หากพูดถึงถนนราชดำริ ย่านสำคัญที่เมื่อพูดถึง เราจะนึกภาพถนนสายกว้าง ที่ฝั่งหนึ่งมีตึกสูงเรียงรายตลอดทาง
ทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดสำหรับพักอาศัย และสถานที่สำคัญเก่าแก่ ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มายาวนาน และอีกฝั่ง ก็เป็นที่ตั้งของราชกรีฑาสโมสร สโมสรกีฬาเก่าแก่ ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง หากได้มองจากมุมสูง ก็จะเห็นสนามสีเขียวกว้างใหญ่ทอดยาว มองแล้วสบายตา
แต่กว่าจะมาเป็นอีกหนึ่งถนนสายหลักของมหานครอย่างกรุงเทพฯ เช่นทุกวันนี้ ถนนราชดำริเองนั้นก็มีเรื่องเล่า มีที่มา ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่น้อยคนนักจะได้รู้เรื่องราวเหล่านี้
เราจึงจะขอพาทุกท่าน เดินล่องท่องไปตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของถนนราชดำริแห่งนี้ไปด้วยกัน
“ราชดำริ” ถนนสายที่สร้างขึ้นจาก ดำริของพระราชา
“สร้างถนนสถลสถานโอฬารตา มีรถม้ารถรางรถยางยนตร์
มีรถไฟเรือไฟโคมโคมไฟฟ้า อุดหนุนพาณิชย์เปรื่องประเทืองผล
โรงเลื่อยโรงสีไฟใช้จักร์กล ห้างร้านกล่นสินค้าหาประชัน”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ส่วนหนึ่งจากกลอนสุภาพของกรมพระนราธิปประพันธพงศ์ ที่ได้สรรเสริญพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงนำพาความเจริญรุ่งเรืองนานัปการมาสู่เมืองสยามด้วย ด้วยพระราชดำริที่ต้องการเห็นเมืองสยามนั้นมีความเจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ
ถนนราชดำริ จึงเกิดจากพระราชดำริของพระองค์ ที่ทรงประสงค์จะสร้างถนนหนทางที่ได้มาตรฐาน สำหรับการสัญจรของประชาชน ทรงโปรดให้กำหนดขนาดของถนน โดยคำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย ดังนั้น ในการสร้างถนนสายใหม่ อันมีถนนราชดำริเป็นเส้นแรกในรัชสมัย จึงต้องมีการกำหนดให้แน่ชัด ว่าจะสร้างถนนขนาดเท่าใด และทำการปักเขตถนน เพื่อมิให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างล้ำเข้ามาในเขตแนว เป็นการวางแผนเพื่ออนาคตภายหน้า หากต้องการขยายขนาดถนน ก็จะทำได้โดยมิต้องไล่รื้อถอนบ้านเรือนประชาชน
ในกาลนั้น ถนนราชดำริ จึงได้ถูกสร้างขึ้น เรื่อยยาวจากแยกศาลาแดง ไปสิ้นสุดที่บริเวณสะพานเฉลิมโลก แยกประตูน้ำ ระยะทางทั้งสิ้น 2.2 กิโลเมตร พร้อมกับการขุดคลอง จากประตูน้ำ ไปจนถึงบางกะปิ นำความเจริญมาสู่พื้นที่ที่ถือว่าเป็นย่านชานเมือง มีแต่ทุ่งนารกร้างในสมัยนั้น และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนและนามคลองในคราวเดียวกันเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2445 ว่า “ถนนราชดำริห์” และ “คลองราชดำริห์”
“ราชดำริ” ถนนสายสำคัญเคียงข้างประวัติศาสตร์เมืองกรุงเทพฯ
หลังถนนสายใหญ่เส้นใหม่ นาม “ราชดำริ” ได้ถูกสร้าง ก็ได้นำมาซึ่งความเจริญนานัปการสู่ย่านราชดำริ – ราชประสงค์ มีการสร้างสายรถรางที่เรื่อยยาวมาจากถนนกรุงเกษมมาสิ้นสุดที่สะพานเฉลิมโลก ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับพ่อค้าประชาชน ที่จะมาร่วมงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ที่ทุ่งศาลาแดง
ทุ่งศาลาแดงแท้จริงแล้วก็คือสวนลุมพินีที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานพื้นที่ 336 ไร่ ของทุ่งศาลาแดง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสวนลุมพินี เพื่อจัดงานแสดงสินค้านานาชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ ในที่ พ.ศ.2468 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และให้ประชาชนได้มาหย่อนใจคลายเครียดหลังสงคราม สวนลุมพินีจึงได้ถูกเนรมิตให้งดงาม แต่ทว่า ก่อนกำหนดเปิดงานเพียงไม่ถึงสองเดือน องค์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต จึงทำให้งานนี้ต้องมีอันยกเลิกไป เหลือไว้เพียงสวนลุมพินี ที่ยังคงยิ่งใหญ่ และอยู่เป็นปอดของชาวกรุงเทพฯ มาจนถึงทุกวันนี้
บนถนนราชดำริ ยังเป็นที่ตั้งของ “ราชกรีฑาสโมสร” สปอร์ตคลับเอ็กซ์คลูซีฟแห่งแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดิน และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างสโมสรกีฬาตามแบบอารยะประเทศ เป็นสนามแข่งม้า และเพาะพันธุ์ม้าที่ได้มาตรฐาน และพระราชทานนามราชกรีฑาสโมสร อันยังเป็นที่รู้จัก และสโมสรเอง ก็ยังคงดำเนินกิจการยาวนานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ถนนราชดำริยังเคยเป็นที่ตั้งของห้าง “ไทยไดมารู” ห้างญี่ปุ่นที่ฟังดูอาจเป็นเพียงห้างธรรมดา ถ้าไม่ได้มี “บันไดเลื่อน” มาทำให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของประชาชนในยุคนั้น
ย่านราชดำริ จึงเป็นย่านที่รวมความเจริญรุ่งเรือง และความทันสมัย ที่ผู้คนใฝ่ฝันอยากจะได้เห็น ได้สัมผัส มาเป็นเวลาเนิ่นนาน จวบถึงทุกวันนี้
“ราชดำริ” ยืนตระหง่าน สู่ความเป็นจุดศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ
กาลเวลาที่ผันผ่าน เปลี่ยนแปลงย่านราชดำริ จากพื้นที่ชานเมือง สู่จุดศูนย์กลางย่านธุรกิจที่สำคัญของประเทศ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ผลสำรวจดัชนีจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2017 (Global Destination Cities Index) ชี้ว่ากรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับหนึ่ง ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวแตะยี่สิบล้านคน ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งในย่านที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมา คือราชดำริ-ราชประสงค์
ถนนราชดำริ เชื่อมต่อกับแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของเมืองไทยและแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งมอลล์ โรงแรม 5 ดาว ร้านอาหารชั้นนำ
ศูนย์กลางธุรกิจ และสถานบันเทิงที่เหนือระดับและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายใจการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และการติดต่อพบปะสังสรรค์ สำหรับนักท่องเที่ยว ย่านนี้ก็ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ เพราะมีแหล่งช้อปปิงที่ตอบทุกความต้องการ ทั้งความหรูหรา งานดีไซนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส
การเป็นถนนที่เชื่อมต่อสู่ทุกย่านสำคัญในกลางเมืองนั้น ถือเป็นข้อได้เปรียบของย่านถนนราชดำริ ที่ทุกสิ่งที่ผู้คนต้องการนั้น ดูจะอยู่ “ใกล้” ไปเสียทั้งหมด
“ราชดำริ” ทำเลทองที่คุ้มค่าการลงทุน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ นั้นยังคงมีแนวโน้มในเชิงบวก โดยเฉพาะเมื่อปี 2560 ต้องถือว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสามปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วยชดเชยอัตราการบริโภคในประเทศที่ซบเซา รวมถึงเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และบริษัทต่างๆ ในเอเชีย มองไทยเป็นที่มั่นด้านกลยุทธ์ที่สำคัญเพื่อการดำเนินธุรกิจที่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ด้านตลาดผู้ซื้ออสังหาฯ ก็ยังคงมีความต้องการทรัพย์สินในเมืองไทย ที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนในเอเชียต่างมุ่งความต้องการไปที่อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งก็คือโครงการที่ตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจหลักของประเทศ หรือ CBD เช่น นักลงทุนจากฮ่องกงที่เริ่มมองหาทำเลใหม่ในการทำธุรกิจนอกประเทศ, นักลงทุนจากจีนที่มีความกังวลภาวะฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้นจากในการลงทุนในบ้านเกิด จึงเลือกเมืองไทยเป็นที่มั่นในการทำธุรกิจ เพราะเมื่อเทียบราคาห้องชุดสุดหรูใจกลางเมืองในกรุงเทพฯ นั้นมีราคาเพียงครึ่งเดียวของห้องชุดระดับเดียวกันในสิงคโปร์ และมีราคาเพียง 1 ใน 5 เมื่อเปรียบเทียบกับฮ่องกง ส่งผลให้ กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนจากทั่วภูมิภาค และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในตลาดระดับนี้ จะมีราคาสูงขึ้นตลอดเวลา
แม้จะมีความต้องการสูงขึ้น และนักลงทุนเองก็พร้อมที่จะสู้ราคาเพื่อให้ได้ที่ดินทำเลงามในกรุงเทพฯ แต่การจะหาที่ดินผืนที่ถือว่าทำเลดี นั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะที่ดินผืนงามล้วนต่างก็ถูกจับจองกรรมสิทธิ์ และพัฒนาไปทั้งเชิงพาณิชย์และเพื่ออยู่อาศัยไปหมดแล้ว
เมื่อตลาดการซื้อขายแบบฟรีโฮลด์ หรือการซื้อกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ แบบได้สิทธิ์ขาด เริ่มจะอิ่มตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือความนิยมในการเช่าที่ถือครองกรรมสิทธิ์ตามช่วงระยะเวลา หรือ ลีสต์โฮลด์ เริ่มขยายตัวมากขึ้น ทั้งในกลุ่มนักลงทุน และผู้อยู่อาศัย เพราะด้วยทำเลของอสังหาริมทรัพย์แบบลีสต์โฮลด์นั้น มักจะดีกว่า ตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า อีกทั้ง ที่ดินหลายผืน ก็ไม่สามารถทำการซื้อขายขาดได้ รูปแบบลีสต์โฮลด์ จึงเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งประเด็นที่ถือเป็นเทรนด์ในของอสังหาริมทรัพย์ในสุดยอดทำเล นั่นคือการพัฒนาโครงการไปในทิศทางแบบ “มิกซ์ยูส” (Mixed-use) ที่เป็นการผสมผสานรูปแบบการใช้สอยในโครงการเดียวให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น การพัฒนาให้มีทั้งส่วนที่อยู่อาศัย ห้าง และโรงแรม อยู่รวมในพื้นที่โครงการเดียวกัน ที่เราเริ่มจะเห็นได้บ่อยขึ้นในยุคสมัยนี
ใช้ชีวิตสุดหรูอย่างทรงคุณค่า บนผืนดินสุดท้ายบนถนนราชดำริ ที่ Magnolias Ratchadamri Boulevard
จากทุกเหตุผลที่กล่าวมา จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจ ที่การใฝ่ฝันจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ถือเป็นย่านสำคัญทางธุรกิจ เดินทางสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และที่เหนือกว่านั้นคือการได้ภาคภูมิใจกับเรื่องราวอันเป็นเบื้องหลัง ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นวิถีชีวิตที่ตอบโจทย์ในทุกแง่มุม
นั่นจึงเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด ที่ผืนดินสุดท้ายบนถนนราชดำริ อันเคยเป็นสมบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และต่อมาได้มีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกทิ้งร้างนานกว่า 15 ปี ได้ถูกพัฒนาให้สมความภาคภูมิอีกครั้ง โดย แมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในกลุ่มบริษัท ดีที
แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด (Magnolias Ratchadamri Boulevard)
เป็นโครงการที่พักอาศัยหรูระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ใจกลางย่านธุรกิจ ที่นำเสนอการลงทุนแบบลีสต์โฮลด์ ที่ขยายสัญญาในการเช่าจาก 30 เป็น 50 ปี เพื่อตอบโจทย์ทั้งการอยู่อาศัยและการลงทุน
MRB มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ โดยอาจถือว่าเป็นแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 1,100 บาท ตัวอาคารความสูง 60 ชั้นแห่งนี้ ได้ออกแบบเป็นรูปกลีบดอกแม็กโนเลีย ที่หมุนวนจากฐานขึ้นไปสู่ส่วนยอดของอาคาร แสดงถึงความแข็งแรงทว่าอ่อนช้อยงดงาม
นอกจากส่วนที่พักอาศัยสุดหรู ภายในโครงการยังได้พัฒนาแบบมิกซ์ยูส โดยเป็นที่ตั้งของโรงแรม 5 ดาวระดับโลก “วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ (Waldorf Astoria Bangkok)” บริหารงานโดย เครือฮิลตัน โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท (Hilton Hotels & Resorts) ที่นำเอามาตรฐานบริการที่หรูหรามีระดับ มาให้ได้สัมผัสกันเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกบ้านที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดใน MRB ทางโครงการจึงได้มอบเอกสิทธิ์ระดับวีไอพี ให้เจ้าของห้องทุกทานสามารถใช้บริการบาร์
และห้องอาหารชั้นนำจากเครือฮิลตันได้เช่นเดียวกับแขกของโรงแรม ถือเป็นการยกระดับไลฟ์สไตล์สู่มาตรฐานสากลอย่างแท้จริง
การได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพัก จึงไม่ใช่เพียงการลงทุนเพื่อให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพัก ในทำเลที่ดีที่สุดใจกลางเขตธุรกิจสำคัญของประเทศ แต่คือความภาคภูมิใจ ที่ได้อยู่บนผืนดินที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เติบโตก่อร่างเคียงข้างการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงเป็นย่านสำคัญที่นำพามาซึ่งความเจริญสืบเนื่องไป
สมดังดำริของพระราชาที่ทรงมุ่งหวังให้ ถนน “ราชดำริ” จะยืนตระหง่านเป็นความภาคภูมิของประเทศสืบไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_12765
https://www.posttoday.com/world/517147
https://www.posttoday.com/property/news/560700
http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=8676