“เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน”
นี่คือหนึ่งในคำที่ถูกพูดย้ำหลายครั้ง ในงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ที่ได้รวมเอาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปกป้องโลกใบนี้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะรัฐ เอกชน ประชาสังคม รวมถึงประชาชนคนทั่วไป มานั่งพูดคุยกัน ร่วมหาแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ตามเป้าหมาย Net Zero ของไทย ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065’
Net Zero จึงเป็นเส้นชัย และเลขศูนย์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นเหมือนเดิมอีกต่อไป ในวันที่สภาพภูมิอากาศโลกเดินทางมาถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ที่เห็นได้ชัดและสัมผัสได้ อย่างปีนี้ก็คือ… เรามีฤดูฝนที่ยาวนานและหนักหนากว่าทุกปี ดังนั้น ปัจจุบันคือจุดเปลี่ยนสำคัญ ว่ามนุษย์จะกลับตัวและทำให้โลกกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง หรือจะปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือไป
และกลุ่มคนที่ The MATTER คิดว่าน่าสนใจจนต้องนั่งพูดคุยกัน คือ ‘คนรุ่นใหม่ ’ที่พวกเขาเปลี่ยนแพสชัน มาเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และได้รับโอกาสขึ้นพูดบนเวทีในงานครั้งนี้ – แน่นอนว่าเราถอดความคิดของพวกเขามาเป็นตัวหนังสือ แชร์ให้ได้อ่านกันแบบละเอียดยิบ
จากแรงบันดาลใจ สู่ธุรกิจเป้าหมาย Net Zero
เราร่วมพูดคุยกับ 4 คนรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจที่น่าจับตา ไม่เพียงแต่ในด้านโอกาสทำกำไรตามเทรนด์ตลาด แต่เพราะเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นการดูแลโลก และใช้พลังงานสะอาด พวกเขาคือ อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO (Thailand) and Co-Founder จาก Ricult, สรณัญช์ ชูฉัตร CEO and Founder จาก Etran, แดน ปฐมวาณิชย์ CEO จาก NRF และ ดร.วโรดม คําแผ่นชัย CEO and Co-Founder จาก AltoTech
แน่นอนว่าคำถามแรก เราเปิดด้วยคำถามเบสิก แต่มีเนื้อหาเบื้องลึกมากมายจากคำตอบของพวกเขา “ทำไมจึงเริ่มต้นทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ Net Zero”
อุกฤษเริ่มตอบก่อน เขาบอกว่า บริษัท Ricult ของเขา นำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกร ให้ AI มาช่วยพิจารณาสินเชื่อรายย่อย นั่นคือเป้าหมายที่หนึ่ง – ส่วนเป้าหมายที่สอง เขารู้ดีว่า Climate Change ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรมาก ไม่ว่าจะหน้าฝนที่มาไม่ตรงเวลา ฤดูแล้งที่คาดเดาไม่ได้ก็ตามที แน่นอนอุกฤษบอกว่า Ricult เชี่ยวชาญการพยากรณ์อากาศ และช่วยทำให้เกษตรกรคาดการณ์ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนได้
“ก็แปลว่ามันคือโอกาสที่เราจะสามารถเอาข้อมูลที่สำคัญหรือเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปช่วยเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรของเขา ทำให้มันยั่งยืนมากขึ้น ผลผลิตดีขึ้น แล้วก็ลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้เรายังเชื่อมเกษตรกรเป็นล้านคน แนะนำให้เอาซากเกษตร เช่น ฟางข้าวไปขายให้โรงไฟฟ้า พวกเขาจะมีรายได้เพิ่ม และลดการเผาลงได้” อุกฤษบอก
ส่วน Etran เป็นสตาร์ตอัปด้านรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า หนึ่งในธุรกิจน่าจับตาของยุคนี้ สรณัญช์บอกว่า เขาตั้งใจว่าธุรกิจของเขาต้องมี 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ คลีน ใช้พลังงานสะอาดในทุกระดับการผลิต เรื่องที่สอง มีประสิทธิภาพ เป็นธุรกิจที่ไปได้ในระยะยาว และสาม คือต้องเข้าถึง
ขณะที่จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของ AltoTech เป็นการต่อยอดจากแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะสำหรับอาคาร ที่มีชื่อว่า BEMOSS สมัยที่เขาเรียนอยู่ต่างประเทศ และพบว่าอาคารใหญ่หลายแห่งปล่อยคาร์บอนเยอะ จากการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง และไม่มีซอฟต์แวร์ในการวางแผนและจัดการ เมื่อกลับไทย เขาจึงพัฒนาแพลตฟอร์มสู่ ‘PEA HiVE’ และก่อตั้งบริษัท AltoTech เพื่อช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานในโรงแรม อาคาร และโรงงาน
ส่วนแดน มองว่า การลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ คือโอกาสที่ช่วงชิงมาได้ไวกว่าคนอื่น เขาทำธุรกิจที่ถูกเรียกว่าเป็นอาหารแห่งอนาคต หรือการเอาโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหาร เขามองว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และแน่นอนว่าในอนาคตโลกอาจเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร ดังนั้นเขาจะต้องมุ่งธุรกิจมายังเทรนด์ของโลกวันข้างหน้า
“หากเราเอาการผลิต Plant-based เทียบกับเนื้อสัตว์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมันแค่ 1 ใน 10 นะครับ มันมีประสิทธิภาพมากกว่ากันเยอะเลย สมมติว่าธุรกิจเราก้าวหน้าใช่ไหมครับ แน่นอนคือมัน Impact สู่สังคมอยู่แล้ว มันก็จะเป็นอะไรที่ยั่งยืน” แดนบอก
รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นทุนใหญ่ให้ความสำคัญ Net Zero
แน่นอนว่าในฐานะคนทำธุรกิจ พวกเขาได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ของพวกเขา บนเวที GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero โดยในปีนี้ เราได้เห็นทุนใหญ่หลายราย อย่างเช่น GC ให้ความสำคัญกับประเด็น Net Zero มากขึ้น เพื่อแสดงความเคลื่อนไหวของตัวเองต่อสิ่งแวดล้อม
เราจึงถามพวกเขาในฐานะสตาร์ตอัป หรือผู้ประกอบการรายเล็กกว่า – พวกเขาคิดอย่างไรบ้างกับมูฟเมนต์นี้
“การได้เห็นบริษัทระดับมหาชนมาทำเรื่องของคาร์บอนเนี่ย เป็นอะไรที่ค่อนข้างประทับใจ โดยส่วนตัวนะครับ” แดนเริ่มเล่าก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจของเขารันอยู่ในตลาดต่างประเทศ เขาจึงตื่นเต้นที่มารู้ว่าคนไทยเองเริ่มให้ความสำคัญประเด็นนี้ไม่น้อยไปกว่ากัน
ส่วนสรณัญช์มองว่า งานในครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนไทยได้พูดคุยกับชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจริงๆ ในเรื่องที่เขาทำ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์ ที่มาที่ไป หรือการคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจ “ผมมองว่ามันช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ผมไม่ได้มองอยู่แค่ประเทศไทยแล้วแต่มองว่าระดับโลกเขาเล่นอะไร”
ด้านอุกฤษ เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า ในปีนี้ มีสตาร์ตอัปเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาค่อนข้างดีใจ และในความรู้สึกของเขา การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ทุนใหญ่จะต้องลงมาผลักดันด้วยตัวเอง ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้วในวันนี้
มองตัวเอง ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ชวนคุยกับพวกเขาต่อหลังจากที่ได้รู้แบล็กกราวด์ของพวกเขาคร่าวๆ ซึ่งก็เต็มไปด้วยพลังความอยากจะเปลี่ยนแปลง – เราถามถึงความเห็นพวกเขาต่อการทำธุรกิจในระยะยาว และการรักษาเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในจังหวะที่โลกก็ต้องการให้มนุษย์ดูแลรักษา และลงมือแก้ไข ให้จริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
คำตอบของพวกเขาเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อาจจะหมดยุคทำธุรกิจที่เน้นแต่กำไรแต่ทำลายโลก ธุรกิจของพวกเขาจะต้องสเกลกว่านี้หลายเท่าตัว แต่ต้องสเกลบนแนวคิดการดูแลรักษาโลก
แดนมองว่า เขาจะต้องขยายธุรกิจโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถทำให้การผลิตคาร์บอนเท่ากับศูนย์ได้ และสร้างโรงงานที่รับซื้อซากเกษตรที่ปกติแล้วจะถูกนำไปเผา นำมาผลิตเป็นปุ๋ย
ส่วนอุกฤษ อยากทำให้ Ricult เป็นซูเปอร์แอปของเกษตรกร “ผมก็อยากให้แอปของ Ricult เป็นแอปที่เกษตรกรสามารถมาซื้อปุ๋ยซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เราคัดแล้วมันเหมาะสมสำหรับดินเขา มาขอสินเชื่อที่ราคาเป็นธรรมได้ หรือสามารถขายผลิตภัณฑ์ผ่านระบบเราได้ ทำให้รายได้เขาดีขึ้น เป้าหมายของเราก็คืออยากจะช่วยให้รายได้ของเกษตรกรหลัก 10 ล้านคน มีรายได้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าเพื่อจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”
ด้านสรณัญช์เจ้าของ Etran อยากพัฒนารถไฟฟ้า จากสองล้อที่ปัจจุบันทำตลาดอยู่ ให้มีหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่นรถไถสำหรับการเกษตรที่ใช้ไฟฟ้า 100%
“เป้าหมายผมไม่ใช่ผลิตรถให้เยอะที่สุด แต่ธุรกิจนี้ต้องสร้าง Impact ให้เยอะที่สุด อันนี้คือสิ่งที่เราให้คำมั่นกับผู้ลงทุนของเราอยู่แล้ว เรามองว่า Etran ไม่ได้หยุดอยู่แค่รถสองล้อ”
สำหรับ ดร.วโรดม เขาเชื่อว่าในอนาคต ทุกตึกใหญ่ๆ ในโลกต้องการซอฟต์แวร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และบริหารจัดการการใช้พลังงาน เขาจึงต้องการพัฒนาแพลตฟอร์มของเขาให้รองรับได้ดีที่สุด
“เมื่ออาคารรวมกันเป็นเมืองและทำงานร่วมกัน เมืองก็จะเกิดการจัดการพลังงาน ใช้พลังงานสะอาด กักเก็บพลังงานไว้ใน Storage และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออาคารและต่อเมืองได้ เทคโนโลยีใหม่ก็จะมีส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืนและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ปัจจัยสำคัญมุ่งไปสู่ Net Zero และการสนับสนุนของผู้กำกับกฎหมาย
แต่แม้ว่าจะมีเพลย์เยอร์มากมายที่พร้อมจะปรับตัวธุรกิจให้รักษ์โลกมากขึ้น แต่แค่นั้นพอหรือไม่? อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย จะไปสู่ Net Zero ได้จริงๆ ในมุมมองของผู้ประกอบการพวกเขามองอย่างไรบ้าง?
คำตอบของพวกเขาค่อนข้างมีเส้นเรื่องที่คล้ายกัน นั่นคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะการตระหนักรู้ของผู้คน ภาคเอกชนที่ปรับวิธีการดำเนินงานให้กรีนขึ้น และมีโซลูชันในการแก้ไขปัญหา และการที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการทำนโยบายที่สอดคล้อง ชัดเจน และให้การสนับสนุนการทำงานของเอกชน
ดร.วโรดม มองใน 2 เรื่อง การทำงานร่วมระหว่างรัฐและเอกชน และการปรับหลักสูตรเด็กให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มเรียน
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือคือการที่ทางภาครัฐและเอกชนตั้งเป้าหมายร่วมกัน รัฐมีนโยบายที่ชัดเจน เอกชนมีโซลูชันที่จะทำให้ถึงเป้าหมายโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่า สินค้าและบริการที่ทั้งตอบโจทย์ด้านธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มักมีราคาต้นทุนที่แพงกว่า แต่ทุกองค์กรจะต้องช่วยกันผลักดัน Net Zero และใส่ใจ และรัฐต้องมีนโยบายส่งเสริม เช่นการนำ Green Premium มาใช้ในทุกสินค้าและบริการที่ขายในท้องตลาด การตั้งราคาขายจะต้องเป็นราคาต้นทุนบวกกับราคาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสิ่งนั้น เพื่อผลักดันให้ โปรดักส์ที่รักษ์โลกมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้”
ขณะที่แดนและอุกฤษ มองร่วมกันว่าเขาอยากให้รัฐร่วมงานกับเอกชนใน 3 เรื่องที่จะไปด้วยกัน ก็คือ เรื่องของเงินทุน, การทำธุรกิจที่ง่ายขึ้นและไม่ติดกรอบเงื่อนไข (Ease of Doing Business) และสำคัญที่สุดคือ แผนแม่บทนโยบายที่ชัดเจน
“วิสัยทัศน์แล้วก็แผนแม่บทที่ต่อเนื่อง มันต้องชัด ผมยกตัวอย่างนะ เกาหลี ประกาศทรานส์ฟอร์ม อันดับแรก เขาขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมภายใน 20 ปี มีแบตเตอรี่ มี EV มี Carbon Capture คือเขาเลย์เอาท์แผนออกมาเลย” แดน เล่าให้ฟัง “เมื่อรัฐขยับแล้ว เอกชนก็จะขยับตาม ซึ่งรัฐก็คือเหมือนส่งสัญญาณให้ แต่ในไทยแค่ส่งสัญญาณไม่พอต้องสนับสนุนด้วย”
ขณะที่สรณัญช์มองว่า ในการมุ่งสู่ Net Zero ความจริงใจต่อประเด็นนี้เอง ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน “ต้องมีความจริงใจ คือสิ่งที่เราเห็นในการบริหารประเทศที่จะสำเร็จได้ ยกตัวอย่างมาจากทั้งโลกแล้วกัน เขามีความจริงใจต่อประเด็นนั้นจริงๆ และสองคือต้องโปร่งใส เราต้องรายงานตัวเลข COP26 แต่มันโปร่งใสจริงหรือเปล่า หรือเราทำตัวเลขให้สวยเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรืออะไรในอนาคต เราไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่หลอกลวงประชาชนโลกว่ามันโอเค มันดูดี”
แนะนำคนรุ่นใหม่ ให้ปฏิบัติต่อโลกใบนี้อย่างเหมาะสม
พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ ที่บอกว่าตัวเองในอีกราวสิบปีข้างหน้า ก็คงจะกลายเป็นคนรุ่นไม่ใหม่อีกต่อไป สำคัญที่สุดของสังคมในวันนี้ ก็คือการที่คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน จะต้องใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นวิกฤต และพวกเขาจะต้องมีแพสชันในการที่อยากจะรักษาโลกใบนี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อย เริ่มต้นจากตัวเอง หรือจะคิดการณ์ใหญ่ เป็นอีลอน มัสก์คนถัดไปของโลก ก็เป็นอีกเรื่องที่พวกเขาจะนึกฝันได้
“สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งในอีก 20 ปีเนี่ย อาชีพเขาจะเปลี่ยน แล้วถ้าเขาไม่หันมาสนใจเรื่องนี้ เผลอๆ เขาจะไม่มีอาชีพ ยกตัวอย่าง เขาอยากเป็นเกษตรกร แต่อีก 20 ปีข้างหน้าเกิดภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น มันอาจส่งผลให้เขาอาจจะเป็นเกษตรกรไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องเข้าใจในสิ่งเหล่านี้” แดนคาดการณ์ให้ฟัง เขายังเสริมต่อว่า เด็กรุ่นใหม่ต้องตระหนักรู้ถึงปัญหา และได้รับการปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กผ่านการเรียนการสอน ผ่านสังคมที่เขาอยู่ เขาไม่เชื่อว่าคนสูงวัยจะเปลี่ยนแปลงได้ตามตำราไม้แก่ดัดยาก แต่คนรุ่นใหม่ยังเป็นความหวังอยู่
ส่วนคำแนะนำของอุกฤษมองว่าเริ่มต้นจากตัวเองได้เสมอ “ผมอยากจะแนะนำน้องๆ ว่าให้เริ่มที่บ้านตัวเอง เราจะเปลี่ยนโลกได้ เราจะทำอะไรได้ ถ้าเริ่มที่บ้านเราได้นั่นคือสิ่งที่ยากที่สุดแล้ว
ผมว่าด้วยความเกรงใจ หรือว่าความเป็นครอบครัวของคนไทยแบบเราๆ เราไม่ค่อยจะเปลี่ยนตรงนี้ได้ ถ้าน้องอยากจะเปลี่ยนแปลงระดับโลกเลยเนี่ย เราเปลี่ยนบ้านตัวเอง ผมมีลูกของรุ่นพี่ที่เขาไปโรงเรียนพวกทางเลือก โรงเรียนก็สอนเข้มข้นมากจนกลับมาบอกพ่อว่าต้องแยกขยะนะ คุณครูของหนูเขาสั่ง ก็ถ้าเขาเปลี่ยนบ้านเขาได้ ความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงโลกของเขาจะมหาศาล”
ด้านคำแนะนำของดร.วโรดม ค่อนข้างให้แรงบันดาลใจทีเดียว เพราะเขาบอกว่า Net Zero คือโอกาส ปัจจุบันบริษัทไทยหลายแห่ง ได้ออกมาประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี ค.ศ.2050 หรือก่อนหน้านั้น ดังนั้นจะมีธุรกิจเป็นจำนวนมากที่มีโอกาสเกิดขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตตลาด ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่เรื่องของดูแลสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันยังสามารถเป็นอาชีพ ที่จะต่อยอดสู่อนาคตได้อีกด้วย
“ตั้งแต่การเป็นออดิเตอร์ตรวจวัดการปล่อยคาร์บอน ธุรกิจและนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยลดการปล่อย หรือดักจับคาร์บอน และอื่นๆ ตลาดค่อนข้างเปิดกว้างมากสำหรับคนที่มีไอเดีย มีความฝัน อยากเห็นโลกนี้น่าอยู่ขึ้น อยากทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.วโรดม บอก
ดังนั้น คำแนะนำของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ต่อคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนในอนาคตของโลกในวันข้างหน้า จึงมีดังนี้ – ให้ตระหนักรู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะแก้ไข ขณะเดียวกัน มันก็มีโอกาสมากมายให้หยิบฉวย
และแน่นอนที่สุด ภาระเรื่องโลกร้อน ไม่ได้อยู่แค่บนบ่าของคนใดคนหนึ่ง แต่จะต้องเริ่มต้นปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ผ่านบทเรียน และวิถีชีวิตประจำวันของทุกๆ คนต่อไป