เราต่างคุ้นเคยกันดีว่า ‘พื้นที่’ แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กคือโรงเรียน แต่ด้วยกรอบบางอย่างของการเป็นสถานศึกษาที่มีกฎเกณฑ์ของระบบต่างๆ ประกอบกับเรื่องความไม่เท่าเทียมของมาตรฐานการสอนในแต่ละโรงเรียน ทำให้พื้นที่แห่งนี้จึงไม่สามารถตอบสนองการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างทั่วถึง
และปัญหาสำคัญที่การศึกษาของไทยขาด ไม่ใช่เรื่องวิชาการ แต่เป็นทักษะด้านศิลปะและการใช้ชีวิต ที่จะเป็นตัวจุดประกายความคิดสร้างสรรค์จนสามารถต่อยอดเป็นอาชีพต่อไปได้ในอนาคต ในเมื่อโรงเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ‘แหล่งเรียนรู้ชุมชน’ จึงเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญมากในการตอบสนองความต้องการดังกล่าวของเด็กๆ แต่ประเด็นคือใครจะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนพื้นที่นี้อย่างจริงจัง
‘โครงการไฟ-ฟ้า’ เกิดจากมุมมองที่ธนาคารทีเอ็มบี ต้องการที่จะคืนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน จึงเลือกที่จะผลักดันให้เด็กและเยาวชนที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาและมีรายได้น้อย ในการค้นหาตนเองผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่เปิดการเรียนการสอนด้าน Art and Life Skills ความน่าสนใจคือแนวคิดในการสร้างให้เด็กเป็นเด็กธรรมดา ไม่ได้มุ่งเป้าที่การแข่งขันเพื่อวัดผล แต่ให้ความสำคัญกับการค้นหาตนเองในสิ่งที่ชอบอย่างมีความสุข
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ มาริสา จงคงคาวุฒิ เจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน TMB ถึงที่มาและเป้าหมายของโครงการไฟ-ฟ้า ที่ต้องการสร้างเด็กธรรมดาในเกิดขึ้นในสังคมไทย
ไฟ-ฟ้า คืออะไร
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ทีเอ็มบีมองเห็นว่าปัญหาของสังคมไทย คือเรื่องของเด็กไทยที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ทางทีเอ็มมีจึงตั้งเป้าหมายสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ด้วยการให้คืนกลับสังคมในรูปแบบที่ยั่งยืนกว่า ตามปรัชญา Make THE Difference เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น ของทีเอ็มบี โดยเชื่อมั่นว่า เด็กทุกคนมีพลังและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนไปในทิศทางที่ดี
“เราต้องการจะทำสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH)’ ความหมายของคำว่า ไฟ หมายถึงพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ แล้ว ฟ้า ก็คือสีแห่งการให้ของทีเอ็มบี จึงเป็นที่มาของชื่อนี้”
โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการคือกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 12 – 17 ปี เนื่องจากเป็นช่วยวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ ประเด็นสำคัญคือการสนับสนุนด้วยการสร้าง open space หรือศูนย์การเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมดีๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเอื้อต่อการค้นพบศักยภาพของตนเองในระยะยาว
“โจทย์ของเราคือเน้นเรื่องของความยั่งยืนเป็นหลัก เราจึงต้องการหาสิ่งที่เป็นแพลตฟอร์มที่แน่นอน เลยเป็นที่มาของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ และอีกโจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้สถานที่หรือสภาพแวดล้อมสามารถดึงดูดเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ได้ อยากให้เขารู้สึกอบอุ่นที่ได้มาและได้จุดประกายสิ่งดีๆ กลับไป”
ศูนย์ไฟ-ฟ้าแห่งแรก ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 บนถนนประดิพัทธ์ เขตพญาไท ออกแบบพื้นที่โดย Bill Bensley สถาปนิกที่ติดอันดับ 1 ใน 100 ของสถาปนิกระดับโลกที่จัดอันดับโดยนิตยสาร TIME โดยรีโนเวทตึกแถวเก่าให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ เน้นความโปร่งโล่งโดยใช้แสงธรรมชาติ และเลือกใช้วัสดุเดิมๆ ที่ยังคงความดิบอย่างพื้นปูนเปลือยและผนังอิฐสีน้ำตาลแดง ก่อนที่ในปี 2555 จะเกิดศูนย์ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ ตั้งบนถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ และศูนย์ไฟ-ฟ้า จันทน์ ตั้งอยู่บนถนนจันทน์ เขตสาทร ล่าสุดในปี 2558 กับศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย ตั้งอยู่บนถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย ซึ่งแต่ละศูนย์มีเอกลักษณ์ในการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ อย่างลงตัว
Art and Life Skills วิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน
หนึ่งในทักษะที่เด็กไทยยังขาดในยุคนี้ คือ Soft Skill โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่เกิดขึ้นจากการซึมซับศิลปะเพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดเป็นทักษะชีวิตที่นำไปสู่อาชีพในอนาคต จึงทำให้ศูนย์ไฟ-ฟ้าดีไซน์หลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ Art and Life Skills ซึ่งกระตุ้นให้เด็กได้ค้นพบทักษะที่ตนเองถนัดและสิ่งที่รักผ่านการลงมือทำ
โดย Art Skills ที่เปิดสอน แบ่งออกเป็น ด้านศิลปะอย่างเช่นการวาดเส้น การลงสีน้ำ กราฟิกดีไซน์ ด้านกีฬาอย่างเช่น เทควันโดและมวยไทย ด้านการแสดงอย่างเช่นการร้อง การเต้น ร้องเพลง กีตาร์ และด้านการสื่อสารอย่างเช่นภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือ Life Skills ที่ผ่านการดีไซน์ขึ้นมาจากการสำรวจบริบทของชุมชนในย่านนั้นๆ เพื่อพัฒนาขึ้นมาเป็นหลักสูตรวิชาเรียน
“เราได้ทำการวิจัยแล้วก็พบว่า ศิลปะเป็นวิชาที่สำคัญในการที่จะเชื่อมเด็กเข้ากับผู้ใหญ่ รวมถึงทักษะชีวิตก็เป็นสิ่งที่เด็กไม่สามารถหาเรียนรู้ได้ในโรงเรียนก็มาเรียนได้ที่นี่ เรามีทีมวิจัยที่ลงพื้นที่เพื่อดูบริบทและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก และศึกษาจากความต้องการของเด็กๆ จนเกิดเป็นไฮไลต์คลาสประจำแต่ละศูนย์ อย่างศูนย์ประดิพัทธ์ก็จะเป็นคลาสครัว เนื่องจากบริบทของชุมชนมีอาชีพหนึ่งที่สำคัญคืออาชีพการค้าขาย มีร้านอาหารเปิดเยอะ หรือศูนย์ล่าสุดคือบางกอกน้อย บริบทตรงนั้นเป็นกรุงเก่า มีแหล่งท่องเที่ยวเยอะ ไฮไลต์คลาสจึงเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนเป็นหลัก”
ปลายทางที่ทีเอ็มบีคาดหวัง คือการที่เด็กสามารถนำทักษะที่มีกลับคืนมาให้กับสังคมและชุมชนที่พวกเขาเติบโตมา ด้วยกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนโดยเด็กไฟ-ฟ้า อย่าง ‘โครงการจากครัวไฟ-ฟ้าสู่ธุรกิจ’ เด็กในคลาสครัวได้เข้าไปสอนการทำปั้นสิบให้กับชาวบ้านในชุมชน และเด็กคลาสกราฟิกทำหน้าที่ออกแบบแพ็คเกจจิ้ง โดยมีอาสาสมัครของทีเอ็มบีให้ความรู้เรื่องการทำธุรกิจ จนออกมาเป็นขนมปั้นสิบเห็ด 3 รสชาติที่พร้อมวางขายในตลาด หรือ ‘โครงการเด็ก-ฟื้น-เมือง’ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างเด็กไฟ-ฟ้าและอาสาสมัครทีเอ็มบีเก็บข้อมูลในพื้นที่ชุมชนย่านสาทรใต้เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงพื้นที่ให้เกิดเป็นลานกิจกรรมสร้างสรรค์อีกด้วย
#เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม
แม้ว่าสังคมการศึกษารอบข้างจะวัดผลด้วยการสอบและมีตัวชี้วัดเป็นคะแนน แต่ด้วยเป้าหมายแรกของโครงการไฟ-ฟ้า ไม่ได้ต้องการพัฒนาศักยภาพของเด็กเพื่อการแข่งขันในสังคมที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง แต่กลับต้องการพัฒนาให้เด็กเป็นเด็กธรรมดาๆ ที่มีความสุขกับสิ่งที่รักเท่านั้น
ด้วยโครงสร้างของหลักสูตรระยะยาวในแต่ละวิชาเรียนที่ยาวนานถึง 3 ปี ประกอบกับครูอาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ที่มาพร้อมโจทย์การทำงานเชิงปฏิบัติและศึกษาร่วมกัน ไม่ได้วัดผลด้วยการสอบ แต่วัดศักยภาพของเด็กจากการทำโปรเจกต์ที่ต้องนำเสนอต่อกับครูและพ่อแม่ทุกๆ ปี ทำให้สิ่งที่เด็กไฟ-ฟ้าได้รับจึงเป็นทักษะที่การันตีถึงคุณภาพของการเรียน ช่วยให้ค้นพบตัวเองและสามารถต่อยอดสู่อาชีพในอนาคตได้
จึงเป็นที่มาของแคมเปญ ‘เด็กธรรมดาคือสิ่งที่สวยงาม’ ที่สะท้อนสิ่งที่โครงการไฟ-ฟ้าทำมาตลอด 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้เด็กธรรมดาได้ค้นพบความมหัศจรรย์ในตัวเอง และจุดประกายแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป
“เด็กทุกคนไม่ได้มีโอกาสได้เป็นที่หนึ่งเสมอ เพราะฉะนั้นที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าต้องการที่จะเปิดโลกทัศน์ให้พวกเขาได้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง มีความพร้อมทั้งด้านจิตใจและความรู้ เป็นที่ยอมรับ แล้วก็รู้จักแบ่งปัน ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร แล้วก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แค่นี้เราก็ได้ช่วยกันสร้างเด็กธรรมดาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว”
“เด็กในชุมชนหลายๆ คนอาจจะมีต้นทุนที่ติดลบ ซึ่งตรงนี้เองเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่อาจจะมีต้นทุนที่ติดลบได้ขยับจากติดลบมาเป็นเด็กธรรมดา คือจากที่เขาไม่เคยรู้เลยว่าเขาต้องการอะไร เมื่อได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อและเปิดโลกทัศน์ให้ ก็จะทำให้เขาสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองได้”
ข้อมูลเพิ่มเติม tmbfoundation. or.th