ต้องยอมรับว่า เรื่องของ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าทุกวันนี้อยู่ในความสนใจของคนยุคนี้มากขึ้น เพราะกระแสของสิ่งแวดล้อม สมรรถภาพของรถ สถานีชาร์จไฟ ไปจนถึงเรื่องของราคาที่ถูกลง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าโลกของระบบขนส่งจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานน้ำมันไปสู่ยุคของไฟฟ้าเร็วๆ นี้
หนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่กำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คือ กฟผ. หรือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ได้เดินหน้างานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้า รวมไปถึงการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้มีทิศทางที่สดใสขึ้น
ลองไปฟังแนวคิดของ วฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT Proventure ของ กฟผ. กับเบื้องหลังในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า การใช้งานจริง และการสร้าง Ecosystem ของการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
มองภาพรวมของตลาดรถ EV และยานยนต์ไฟฟ้าทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ภาพรวมตอนนี้ มองว่า อยู่ในช่วงไต่ขึ้นของ S-Curve เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มผ่านเข้าสู่ช่วงที่ความชันสูงสุด จะเข้าสู่ช่วงเติบโตต่อเนื่อง แล้วเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ด้วยราคารถที่เริ่มลดลง จะเห็นว่าคนใช้เยอะขึ้น ปีที่แล้วมีรถที่เป็น BEV หรือ Battery Electric Vehicles ไม่ถึง 3,000 คัน แต่ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 5,000 คันแล้ว ส่วนรถที่เป็น EV ผสมที่เติมน้ำมันได้ด้วย ทั้ง Hybrid หรือ Plug-in Hybrid ก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ จากประมาณ 150,000 คันก็เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 170,000 คัน ส่วนสถานีชาร์จก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ 600 จุดทั่วประเทศ
ฉะนั้นในภาพรวมทิศทางคือเริ่มดีมากขึ้นในแง่ของผู้ใช้งานและจุดบริการต่างๆ มองว่าไม่เกิน 5 ปี เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่าน แต่ปัญหาถัดไป คือเมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วแล้ว สิ่งที่ต้องคิดคือรถของเดิม อุตสาหกรรมรถยนต์เดิม หรือแม้กระทั่งแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วจะทำอย่างไร
มองว่าอะไรเป็นปัจจัยให้คนหันมาสนใจ EV มากขึ้น
เรียกว่าทุกอย่างเลย คือเหมือนสภาพแวดล้อมต้องเอื้อก่อน ที่ผ่านมาเป็นปัญหาไก่กับไข่ เมื่อก่อนพูดกันว่ารอคนใช้รถเยอะ ก็ไปลงทุนกับสถานีชาร์จ ซึ่งจริงๆ แล้วบางคนบอกสถานีชาร์จควรจะเกิดก่อน คนจึงหันมาซื้อรถเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งสองอย่างจะต้องโตไปด้วยกัน จะไปอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนไม่ได้ ส่วนหนึ่งเราก็มองถึงตลาดที่เป็น Niche Market อย่างคนที่สนใจรักษ์โลก เพราะว่ารถพวกนี้จะช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของการปล่อยก๊าซ CO2 หรือการทำให้เกิด PM 2.5 ที่ต่ำ แต่ถ้าเราจะทำให้แพร่หลาย เรามองเรื่องราคาที่เริ่มถูกลงเป็นปัจจัยสำคัญ โดยปกติแล้วรถพวกนี้การกินเชื้อเพลิงต่อกิโลเมตร จะตกประมาณสัก 1 บาทต่อกิโลเมตร หรือต่ำกว่านั้นถ้าชาร์จที่บ้าน ในขณะที่รถน้ำมันจะตกเกือบ 2 บาทต่อกิโลเมตร ฉะนั้นค่าเชื้อเพลิงก็ถูกกว่าแล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้ราคาตัวรถแพงกว่า แต่จะเห็นว่ามีรถบางยี่ห้อที่ได้สิทธิภาษีการนำเข้า ที่ขายราคาพอๆ กับรถน้ำมันที่สเปคเดียวกัน ซึ่งถ้าราคารถลงมา ความประหยัดนี้จะช่วยให้ในส่วนของ Mass Market เติบโตได้
ทำไม กฟผ. ได้หันมาสนใจและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า
จุดประสงค์หลักคืออยากให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนผ่าน ถามว่าประเทศได้อะไร หนึ่ง คือต้นทุน Logistics ของประเทศลดลง เพราะค่าเชื้อเพลิงถูกลงอยู่แล้ว สอง คือเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในเมือง เรามองว่า กฟผ. คือแขนขาของรัฐในฐานะรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นเราก็มีกำลังที่จะเข้าไปช่วยผลักดันตรงนี้ให้มันเกิดได้เร็ว การผลักดันของเราคือการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐด้านพลังงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ปตท. กฟผ. กฟน. กฟภ. ทุกฝ่ายมีหน้าที่จะต้องช่วยทำให้ Infrastructure เกิดขึ้น แล้วก็ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ
อยากให้เล่าถึงกระบวนการลงมือทำที่ผลักดันให้เกิดขึ้น ว่ามีรูปแบบอย่างไร
ที่ผ่านมาเราทำในหลายมิติ อย่างมิติเรื่องของ R&D ที่กำลังทดลองเก็บข้อมูลเรื่องของสถานีชาร์จในพื้นที่ของ กฟผ. ซึ่งต่อไปเราจะผลักดันให้ไปสู่จุดที่เป็น Commercial Area มากขึ้น ทั้งในพื้นที่เราเองและที่ของพันธมิตร ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงมีจุดชาร์จบนเส้นทางระหว่างเมือง เพื่อทำให้คนสบายใจแล้วสนใจที่จะหันมาใช้
เรื่องของงานวิจัยการดัดแปลงรถยนต์เก่าให้เป็นรถไฟฟ้า เรามีการจัดเทรนนิ่งให้ช่างมาดูว่า ถ้าคุณอยากจะดัดแปลงรถจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง เราก็มี Partner ที่เป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาอย่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีส่วนร่วมกับเราในการทำ คือเริ่มจากรถเล็กก่อน แล้วตอนนี้ก็กำลังลองวิจัยทำรถใหญ่อยู่ เรามองว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีรถเก่าอยู่แล้ว บอกเขาว่ามีอีกทางเลือกให้ลอง Modify เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้ ส่วนจะคุ้มไหม เหมาะหรือไม่เหมาะ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้ตามลักษณะการใช้ของแต่ละคน นอกจากนั้นเรายังวิจัยทำเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นเรือบริการรับส่งพนักงานและมีกิจกรรมกับชุมชน เรือนี้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยและพันธมิตร และกำลังร่วมมือกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกองทัพเรือ เพื่อลองต่อเรือจากคนในอุตสาหกรรมเอาไปใช้ที่เขื่อน รวมถึงการพัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น และยังมีรถ Shuttle Bus ไฟฟ้า เชื่อมต่อกับขนส่งทางรางอย่าง MRT หรือรถไฟฟ้า เช่น วิ่งไปสถานีวงศ์สว่าง สายสีม่วง สถานีบางอ้อ สายสีน้ำเงิน และเราก็เสนอให้ทำสถานีรถไฟฟ้าบางกรวย-กฟผ. สายสีแดง เรามองเรื่องการเชื่อม ล้อ-ราง-เรือ เป็น E-mobility
ส่วนในเชิงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) เราเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์ กฟผ. 51 คันมาเป็นไฟฟ้า ควบคู่กับรณรงค์ให้วินมอเตอร์ไซค์ย่านบางกรวย สะพานพระราม 7 ว่า ใครสนใจจะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้าง เราก็ให้เขาได้ทดลองใช้ เริ่มต้นอีก 51 คัน แล้วถ้าขับดี พฤติกรรมดี ตามเงื่อนไข เวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง เราจะสนับสนุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ไปใช้ หรือการร่วมกับกรมเจ้าท่าทำ Smart Pier รวมถึงที่จะทำ Smart Bus Stop, Smart Garden มีศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่ให้ความรู้เรื่องนี้กับคนทั่วไปมากขึ้น เป็นการสร้างบางกรวยให้เป็น Bangkruai Green Community เป็นต้นแบบของชุมชนที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด
ส่วนภาคเอกชน กฟผ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาอย่างไร
เรามีการคุยกับรถยนต์หลายแบรนด์ทั้งค่ายยุโรป ญี่ปุ่น จีน โดยมีการทำ R&D ร่วมกันบ้าง มาร่วมใน Platform เราบ้าง และ กฟผ. เองก็เป็นผู้แทนจำหน่าย Smart Charger ซึ่งมีขนาดเล็ก ที่ใช้ตามบ้านยี่ห้อ Wallbox ซึ่งเป็นแบรนด์จากประเทศสเปน ช่วยให้ผู้ใช้รถสะดวกในการชาร์จไฟที่บ้าน เพราะเราก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง แล้วตอนนี้เราก็พัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็น Platform สำหรับทุกคน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานีชาร์จแบบไม่จำกัดว่าเป็นยี่ห้อไหน เราพร้อมเปิดเชื่อมโยงกับทุกเจ้า ส่วนในเรื่องพื้นที่ติดตั้งสถานีชาร์จก็ไปดูว่าสถานีบริการน้ำมันไหนมีความพร้อม และเราก็ได้พันธมิตรที่จะเริ่มต้นพัฒนาร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะวางสถานีชาร์จระหว่างเมือง รวมไปถึงเราอยู่ระหว่างพัฒนาการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง หรือ DC Charger เพื่อนำไปใช้ในสถานีบริการของเราและพันธมิตรในอนาคตด้วย
ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่เราทำได้ คือเรื่องของการสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้รถ EV หลักๆ เรามองไปทางโซนภาคตะวันออกและโซนภาคกลางที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีการขนส่งเป็นจำนวนมาก ใครเป็นเจ้าของ Fleet รถบรรทุก เรียนเชิญมาคุยกัน เราอยากสนับสนุนให้ท่านเปลี่ยนผ่าน และส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือการใช้ชีวิตระหว่างรอชาร์จไฟที่สถานี คือเวลาคนทั่วไปเข้าปั๊ม จะไม่ได้สนใจแค่เติมน้ำมัน แต่ยังสนใจไลฟ์สไตล์รอบๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ด้วย ยิ่งรอชาร์จไฟครึ่งชั่วโมง ต้องหาอะไรทำรอ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน คือทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนคนละไม้คนละมือ สร้างบรรยากาศของการน่าใช้ให้เกิดขึ้น
มีส่วนไหนที่มองว่ายังเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนี้บ้าง
ณ วันนี้ อุปสรรคจริงๆ เป็นเรื่องของ Mindset ในอุตสาหกรรมนี้ หลายคนก็อาจจะมองถึงเรื่องรายได้เป็นหลัก คือมองในเชิงอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยคู่แข่ง ซึ่ง กฟผ. มองเรื่องนี้ว่าเป็นการขยาย Ecosystem ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนผ่านด้วยการเข้ามาร่วมกัน แล้วทุกคนก็ได้ประโยชน์ ประเทศต้นทุนลดลง แข่งขันได้ ซึ่งเราก็คิดว่า ในขณะที่ตลาดกำลังโต อยากให้มองว่าแทนที่จะเป็นคู่แข่ง มาเปลี่ยนเป็นการช่วยกันดีกว่า เราถึงอยากทำ Open Platform ที่ใครก็มาร่วมกับเราได้
ส่วนของประชาชนผู้ใช้งานทั่วไป อุปสรรคคือความกังวล ในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ และความกังวลในการใช้งาน ทั้งระยะทางที่ใช้งานได้จริง สถานีชาร์จที่เพียงพอ รวมไปถึงเรื่องการบำรุงรักษา และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของวัตถุดิบต้นทาง หรือแบตเตอรี่ ซึ่งถ้าเกิดประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาในระดับที่เหมาะสม เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นในการสร้าง Ecosystem กฟผ. มองว่า ไม่มีใครเป็นต้นทาง เพราะทุกคนสามารถเข้ามาร่วมกันได้
ในอนาคตหากมีการใช้รถ EV มากขึ้น ทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ. มีการวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพออย่างไร
ใน 5-10 ปีนี้ยังไม่น่ากังวลเรื่องกำลังผลิต แต่ว่าสิ่งที่เรากังวลคือเรื่องพื้นที่ว่าจะจ่ายไฟไปถึงไหม อย่างเช่นในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงยาก หรือช่วงเทศกาลที่เคยมีข่าวน้ำมันหมดที่แม่ฮ่องสอน เราก็กังวลประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการส่งเสริมระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะระบบการส่งก็ต้องพร้อมมากขึ้น ซึ่งบางที Solution อาจจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่สำรองที่เข้าไปเสริมในพื้นที่นั้นๆ ก็จะช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้
ทิศทางต่อไปของ กฟผ. มีการวางนโยบายเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาวอย่างไร
หัวใจหลักเรามองในเรื่องของการขยาย Ecosystem ผ่าน Open Platform ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการเพิ่มสถานีชาร์จให้มากขึ้น ในระยะยาวเรามองเรื่องแบตเตอรี่เป็นหลัก ซึ่งตอนนี้เรากำลังพัฒนาแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานในรถแล้วให้สามารถนำมา Reuse เพื่อใช้เป็น Energy Storage ในระบบไฟฟ้า รองรับเรื่องของการผลิตหรือใช้พลังงานทดแทน ถ้าเราใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ คุณค่าของมันก็จะสูงขึ้น รวมถึงเราก็อยู่ระหว่างศึกษาเรื่อง Recycle กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าข้อกังวลนี้ลดลง ค่าใช้จ่ายในการจัดการซากลดลงเพราะเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้ ก็น่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่าน Logistics โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้รถบรรทุกในการขนส่ง เพราะประเทศไทย GDP ที่ใหญ่สุดคือการส่งออก ถ้าสามารถลดต้นทุน Logistics ได้ จะช่วยให้ส่วนอื่นๆ ดีขึ้นได้ด้วย คือเรามองเรื่องรถไฟฟ้า ไม่ได้มองแต่ตัวรถยนต์ แต่มองไปถึง Ecosystem ทั้งหมดของระบบขนส่งเลย