ที่ผ่านมา ‘พลาสติก’ ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดการรณรงค์ลดใช้พลาสติกอย่างหนัก จนถึงขั้นแบนไม่ใช้เลยทีเดียว
แต่หลังจากที่เกิดวิกฤตโควิด-19 มุมมองที่มีต่อพลาสติกว่าเป็นผู้ร้ายก็ค่อยๆ จางหายไป เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในเชิงการแพทย์ อย่างเช่น หน้ากากอนามัย Face Shield ฉากกั้น หรือ partition ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่มีปริมาณการใช้มากขึ้นผ่านบริการ Food Delivery ในขณะที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน และในอีกหลายอุตสาหกรรมที่พลาสติกกลับมามีบทบาทอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้พลาสติกในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ที่พฤติกรรมกำลังเปลี่ยนไป
The MATTER ชวนไปพูดคุยประเด็นนี้กับ ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์ ถึงบทบาทของพลาสติกและอุตสาหกรรมพลาสติกในภาพรวม ว่าจะมีทิศทางที่เปลี่ยนไปอย่างไรหลังยุคโควิด-19
มองภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างไร
มีการประเมินว่า หลังจากโควิด-19 บรรดาสินค้าพวกอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายจะไม่ค่อยเติบโตมากและอุตสาหกรรมยานยนตร์น่าจะมีผลกระทบเยอะสุด แต่หลังจากที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีการใช้พลาสติกต่างๆ เยอะขึ้น โดยเฉพาะอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับปากท้องความเป็นอยู่ของคน ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี คนก็ยังต้องใช้ อย่าง New Norm ที่เกิดขึ้น คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้บริการ Food Delivery มีเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่า Packaging สำหรับการบรรจุและจัดส่งอาหารก็มีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงการ ซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต บรรดาบรรจุภัณฑ์หีบห่อต่างๆ เราก็จะเห็นว่าเป็นพลาสติกแทบทั้งนั้น
ในช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ อาจทำให้ทุกคนลืมเรื่องการลดการใช้พลาสติกไปบ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากโควิด-19 จบไปสักพักแล้ว ทุกอย่างก็อาจกลับมาเหมือนเดิม ทุกคนจะกลับมาแอนตี้พลาสติกกันอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจในประโยชน์มากมายของพลาสติก การเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม และการแยกประเภทขยะหลังใช้งาน ไม่อย่างนั้นพลาสติกก็อาจเป็นผู้ร้ายเหมือนเดิม เรื่องของเทรนด์การแบนพลาสติก ถึงจะไม่มีการแบน ผมว่าคนก็ปรับตัวได้อยู่แล้ว วันนี้เข้าไปช้อปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกคนเคยชินกับการพกถุงผ้าเข้าไป บางครั้งการเป็นแฟชั่นไปแล้วด้วย
อย่างที่เห็นชัดเจน คือพลาสติกมีบทบาทมากขึ้นในเชิงการแพทย์ คิดว่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวไหม
จริงๆ ในช่วงที่ไม่มีไวรัสโควิด-19 พลาสติกก็ถูกเอาไปใช้ในกระบวนการแพทย์เป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวันนี้สิ่งที่สื่อได้ชัดเจนในกรณีที่เกิดโรคระบาดขึ้น คือมีความต้องการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งกระบวนการผลิตอื่นๆ ไม่สามารถที่จะรองรับความต้องการได้ เพราะการนำพลาสติกมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการแพทย์เกิดความคล่องตัวมากที่สุดและเร็วที่สุด ฉะนั้นวันนี้เราจะเห็นกันว่า reception ตามร้านอาหาร จะมีฉากกั้น หรือการใช้ Face Shield ก็พัฒนาขึ้นมาช่วงโควิด-19 นี้เอง ปกติจะมีแค่ใช้ในห้องแล็บ พูดตรงๆ ว่าหลังจากโควิด-19 หมดไปแล้ว ความต้องการใช้พลาสติกในเชิงการแพทย์ ก็จะกลับไปสู่ปกติ อาจจะพัฒนาจากเดิมขึ้นมาบ้าง เพราะพลาสติกมีคุณสมบัติในเชิงการแพทย์อยู่แล้ว ในส่วนของผลกระทบ ขึ้นอยู่ที่วิธีการจัดการหลังการใช้งานวัสดุเหล่านี้ด้วย เช่น มีการเช็ดทำความสะอาด Face Shield จากนั้นทิ้งลงในถังขยะให้ถูกประเภท เพื่อให้สามารถนำไปเข้ากระบวนการต่อได้อย่างถูกต้องหรือไม่ โดยหากว่าทุกฝ่ายร่วมมือกันจัดการขยะอย่างถูกวิธีก็จะสามารถลดผลกระทบได้
เมื่อพลาสติกได้แสดงศักยภาพออกมาในช่วงนี้แล้ว คิดว่ามุมมองต่อการใช้ของคนทั่วไปจะเปลี่ยนไปอย่างไร
มุมมองของคนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องแบนพลาสติก โดยเฉพาะ Single-Use Plastic อาจบรรเทาลง ทุกวันนี้คนเราเริ่มเห็นข้อดีของพลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่ากระบวนการผลิต ตั้งแต่ End to End ของพลาสติก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาวัสดุอื่นๆ อย่างเช่น กระดาษ หรือผ้าก็เช่นกัน รวมถึงคุณสมบัติของพลาสติกเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ มีความยืดหยุ่นมากกว่า กันน้ำได้ ขึ้นรูปได้ง่าย นำไปฉีด ไปเป่า หรือดึงก็ได้ ที่สำคัญราคาถูก วันนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์โควิด-19 คนก็เริ่มที่จะเข้าใจในคุณสมบัติพวกนี้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่ทำอะไรหรือไม่ปลูกจิตสำนึกเรื่องการใช้อย่างคุ้มค่า และการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี สุดท้ายพอหมดเหตุการณ์นี้ไป ก็อาจกลับไปปัญหาเดิม คือพลาสติกเป็นตัวก่อให้เกิดมลภาวะเหมือนเดิม
อะไรคือสิ่งที่ GC พยายามสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจ
ในความเป็นจริง สิ่งที่เราต้องการสื่อก็คือว่า พลาสติกไม่ใช่สิ่งไม่ดี พลาสติกไม่ได้เป็นผู้ร้ายอีกต่อไป แต่เป็นของดีมีประโยชน์ เพราะเราอยู่โดยขาดพลาสติกไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องหาทางประยุกต์ใช้พลาสติกให้มันเหมาะสมกับคุณสมบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออยู่ที่พวกเราทุกคน ต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบที่สุด ฉะนั้น ความตั้งใจของเราคือต้องเดินหน้าพัฒนาความเข้าใจของคน ให้เข้าใจเรื่องพลาสติกให้ดียิ่งขึ้น พลาสติกเองถูกออกแบบมาให้ใช้ซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ถุงก๊อปแก๊ป Shopping Bag ต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนก็ออกแบบมาให้ใช้ได้หลายครั้งอยู่แล้ว
แต่ทุกวันนี้ธุรกิจพยายามสร้างความสะดวกสบายให้กับคนใช้งาน โดยการประหยัดการผลิต คือทำให้ถุงพลาสติกบางลง พอมันบาง โอกาสในการใช้ซ้ำก็ลดน้อยลง ทำให้คนมีความรู้สึกว่ามันเหมาะกับการใช้แล้วทิ้งไปในขณะเดียวกัน ถุงที่มันบาง การเก็บรวบรวมก็ยาก ถ้าทิ้งไว้ไม่ดี ลมพัดมันก็ปลิว ไปลงแหล่งน้ำ ลงในทะเล แต่ถ้าพลาสติกมันหนาขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ทั้งการทิ้งและการจัดการอะไรต่างๆ หลังจากใช้แล้ว ก็น่าจะทำได้ดีขึ้นเราจึงต้องพยายามพัฒนาให้คนมีทางเลือกมากยิ่งขึ้นก็คือการที่ทำให้ถุงไม่บาง เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ซ้ำ ถ้าเราใช้ซ้ำ 3 หน ถุงพลาสติกก็หายไป 3 เท่า คือพยายามพัฒนาตลาดให้เข้ากับพฤติกรรมต่างๆ ของคนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ในฐานะของผู้ผลิตเอง GC มีส่วนร่วมในการปรับใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตอย่างไร
จริงๆ เรามีการปรับมานานแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าพลาสติกมันเลิกใช้ไม่ได้ หรือ Single-Use Plastic ก็เลิกใช้ไม่ได้ แต่สามารถลดการใช้ได้ ก่อนหน้านี้ GC เรามีการผลิตเม็ดพลาสติกที่เอาไปทำเป็นถุงพลาสติก Single-Use Plastic ขายประมาณปีละ 150,000 ตัน แต่วันนี้เราตั้งเป้าแล้วว่าเราจะเปลี่ยน เราจะไม่ผลิตพลาสติกเกรดนี้ แล้วไปพัฒนาพลาสติกเกรดอื่นที่เป็นสินค้าคงทนมากขึ้น มี Value มากขึ้น รวมถึงเป็น Durable plastic ที่มีความคงทนมากขึ้น
แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาคู่ค้าที่อยู่กับ GC มานาน อย่างที่บอกว่าถุงพลาสติก ยังไงก็ลดเป็นศูนย์ไม่ได้ แต่มันสามารถพัฒนาไปใช้ในอย่างอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น เรามี Bioplastics พลาสติกที่มันย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ที่คู่ค้าก็สามารถปรับปรุงแล้วนำไปเป่าให้กลายเป็นถุงต่างๆ ได้เหมือนกัน จริงๆ GC ลงทุนเรื่อง Bioplastics มานานแล้ว แต่รอจังหวะและรอเวลา เพราะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมีได้รับการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกของการทำงานอยู่แล้ว เรามองว่ายังไงก็ตามการทำธุรกิจต้องยั่งยืนและอยู่ร่วมกันได้ทุกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ GC ต้องคิดอย่างครบวงจร
อยากให้อธิบายถึงวิธีจัดการกับพลาสติกแบบครบวงจรที่ว่า
สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ อย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมมือกับ Wongnai และ Line man ร่วมกันสร้างเครือข่าย Food Delivery โดยการสนับสนุนภาชนะ และถุงที่เป็น Bioplastics ซึ่ง GC ได้มอบประมาณ 300,000 ชุด ให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 200 ร้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของ Bioplastics เพราะว่าอย่างผมเองอยู่ที่บ้าน ก็ต้องสั่ง Food Delivery ซึ่งมันก่อให้เกิดขยะเยอะจริงๆ และมีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งถุง ถ้วย ชาม กล่อง ปัญหาคือพอเทอาหารออกแล้ว แล้วผมจะทิ้งยังไง แล้วที่สำคัญคือสกปรก เพราะว่าอาหารไทย อาหารจีน ส่วนใหญ่น้ำมันเยอะ ทำให้เอาไปรีไซเคิลยากลำบาก ซึ่งตรงนี้ GC เองก็ต้องมองกระบวนการให้มันครบวงจร
เราเคยคิดว่าเราจะเก็บพลาสติกมารีไซเคิลอย่างเดียว หรือที่เราเรียกว่า Mechanical Recycle แต่มันเหมาะสำหรับพลาสติกที่ ทำความสะอาดมาแล้ว ไม่ใช่พลาสติกที่ใส่อาหาร ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมก็คือ เราต้องสนใจเรื่อง Chemical Recycle ด้วยเช่นกัน คือการนำเอาพลาสติกไปเผาเพื่อให้เกิดพลังงานความร้อน และนำพลังงานความร้อนทำให้เกิดการนำไฟฟ้า และเข้ากระบวนการทำให้พลาสติกกลับเป็นน้ำมัน หรือเป็นวัตถุดิบสำหรับไปทำพลาสติกต่อ อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เราต้องมองทุกอย่างให้มันครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพราะต่อไปข้างหน้าขยะพลาสติกจะมีเยอะขึ้นแน่นอน
การ Upcycling ที่ GC ได้พัฒนามาโดยตลอด จนถึงตอนนี้มีทิศทางต่อไปอย่างไร
GC เราพยายามทำผลงานที่เรียกว่า Upcycling โดยเริ่มมาตั้งแต่โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand มีการเก็บขยะจากใต้ทะเลและขาย คัดแยก นำขยะพลาสติกในทะเลมารีไซเคิลให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าสูงขึ้น จนวันนี้เราขยายออกไปเป็นการเก็บขยะพลาสติกบนบกด้วย GC พยายามพัฒนาให้การ Upcycling พลาสติกกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
นอกเหนือจากเสื้อผ้า ตอนนี้เรามีศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ Customer Solution Center เพื่อรวบรวมนักออกแบบ 10 คน ร่วมกับบรรดาลูกค้าเราที่เข้าร่วมโครงการ 19 ราย ทำโครงการชื่อ Upcycling Upstyling ขึ้นมา ประกวดออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากการนำพลาสติกมารีไซเคิล เพื่อสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปเห็นว่า จริงๆ แล้วการรีไซเคิลพลาสติก สามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก
เพื่อคนจะได้เข้าใจว่าพลาสติกเป็นของดีมีคุณค่า ถ้าคุณทิ้ง คัดแยก และเก็บพลาสติกกลับมาใช้ ก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับพลาสติกได้ และอีกอย่างที่สำคัญคือการแยกขยะที่ต้องสร้างความเข้าใจอย่างมาก เพราะมุมมองของคนทั่วไปต่อการรีไซเคิลมีความแตกต่างกัน จึงต้องทำให้เกิดเป็นมาตรฐานก่อน
มีกลยุทธ์อะไรที่ทำให้แนวคิดการ Upcycling ไปสู่วงกว้างได้มากขึ้น
วันนี้ GC ไม่สามารถทำเรื่องนี้คนเดียวได้ ต้องอาศัยการร่วมมือของแต่ละพาร์ทเนอร์ เราได้ร่วมมือกับ PTT สร้างจุด Drop Point สำหรับแยกขยะขึ้นมา มีระบบทำความสะอาด บด อัดและไปรับต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ GC เองทำหมดก็ไม่ไหว ต้องสร้างเป็นกลุ่มขึ้นมาช่วยกัน อย่างเช่นเราไปร่วมกับชุมชนบางกะเจ้า เพื่อสร้าง Community เกี่ยวกับการจัดการขยะร่วมกัน หรือเชียงรายโมเดล ที่พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการเก็บขยะทุกประเภทจากชาวบ้าน รวมถึง City Model ที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่างบุรีรัมย์ยูไนเต็ดที่เริ่มจากสนามบอล ตลาด แล้วก็ขยายออกไปทั่วทั้งจังหวัด
มองว่าภาพที่เกิดขึ้นหลังจากยุคโควิด-19 นี้ อุตสาหกรรมพลาสติก จะเป็นไปในทิศทางไหน
โลกมันไม่เปลี่ยนนะ โลกมันเหมือนเดิม อุตสาหกรรมพลาสติกก็จะกลับไปทิศทางเดิม อาจจะมีการแกว่งๆ บ้าง เรื่อง Demand ของผลิตภัณฑ์ในช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดีคนยังไม่จับจ่ายใช้สอย แต่สุดท้ายพอทุกอย่างดีขึ้น เศรษฐกิจกลับคืนมา คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ก็ต้องคิดเรื่องความสะดวก ทุกอย่างก็จะกลับไปเช่นเดิม แต่เมื่อทุกอย่างกลับมาแล้ว เราต้องเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ สิ่งสำคัญคือเราต้องอย่าไปโทษพลาสติก เราต้องใช้เขาให้คุ้ม เก็บ คัดแยก ทิ้งให้ดี เพื่อให้นำไปรีไซเคิลให้ได้
เพราะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เพียงแต่ว่าเราจะอยู่กับเขาอย่างไรแค่นั้นเอง