แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหลักการที่ GC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล ได้นำมาปรับใช้ในองค์กรที่ช่วยให้จัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะนำไปสู่แนวคิด GC Circular Living ซึ่งผสานไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย
จากแนวคิดได้แปรเปลี่ยนไปสู่การลงมือทำที่จับต้องได้จริง จนออกมาเป็น Circular City เมืองจำลองที่อยู่ในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ที่เปิดประสบการณ์ให้ได้ทดลองใช้ชีวิตในแบบ GC Circular Living โดยนำเสนอผ่านนิทรรศการสุดสร้างสรรค์ ที่ออกแบบมาให้เข้าใจง่ายและได้แรงบันดาลใจ
ลองไปสำรวจโซนต่างๆ ของ Circular City ทั้ง 5 โซน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงแบบ Loop Connecting และสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้และลงมือทำได้จริง
Plastics for Better Living
เริ่มต้นกับโซนแรก ซึ่งเป็นเหมือนต้นทางของวงจรการใช้พลาสติก ด้วยการนำเสนอการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยมีวัตถุดิบสำคัญคือนวัตกรรมจากพลาสติก โดยเพิ่มคุณสมบัติอันน่าทึ่งของพลาสติกให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุดในชีวิตประจำวัน หรือสามารถนำมาทดแทนวัสดุเดิมได้อย่างยอดเยี่ยม นำเสนอผ่านรูปแบบ Showcase ที่ GC และ Partner ร่วมกันค้นคว้าเพื่อนำพลาสติกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมตั้งแต่อุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์เลยทีเดียว
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อย่างเช่น เรือใบ RA Racing Zest #1 ที่ผลิตขึ้นจากพลาสติก Polyethylene หรือ PE ที่ใช้การขึ้นรูปแบบหมุนเหวี่ยงขึ้นรูปถึง 3 ชั้น ทำให้ตัวเรือไร้รอยต่อและทนทานมากขึ้น ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ Polyurethane Foam ชนิดยืดหยุ่น ที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และดูดซับเสียงได้ มาใช้ในการหุ้มเบาะที่นั่ง พวงมาลัย และระบบภายในต่างๆ ของรถ ส่วนด้านอุปกรณ์ก่อสร้างอย่างเช่น REBAR ที่ผลิตจากพลาสติกไฟเบอร์กลาส เพื่อใช้ทดแทนเหล็กเส้น แต่มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าคือทนทานการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม น้ำหนักเบากว่าถึง 3 เท่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อย่างมาก
นอกจากนั้นด้านการเกษตร นวัตกรรมพลาสติกยังนำไปใช้ผลิตแผ่นฟิล์มคลุมโรงเรือนหรือ Greenhouse Film เพื่อคัดเลือกช่วงแสงให้เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด ส่วนด้านการแพทย์ พลาสติกถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือแพทย์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ที่แพทย์สวมใส่ล้วนแล้วแต่ผลิตมาจากพลาสติกทั้งสิ้น รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่นรถเข็นก็ผลิตมาจากพลาสติกเช่นกัน จะเห็นได้ว่าพลาสติกเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
Waste Station
หลังจากที่นำเสนอต้นทางของการใช้พลาสติกไปแล้ว ในโซนต่อมาจึงเป็นการนำเสนอการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ปลายทางของการใช้พลาสติกไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม GC จึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในการจัดการขยะตั้งแต่ระดับคนทั่วไปจนถึงระดับจังหวัดหลายโครงการเลยทีเดียว
เริ่มต้นที่ ‘YOU เทิร์น’ Waste Management Platform ที่นำเอาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลมาช่วยในสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ โดยมีลักษณะเป็นตู้ที่สามารถนำขวดพลาสติกมาทิ้งเพื่อแลกเป็นแต้มและของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดลองที่ GC นำมาใช้ภายในองค์กร ก่อนจะต่อยอดไปในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่าง ‘โครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ’ ที่มุ่งสร้างโมเดลการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในกลุ่มนักท่องเที่ยว ด้วยการรณรงค์ให้คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ
ส่วนในระดับจังหวัดก็มี ‘โครงการจัดการขยะครบวงจรในจังหวัดเชียงราย’ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘เชียงรายโมเดล’ ที่มุ่งสร้างความร่วมมือกับผู้คนในชุมชนให้มีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ทั้งขยะรีไซเคิลที่นำไปสู่ศูนย์กลางจัดการขยะ เพื่อนำไป Upcycling และ Recycling ส่วนขยะเศษอาหารก็นำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หมุนเวียนกลับมาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
Recycling Garden
กระบวนการรีไซเคิลถือเป็นอีกหนึ่งในการจัดการขยะพลาสติกที่สำคัญ เพราะเป็นการนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับสู่ระบบเพื่อใช้ประโยชน์อีกครั้ง และเป็นกระบวนการหนึ่งที่ในอยู่ในแนวคิดของ Circular Economy ในโซนนี้จึงนำเสนอต้นแบบของโรงงาน ENVICCO ที่ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิลของ GC ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง โดยมีการทำงานร่วมกับ Partner ต่างๆ ที่รวบรวมขยะพลาสติกมาจากหลายแหล่ง ก่อนจะมาสู่การรีไซเคิลที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้า โดยคาดว่าจะเริ่มต้นผลิตพลาสติกรีไซเคิลได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปลายปี 2564 และจะเป็นกำลังสำคัญที่จะผลิตพลาสติกรีไซเคิลออกสู่ตลาดได้มากถึง 45,000 ตันต่อปีในอนาคต
ส่วนพลาสติกปนเปื้อน ซึ่งเป็นปัญหาในการรีไซเคิล GC กำลังศึกษาและพัฒนากระบวนการ Pyrolysis หรือการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้ความร้อนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อแปรรูปออกมาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์รอบต่ำ และกากของแข็งที่นำไปใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงของโรงปูนได้ต่อไป ถือเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Upcycling Gallery
โซนนี้ถือได้ว่าเป็นโซนที่แสดงให้เห็นภาพของ GC Circular Living ที่ชัดเจนและใกล้ตัวมากที่สุด เพราะเป็นการนำเสนอ Showcase ของผลิตภัณฑ์ Upcycling หรือการนำขยะพลาสติกใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่า นับเป็นตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ผ่านโครงการ Upcycilng Upstyling ที่ GC ต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ Eco-Design โดยร่วมกับ Partner อย่างโรงงานของผู้ประกอบการต่างๆ ที่มีขยะพลาสติก แบรนด์แฟชั่นต่างๆ และการออกแบบของเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อจำหน่ายในตลาดจริง
ตัวอย่างเช่นคอลเลกชันจากโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่นำขยะพลาสติกในทะเลมา Upcycling ด้วยการนำพลาสติกมาตัดให้เป็นชิ้นๆ ก่อนจะนำไปปั่นเป็นเส้นใย ต่อด้วยการปั่นเป็นเส้นด้าย สุดท้ายจึงนำเส้นด้ายมาทอเป็นผืนผ้า ก่อนจะออกแบบและตัดเย็บให้กลายเป็นเสื้อยืด กระเป๋าเป้ และ Tote Bag เก๋ๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในทุกๆ คอลเลกชันที่ออกมาเลยทีเดียว
และอีกไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโซนนี้ คือ ‘จีวรรีไซเคิล’ ผืนแรกของโลก โดย GC สนับสนุนชุมชนบางกระเจ้า และวัดจากแดง หนึ่งในศูนย์รวมของคนในชุมชนฯ ถือเป็นศูนย์กลางการจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจร ด้วยการนำขวดพลาสติก PET ที่เก็บได้จากชุมชนบางกะเจ้า มาผ่านกระบวนการ Upcycling แล้วทอเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ความพิเศษคือการนำไปผสมกับเส้นใยฝ้ายและเส้นใยซิงค์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย มีคุณสมบัติลดกลิ่นอับ ก่อนจะนำไปทอโดยชาวบ้านในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า โดยผ้าจีวร 1 ผืน ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 15 ขวดและผ้าไตรจีวร 1 ชุด ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 60 ขวด ช่วยลดปริมาณขยะในชุมชนได้อย่างมาก
Bio Town
ปิดท้ายกันที่โซนสุดท้าย เมืองแห่งนวัตกรรมที่ชวนให้รู้จักกับ พลาสติกชีวภาพ หรือ Bioplastics ตั้งแต่ต้นทาง ไปจนถึงการย่อยสลาย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ GC คิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและการใช้งานของผู้บริโภค ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง โดยการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชเศรษฐกิจอย่างเช่น ปาล์ม ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ให้ออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้เร็วตามธรรมชาติ เช่น หลอด ถุง ถ้วยชาม แก้วพลาสติก ลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บรรจุภัณฑ์แบบ Single-use Plastic และขยะปนเปื้อนจากในครัวเรือนได้แบบตรงจุด โดยไม่ทิ้งสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม
โดยกระบวนการ Bio Compostable หรือการย่อยสลายโดยธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Home Compostable การกลบฝังปกติในดินทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคทั่วไปสามารถทำเองที่บ้านได้ จะใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 6 เดือนขึ้นไป แต่สำหรับ Industrial Compostable หรือการย่อยสลายที่อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณจุลินทรีย์ จะสามารถย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียง 60 วันเท่านั้น ซึ่ง GC ยังได้พัฒนาฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ GC Compostable เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์นั้นๆ เม็ดพลาสติกชีวภาพและย่อยสลายได้แน่นอน
ทั้งหมดนี้คือ 5 โซนของ Circular City ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงแบบ Loop Connecting สร้างแรงบันดาลให้ไม่ว่าใครก็สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ได้จริงแบบ GC Circular Living เพื่อโลกของเราที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน