้ถ่มน้ำลายใส่เจ้าหน้าที่ที่ทำการรักษา พร้อมกับบอกว่าหากตนไม่รอดคนอื่นก็อย่าอยู่เลย สภาวะดังกล่าวนี้ดูราวกับนำเอาคำบรรยายสภาวะธรรมชาติของฮอบส์มากำกับเลยทีเดียว
ทำนองเดียวกัน ในระดับความเข้มข้นที่เบาลงมามากๆ การกัดกัน การให้ร้าย โจมตีกันในโลกโซเชียลที่แทบจะไร้ซึ่งระเบียบนั้น ก็ดูจะสะท้อนปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายๆ กัน คือ สงครามของทุกคนต่อทุกคน นัวเนียกันไปทั่วไม่มียั้ง
แล้วสภาวะแบบนี้จะหยุดลงได้อย่างไรเล่า? มันจะหยุดก็ต่อเมื่อมีอำนาจที่ทรงพลังมากๆ เกินกว่าใครๆ ในชุมชนทางการเมืองอันแสนวุ่นวายจะสามารถขัดขืนได้ ซึ่งก็คือ Leviathan (เลเวียธาน) หรือองค์รัฏฐาธิปัตย์ (The Sovereign) ของฮอบส์นั่นเอง ซึ่งในยุคสมัยของฮอบส์นั้น เขาหมายถึงทั้งตัวกษัตริย์หรือผู้นำที่มีสมบูรณาญาสิทธิ และตัวรัฐในฐานะ ‘กรอบอำนาจที่จะเข้ามาสร้างระเบียบและกำหนดวิถีปฏิบัติให้ประชากรในชุมชนการเมืองของตนต้องปฏิบัติตามได้
อาลิสัน แม็กควีน (Alison McQueen) นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเองก็ได้อภิปรายในหนังสือของเธอที่ชื่อ Political Realism in Apocalyptic Times ว่า ในสภาวะวิกฤติที่ผู้คนต้องเผชิญหน้ากับความอยู่รอด หรือตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสมการความขัดแย้งแสนจะคลาสสิกอย่าง ‘ดี vs. เลว. นั้น มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะ ‘เห็นชอบ’ (justify) การใช้วิธีการที่เลวร้ายหรือเหี้ยมโหดต่างๆ ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงคราม หรือการทรมาณ
ว่าอีกแบบก็คือ สภาวะวิกฤติหรือสภาวะธรรมชาตินั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประชากรจำนวนมากของสังคม ‘เห็นดีเห็นงามกับการใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม-เด็ดขาด’ ได้ง่ายขึ้น เราไม่ต้องสนใจความถูกต้องหรือหลักการอะไรแล้ว เพราะนี่คือสภาวการณ์เฉพาะที่หลักการหรือชุดคุณค่าที่เคยเชื่อถือกันว่าถูกต้องมาแต่เดิมไม่สามารถจะนำมาใช้การได้อีกต่อไป สิ่งที่สำคัญคือ การยุติเรื่องที่เกิดขึ้นให้ได้ และการจะยุติมันได้นั้นก็จำเป็นที่จะต้องมี ‘ผู้นำหรือฮีโร่ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถือครองอำนาจเต็ม’ ผู้นำนี้จึงจะต้องได้รับการปกป้องและสนับสนุนโดยไม่ต้องสนข้อเท็จจริงหรือหลักการอะไรใดๆ อีก หรือก็คือ การเกิดขึ้นของสภาวะที่สร้างผู้นำแบบเมสไซอาห์ขึ้นมา ที่คำพูดและอำนาจทุกอย่างเป็นประกาศิต เป็นความจริงนิรันดร์อันไม่อาจจะเห็นต่างหรือโต้แย้งได้
ทั้ง Deus Ex Machina และ Leviathan อันเป็นฮีโร่อำนาจนิยมในยามวิกฤตินี้เอง ที่ผมคิดว่าทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างการต้องมารักฝุ่นเพื่อจะไม่ชังชาติ หรือการสนับสนุนสีจิ้นผิงชนิดลืมตาย ขนาดที่คนจีนบางกลุ่มประกาศไม่ใส่มาสก์เพราะมั่นใจในตัวผู้นำ การให้ความชอบธรรมแก่การใช้อำนาจลักษณะนี้ มักจะถูกพ่วงมาด้วยคำอธิบายเรื่องสภาวะยกเว้น (state of exception) ว่านี่คือสภาวะยกเว้นพิเศษ ที่เราไม่สามารถจะใช้ระเบียบปกติมาใช้งานได้ แต่พร้อมๆ กันไป การยอมรับสภาวะยกเว้นนี้เองนี่แหละที่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้การทำงานแบบอำนาจนิยมนั้นเข้มแข็งได้โดยง่ายยิ่งขึ้นด้วย เพราะสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทุกครั้งที่มีการสร้างหรืออ้างสภาวะยกเว้นขึ้นมา มันคือการย้ำหรือแสดงให้เห็นถึงการเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดแต่เพียงหนึ่งเดียวด้วยนั่นเอง
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้จะสื่อว่าการให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องมีเหตุผล ตรงกันข้าม ผมเพียงแค่อธิบายว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้น และเราควรจะดึงสติตัวเองเลิกอ้าปากป้อนอำนาจให้กับผู้นำเหล่านี้ได้แล้ว เพราะยิ่งเรายกอำนาจให้พวกเขามากเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่า ‘คุณค่าของเราและความเป็นเจ้าของอำนาจของเรา’ ก็จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น สุดท้ายแล้วเราก็จะผลักให้ตัวเองกลายเป็นเพียงร่างไร้อำนาจอันกลวงเปล่า (Homo Sacer) ที่เขาพร้อมจะสละทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ไปพร้อมๆ กันด้วย
การยืนยันความอยู่รอดในภาวะวิกฤติ เอาจริงๆ แล้วก็มีแต่การตอกย้ำและคงสถานะความเป็นเจ้าของอำนาจและคุณค่าของตนเองเสมอเท่านั้นแหละครับ หยุดคล้อยตามกับเรื่องเล่าของฮีโร่ผู้ผดุงคุณธรรมหรือเจ้าชายขี่ม้าขาวจากปลายฟ้ามาขจัดภยันตรายได้แล้ว ถ้าเราเลิกด่า เลิกวิจารณ์ผู้บริหารประเทศที่มีหน้าที่ต้องบริการและจัดการปัญหานี้ให้กับเราเมื่อไหร่ เขาก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องสนใจเรามากเท่านั้น เพราะสถานะเราจะเปลี่ยนจากเจ้านายพวกเขา ไปเป็นฝุ่นใต้รองเท้าพวกเขาในทันที
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.youtube.com
[2] โปรดดู tw.news.yahoo.com