ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้น่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าเรื่องโรคระบาด แม้จะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างร่วมมือแก้ไขกันมานานแล้วก็ตาม ทำให้เกิดโมเดล ‘การจัดการคาร์บอนเครดิต’ ขึ้น หรือการซื้อและขายเครดิต ที่ได้จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อกระตุ้นให้ลดการปล่อยก๊าซมากยิ่งขึ้น
ถือเป็นแนวทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังแบบเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง สำหรับประเทศไทยเราแล้ว ภาพรวมยังได้รับความสนใจไม่มากนัก ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ดีแน่ หากทุกคนยังคงมองไม่เห็นถึงความสำคัญของประเด็นนี้ สภาพสิ่งแวดล้อมก็อาจจะแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างแน่นอน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ริเริ่มโครงการต้นแบบ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ผ่านกลไกการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า โดยเริ่มต้นจากป่าชุมชน 15 แห่งของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวมกว่า 19,611 ไร่ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย และต่อยอดให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาโลกของเราให้คงสภาพเดิมไปจนถึงรุ่นลูกหลานของเราได้สำเร็จ
ทำไมต้องคาร์บอนเครดิต
การจัดการคาร์บอนเครดิต เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 แล้ว จุดเริ่มต้นมาจาก ‘พิธีสารเกียวโต’ หรือความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ ก่อนที่จะได้รับการต่อยอดและปรับปรุงข้อตกลงต่างๆ ใน ‘ความตกลงปารีส’ เมื่อปี 2015 ซึ่งก็มีประเทศไทยเราเข้าร่วมด้วย และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ใน ‘ข้อตกลงกลาสโกว์’ หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งภาพรวมของโลกมีการปรับปรุงรูปแบบและข้อตกลงร่วมกันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
รูปแบบการจัดการคาร์บอนเครดิต คือเมื่อประเทศใดไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะต้องทำการซื้อคาร์บอนเครดิตจาก ‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ จากประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมาย อธิบายอย่างง่ายๆ คือถ้าใครปล่อยก๊าซเกินกำหนด ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มนั่นเอง
แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงมีปัญหาบ้างในเรื่องของการจัดการภาษีระหว่างประเทศ และการนับคาร์บอนเครดิตซ้ำ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการปัญหานี้ที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายเดียวกันแล้ว ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอาจมีอีกหลายประเทศที่ไม่ยอมให้บริษัทต่างๆ เข้าไปทำธุรกิจ หากไม่มีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนเครดิตในปริมาณมากพอตามที่ประเทศนั้นกำหนด ถึงจะเป็นมาตรการที่เรียกว่ามัดมือชก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อโลกของเราในระยะยาวอย่างแน่นอน
สำหรับในไทยเราเอง การจัดการคาร์บอนเครดิตเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามรูปแบบขององค์กรในระดับโลกที่เริ่มต้นไปก่อนหน้าแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลายหน่วยงานยังไม่ให้ความสำคัญ เพราะมองไม่เห็นผลประโยชน์ที่ชัดเจน เนื่องจากการซื้อขายยังเป็นรูปแบบของการเจรจาต่อรองกัน ไม่ได้มีการซื้อขายที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นโดยไวที่สุด
ต้นแบบการจัดการคาร์บอนเครดิตในไทย
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมรอไม่ได้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ริเริ่มโครงการต้นแบบ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ผ่านกลไกการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการลดการปล่อยก๊าซอย่างยั่งยืนร่วมกับภาครัฐและเอกชนรวม 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) 2. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด 7. บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มอบสิทธิ์ให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับการใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งที่สร้างสมดุลระหว่างวิถีชีวิตและอนุรักษ์ป่าได้ จนกระทั่งเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ คือสามารถสร้างโอกาสในการสร้างคาร์บอนเครดิตได้มากถึง 1.6 – 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีเลยทีเดียว จากพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 6.3 ล้านไร่ทั่วประเทศภายใต้การดูแลร่วมกันระหว่างชุมชนและกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการนี้มาแล้ว 15 เดือน สามารถวางรากฐานป่าชุมชน 15 แห่งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยากว่า 19,611 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 9,166 คน มุ่งเน้นการพัฒนาชนบทกับการรักษาป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยวางระบบให้ชุมชนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐาน T-VER ที่ใช้ในการตรวจวัดประเมินคาร์บอนเครดิต รวมทั้งจัดตั้งกองทุนดูแลป่าชุมชน และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในระยะ 3 ปีแรก รวมเป็นเงินกว่า 17.43 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
มากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม คือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากผลกระทบเชิงบวกอย่างชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่า การใช้ประโยชน์จากป่าและน้ำ รวมถึงปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ในปีแรกกว่า 13,328 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าแล้ว โครงการ ‘คุณดูแลป่า เราดูแลคุณ’ ยังสร้างรายได้ถึง 91,600,000 บาทให้ชาวบ้าน 9,166 คน ใน 15 ชุมชน สร้างแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยให้ชุมชนพัฒนาต่อยอดผลผลิตจากป่าชุมชนได้อีกด้วย
ในระยะยาว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับมูลนิธิผืนป่าในใจเรา และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายขยายโครงการกับป่าชุมชนอีก 33 แห่ง รวมกว่า 32,500 ไร่ในจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่ระหว่างปี 2564 – 2565 และคาดว่าจะครอบคลุม 150,000 ไร่ในปี 2566 – 2567 คิดเป็นคาร์บอนเครดิตมากถึงประมาณ 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างรายได้ให้ชุมชนรวมไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี ได้เห็นตัวเลขอันน่าชื่นใจเหล่านี้แล้ว เชื่อว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกหน่วยงานและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยากจะริเริ่มโครงการดีๆ เช่นนี้บ้าง
แม้ว่าการจัดการคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเราจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ความตั้งใจของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่นำการจัดการคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ในเมืองไทยผ่านป่าชุมชน ถือเป็นการวางรากฐานต้นแบบได้สำเร็จ และสามารถต่อยอดสู่ความยั่งยืนได้ต่อไปในระยะยาว
เรียกว่าถ้าไม่มีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ทรัพยากรของโลกเราอาจหมดก่อนถึงเวลาอันควร และสภาพสิ่งแวดล้อม อาจแย่เกินกว่าที่ลูกหลานหรือเหลนของเราจะใช้ชีวิตอยู่ก็เป็นได้
เพราะนี่คือปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันและลุกขึ้นมาแก้ไขกันตั้งแต่วันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.maefahluang.org/carbon-credit-program/