ดวงตากลมโต สีหน้าขึงขัง เสียงหัวเราะทะลุปรอท ริมฝีปากสีแดงสด และท่าเบะปากในตำนาน นี่คือภาพจำตลอดกว่า 30 ปี ในเส้นทางนางร้ายของ กิ๊ก-สุวัจนี พานิชชีวะ
ขึ้นชื่อว่านางร้ายละครไทย นอกจากการแผดเสียงกรีดร้องโวยวายไปตามเนื้อเรื่อง ภาพจำที่โดดเด่นอีกอย่าง นั่นคือเครื่องสำอางจัดจ้านที่ถูกแต่งแต้มอยู่บนใบหน้าของนักแสดง
แม้ยุคสมัยของละครไทยจะมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น บุคลิกและท่าทางของนางร้ายในละครไทยแตกต่างไปจากเดิม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการแต่งหน้าด้วยความฉูดฉาดและการทาปากสีแดงสด ได้กลายเป็นมายาคติที่ผู้ชมส่วนใหญ่จดจำและใช้มันตัดสินว่า ‘คนไหนคือนางร้ายตัวจริง!’
The MATTER ชวนนางร้ายในตำนาน ‘กิ๊ก-สุวัจนี พานิชชีวะ’ มาคุยให้ถึงตัวตนเบื้องหลังกล้อง การรับบทนางร้ายกว่า 3 ทศวรรษของเธอ ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตจริง รวมถึงประเด็นทางสังคมและมายาคติการแต่งหน้าของนางร้ายในละครไทย
ในสายตาคุณกิ๊กพัฒนาการของละครไทยจากอดีตถึงตอนนี้ เปลี่ยนไปอย่างไร
ถ้าเทียบแล้วกับละครไทยในยุคก่อนกับปัจจุบัน มันเข้มข้นขึ้น ถึงพริกถึงขิงมากขึ้น ไม่สามารถคาดเดาเรื่องราวได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน เพราะละครยุคก่อนมักสร้างขึ้นจากนวนิยายที่เราพอทราบเรื่องราวตอนจบ คนดูก็ไม่ต้องลุ้นมาก แต่ละครสมัยนี้มักจะมีจุดจบที่เราไม่รู้ ทำให้ผู้ชมรู้สึก ‘เอ๊ะ’ อยู่ตลอด สรุปพระเอกนางเอกจะรักกันมั้ย เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อไป คาดเดาเหตุการณ์ต่อไปไม่ได้เลย
คุณกิ๊กอยู่ในวงการมากี่ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้รับบทบาทเป็นอะไรบ้าง
30 ปีค่ะ ครั้งแรกที่เข้าวงการบันเทิง อยากจะบอกว่าเราได้เล่นบทนางเอกก่อนนะ จำได้ว่าเรื่องแรกคือเรื่องหน้ากากดอกซ่อนกลิ่น เล่นเป็นนางเอกที่เรียบร้อยมาก เหมือนผ้าพับไว้ หลังจากนั้นก็ผันตัวมาได้รับบทบาทนางร้ายในเรื่องดาวพระศุกร์ ชื่อว่ามาหยารัศมี และนับตั้งแต่เรื่องนั้นมา เราก็เป็นตัวร้ายมาตลอดเลย ไม่มีใครติดต่อเป็นคนดีเลย (หัวเราะ)
การเล่นเป็นนางเอก ก่อนสลับมาเป็นนางร้ายเต็มตัว ความรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าให้พูดจริงๆ เลยนะ ตอนที่เราเล่นเป็นนางเอกยากมากเลย จะต้องพูดช้ามากๆ กิริยาท่าทางก็จะต้องเรียบร้อยดูนิ่งๆ เหมือนแบบกุลสตรี บอกตรงๆ ว่ามันไม่เป็นธรรมชาติสำหรับเรา
แต่เมื่อมาเล่นตัวร้าย มันกลับกลายเป็นเรื่องที่รู้สึกท้าทาย เรารู้สึกว่าเขาต้องเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา เราจึงอยากแสดงให้เขาเห็น ฉันจะต้องแสดงศักยภาพนางร้ายของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด! การที่ได้พูดจาหรือตอบโต้กับนางเอก ได้เชือดเฉือนกันด้วยหน้าตาและท่าทางมันสนุกมากๆ ทำให้เราได้รู้ว่าบทนางร้ายมันมีหลายมิติกว่าที่คิด นี่คือความแตกต่างระหว่างนางเอกกับนางร้าย
คิดว่าอะไรที่ทำให้ผู้จัดละครหรือผู้กำกับเลือกคุณกิ๊กให้รับบทนางร้ายมาโดยตลอด
หนึ่งน่าจะเป็นภาพจำ อย่างที่บอกว่าเราได้รับบทที่เป็นคาแรกเตอร์ตัวร้ายมาตลอด
สองอาจจะเป็นเรื่องของบุคลิก การพูดจา หรือหน้าตาท่าทางที่เราค่อนไปทางคนไม่ดี (หัวเราะ) ด้วยความที่เป็นเราที่เป็นคนมั่นใจในตัวเองมากๆ บางครั้งมันเหมาะกับการได้รับบทร้ายมากกว่า
สำหรับเราบทนางร้ายมันมีอะไรให้เราเล่นมากมายเลยนะ มันตีโจทย์ได้หลากหลายมาก เราจะร้ายแบบไหน ร้ายเบอร์ไหน ทุกครั้งที่เล่นละครเป็นนางร้าย เราจึงรู้สึกแฮปปี้มาก แฮปปี้ที่ได้ครีเอทความเป็นตัวเองเข้าไป มันทำให้รู้สึกว่าเราได้พัฒนาทักษะการเล่นละครมากขึ้นด้วย
สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นนางร้ายคืออะไร
เราไม่ได้รู้สึกว่ามันยาก แต่มันเป็นความท้าทายมากกว่า แต่ละบทในแต่ละเรื่องที่ได้รับ มันค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน บางทีเราได้เล่นเป็นโสเภณี เล่นเป็นไฮโซ เล่นเป็นลูกคุณหนู เล่นเป็นนางรำ เล่นเป็นแดนเซอร์ ระดับความร้ายมันต้องปรับเปลี่ยนไปตามคาแรกเตอร์ที่ได้รับ
ความท้าทายมันจึงอยู่ที่ในชีวิตจริงเราไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเหล่านั้นได้ ดังนั้นทุกครั้งที่เราได้ไปสวมบทเป็นตัวร้ายในคาแรกเตอร์ต่างๆ มันทำให้เรียนรู้ของการเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ทำให้เข้าใจโลก เข้าใจคนในทุกรูปแบบมากขึ้น
สิ่งนี้โรงเรียนคงไม่มีสอนมันเป็นประสบการณ์ตรงที่เราสัมผัสได้เองเมื่อไปสวมบทใดบทหนึ่ง เราเข้าไปเรียนรู้อาชีพของเขา เข้าใจชีวิตของเขา มันทำให้รู้สึกว่ามนุษย์มันไม่เหมือนกันจริงๆ มีหลายชนชั้น มีหลากหลายมิติมาก การเล่นละครสำหรับเราจึงสอนให้เรามีความเป็นคนมากขึ้น
การสวมบทบาทตัวละครนางร้าย ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ขึ้นอย่างไร
มองง่ายๆ ถ้าเป็นละครสมัยก่อน ตัวร้ายมักดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ เพราะมักถูกกำหนดมาแล้วว่าตัวร้ายต้องคิดแบบนี้ เธอต้องกรี๊ดและเข้าไปแย่งพระเอกมา โดยไม่มีที่มาที่ไปว่าตัวร้ายต้องเจออะไรมาก่อน
แต่ละครสมัยปัจจุบันมันทำให้เรารู้สึกว่าจริงๆ นางร้ายเขาก็มีอดีตที่ต้องเผชิญ เขามีความขมขื่น เขามีเรื่องเจ็บปวดเหมือนกัน ละครไทยในปัจจุบันพัฒนาขึ้นตามโลกที่เปลี่ยนไป มีการปูพื้นฐานให้เข้าใจว่าความร้ายกาจที่มันเกิดขึ้น มันเกิดจากอะไร ทำไมเขาต้องแค้นขนาดนี้ แตกต่างจากละครไทยสมัยก่อนที่ตีความแบบตรงไปตรงมา ฉันร้ายนะ ฉันต้องการเอาคืน ฉันต้องการพระเอกคนนี้ ฉันจิกตบ ฉันตี ฉันต้องการอันนี้ ฉันต้องการแย่งสมบัติ การเปลี่ยนไปของละครไทยก็สะท้อนให้เราเห็นความมนุษย์มากขึ้นเหมือนกัน
เมื่อได้รับบทนางร้าย คุณกิ๊กตีความจากความรู้สึกหรือประสบการณ์ส่วนตัวอย่างไรบ้าง
ตีความเองเยอะมาก พอเราได้รับบทมา อย่างแรกคือเราจะลองดีไซน์การเล่นด้วยตัวเราเองก่อน สมมติว่าเจอบทที่มันไกลตัวมากๆ ก็จำเป็นต้องทำการบ้านเพิ่ม เช่น ละครเรื่องบุญรอด เราเล่นเป็นโสเภณี เราก็ต้องเข้าไปคลุกคลีกับโสเภณีจริงๆ ไปในสถานที่ขายบริการจริงๆ เพื่อเข้าไปเรียนรู้และศึกษาชีวิตของพวกเขา เวลาแสดงจะได้เข้าใจตัวละครมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง สายตา ความคิด จะเป็นโสเภณีอย่างไรให้คนมาซื้อบริการเรา ซึ่งบางครั้งผู้กำกับก็จะเข้ามาช่วยจนได้การแสดงที่มันกลมกล่อม
เราว่าศาสตร์การเล่นเป็นตัวร้าย มันเป็นการผสมผสานระหว่างความคิดของนักแสดงแต่ละคนมากกว่า เราโชคดีที่ว่าผู้กำกับหลายเรื่องเปิดโอกาสให้ตีโจทย์ด้วยตัวเองก่อน ถ้าอันไหนมากไป น้อยไป ต้องเพิ่มหรือลดก็ปรับกันได้ เราจึงชอบการแสดงเป็นตัวร้ายมาก
อีกอย่างหนึ่งคือแม้ว่าจะเป็นบทนางร้ายเหมือนกัน คาแรกเตอร์เดียวกัน แต่ถ้านักแสดงคนละคน ก็เล่นไม่เหมือนกัน ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ เพราะฉะนั้นตัวตนของเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะได้รับบทบาทไหนก็ตามก็ต้องยืนหยัดว่าตัวเราเป็นแบบไหน
ถ้านึกถึงตัวร้ายที่ชื่อว่า ‘กิ๊ก สุวัจนี’ จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
นางร้ายแบบสุวัจนีเหรอ…ถ้าในอดีตจะต้องมีการจิกหัว ทำตาโต เสียงดัง ฉีกอก ไม่มีเหตุผล ไร้สติ
แต่ถ้าเป็นสุวัจนีสมัยนี้ คิดว่าเป็นนางร้ายที่เชือดเฉือนด้วยสายตา อารมณ์ ไม่มีการโหวกเหวกโวยวายโดยไม่มีสาเหตุ หรือแม้กระทั่งเราอาจจะเป็นตัวร้ายที่ดูสดใสน่ารักขึ้น ดูคอมเมดี้มากขึ้น เล่นไปแล้วหัวเราะเอิ้กอ้ากเหมือนคนบ้าก็ทำได้
การรับบทนางร้ายกว่า 30 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงยังไงบ้าง
แน่นอนมันส่งผลมากๆ แต่เป็นผลในแง่ดี เพราะเราชอบ ยิ่งคนพูดถึงผลงานของเราไม่ว่าจะในอดีตหรือที่ผ่านมา มันไม่เคยผิดหวังในหัวใจสักครั้ง เพราะทุกครั้งที่มีคนพูดถึงหรือมองสุวัจนีด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ เราคิดว่าการเล่นละครของเราประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งการเข้าไปถ่ายละครในตลาดสด มีแต่คนตะโกนเรียก ‘อีกิ๊กๆ’ เราก็โอเคแฮปปี้
แต่พอยุคหลัง เราว่าสถานการณ์ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สังคมได้เรียนรู้มากขึ้น สื่อต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย ประชาชนเข้าใจนางร้ายที่ชื่อสุวัจนีมากขึ้น การที่เราดูร้ายขนาดนั้นมันเป็นแค่การแสดง อาจจะไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเราก็ได้
คุณกิ๊กเคยเจอเปลือกทุเรียนหรือยัง
เจอมาแล้วค่ะ! สมัยก่อนคนอินละครมาก ต้องเล่าว่าละครสมัยก่อนคือการถ่ายทำไปพร้อมกับการออนแอร์ เวลาเดินผ่านตลาด เราเคยเจอแม่ค้าทุเรียนจะเอาทุเรียนฟาด แล้วเขาดูจะทำจริงๆ ด้วยนะ ไม่ใช่การแกล้ง บางครั้งก็ตะโกนถามเราว่าจะมาเดินแถวนี้ทำไม ไล่เราให้ออกไปไกลๆ เจอมาแล้วทุกรูปแบบ
ซึ่งเราเข้าใจที่คนอินไปกับบทบาท เขามองว่าเราแรง เราเป็นคนไม่ดี เราแกล้งนางเอก พอมองย้อนกลับไป เราว่ามันก็เป็นประสบการณ์ดีๆ ถึงแม้สมัยวัยรุ่นเราเป็นคนเลือดร้อน แต่เราเลือกที่จะไม่ไปปะทะกับคนที่เขาดูละครของเรา เราคงจะแสดงได้น่ารังเกียจจริงๆ แสดงได้เลวมากๆ เขาถึงอยากจะเอาเปลือกทุเรียนมาฟาดหน้า คิดแล้วก็ภูมิใจนะ (หัวเราะ)
ทำไมถึงมีความสุข แม้จะเป็นนางร้ายในสายตาทุกคน
เรารู้สึกดีเวลาเห็นคนอยากให้เราเล่นตัวร้าย เรารู้สึกหัวใจพองโต มันทำให้เรามีกำลังใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรืองานพาร์ทไหนก็ตาม เราทำเต็มที่มากๆ และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้ มองว่ามันเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจเรามากกว่า
ตัวตนจริงๆ ของนางร้ายที่ชื่อ ‘กิ๊ก สุวัจนี’ คืออะไร ต่างจากการเล่นละครไหม
ตัวตนของคนเรามันไม่เหมือนกับละครหรอก ละครมันก็แค่ภาพหนึ่งที่เราต้องแสดงตามเนื้อเรื่องที่เขียนมา ชีวิตจริงเราก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เรียบง่าย สบายๆ เป็นคนที่มีความสุขกับชีวิต ค่อนข้างมองโลกในแง่ดี มีเหตุผลกับตัวเอง เรามองว่าความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่เราเป็นมนุษย์ และการประกอบอาชีพนักแสดง
ประสบการณ์จากละคร มันย้อนมาเป็นประสบการณ์ในชีวิตให้คุณกิ๊กได้อย่างไร
ประการณ์จากละครทำให้เราเข้าใจโลกและมนุษย์มากขึ้น ไม่มีใครร้ายหรือดีที่สุด ละครทำให้เราได้สัมผัสมนุษย์หลายแบบ ทำให้รู้ว่าโลกมันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น โลกมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ
ชวนคุยเรื่องนางร้ายมาเยอะแล้ว อยากทราบความรู้สึกคุณกิ๊กหลังจากดูโฆษณาตัวใหม่จาก MISTINE
ชอบมากเป็นโฆษณาที่ให้ข้อคิดหลายอย่าง ไม่ใช่เป็นแค่โฆษณาขายของ แต่แฝงไปด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม สะท้อนให้เห็นความคิดบางอย่างเกี่ยวกับการตัดสินคน
ในโฆษณาพูดถึงเด็กที่แต่งหน้า แล้วโดนผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กร้ายๆ คุณกิ๊กในฐานะที่เป็นตัวร้ายมา 30 ปี เคยมีประสบการณ์แบบนั้นไหม
ถ้าชีวิตจริงอาจจะไม่เคยเจอ แต่เรื่องนี้ทำให้มองย้อนไปถึงเรื่องของลูกสาวเรา ตอนนี้ลูกเราอยู่ในช่วงวัยรุ่น เขาเป็นคนชอบแต่งหน้า เขาเรียนรู้การแต่งหน้าจากการดูยูทูบ แต่เวลาเขาแต่งหน้าเสร็จปุ๊บ เราสังเกตว่าทำไมเขาถึงดูไม่ค่อยมั่นใจ ไม่กล้าออกไปไหน นั่นเป็นเพราะเขากลัวจะดูแก่แดด ซึ่งเราได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไม ทำไมแต่งหน้าแล้วแค่ดูเอง ถ้าแต่งสวยขนาดนี้โลกต้องรู้ ลูกต้องโชว์ตัวตนออกไป เราพยายามจะสอนให้เขามั่นใจในตัวตนของเขา เพียงแค่ต้องทำให้ถูกกาลเทศะเท่านั้นเอง
คิดว่าอะไรเป็นภาพจำที่คนคิดว่า แต่งหน้าแรง = ร้ายแน่นอน
ภาพจำจากละครก็มีส่วนสำคัญ การที่ละครฉายภาพนางร้ายที่แต่งหน้าแรงๆ ซ้ำไปซ้ำมาในทุกเรื่อง เช่น นางร้ายต้องปากแดง นางร้ายต้องกรีดตายาว ทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า ใครก็ตามที่แต่งหน้าลุคแบบนี้ คือ มันร้าย มันเลว มันเป็นคนไม่ดี ซึ่งปัจจุบันเราคงฟันธงไม่ได้หรอกว่าการแต่งหน้าจัดจ้านจะเท่ากับว่าเขาเป็นคนร้ายๆ เราว่าการแต่งหน้ามันใช้ตัดสินไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี
อยากให้เขามองไปในมุมของความเป็นตัวตนมากกว่า อย่าไปวิเคราะห์หรืออย่าไปคิดแทนเขาว่า เธอแต่งหน้าแบบนี้ต้องร้ายแน่ๆ หรือทาปากแดงแบบนี้เลวแน่นอน
เพราะการแต่งหน้ามันก็คือแฟชั่นอย่างหนึ่ง มันไม่มีอะไรผิดอะไรถูก วันหนึ่งฉันแค่อยากจะทาปากแดงออกจากบ้านไปซื้อของในตลาดมันก็แค่นั้น หรือ ฉันรู้สึกทรงพลังเมื่อฉันอยู่ในลุคปากแดงก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนนี่น่า
เราว่าการแต่งหน้ามันคือการสะท้อนความมั่นใจของมนุษย์ในยุคนี้อย่างแท้จริง อย่าใช้มันตัดสินใครจากภายนอก ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้รู้จักตัวตนของเขาที่แท้จริง
สังคมจะเปลี่ยนมุมมองหรือทำความเข้าใจว่า ‘การแต่งหน้าเป็นเรื่องของความชอบ’ ได้อย่างไร
อยากให้สังคมเข้าใจว่า ในโลกนี้มีมนุษย์หลายรูปแบบ บางคนที่เขาไม่แต่งหน้า ไม่แต่งตัว เราก็อย่าไปประเมินเขาว่าเขาเป็นคนไม่มีรสนิยม ซึ่งวันนั้นเขาอาจจะแค่ขี้เกียจก็ได้ เช่นเดียวกันใครที่ชอบแต่งหน้าจัดจ้าน ชอบทาปากสีแดง มันก็เป็นเรื่องที่เขามั่นใจ เขาอยากจะแสดงออกผ่านเครื่องสำอางบนใบหน้า
เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนยึดมั่นในความเป็นตัวตนของเรา เราอย่าไปอายใคร เราไม่ได้ทำผิด การแต่งหน้ามันคือแฟชั่นอย่างหนึ่ง ไม่มีผิดมีถูก และไม่ได้เป็นตัววัดในการตัดสินใครจากภายนอกด้วย