จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราคงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์มากมาย หนึ่งในนั้นคืออุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ที่ผลิตมาจาก ‘พลาสติก’ ทั้งหน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน ไปจนถึงฉากกั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพลาสติกเป็นวัสดุสำคัญในการออกแบบ
GC ผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก จึงได้ริเริ่มโครงการ Greater Care Charity by GC & Customers โดยร่วมมือกับคู่ค้าผู้ประกอบการกว่า 84 บริษัท ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมพลาสติกให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพแบบครบวงจร เพื่อมอบให้แก่บุคลากรด่านหน้าและผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม รวมถึงศูนย์พักคอยในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ถึงแนวคิดของโครงการ และแนวทางการออกแบบนวัตกรรมพลาสติกร่วมกับคู่ค้า เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤต
จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น GC ได้วางบทบาทการช่วยเหลือสังคมไว้อย่างไร
ในช่วงแรกๆ ของการระบาด หน่วยงานด่านหน้า ทั้งแพทย์และพยาบาลต้องดูแลผู้ป่วยอย่างหนัก และในขณะเดียวกันก็มีความต้องการด้านการสร้างโรงพยาบาลสนาม การสร้างศูนย์พักคอย เข้ามาค่อนข้างมาก เราเลยมองว่า GC ในฐานะผู้ขายเม็ดพลาสติกให้กับทางผู้ประกอบการด้านพลาสติก มีการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทไหนบ้าง ที่สามารถนำมาช่วยในวิกฤตโควิดได้ โดยปกติ GC และ GC Marketing หรือ GCM จะจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับลูกค้าเป็นประจำทุกปี แต่ในสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การจัดงานพบปะไม่สะดวกมากนัก เราเลยคุยกับลูกค้าว่า มาร่วมกันทำประโยชน์ให้กับสังคมกันดีกว่า ซึ่งลูกค้าทุกคนเห็นด้วย เพราะทุกคนมีความตั้งใจในการคืนประโยชน์สู่สังคมอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีอะไรที่เขาทำได้ เขาก็พร้อมที่จะร่วมลงทุนลงแรง ทำให้โครงการ Greater Care Charity by GC & Customers ได้เริ่มต้นขึ้น
การดำเนินงานโครงการ Greater Care Charity by GC & Customers เป็นอย่างไร
เป็นไอเดียร่วมกันของ GC GCM และลูกค้า ว่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อป้องกันการระบาด การรักษาระยะห่าง และช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่เรามีเป็นแผ่นฟิล์มม้วน ดังนั้นถ้าเราออกแบบให้ผู้ใช้งานนำไปประกอบเอง ทั้งฟิล์มและขาตั้งท่อ PVC ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน ลูกค้าจึงบริจาคฟิล์มที่ผลิตจากโรงงาน ส่วน GC ก็ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการขนม้วนฟิล์มและขาตั้งไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งหมดประมาณ 900 กว่าแห่งทั่วประเทศ ผ่านบริษัทใน GC Group คือ GC Logistics ที่ปกติทำหน้าที่ขนส่งเม็ดพลาสติกจากโรงงานไปให้กับโรงงานลูกค้าอยู่แล้ว ก็มารับหน้าที่นี้แทน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
และจากนั้นเราก็มาทบทวน ว่าเรามีผลิตภัณฑ์อะไรอีกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก็พบว่าเรามีพลาสติกที่ลักษณะเป็นชีท สามารถนำมาทำเฟซชิลด์ได้ รวมถึงพลาสติกประเภทโพลีเอทิลีน ที่สามารถพัฒนามาเป็นชุด PE Gown ได้ นี่คือที่มาว่าเราพยายามจะช่วยเหลือ โดยการรวบรวมสิ่งที่เรามี เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
ทำอย่างไรให้คู่ค้าผู้ประกอบการพลาสติกทุกบริษัท มองเห็นถึงเป้าหมายตรงกันในการช่วยเหลือสังคม
จริงๆ การช่วยเหลือนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ปีเดียว เรามีการพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ามานานแล้ว เมื่อเราเสนอไอเดียไป ลูกค้าก็พร้อมซัพพอร์ตเสมอ เรียกว่าเป็นความเชื่อมั่นระหว่างกัน อย่างเช่นลูกค้าที่ผลิตเตียง เขาบอกว่าพร้อมจะลงทุนทำโมลด์ (แม่พิมพ์) ขึ้นมาให้เลย เพราะต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคม ลูกค้ารายอื่นๆ บอกว่าเขามีเก้าอี้ ตู้เก็บของ ถุงพลาสติก ที่พร้อมสนับสนุนด้วยราคาทุน หรือบางรายที่ช่วยไม่ได้ เขาก็ซัพพอร์ตเป็นเงิน คือเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราเชื่อว่าถ้าหลักการในการทำธุรกิจเป็นแบบเดียวกัน มองทุกอย่างตรงกัน การร่วมมือกันก็ไม่ใช่เรื่องยาก
GC มีการคิดค้นนวัตกรรมพลาสติกใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรอย่างไร
ลูกค้ารายหนึ่งของ GC ทำเม็ดพลาสติก HDPE ที่ใช้ปูหลังรถกระบะ เขามีไอเดียในการสร้างโมลด์เป็นเตียงผู้ป่วย เนื่องจากศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามมีความต้องการใช้เตียงมาก และยังมีตู้ลิ้นชักพลาสติกข้างเตียง และตู้ล็อกเกอร์ที่ไว้เก็บของใช้ส่วนตัว ซึ่งเป็นชั้นพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก LLDPE คอมพาวด์ รวมถึงเก้าอี้พลาสติกอีกด้วย
สำหรับบุคลากรด่านหน้าอย่างหมอและพยาบาล เราก็สนับสนุนชุด PE Gown กันน้ำ ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE ภายใต้แบรนด์ InnoPlus ของ GC ซึ่งกลายมาเป็นชุดกาวน์ซึ่งเป็นที่ต้องการในหมู่บุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างมาก จนถึงวันนี้เราบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ไปถึง 4 ล้านชุดแล้ว รวมถึงในกระบวนการรักษาต่างๆ จะเกิดขยะติดเชื้อตามมา เราไม่ต้องการให้ขยะติดเชื้อไปปะปนกับขยะปกติ เพราะอาจทำให้คนเก็บขยะติดเชื้อได้ จำเป็นต้องมีการจัดการคัดแยกอย่างถูกต้อง เราจึงมีการผลิตถังขยะสีแดงและถุงขยะสีแดงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
นอกจากนั้น จะเป็นของใช้ทั่วไปที่สนับสนุน เช่น พัดลม เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดปริมาณออกซิเจน อุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ และที่สำคัญคือ เรามีโครงการที่ซัพพอร์ตวิสาหกิจชุมชนในระยองที่ปลูกข้าว โดยการนำข้าวมาแปรรูปเป็นขนม Energy Bar ชื่อแบรนด์ Rice Me Snack Bar เพราะเราเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้ต้องการแค่อาหาร 3 มื้อ ตอนพักเบรก เขาก็ต้องการอะไรที่ทำให้ผ่อนคลายอย่างขนมสแน็คอีกด้วย
มองว่านวัตกรรมพลาสติกมีบทบาทสำคัญมากน้อยขนาดไหน ในการช่วยเหลือวิกฤตโควิด 19
พลาสติกอยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลาอยู่แล้ว เราหลีกเลี่ยงพลาสติกไม่ได้ การบอกว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย แล้วบังคับให้เลิกใช้ ในความเป็นจริงคือ เราไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ ปัญหาที่แท้จริง เกิดจากการใช้ที่ขาดความรับผิดชอบและใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหานี้ อย่างเช่น การใช้ซ้ำ ทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง คัดแยกชนิดของขยะก่อนนำไปรีไซเคิล ปัญหาก็น่าจะลดลงได้
ต้องบอกว่าข้อดีของพลาสติกคือใช้เวลาในการพัฒนาไม่นาน ยิ่งมีพลาสติกเกรดที่สามารถนำไปผลิตได้ทันที และมีผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญในการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ก็สามารถออกมาสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญก็คือต้องใส่ใจกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง อย่างเตียงผู้ป่วยพลาสติกที่มอบให้ พอหลังจากโควิด 19 จบแล้ว เราคุยกับบริษัทแอร์โรคลาส คู่ค้าของเราที่ผลิตเตียงนี้ เขาบอกว่ามีการเตรียมแผนไว้แล้ว คือถ้าไม่ใช้แล้ว สามารถนำมาใช้เป็นโต๊ะทานอาหารได้ หรือสามารถนำมารีไซเคิลได้ง่าย เพราะเป็นขยะประเภทเดียวกันและมีความสะอาด ซัพพอร์ต Ecosystem ของการทำรีไซเคิลได้ แต่ก่อนที่จะมองไปถึงการรีไซเคิล เราเชื่อว่าโควิด 19 คงต้องอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง เตียงยังสามารถใช้ได้ต่อเนื่องเรื่อยๆ ทั้งทำความสะอาดได้ง่าย ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ใช้แอลกอฮอล์เช็ดก็ได้ สารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็ไม่ทำให้เสียหาย ซึ่งนี่เป็นข้อดีของพลาสติก
GC เองในฐานะผู้ผลิต เราได้สร้าง Ecosystem ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางผ่านหลายโครงการ เริ่มตั้งแต่การทำตู้ Drop Point เพื่อแยกขยะในขั้นต้น ก่อนไปสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเราได้ศึกษากระบวนการรีไซเคิลที่ทำให้ขยะกลับมาเป็นเม็ดพลาสติกอีกครั้ง หรือการนำขยะมาหลอมใหม่ให้กลายเป็นวัตถุดิบต้นทาง เพื่อเป็นต้นแบบให้ทุกคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรเริ่มต้นทำตั้งแต่ตอนนี้
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาดจริงในอนาคตได้อย่างไร
เราบอกตัวเองเสมอว่า วันนี้สิ่งที่ GC ทำ ไม่ใช่การขายเม็ดพลาสติกเป็นแค่เม็ดพลาสติก แต่เราขายเม็ดพลาสติกเป็น Solution และ Application นี่คือเหตุผลเราตั้งหน่วยงาน Customer Solutions Center ขึ้นมา ลูกค้ามีไอเดียอะไร อยากจะทำอะไร หรือบริษัท Start Up ที่ต้องการจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาขาย แต่ไม่มีไอเดีย สามารถเข้ามาใน Customer Solutions Center เรามีดีไซเนอร์ที่ดูแลการออกแบบเม็ดพลาสติกให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยง Converter ให้แบบครบวงจร นอกจากนี้ เรายังพยายามเปลี่ยน จากการผลิตพลาสติก Single-Use ให้เป็นการผลิตที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ทั้งพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ท่อ กระจกเทียม ฉนวนกันความร้อนต่างๆ เราพยายามจะพัฒนาพลาสติกด้วยนวัตกรรมให้มากกว่ารูปแบบเดิมๆ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายในตลาดจริงในอนาคตได้
เป้าหมายในอนาคตของโครงการเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
เราต้องช่วยกันให้มากที่สุด ที่สำคัญต้องเชิญชวนผู้ประกอบการอื่นๆ มาร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือไปทั่วถึงได้มากกว่าคนเพียงคนเดียวหรือบริษัทเดียวแน่นอน ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะหากสถานการณ์นี้ผ่านพ้นไป ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลาย ทุกคนต่างต้องการให้ประเทศพ้นวิกฤต เมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน