พวกเราส่วนใหญ่ ‘รักอาหาร’ การถูกรายล้อมด้วยอาหารเป็นการแสดงความมั่นคงทางฐานะ ในแง่หนึ่งมันช่วยยืนยันว่าคุณจะไม่อดในเร็ววันนี้ ดังนั้นใครๆก็อยากมีตัวเลือกที่จะกินเผื่อเหลือเผื่อขาด แต่แท้จริงแล้ววาระสุดท้ายของอาหารจำนวนมาก ไม่เคยตกถึงท้องพวกเราเลยสักแคลลอรี่เดียว ส่วนใหญ่มันไปอยู่ใน “ถังขยะ” ซะมากกว่า 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่โลกผลิตได้ กลายเป็นขยะ (Food Waste)
อาหารเหล่านี้เน่าเสีย ถูกคัดทิ้ง โดนละเลย จนไม่มีโอกาสไปอยู่บนโต๊ะอาหาร แต่สถานการณ์ในขณะนี้ทำให้เราคิดแบบนี้ได้อีกไม่นาน อุตสาหกรรมผลิตอาหารไม่สามารถเลี้ยงประชากรได้เพียงพอ แม้คุณจะเห็นห้างร้านทุกที่เต็มไปด้วยอาหาร แต่คนพันล้านกำลังหิวโหย
โชคดีที่ความตื่นตัวเรื่องการลด Food Waste กำลังเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจของธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ แม้เราไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์อาหารจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยทันที แต่การมองอาหารในมิติใหม่ๆเชื่อมโยงจาก “ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร” อาจทำให้คุณได้ประโยชน์และประหยัดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทำไมทั่วโลกถึง No Waste Food กันแล้ว
Waste Food คือความเจ็บปวดของคนทั้งโลก ในขณะที่ทุกๆวัน ประชากรโลก 1 ใน 8 คนยังคงอดอยาก การสูญเสียของอาหาร เสียหายทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สิ้นเปลืองการใช้ทรัพยากร สูญเสียรสชาติที่ดีและคุณค่าทางอาหารที่จําเป็นต่อร่างกายเอาจริงๆคุณก็ไม่ได้ผิดเสียคนเดียว อาหารเหลือทิ้งมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมอาหารเพื่อใช้ในงานเลี้ยงต่างๆที่มากเกินไป การจัดเตรียมเมนูอาหารโดยไม่ได้คํานึงถึงพฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างกลยุทธ์การขายเพื่อระบายสินค้า การทิ้งอาหารที่จําหน่ายไม่หมดของธุรกิจการค้าในแต่ละวัน อาหารเน่าเสียหรือสูญหายระหว่างขนส่ง แม้กระทั้งบางประเทศก็ยังมีวัฒนธรรมการกินให้เหลือไว้ในจานเพื่อเป็นมารยาททางสังคม
ในทางสถิติแล้ว อาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพียงพอที่จะเป็นอาหารให้ประชากรโลกได้ถึง 3,000 ล้านคนเลยทีเดียว แม้แต่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังมีผักและผลไม้สูญเสียตั้งแต่ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลถึง 15-50% ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้ชื่อว่า เป็นภูมิภาคที่สูญเสียผักผลไม้สดประมาณ 50% ระหว่างทางจากฟาร์มสู่ตลาด
อาหารถูกทิ้งไม่ได้แค่น่าเสียดาย แต่กลับสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ขยะจากอาหารสามารถปล่อยก๊าซมีเธน (Methane) ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า
ดังนั้นหลายประเทศจึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อลดวิกฤตนี้ อย่างประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีการคิด “ภาษีอาหารที่ทิ้งขว้าง” ฝรั่งเศสมีกฎหมายสั่งปรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทิ้งผักผลไม้โดยที่ยังไม่หมดอายุและเลิกใช้ ‘วันหมดอายุ’ (Expiration dates) เป็นประเทศแรกๆ
แล้วไทยต้องเจออะไรกับ ‘ขยะจากอาหาร’
ได้ชื่อว่าประเทศไทย ก็ต้องนึกถึงข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ หิวเมื่อไหร่เดินไปปากซอยโค้งเดียวก็อิ่ม เราอยู่ในทำเลทองจนใครๆมักเรียก “ครัวโลก” แต่เมื่อครัวที่ว่าแน่ยังจัดการอาหารได้ไม่ดี สถานการณ์ขยะจากอาหารกลับกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมาที่แก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัย
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2556 มีขยะมูลฝอยปริมาณ 26.77 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณขยะอาหารเป็นสัดส่วนถึง 64% แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสามารถในการกําจัดขยะได้ไม่ถึง 70% ของขยะที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
คนไทย 1 คนจะสร้างขยะต่อวันถึง 1.14 กิโลกรัม! ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีประมาณขยะ 16% ของปริมาณทั่วประเทศ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช และขอนแก่น เป็น 3 จังหวัดที่มีปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอยสูงที่สุด
ไม่น่าแปลกใจที่ขยะมูลฝอยบ้านเราจะละลานตาค่อนข้างมากตามคูคลองและทางระบายน้ำ มันจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่ซะหน่อยที่สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพส่วนใหญ่มาจากปัญหาขยะและขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดก้อนไขมันไปอุดตันที่ท่อระบายน้ำซึ่งกำจัดยากและต้องใช้งบประมาณสูง
อาหารเหลือทิ้งสร้างปัญหาได้มากกว่าที่คิด!
จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) ลดช่องว่างอาหารสูญ
ประชาคมโลกกำลังมองเห็นการสูญเสียทางอาหารเป็นเรื่องเร่งด่วน องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน โดยลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว
กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) จึงมาตอบโจทย์เพื่อลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุ ไปจนถึงขนส่ง จำหน่าย และบริโภค ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ
ต้นน้ำ : ฟาร์ม แหล่งเพาะปลูก
รับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ช่วยให้ เทสโก้ โลตัส และเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกร่วมกันตามความต้องการของตลาด สร้างโรงแพ็คและตัดแต่งใกล้กับแหล่งเพาะปลูกที่ใกล้ที่สุด เพื่อลดการสูญเสียและยืดระยะความสดของอาหาร
กลางน้ำ : กระบวนการขนส่งและจำหน่าย
ควบคุมอุณหภูมิตลอดการขนส่งเพื่อรักษาความสด และร่วมมือกับเกษตรกรในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการสูญเสียระหว่างทาง
ปลายน้ำ : การบริโภค
เมื่อสินค้าถูกส่งไปยังร้านค้า เทสโก้ โลตัส เน้นดูแลจัดเก็บสินค้าอาหารสดอย่างเหมาะสม เพื่อลดการสูญเสีย ณ จุดขาย ไม่ทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น และหากบางส่วนที่ต้องทิ้งจริงๆ จะมีระบบเปลี่ยนอาหารเสียให้กลายเป็นปุ๋ยชีวภาพโดยไม่เสียของ นี่คือการเชื่อมฟาร์มเข้ากับโต๊ะอาหารของคุณ ยิ่งเราสามารถลดช่องว่างได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งลดการสูญเสียของอาหารมากเท่านั้น
อาหารไม่ไร้ค่า เมื่อถึงท้องผู้คนที่โหยหามัน
อาหารล้วนมีคนต้องการเสมอ มันไม่เคยไร้ค่าเลยในสายตาของอีกคน การมองอาหารด้วยสายตาใหม่ ทั้งผู้บริโภค ผู้จำหน่าย และผู้ผลิตสามารถลดความสูญเสียของอาหารและมอบโอกาสใหม่ให้กับผู้ยากไร้ให้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่า
อาหารที่จำหน่ายไม่หมดใน เทสโก้ โลตัส จะถูกนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล มูลนิธิ เพื่อเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารให้กับผู้ยากไร้ จนถึงปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส บริจาคอาหาร ข้าวสาร ผัก ผลไม้สดและอาหารแห้ง แปรเปลี่ยนเป็นอาหารมื้อที่เหมาะสมไปเกือบ 1 ล้านมื้อ ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ที่มองเห็นความหมายของอาหารทุกคำ
ปัญหาอาหารถูกทิ้งไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาแบกรับผลกระทบเพียงใครผู้ใดผู้หนึ่ง มันยังส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้างในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลก อาจถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่เราจะมองอาหารเหลือทิ้งด้วยความใจกว้างปรับเปลี่ยนวิถีการกินให้มีความสมดุล และตระหนักถึงผลเสียอันเกิดมาจากอาหารที่ถูกทิ้งควบคู่ไปกับมาตรการในการรับมือกับสภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร
เพราะเราเชื่อว่า อาหารควรอยู่ในกระเพาะของใครสักคน แทนที่จะนอนแอ้งแม้งในถังขยะที่ถูกลืม