มิจฉาชีพทุกวันนี้มันร้ายสุดๆ ไปเลยนะคะหัวหน้า
เห็นว่ายุคเศรษฐกิจไม่ดี หลายคนทำงานประจำอย่างเดียวไม่พอใช้ จนต้องมองหางานเสริมออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เลยแฝงตัวผ่านโฆษณาชวนเชื่อมาล้อเล่นกับใจคนที่อยากได้รายได้เสริม หลอกชักชวนให้มาลงทุนก่อนจะเชิดเงินหนี
ที่สำคัญยังทำโฆษณามาได้แบบแนบเนียนสุดๆ อาศัยว่าคนส่วนใหญ่มักไว้ใจคนดังที่ดูน่าเชื่อถือ หรือหน่วยงานทางการที่น่าไว้ใจ ทำให้คนทั่วไปไม่อาจแยกแยะและเผลอหลงกลจนต้องสูญเงินกันครึกโครม ก่อนที่คุณอาจเสี่ยงเป็นเหยื่อรายต่อไป เราขอพาคุณไปสร้างภูมิคุ้มกัน รู้ทันโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่างๆ ที่เหล่ามิจฉาชีพชอบใช้เหล่านี้กัน!
แอบอ้างชื่อคนดัง ไปยันผู้บริหาร ก.ล.ต.
คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นโฆษณาที่มีชื่อหรือใบหน้าคนดังประกอบมักรู้สึกว่าโฆษณานั้นดูน่าเชื่อถือ เพราะคิดว่าเป็นถึงคนดังคงไม่มีทางเอาชื่อเสียงมาหากินด้วยการหลอกลวงแน่ๆ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนั้นเหมือนกันล่ะก็ ขอบอกเลยว่าบัญชีเงินเก็บของคุณกำลังตกอยู่ในอันตรายแล้ว!
เพราะเหล่ามิจฉาชีพเองก็เข้าใจถึงจุดอ่อนนี้เช่นกัน จึงได้สร้างโฆษณาชวนเชื่อขึ้นโดยขโมยใช้ภาพและชื่อของคนดังในวงการการเงิน อาทิ บล็อกเกอร์สายการเงิน, ที่ปรึกษาด้านการเงิน, นักลงทุนคนดัง, ดารา หรือแม้แต่ผู้บริหาร ก.ล.ต. ก็ไม่พ้น โดยอ้างตนว่าสามารถแนะนำด้านการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูงได้ หากใครเผลอหลงกลโฆษณาที่พบบน facebook หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เหล่านี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะสูญเงินก้อนโตได้เลย
ของฝากนักก็อป ปลอมชื่อบริษัทให้หลงเชื่อ
ความน่ากลัวของมิจฉาชีพในยุคนี้คือความแนบเนียนในดีเทลของโฆษณาที่สร้างมาเพื่อหลอกเหยื่อ ในเมื่อตั้งชื่อบริษัทปลอมแล้วคนรู้ทัน อย่างนั้นก็ไปขโมยชื่อบริษัทจริงมาใช้ซะเลย! เรียกว่าถ้าใครได้เห็นรูปโฆษณาที่กำลังระบาดอยู่อาจจะเผลออุทานว่านี่มันของก็อปเกรดระดับมิเรอร์!
โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักแอบอ้างเป็นผู้แนะนำการลงทุน (IC) ที่มี ก.ล.ต. รับรอง หรืออาจตั้งชื่อเว็บไซต์และเพจโซเชียลมีเดียเป็นชื่อที่คล้ายคลึงหรือชื่อเดียวกันกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงขโมยภาพของทางบริษัทมาใช้ และเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการใส่โลโก้ของ ก.ล.ต. อีกด้วย จุดสังเกตเล็กๆ คือบุคคลหรือบริษัทปลอมเหล่านี้มักหลอกให้ผู้ลงทุนโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ชื่อบริษัท โดยอ้างว่าเพื่อความคล่องตัว ทั้งยังมีการกำหนดรอบลงทุนโดยต้องเพิ่มเงินลงทุนทุกครั้ง รวมถึงเมื่อต้องการถอนเงินก็มักเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม โดยข่มขู่ว่าหากไม่ยอมบัญชีจะถูกอายัด ไม่สามารถถอนเงินได้
หน้าม้าในกลุ่มไลน์ ภัยแฝงที่คาดไม่ถึง
เวลาช้อปเครื่องสำอางแล้วเราหลงเชื่อรีวิวป้ายยาสินค้าจากเหล่าผู้ใช้จริงในแพลตฟอร์มฉันใด เหล่าหน้าม้าในวงการลงทุนก็ทำให้เหยื่อรู้สึกหวั่นไหวด้วยวิธีเดียวกันฉันนั้น โดยการหลอกลงทุนรูปแบบนี้มักเริ่มจากการสร้างเพจให้ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุน เมื่อเพจได้รับความนิยมมากขึ้นก็มีการขยับขยายสู่กลุ่มในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแชทใน Line และ facbook ไปจนถึงกลุ่มที่เป็น Private เพื่อสร้างความรู้สึก Exclusive ให้กับผู้ถูกชักชวนให้ร่วมกลุ่ม
ซึ่งไฮไลต์ก็อยู่ตรงนี้นี่เอง ในขณะที่เหยื่อหลงคิดว่าผู้คนในกลุ่มล้วนเป็นผู้โชคดีที่ถูกชักชวนให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการลงทุนด้วยกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนหนึ่งคือทีมงานของเหล่ามิจฉาชีพที่แสร้งเป็นหน้าม้า แนะนำให้ไปลองลงทุนในเว็บไซต์ต่างๆ โดยนำบัญชีปลอมมาแสร้งโชว์ว่าได้กำไรจริง เมื่อเห็นรีวิวที่ดูน่าเชื่อถือเหล่านี้คนในกลุ่มก็อาจเกิดอุปทานหมู่ เผลอหลวมตัวไปลงทุนจนสูญเงินในท้ายที่สุด
ทักครับ มิจแท้โลกออนไลน์
ในยุคนี้การจะทักใครสักคนในโลกออนไลน์เพื่อสานสัมพันธ์นั้นดูจะเป็นเรื่องที่แสนสามัญธรรมดาไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่หน้าตาดี มีโปรไฟล์น่าเชื่อถือบนโลกโซเชียล ทำให้คนรู้สึกไว้วางใจอยากที่จะคบหา ซึ่งนี่ก็เป็นช่องว่างให้เหล่ามิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาตีสนิทตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะอ้างตัวว่าเจอจากกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือทักหาในเชิงชู้สาว
เมื่อเหยื่อเกิดความไว้วางใจ ยอมคบหาเป็นเพื่อนด้วย ก็จะถูกดึงหัวข้อสนทนาไปยังเรื่องของการลงทุน โดยอาจแตะเข้ากับ Pain Point ของเหยื่อคนนั้นๆ อาทิ หากเหยื่อรู้สึกหมดแพชชันในการทำงานก็อาจชวนลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต หรือหากใครกำลังมองหาอาชีพเสริมก็อาจแนะนำให้ลองเรียนรู้การเทรดหุ้น คริปโต ที่ลงทุนน้อยแต่ให้กำไรสูง โดยอ้างว่าตัวเองรู้จักกับคนวงใน จึงรู้ข้อมูลเร็วกว่านักลงทุนคนอื่นๆ แถมเว็บไซต์ลงทุนก็เชื่อถือได้เพราะมีโลโก้ ก.ล.ต. รับรอง ด้วยความไว้ใจจึงทำให้เหยื่อหลายคนพลาดยอมโอนเงินลงทุนให้ ก่อนจะพบว่ามิตรที่คิดว่าแท้ แท้จริงแล้วคือมิจฉาชีพแท้ๆ นี่เอง
รวมข้อมูลชวนเชื่อ เห็นเมื่อไหร่สงสัยไว้ก่อน!
เพราะมิจฉาชีพทุกวันนี้ล้วนมีกลเม็ดเด็ดพรายมาหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อ เมื่อเห็นอะไรที่น่าสงสัยโดยเฉพาะประโยคและข้อมูลจูงใจสุดฮิตเหล่านี้ จึงควรเช็กให้ดีก่อน
1.ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง – ไม่มีการลงทุนไหนที่สามารถการันตีผลได้ 100% ควรระวังไว้เมื่อเจอโฆษณาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง
2.ไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้ – การลงทุนต้องอาศัยความรู้ คอยปรับเปลี่ยนแนวทางไปตามสถานการณ์ ประโยคนี้จึงเป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อ
3.มั่นใจได้เพราะรับรองโดย ก.ล.ต. – อย่าเพิ่งเชื่อใจแม้จะเห็นโลโก้ของหน่วยงานรัฐ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ หรือสมาคมที่เกี่ยวกับการลงทุน เพราะของเหล่านี้มิจฉาชีพก็สามารถแอบอ้างได้เช่นกัน
4.แอบอ้างรูปคนดัง – เพราะคนส่วนใหญ่มักเชื่อถือคนที่มีชื่อเสียง มิจฉาชีพเลยมักแอบอ้างเอารูปคนดังในวงการการเงิน ดารา หรือแม้แต่ผู้บริหารของหน่วยงานการเงินมาใช้ ควรตรวจสอบให้มั่นใจก่อนเชื่อ
5.บัญชีรับโอนเป็นชื่อบุคคลธรรมดา – โดยทั่วไปบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต้องเป็นบัญชีของบริษัทหรือนิติบุคคล
6.ชื่อบริษัทใกล้เคียง – แม้จะอ้างว่ามีใบอนุญาต ชื่อบริษัทดูแล้วตรงหรือใกล้เคียงกับบริษัทใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ก็เป็นไปได้ว่าจะเป็นการแอบอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อทันที จำเป็นต้องตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง
ทุกวันนี้มีตัวอย่างผู้ถูกหลอกลวงให้ลงทุนให้เห็นไม่น้อย เพื่อปกป้องตนเองจากการตกเป็นเหยื่อ ทุกครั้งที่ใช้โซเชียลมีเดียเราจึงควรระมัดระวัง คอยฉุกคิดอยู่เสมอเมื่อเห็นสิ่งที่น่าสงสัย โดยเฉพาะจากโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้
หรือหากไม่แน่ใจ ก็สามารถตรวจสอบผ่าน SEC Check First แอปพลิเคชันเช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุนได้ โดยต้องตรวจสอบให้ลึกถึงสังกัดของ IC ด้วยว่าตรงกันหรือไม่ หรือขอคำปรึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทุกเวลา
เพราะเงินทุกบาทหามาไม่ง่าย อย่าหลงกลหยิบยื่นให้มิจฉาชีพไปฟรีๆ !!