อารยธรรมมนุษย์เราคือเจ้าแห่งความลึกลับ และสิ่งมหัศจรรย์ของโลกตลอดกาลอย่าง ‘มาชู ปิกชู’ เมืองสาบสูญบนเทือกเขาแอนดีส ก็เป็นหนึ่งในสุดยอดความลึกลับที่ยากจะหาคำตอบบนโลกใบนี้
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับมาชู ปิกชู ตั้งแต่สิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร กับการขนก้อนหินหนักหลายตันไปก่อสร้างบนยอดเขาสูง 2,430 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แถมยังตัดหินได้ประณีตสวยงามจนเป็นสิ่งปลูกสร้างมาสเตอร์พีซของยุคโบราณ ยิ่งกว่านั้น ใครเป็นคนสร้าง สร้างไว้เพื่ออะไร และทำไมมันถึงถูกปล่อยร้าง ซุกซ่อนเอาไว้ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ จนกระทั่งถูกค้นพบเมื่อปี 1911 โดยไฮแรม บิงแฮม นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ที่ตั้งชื่อด้วยภาษาเก่าแก่อันเป็นของผู้ครองพื้นที่มาแต่โบราณ
คำว่า ‘Machu Picchu’ เป็นภาษาเกชัว (Quechua Language) ที่แปลว่า ‘ยอดเขาอันเก่าแก่’ โดยภาษานี้เป็นภาษาเก่าแก่ของชาวอินคา ที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างมาชู ปิกชู และสำหรับกิจกรรม #qUechUacode ใน Campaign Machu Picchu Ultimate Peru ที่จะพาเราไปเยือนความยิ่งใหญ่ให้เห็นกับตา การไปทำความรู้จักกับวัฒนธรรม พร้อมกับลองแปลภาษาเกชัว อันเป็นหนึ่งในภารกิจสนุกๆ ของกิจกรรม—น่าจะเป็นความท้าทายที่น่าสนใจไม่น้อย
และนี่คือ 5 วิธีแปลภาษาเกชัวที่เราอยากหยิบมาเล่าให้ฟัง
“ไปถามที่สถานทูตเปรูในประเทศไทย”
เปรู คือดินแดนแสนเก๋อันเป็นที่ตั้งของมาชู ปิกชู ที่นี่เป็นประเทศติดชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกาใต้ ซึ่งรวมเอาวัฒนธรรมหลากหลายเข้าด้วยกัน นับตั้งแต่ชนพื้นเมืองบนเทือกเขาแอนดีส หรือก็คือชนเผ่าอินคาทั้ง 4 แคว้น พ่ายแพ้ให้กับชาวสเปนที่เข้ามาล่าอาณานิคม การหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่อันซับซ้อนในเปรูที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
นอกจากการผสมผสานแล้ว เสน่ห์สำคัญของเปรูก็คืออารยธรรมโบราณของชนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวอินคา ที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้างมาชู ปิกชูขึ้นมาและทิ้งความลับไว้รอให้เราค้นหาอีกมาก
ประเทศเปรูอยู่ห่างจากไทยคนละซีกโลก แต่นับว่ามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยคนไทยไม่ต้องทำวีซ่าเพื่อไปเยือนประเทศเปรู และสามารถอยู่ได้สูงสุด 90 วัน สำหรับใครที่อยากลองไปเลียบเคียงถามไถ่แถวๆ สถานทูตเปรูประจำประเทศไทย เชิญที่อาคารกลาสเฮาส์ สุขุมวิท 25
“ลองถามชาวอินคาตัวจริง เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาจะอยู่ในไทย?”
ชนเผ่าอินคาคือชนเผ่าที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ โดยใน ค.ศ.1438-1533 ที่เป็นยุครุ่งเรือง ชาวอินคามีประชากรถึง 12 ล้านคน อารยธรรมประกอบด้วย 4 แคว้น ที่ต่างก็มีผู้สำเร็จราชการประจำเพื่อทำหน้าที่ดูแลหัวหน้าลำดับรองๆ ลงไปคอยดูแล
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์บอกว่า ในยุคล่าอาณานิคมกองทัพอินคาสู้รบกับทหารสเปนไม่ได้ และเมืองก็ได้สาบสูญไปจากแผนที่โลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สิ่งนี้ทำให้นักโบราณคดีอย่างไฮแรม บิงแฮม เกิดคำถามว่าเมืองทั้งเมืองจะหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้อย่างไร ในปี 1906 เขาจึงเดินทางไปทวีปอเมริกาใต้เพื่อค้นหาเมืองนี้และในปี 1911 ก็พบมาชู ปิกชูในที่สุด ซึ่งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะแม้แต่กองทัพสเปนซึ่งได้ครอบครองอาณาจักรอินคามากว่า 300 ปี ก็ไม่เคยรู้ว่าชาวอินคาได้สร้างเมืองสวยงามอลังการไว้บนยอดเขาสูงแห่งนี้
แต่การล่มสลายของอารยธรรมก็ไม่ได้หมายความว่าชาวอินคาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขาถูกปกครองโดยสเปนในพื้นที่เดิมของตน ลูกหลานของพวกเขายังสืบทอดเชื้อสายกันมาจนถึงตอนนี้ แม้สายเลือดจะเจือจางลงไปตามกาลเวลา แต่ลูกหลานชาวอินคาที่พูดภาษาเกซัวยังคงมีอยู่ในเปรู โบลิเวีย ชิลี เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และอาร์เจนตินา
“ภาวนาถามพระอาทิตย์”
ชาวอินคาเชื่อว่าดวงอาทิตย์คือผู้ให้กำเนิดเผ่าพันธุ์ตน สุริยะเทพหรือ ‘อินติ’ จึงเป็นเทพเจ้าที่ชาวอินคาเคารพบูชาเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นพวกเขายังนับถือเทพเจ้าที่เชื่อมโยงกับอำนาจทางธรรมชาติอีกมากมาย เช่นเทพีแห่งดวงจันทร์หรือ ‘ควิลลา’ รวมถึงเทพอื่นๆ อย่างธรณี ภูเขา แม่น้ำ หรือต้นไม้
ชาวอินคาทำการบูชาเทพเจ้าอยู่เสมอ โดยการนำสิ่งของ เช่น ตุ๊กตาปั้น เครื่องดื่มหมัก ใบโกโก้ หรือชีวิตไปถวาย ในพิธีกรรมของชาวอินคาจึงมีทั้งการบูชายัญตัวลามะที่เป็นสัตว์พื้นถิ่น จนถึงชีวิตคนในวาระสำคัญๆ
ทุกวันนี้ความเชื่อก็ยังคงอยู่ (แต่เลิกบูชายัญมนุษย์ไปนานแล้ว) โดยเทศกาลบูชาพระอาทิตย์หรือ Inti Raymi เป็นเทศกาลสำคัญของเปรู จัดขึ้นในช่วงกลางปีของทุกปี ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้โลกมากที่สุดนั่นเอง
“ไปฟังเพลงของ Renata Flores”
ในเปรูยุคปัจจุบัน เกชัวคือภาษาโบร่ำโบราณและถูกมองเหยียดจากชาวเปรูเวียนที่รับเอาวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมและโลกยุคใหม่มาเต็มเปี่ยม
Renata Flores คือนักร้องสาววัย 16 ปี ผู้ทำให้ภาษานี้ป๊อปขึ้น โดยเปลี่ยนเนื้อเพลงดังระดับโลกเป็นภาษาเกชัว จนกลายเป็นไวรัลทางอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2015 ทำให้ภาษานี้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปของชาวเปรูเวียนรุ่นใหม่ๆ ในขณะที่แนะนำให้ชาวโลกรู้จักภาษาเก่าแก่นี้ไปด้วย
เพลงแรกที่ทำให้เรนาตาเป็นที่รู้จักคือ The Way You Make Me Feel ของไมเคิล แจ็กสัน ที่เผยแพร่ทางยูทูบเมื่อสองปีก่อน ขณะที่เธอมีอายุเพียง 14 ปี โดยคนที่ช่วยเรนาตาแปลเนื้อเพลงให้สละสลวย ก็คือคุณย่าวัย 72 ของเธอเอง
ทุกวันนี้เธอก็ยังคงแอคทีฟในฐานะนักร้องภาษาเกชัว เดินทางเล่นดนตรีกลิ่นอายพื้นเมืองตามพื้นที่ต่างๆ ในเปรูและประเทศลาตินอเมริกาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการฟังเพลงของเธอสักเพลงสองเพลง น่าจะทำให้เราคุ้นเคยกับเสียงภาษาเกชัวได้ไม่น้อยทีเดียว
“ใช้โปรแกรม translate ที่คุ้นเคย แต่…”
การเอาภาษาเกชัวมาแปลเป็นไทยทันทีอาจจะให้ผลคือความงง เพราะภาษานี้ห่างไกลกับภาษาไทยมาก ทั้งด้วยระยะทางและระบบแกรมม่า เราจึงต้องใช้วิธี เกชัว>>สเปน>>อังกฤษ แทน ถึงจะเข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้น
นั่นเพราะภาษาเกชัวมีอยู่ในอเมริกาใต้ ที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาสเปนในการสื่อสาร ภาษาเกชัว กับภาษาสเปน จึงมีความใกล้ชิดและสามารถเทียบเคียงความหมายกันได้ดีที่สุด จากนั่นเราค่อยนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วต่อด้วยไทยก็น่าจะได้ความ
และถึงจะบอกว่าภาษาเกชัวเป็นภาษาเก่าแก่และไม่แมส แต่ปัจจุบันโลกนี้ก็ยังมีคนใช้ภาษาเกชัวกว่า 8-10 ล้านคน แถมยังปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปอื่นๆ อีกไม่น้อย เช่นเป็นภาษาพูดของตัวละครในหนังชุด Indiana Jones ซีรี่ย์ Da Vinci’s Demon รวมถึงคอมิก The Adventure of Tintin ที่มีการไปผจญภัยในอาณาจักรอินคาหรือข้องเกี่ยวกับตัวละครชาวอินคา ตัวละครชุด Earthbound Immortals ในการ์ดยูกิ ก็มีชื่อเป็นภาษาเกชัว หรือแม้แต่แฟนสตาร์วอร์ก็ตาม คุณอาจเคยคุ้นหูภาษาเกชัวโดยไม่รู้ตัว เพราะนี่คือออริจินัลของภาษา Rodian ที่ตัวละคร Greedo ใช้คุยกับฮาน โซโล่ในภาค 4 นั่นเอง
รู้จักภาษาเกชัวและอารยธรรมอินคาไปพอสมควรแล้ว อย่าลืมลองไปแปลความหมายกันได้ เผื่อจะได้ไปเพิ่มเติมความอินกว่านี้ที่มาชู ปิกชู ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ machUcan.com
อ้างอิง
jilverribong.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
oknation.nationtv.tv/blog/agelbusiness/2013/04/01/entry-2
en.wikipedia.org/wiki/Quechuan_languages#In_popular_culture