การตัดสินใจจะซื้อสินค้าสักชิ้น เรื่องของการออกแบบที่ต้องสวยงาม บ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ใช้ และมีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ อาจจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ แต่สำหรับเทรนด์ของผู้บริโภคยุคนี้ที่กำลังเปลี่ยนไปล้วนมีวิธีคิดที่ช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น นั่นคือเรื่องของ Eco-Friendly หรือความใส่ใจถึงที่มาและปลายทางของสินค้าที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สินค้า Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก กำลังสร้างตลาดใหม่ที่ได้รับความนิยม ทำให้เกิดโครงการ Upcycling Upstyling โดยบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ Eco-Design ภายใต้แนวคิด ‘Up Waste to Value with WOW! Style’ โดยนำขยะพลาสติกและวัสดุเหลือใช้ภายในโรงงานของผู้ประกอบการทั้ง 19 บริษัทผ่านฝีมือของดีไซเนอร์ชั้นนำของไทยกว่า 10 คน
ลองไปถอดแนวคิดการออกแบบกับ 5 ผลงานแรกจากโครงการ Upcycling Upstyling ว่าจะสวยงาม มีฟังก์ชัน และรักษ์โลกอย่างไร
REUSE ME I WANNA BE WRINKLED
LAWANVISUT X THINKK
โดยปกติแล้วถุงพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว จะออกมาในรูปแบบถุงสีดำ ทำให้ฟังก์ชันการใช้งานมีไว้สำหรับเป็นถุงขยะเท่านั้น แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้ สองดีไซเนอร์อย่าง พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ จาก THINKK STUDIO ได้นำเศษพลาสติกจาก บริษัท ลาวัณย์วิสุทธิ์พลาสติกไทย จำกัด ผู้ผลิตถุงพลาสติก มา Upcycling ด้วยการเลือกผสมสีของเศษพลาสติกที่มีในช่วงเวลานั้น ให้กลายเป็นถุงพลาสติกสีสันสดใสและมีความหนาเป็นพิเศษ โดยออกแบบให้มีขนาดใบใหญ่ สามารถใช้แทนกระเป๋าได้ เอกลักษณ์คือ typo กราฟิกที่สกรีนอยู่บนถุง และร่อยรอยความยับที่กลายเป็น texture อันมีเสน่ห์ สะท้อนถึงความยับของถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้แล้ว เปลี่ยนภาพจำของถุงพลาสติกรีไซเคิลให้ใครๆ ก็อยากหยิบมาใช้ซ้ำ
2nd Life 2nd Chance
GC X EK THONGPRASERT
การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล เป็นการให้โอกาสเพื่อให้ขยะเหล่านี้กลับมาแก้ตัวใหม่ เพราะฉะนั้นพลาสติกจึงไม่ใช่ผู้ร้าย เช่นเดียวกับการให้โอกาสนักโทษที่พร้อมกลับใจมาเป็นคนใหม่ได้ทุกเมื่อ คือคอนเซปต์อันคมคายของดีไซเนอร์อย่าง เอก ทองประเสริฐ ที่เชื่อว่า “Nobody Born Evil” หรือไม่มีใครที่เกิดมาแล้วชั่วร้ายหรือแปดเปื้อน โดยนำขยะขวดพลาสติก PET ของ GC มาผ่านกระบวนการ Upcycling ให้กลายเป็นเสื้อแจ็คเก็ต มีลายปักรูปมือที่กำลังฉุดขึ้นมา สื่อถึงการช่วยเหลือคนที่ล้มหรือเคยทำผิดพลาดไปให้กลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแคมเปญของโครงการสร้างอาชีพของนักโทษแดน 3 ที่จังหวัดเชียงราย เรียกว่าเป็นผลงานออกแบบที่มี Double Meaning สะท้อนปัญหาสังคมทั้ง 2 ประเด็นออกมาได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว
Upcycling Bin for Coffee Café
TPBI X QUALY
การคัดแยกขยะ คือประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังพยายามผลักดันให้เกิดการลงมือที่จริงจังมากขึ้น ทำให้ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ดีไซเนอร์ จาก QUALY ได้สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม โดยการออกแบบตู้แยกขยะในร้านกาแฟ ที่ผลิตจากไม้เทียม ซึ่งเป็นวัสดุที่รีไซเคิลจากขยะพลาสติก จากโรงงานของ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ฟังก์ชันของตู้แยกขยะนี้มีการแบ่งช่องสำหรับทิ้งขยะออกเป็น 3 ช่อง คือช่องสำหรับทิ้งหลอด ฝาปิด และแก้ว มีดีไซน์ที่สวยงามไม่ต่างกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรูภายในร้าน ช่วยให้ลูกค้าในร้านสามารถแยกขยะเองได้ตั้งแต่ต้นทาง ลดภาระในการคัดแยกขยะภายหลัง นับเป็นการสร้างจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
Heritage of Extinction
PASAYA X O&B
สินค้าแฟชันที่ดี ไม่เพียงแต่สะท้อนรสนิยมของผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนถึงแนวคิดการออกแบบที่แฝงอยู่ได้ด้วย เช่นเดียวกับผลงานกระเป๋าชิ้นนี้ที่นำขยะขวดน้ำพลาสติกมา Upcycling เปลี่ยนแปลงรูปด้วยเทคนิคการทอเฉพาะของ Pasaya และการออกแบบของดีไซเนอร์ รรินทร์ ทองมา จาก O&B ที่ใช้พื้นที่ลวดลายบนกระเป๋าสื่อสารถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยด้านหนึ่งเป็นภาพลวดลายของสัตว์ป่าและธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อพลิกกลับไปอีกด้านจะเป็นภาพของสัตว์ป่าที่เหลือเพียงโครงกระดูกและป่าอันแห้งแล้ง สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดการใช้ชีวิตของคนเมืองเป็นนัยยะที่แฝงเข้าไปกับสินค้าได้อย่างแนบเนียน
M Wrap – Recycled Boots
MMP X O&B
ขยะจาก Film Wrap หรือฟิล์มแผ่นบางๆ ที่ใช้ในการห่ออาหาร คือหนึ่งใน Single-use พลาสติกที่สร้างปริมาณขยะจำนวนมากและยากต่อการจัดการในระยะยาว บริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหาร มองเห็นถึงปัญหานี้ จึงร่วมมือกับลูกค้าของ MMP เก็บ Film Wrap ที่ใช้แล้วในโรงแรมต่างๆ แล้วนำไปสู่กระบวนการ Upcycling จนออกมาเป็นเป็นรองเท้าบูทยางที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นรองเท้าบูทที่มีคุณสมบัติทนทานไม่ต่างจากรองเท้าบูทที่ผลิตขายในท้องตลาด แต่มีการเพิ่มเติมความเป็นแฟชั่นด้วยกิมมิกของตกแต่งและลวดลายสีสันที่สวยงาม จากไอเดียของดีไซเนอร์รรินทร์ ทองมา จาก O&B แตกต่างทั้งที่มาในการผลิตและดีไซน์ เปลี่ยนขยะไร้ค่าให้มีมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ