ทุกวันนี้เราเลือกกินอาหารด้วยเหตุผลอะไรกันบ้าง ความสะดวกรวดเร็ว ปริมาณที่ได้เมื่อเทียบกับราคา หรือว่าความอร่อยรสชาติที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยต้นๆ ที่ช่วยให้เราตัดสินใจว่าจะตักอะไรเข้าปากบ้าง
แต่ทั้งที่จริงแล้วเหตุผลที่เรากินอาหารก็เพื่อรับเอาโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ ต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมสร้างร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอีกด้วย การกินอาหารให้หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเราได้รับแร่ธาตุที่จำเป็น และฟลูออไรด์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน เราทุกคนรู้จักคุ้นเคยกับคำว่าฟลูออไรด์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กชั้นอนุบาล บางคนอาจรู้ว่าแร่ธาตุชนิดนี้จะช่วยทำให้สารเคลือบฟันของเราทนทานแข็งแรงขึ้น หลังจากเรากินอาหารเข้าไปสภาพในช่องปากของเราจะมีภาวะเป็นกรดซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตของแบคทีเรียบางชนิด ก็จะทำให้แร่ธาตุแคลเซียมและฟอสเฟตของเคลือบฟันสูญเสียไป และน้ำลายจะออกมาช่วยเติมแร่ธาตุกลับคืนสู่ฟันของเรา วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยธรรมชาติ ซึ่งฟลูออไรด์จะเป็นตัวช่วยป้องกันการสลายตัวให้พอดีทำให้ฟันของเราไม่สึกกร่อนจนผุได้ง่ายๆ แต่บางคนน่าจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า นอกจากในยาสีฟันแล้ว ในอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวัน บางเมนูก็มีฟลูออไรด์ผสมอยู่ด้วย
และด้วยเมนูแสนอร่อยต่อไปนี้ เราก็สามารถอิ่มอร่อย และเพิ่มฟลูออไรด์ให้ตัวเองได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องแอบกินยาสีฟันเหมือนตอนเด็กๆ อีกต่อไป
จิบชายามเช้า
เครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมวลมนุษยชาติมายาวนานนับพันปีนี่แหละที่มีฟลูออไรด์อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นชาดำ ชาอู่หลง ชาขาว หรือชาเขียว จากผลการศึกษาของ Medical College of Georgia พบว่า ชา 1 ลิตร มีฟลูออไรด์ผสมอยู่มากถึง 9 มิลลิกรัม ซึ่งนับเป็น 13 เท่าของปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มทั่วไปเลยทีเดียว ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายของเราจะต้องการ หากอยากได้ฟลูออไรด์แบบพอดีๆ ก็ควรใช้น้ำจากเครื่องกรองในการชงชายามเช้ากันนะ
เคี้ยวยำปลากระป๋อง
บีบมะนาวนิด หั่นพริกขี้หนูใส่หน่อย เติมน้ำปลาให้พอกลมกล่อม แล้วซอยหอมแดง ตะไคร้ โรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอยหรือใบสะระแหน่ เท่านี้ก็ได้ยำปลากระป๋องที่ชวนให้เจริญอาหารได้เสมอ เป็นอาหารทะเลราคาถูก ใกล้ตัวที่นอกจากจะมีไอโอดีนที่ไม่ทำให้เราเป็นโรคคอหอยพอกแล้วยังแถมฟลูออไรด์มาให้ในปริมาณมากอีกด้วย ยิ่งอาหารทะเลบรรจุกระป๋องก็ยิ่งมีฟลูออไรด์มากขึ้น เพราะกระบวนการแปรรูปอาหารในโรงงานจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ฟลูออไรด์เข้มข้นขึ้นไปอีก
ดื่มไวน์ยามค่ำ
คิดจะมีค่ำคืนอันดื่มด่ำโรแมนติกใต้แสงเทียบ จิบไวน์องุ่นรสดีนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องไม่ลืมเช็กที่มาที่ไปให้ละเอียด นอกจากจะเลือกให้ตรงจริตของเราแล้ว หากอยากได้ฟลูออไรด์เพิ่มเป็นพิเศษก็ต้องถามหาไวน์ขวดที่ไม่ติดฉลากว่าเป็นไวน์ที่ผลิตจากองุ่นออร์แกนิก จึงจะมีฟลูออไรด์แถมให้มากกว่าแค่ 0.3 มิลลิกรัมต่อแก้วอย่างแน่นอน
กินสลัดผัก
ผักผลไม้สดฉ่ำหวานกรอบที่ดูเฮลตี้ดีต่อสุขภาพนี่แหละเป็นแหล่งสะสมฟลูออไรด์ที่มากที่สุดแหล่งหนึ่ง แต่ต้องคัดกันสักหน่อยว่า ถ้าอยากได้ฟลูออไรด์เพิ่มก็ต้องเลือก ‘ผักไม่ปลอดสารพิษ’ เท่านั้น อ่านไม่ผิดหรอกนะ! ผักที่มียาฆ่าแมลงนั่นแหละที่เต็มไปด้วยฟลูออไรด์ เพราะแร่ธาตุนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของบรรดาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังไงล่ะ
ซดเล้งแซ่บ
ใครจะรู้ว่าแค่กระดูกสันหลังติดเนื้อหน่อยๆ ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านอาหารนำมาต้มเป็นน้ำสต๊อกแล้วทิ้งไปทุกวัน เพียงนำมาปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา มะนาว แล้วสาดพริกขี้หนูสับเข้าไปเยอะๆ ก็กลายเป็นเมนูยอดฮิตที่ขายกันเป็นล่ำเป็นสันทั่วไทย เป็นอีกหนึ่งเมนูที่อุดมไปด้วยฟลูออไรด์ เพราะการต้มกระดูกในน้ำเดือดปานกลางประมาณ 85-96 องศาเพื่อทำน้ำสต๊อกนั้นจะเป็นการดึงเอาสารฟลูออไรด์ออกมาจากกระดูกของสัตว์ที่เลี้ยงด้วยข้าวโพด ธัญพืชต่างๆ ที่ซึมซับเอาฟลูออไรด์จากยาฆ่าแมลงมาเก็บไว้อีกที
แม้ว่าฟลูออไรด์จะมีประโยชน์แค่ไหน แต่หากมากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น หากได้รับฟลูออไรด์ปริมาณมากเกินไปในคราวเดียวอาจทำให้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียได้ หรือหากบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฟลูออไรด์เยอะเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็อาจส่งผลให้ฟันตกกระ และปวดตามกระดูก ลุกลามไปยังกระดูกสันหลังจนอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว นอกจากต้องระวังเรื่องที่มาของอาหารที่เรากินเข้าไปว่าอาจจะทำให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินพอดีแล้ว การเลือกยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ก็ต้องเช็กให้ดีว่ามีฟลูออไรด์เท่าที่จำเป็น และไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปากและฟันในระยะยาวด้วยเช่นกัน นอกจากการป้องกันโรคฟันผุโดยการเติมฟลูออไรด์เข้าไปโดยการรับประทานอาหาร หรือการเลือกใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์แล้ว อีกทางหนึ่งที่เรายังพอทำได้คือ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุด้วยเช่นกัน
บทความสนับสนุนโดย Curaprox TH
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=91
http://www.cheeseslave.com/top-5-sources-of-fluoride-its-not-your-toothpaste-or-drinking-water/
https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_19811
http://dental.anamai.moph.go.th/elderly/PR/media/fluoride/knowf2.html
https://www.myfooddata.com/articles/high-fluoride-foods-and-drinks.php