ในปัจจุบันเรือนจำที่มีมาตรการรองรับผู้ต้องขังข้ามเพศเป็นกิจจะลักษณะ เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษพัทยา ขณะที่เรือนจำอื่นๆ กำลังอยู่ในกระบวนการผลักดันให้มีนโยบายเหล่านี้
แต่ดูเหมือนว่าเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากเรือนจำบางแห่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะอาจควบคุมผู้ต้องขังได้ยากขึ้น หรือเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ต้องขัง
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรือนจำมีผู้ต้องขังที่เป็นเพศหลากหลายอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วพวกเขาอยู่กันอย่างไร? The MATTER จึงพูดคุยกับ ว่าน–สหวริชญ์ อัคระชัยวรโชติ เพื่อต่อยอดเรื่องราวที่เธอเคยออกมาตีแผ่ ซึ่งก็คือ ‘ประสบการณ์การอยู่ในเรือนจำชาย’ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ การถูกคุกคาม หรือแม้แต่สิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศพึงมี
ความคิดแรกก่อนเข้าเรือนจำมีภาพยังไง
ก่อนที่จะเข้าเรือนจำ จะต้องถูกขังใต้ถุนศาล ตอนนั้นว่านไม่มีเงินประกันตัว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องถูกส่งไปยังเรือนจำ ตอนนั้นก็คือทุกข์ ไม่น่าจะอยู่ได้ น่าจะเป็นทุกข์แน่ๆ เพราะว่ารายล้อมไปด้วยผู้ชายฉกรรจ์ ที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า เขาจะมาดีหรือมาร้าย แต่เราตีความไว้แล้วว่าไม่ดีแน่ๆ
ภาพในหัวก็คือเข้าไปแล้วน่าจะโดนสารพัดสารเพ ตอนนั้นมีหลายอย่างในหัว ฟุ้งซ่านมาก ร้องไห้ออกมาจนเจ้าหน้าที่เขาก็มาปลอบให้เราใจเย็นลง มีประโยคหนึ่งที่เขาพูดให้กำลังใจเราได้ดีมากว่า “ทางเรือนจำจะปฏิบัติกับเราตามเพศสภาพ”
พอเข้าไปในเรือนจำมันเหมือนตามที่คิดหรือเปล่า
ตอนแรกที่เข้าไปมันเหมือนจะใช่ เพราะว่าก่อนที่เราเข้าไป มันจะเป็นแดนแรกรับก่อนที่เราจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งถือเป็นบททดสอบแรกให้เราเรียนรู้และอดทน ฝึกวินัยในขั้นเบื้องต้นที่เหล่าผู้ต้องขังจะต้องรู้ และต้องปฏิบัติตาม
แต่เคยดูละครหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำที่สะท้อนว่า ในเรือนจำเข้าไปถ้าเป็นเพศทางเลือกหรือเป็นสาวประเภทสอง ง่ายๆ เลย คุณต้องโดนแย่งตัวโดยกลุ่มใหญ่ๆ แต่ละกลุ่มเขามาขอไปอยู่ด้วย จะใช่คำว่าขอก็ไม่ได้ อาจใช้คำว่าบังคับไปอยู่ด้วย ต้องเลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพอเราไปอยู่กับเขา มันก็จะไม่ได้อยู่แค่ฐานะลูกบ้าน แต่อยู่ในฐานะภรรยา ฐานะแฟนนั่นแหละ ในใจว่านก็กลัว เพราะเราไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ข้างใน เพราะว่ามันมีโรคติดต่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งเอชไอวี ซิฟิลิส
ส่วนเรื่องอื่นๆ น่าจะเป็นเรื่องความกังวลทางบ้านมากกว่า เพราะอยู่กับแม่แค่คนเดียว และตอนที่ว่านเข้ามาเรือนจำ คุณแม่รับทราบ แต่ว่าเขาไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะช่วงชีวิตในตอนนั้นเป็นช่วงขาลงของว่านพอดี ไม่มีทุนทรัพย์อะไรที่จะมาประกันตัว
เราปฏิญาณตนกับแม่ โทรหาแม่ ตอน 5 นาทีสุดท้ายก่อนถูกส่งไปเรือนจำว่า “หนูจะอดทนอยู่ให้ได้ หนูอยู่ได้แม่ หนูตัวคนเดียวมาบ่อยแล้ว หนูต้องอยู่ให้ได้”
ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รู้สึกโอเคหรือไม่โอเคเรื่องอะไรบ้าง
ถ้าส่วนที่โอเคน่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการของผู้ต้องขัง คือ ก่อนหน้านี้เรามีภาพจำว่าผู้คุมจะต้องดุ จะต้องบังคับผู้ต้องขัง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นสักทีเดียว มันอยู่ที่การวางตัวของเหล่าผู้ต้องขังด้วยว่า วางตัวเหมาะสมหรือเปล่า ถ้าวางตัวเหมาะสม ไม่ผิดระเบียบ ไม่ผิดวินัย เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติกับเราเหมือนคนทั่วไปคนหนึ่ง
ให้อารมณ์เหมือนโรงเรียนประจำ ฝ่ายผู้คุมเหมือนครูฝ่ายปกครอง ที่เขาจะคอยจับผิด ดูพฤติการณ์ของผู้ต้องขังว่าทำผิดวินัยหรือเปล่า เพื่อที่จะนำมาตักเตือนและลงโทษ
ส่วนเรื่องที่ไม่โอเคน่าจะเป็นเรื่องระบบสังคมของผู้ต้องขัง ที่มันเป็นวัฒนธรรมที่ต้องใช้คำว่าสืบทอดต่อกันมาจากอดีต แต่ทุกวันนี้มันเบาบางลงบ้างแล้ว มันไม่ได้มีความรุนแรงอะไรขนาดที่ว่า ยกพวกตีกัน ลดทอนความเป็นมนุษย์ของหลายๆ คน
หรือแม้แต่เหล่าสาวประเภทสองเองก็ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญอะไรแล้ว เพียงแต่ว่า ‘ระบบบ้าน’ เขาก็จะมีระบบและวัฒนธรรมที่ชอบข่มขู่ผู้ต้องขังที่เข้าใหม่ และอาจจะใช้วิธีการกดดันให้สาวประเภทสองต้องเลือกว่า จะอยู่คนเดียวแล้วลำบาก หรือ จะไปอยู่กับเขาเพื่อแลกกับความสบาย
เพราะว่าผู้ต้องขังสาวประเภทสองบางคน เขามาตัวเปล่า ไม่มีญาติ ไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งการใช้ชีวิตในเรือนจำมันจะต้องมีญาติจากข้างนอกคอยซัพพอร์ต มีเงินคอยใช้จ่ายข้างใน แต่หากไม่มีองค์ประกอบตรงนี้ เขาก็ต้องพึ่งผู้ต้องขังชายเหล่านี้ เพื่อที่จะขอให้ช่วยเลี้ยงดูสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป
‘วัฒนธรรมบ้านในเรือนจำ’ เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ใช่แค่กับหญิงข้ามเพศ
สำหรับว่านวัฒนธรรมนี้ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน คือตอนแรกคิดว่าว่านน่าจะเป็นเหยื่อ เพราะตอนแรกที่ว่านเข้าไป ว่านโดนกลุ่มบ้านใหญ่หนึ่งดึงตัวไป โดยที่ไม่ถามความสมัครใจเราก่อน เขาก็แบบขอแค่ว่า “เป็นพี่น้องกันก่อนก็ได้ คุยกันไปเรื่อยๆ”
แต่พฤติกรรมที่เขามีต่อเรามันไม่ใช่พี่น้อง มากอดเราบ้าง มาหอมแก้มเราบ้าง เราก็ผลักไสไปเพราะเราไม่ต้องการแบบนี้อยู่แล้ว แต่ว่าการที่สาวประเภทสองจะถูกเลือกหรือไม่เลือกอยู่ที่การวางตัว และการเลือกที่อยู่ในสังคมที่เหมาะสมกับพวกเขา
ถ้าพวกเขาโอเคที่จะอยู่กับระบบบ้านที่ถูกสืบทอดต่อกันมา เขาอยู่ได้ก็อยู่ไป แต่สำหรับว่านไม่ใช่ ว่านคิดว่านอกจากสถานที่นี้ที่ว่านรู้สึกว่าไม่ควรจะอยู่แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่กลุ่มที่ว่านควรจะไปอยู่ด้วย ว่านเลยพยายามวางตัวให้ใกล้ชิดสนิทกับเหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ รวมไปถึงกับเจ้าหน้าที่ ด้วยการแลกกับการทำงาน ขอให้คอยปกป้องเรา
เล่าเรื่องการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในเรือนจำให้เราฟังหน่อย
ว่านเคยเจอบ่อย และเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นตอนบ่าย 3 โมงครึ่ง เพราะเวลาบ่าย 3 จะเป็นเวลาปิดขัง แล้วสาวประเภทสองพอขึ้นห้องขังเพื่อรอปิดขัง เหล่าแฟนของพวกเขาก็จะมาเกาะกรง มาหอมแก้ม มาบอกลา เหมือนมาพลอดรักกันระหว่างกรง มันก็จะมีคนที่ไม่ชอบ ก็จะตะโกนด่าข้ามฝั่งมาเลย ตะโกนด่าแรงๆ เลย
ถ้าภาษาข้างในเขาจะพูดกันบ่อยๆ ว่า ‘เอาตูดแลกข้าว’ มันเป็นประโยคที่ว่านฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจ ใครๆ ในห้องได้ยินก็รู้สึกว่ามันก็คือเรื่องจริงแหละ แต่ไม่ได้อยากได้ยิน เพราะสุดท้ายแล้วเราเลือกไม่ได้ที่จะอยู่คนเดียว และไม่มีคนซัพพอร์ต หากไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีญาติ เราก็ต้องพึ่งพาผู้ชายเหล่านั้น
เจ้าหน้าที่รับรู้ถึงเรื่องการถูกคุกคามหรือไม่ และมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
เจ้าหน้าที่ทราบ แต่เขาพูดว่าตราบใดที่มันเป็นเรื่องที่เราสามารถอดทนได้และไม่รุนแรงก็อดทนไป เพราะที่นี่คือเรือนจำ เรือนจำสอนให้คนอดทน และก็ต้องตระหนักอยู่ตลอดด้วยว่า ณ เวลานี้ เรามีสถานะเป็นผู้ต้องขัง คุณต้องอดทน เพราะจริงๆ เรือนจำไม่ควรสบายเลยด้วยซ้ำ
เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ค่อนข้างเมินเฉยปัญหา และสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง
ถ้าเป็นข้างนอกใช่ เมินเฉยต่อสุขภาพจิตแน่นอน เพราะคนที่ควรเข้ามามีบทบาทช่วยปลอบประโลมหรือให้คำแนะนำที่ดี มันก็ควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ แต่เขาจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ถ้าเรามองข้ามไปได้ ผ่านไปได้ คุณก็มีความอดทน แม้จะถูกคุกคามด้วยวาจารุนแรงมากจนเกินไปก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทำอะไรเลย ถ้าไม่มีความรุนแรง ไม่ปลุกระดม ซึ่งสาวประเภทสองก็อดทนกับเรื่องเหล่านี้มาพอสมควร
ทุกๆ ครั้งที่ปิดขังเสร็จ และไม่มีผู้ต้องขังชายมาเกาะกรง มาสังเกต มาจับผิด สาวประเภทสองในห้องก็จะมารวมกลุ่มกัน เหมือนเป็นประชุมเล็กๆ อย่าง “ทำไมวันนี้เขาต้องเจอเรื่องราวแบบนี้” “ทำไมแฟนต้องทำแบบนี้กับเขา” “แล้วเมื่อไหร่เขาจะได้รับอิสรภาพและออกไปเสียที เขาทนอยู่นี้ไม่ได้แล้ว”
มันเหมือนว่าในวันที่เราต้องการคนปลอบประโลม ในวันที่เราต้องการคนที่ให้คำแนะนำที่ดีที่สุด มันกลายเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิง เกาะกลุ่มกัน กอดคอไปด้วยกัน
คุณว่านมองว่า เกณฑ์การคัดผู้ต้องขังว่าจะต้องไปอยู่เรือนจำชายหรือหญิงมีปัญหาหรือไม่
สำหรับความรู้สึกว่านมองว่า สาวประเภทสองทุกคนควรจะมีเรือนจำเฉพาะเลยด้วยซ้ำ หรือถ้าจำเป็นต้องไปอยู่ร่วมกับเรือนจำชาย อาจจะต้องมีแดนเป็นเอกเทศของตัวเองเลย ที่ไม่มีผู้ชายเข้ามามีบทบาทในแดนนั้น
แต่การทำแบบนี้มันมีผลเสียคือ ต้องมีการขยายเพราะสาวประเภทสองเป็นชนกลุ่มน้อยในเรือนจำชาย ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์เอง อย่างแดนที่ว่านอยู่ มีผู้ต้องขังอยู่ 800 คน ผู้ต้องขังชายมีประมาณ 700 กว่าคน ที่เหลือเป็นสาวประเภทสองที่มีอยู่ราว 30 คน มันก็เลยทำให้ทางเรือนจำมองว่าการมีแดน หรือมีเรือนจำแยกให้สาวประเภทสองก็อาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณ
เขาก็เลยตัดปัญหาไปเลยว่าเอาสาวประเภทสองไปอยู่ในแดนเดียวกับผู้ชาย แต่จะใช้วิธีการแก้ปัญหาที่จะช่วยคัดแยกจากผู้ชายได้คือ ช่วงที่ปิดขังหรือช่วงที่ต้องนอน ก็จะมีห้องของสาวประเภทสองโดยเฉพาะ
ตามที่คุณว่านอธิบายมา หากไม่มีงบฯ อย่างน้อยควรมีพื้นที่เฉพาะของหญิงข้ามเพศ ในเรือนจำชาย
ใช่ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป กะเทยยังคงถูกเหมารวมว่าเป็นตัวตลก แกล้งได้ ซึ่งข้างในมีการนิยามสาวประเภทสองว่า เป็น ‘เครื่องระบายอารมณ์ทางเพศ’ เลยด้วยซ้ำ
ซึ่งเวลาถูกคุกคามหรือกลั่นแกล้ง เจ้าหน้าที่ก็เข้ามามีบทบาท เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย แต่เขาก็ไม่เข้ามายุ่งอะไรมากเท่าไหร่ ตราบใดที่สถานะของสาวประเภทสองและชายคนนี้เป็นแฟนกัน มันเป็นเรื่องของทั้งคู่ที่จะต้องไปตกลงกันว่าจะเอายังไง แต่ถ้ามีปัญหากัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกเสียเปรียบหรือถูกคุกคาม สามารถแจ้งได้ เจ้าหน้าที่จะช่วยไกล่เกลี่ยและคุยให้
ความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศพึงมี แต่ถูกมองข้ามไป
เรื่องแรกเป็นห้องน้ำ ถ้านับตอนที่ปล่อยขังแล้วมาใช้ชีวิตรวมกันข้างล่าง ก็ใช้รวมๆ กัน ซึ่งบล็อกกำแพงกั้นก็จะเตี้ยๆ สาวประเภทสองและผู้ชายใช้ห้องน้ำเดียวกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แต่การอาบน้ำสำหรับว่านมันแตกต่างจากหลายๆ เรือนจำ คือสาวประเภทสองไม่ต้องไปอาบน้ำรวมกับผู้ชาย สายประเภทสองสามารถอาบน้ำจากบนห้องขังได้เลย ในระหว่างที่รอปล่อยตัวลงมาใช้ชีวิตข้างล่าง ก็คือทุกคนมีคิวอาบน้ำตั้งแต่ตี 3 เลย ว่านก็คือตื่นตี 3 มาอาบน้ำเป็นคิวแรก แล้วก็จะเป็นคิวของแต่ละคนไป อาบคนละ 15 นาที มันเป็นกฎที่สาวประเภทสองในห้องตั้งกันเอง และไปขอความอนุเคราะห์จากหัวหน้าฝ่ายแดน ซึ่งเขาก็โอเค เพราะบางคนไปทำหน้าอกมา ก็ไม่สมควรที่จะให้ผู้ชายมาแทะโลมด้วยสายตา
เรื่องต่อมาคือ การเทคฮอร์โมน ตอนที่ว่านเข้าไปในเรือนจำ 4 เดือนแรก ยังไม่มีเรื่องของฮอร์โมนเข้ามา จนกระทั่งวันที่ใกล้ถูกปล่อยตัว ทางเรือนจำเขาก็ขอให้ว่านช่วยประกาศว่า สายประเภทสองคนไหนที่ต้องการใช้ฮอร์โมนให้มาลงชื่อ ด้วยความที่ว่าบางคนร่างกายก็สึกหรอไปตามกาลเวลา ยิ่งอยู่ ยิ่งแย่
ถ้าเคยใช้ฮอร์โมนมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องทานอย่างสม่ำเสมอ ในวันที่พวกเขาไม่ได้ทาน สภาพร่างกายของพวกเขาก็ทรุดโทรมแย่ลง ทางเรือนจำก็เลยมีนโยบายให้สาวประเภทสองเฉพาะที่ได้รับการยินยอมจากแพทย์มาแล้วว่า มีความประสงค์ที่จะใช้ฮอร์โมน และก็เพศสภาพไม่ตรงกำเนิด พูดง่ายๆ ก็คือ ใบรับรองแพทย์นั่นแหละ
การใช้ชุดชั้นใน การไว้ทรงผม ผู้ต้องขังหญิงข้ามเพศมีสิทธิแค่ไหน
คิดว่าเรื่องชุดชั้นใน สาวประเภทสองในทุกแดนและทุกเรือนจำ ที่เขาทำหน้าอกมาและต้องถูกริดรอดอิสรภาพเพราะต้องเข้าเรือนจำประสบกับปัญหานี้อยู่แล้ว อยากจะให้ทางเรือนจำมองเห็นว่า หน้าอกเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของพวกเขาไปแล้ว การที่พวกเขาไม่ได้รับการดูแล มันทำให้สภาพร่างกายเขาทรุดโทรมไปตามกาลเวลา หน้าอกหย่อนคล้อย มีการอักเสบ ซึ่งเรื่องของชุดชั้นในมันเป็นเรื่องที่ทางเรือนจำยังไม่อนุญาตให้นำเข้ามา
นอกจากนี้คงเป็นเรื่องทรงผม ที่เคยมีนโยบายพูดปากเปล่า แล้วก็เป็นข่าวดีของสาวประเภทสอง ซึ่งตอนนั้นสาวๆ ในห้องที่ว่านได้อยู่ร่วมกับพวกเขาก็ตื่นเต้นกันมากๆ ว่าพวกเราจะได้ไว้ผมสั้นกันแล้ว จะได้เทคฮอร์โมนกันแล้ว จะมีชุดชั้นในใส่กันแล้ว แต่อาจจะมีปัญหาอะไรบ้างอย่างที่ทำให้ทางเรือนจำไม่สามารถให้ตรงนี้ได้ แต่เขาก็เล็งเห็นแหละว่ามันสำคัญ
เพียงแต่ว่าน่าจะเป็นเรื่องของระดับสูงๆ มั่ง หรืออาจเพราะลักษณะของยกทรง ที่อาจสามารถซุกซ่อนสิ่งที่เป็นของผิดวินัยเข้ามาได้ เช่น โครงเหล็กของชุดชั้นใน มันสามารถเอามาทำร้ายร่างกายกันได้
ซึ่งเป็นข้อสรุปของเจ้าหน้าที่ ที่ผู้ต้องขังได้ยินกันมาว่าเพราะสาเหตุใดจึงทำให้สาวประเภทสองไม่ได้ใช้ชุดชั้นในกันเสียที แต่ตอนนี้พอได้ยินมาบ้างว่า เริ่มนำชุดชั้นในเข้ามาในเรือนจำกันบ้างแล้ว แต่จะอนุญาตให้กับสาวประเภทสองที่มีหน้าอกเท่านั้น แต่สาวประเภทสองที่ไม่มีหน้าอกก็มีไปเซ็นขอเช่นกัน เพราะอยากมีหน้าอก
การแต่งหน้าเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์ ได้รับสิทธินี้กันหรือเปล่า
สำหรับว่านมองว่าอุปกรณ์แต่งหน้าอาจไม่ใช่สิ่งของจำเป็น แต่ด้วยการที่ไม่มีอะไรทำ สาวประเภทสองก็คงอยากใช้ชีวิตหนึ่งวันให้สวยที่สุด มันก็เป็นพลังบวกอย่างหนึ่งให้กับพวกเขาระหว่างอยู่ข้างใน เรือนจำที่ว่านอยู่มีสินค้าไม่กี่อย่างที่มีจำหน่าย เช่น มี CC cream ลิปเปลี่ยนสี แต่เขียนคิ้วต้องใช้ ดินสอ EE เขียนกัน
ซึ่งพวกเครื่องสำอางจะไม่ขายเป็นกิจจะลักษณะ แต่จะเอาเข้ามาช่วงที่มีกิจกรรม และสาวประเภทสองมีความจำเป็นจะต้องใช้เพื่อแต่งเครื่องหน้า เครื่องผม เพื่อให้หน้างานออกมาแล้วดูดี มีภาพเก็บที่ให้ทางเรือนจำเอาไปโชว์
ช่วงที่เข้ามาสาวประเภทสองก็ต้องกอบโกยกันหน่อยเพราะมันมีจำกัด อาจจะต้องแบ่งกันหน่อย “แกใช้ดินสอเขียนคิ้วนะ แกใช้บลัชออนนะ แกใช้อายชาโดว์นะ และเดี๋ยวเช้าตื่นมาค่อยมาใช้รวมกัน แบ่งๆ กันใช้”
มีเรื่องอื่นๆ อีกไหม ที่คุณว่านมองว่าก็จำเป็นไม่แพ้กัน
นอกจากเรื่องชุดชั้นในหรือการเทคฮอร์โมน ยังมีเรื่องของพวกเครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม อาจจะเป็นกระโปรง รองเท้าส้นสูง อะไรเล็กๆ น้อยๆ ถามว่ามันมีความจำเป็นไม่ มันก็ไม่มีความจำเป็นหรอก เหล่าผู้ต้องขังเวลาตื่นมาก็ใส่เสื้อขาว กางเกงจับหมู บางวันก็ใส่เสื้อฟ้า กางจับบหมู วนไปแบบนี้ แต่ว่าในวันเสาร์อาทิตย์ มันเสรี แต่งตัวตัวอย่างไรก็ได้ คุณจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เข้ามาในเรือนจำวันแรกก็ได้
ดังนั้นเนี่ยสาวประเภทสองบางคนเขาก็จะมีความฝัน ก็จะหยิบจับผ้ามาเล่นกัน มาจับจีบ ทำเดรส เคยมีกรณีที่ทางเรือนจำจะนำชุดเดรส เครื่องแต่งกายที่เป็นของเพศหญิงมาจำหน่ายให้สาวประเภทสอง แต่ทางเรือนจำมองว่าเป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อและไม่มีความจำเป็น ก็เลยเอาเข้ามาให้แค่ช่วงที่เป็นเทศกาล ถ้าตอนนั้นเก็บมันไว้ ก็ใช้ต่อได้ ใส่ส้นสูงเดินรอบแดนได้เลย
แต่มันก็จะมีช่วงเวลาที่ทางเรือนจำส่งหน่วยจู่โจม กลุ่มของผู้คุมเรือนจำที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบเพื่อมาดูว่ามีของผิดวินัยภายในแดนหรือเปล่า ดังนั้นพวกเดรสและรองเท้าส้นสูงก็จะเป็นของผิดวินัย และถูกยึดกลับไปจนกว่าจะมีเทศกาล ถึงจะเอากลับมาให้
การแต่งตัวสวยๆ เป็นพลังงานบวก เพราะได้ใส่กระโปรงพลิ้วๆ วิ่งรอบแดน ถ้าเป็นว่านเอง ว่านคงจะใส่อย่างน้อยก็วิกแต่ก็ตัดได้แค่รองทรง มันมีความรู้สึกดีๆ เพราะ ณ ขณะนั้น ถ้าเราได้แต่งตัว ได้ใส่อะไรที่เราชื่นชอบ มันก็เหมือนเป็นหนึ่งวันที่ “ว้าว สนุกจังเลย” เพราะข้างในไม่มีอะไรแบบนี้ สักวันหนึ่งก็ยังดี ไม่ต้องทุกวันก็ได้
การรวมตัวของกลุ่ม LGBTQ+ ในเรือนจำเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง
ตอนที่ทุกคนอยู่รวมกันแล้วน่ารักที่สุดคือ ตอนที่เป็นช่วงเทศกาล อะไรก็ตามที่เป็นเทศกาลทางเรือนจำจะให้เหล่าสาวประเภทสองแต่ละแดนมีบทบาทในการเป็นแม่หน้างานนั้นๆ ในการจัดงานแต่ละแดน อย่างของแดน 8 ที่ว่านอยู่ สาวประเภทสองก็มีการจัดบอร์ด ทำการแสดงโชว์ช่วงเช้า มีการจัดเวทีเพื่อต้อนรับให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูกิจกรรม
ตอนที่ว่านอยู่ ว่านอยู่ทันช่วงเทศกาลลอยกระทง จะมีการประกวดนางนพมาศ ซึ่งว่านได้ที่ 1 แต่ว่า ณ ตอนนั้นใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ กว่าจะได้งานนี้ขึ้นมา ซึ่งทุกคนลงแรงลงใจเต็มที่กับมันมาก เพราะข้างในมันไม่มีอะไรทำ
พอในวันที่พวกเขาได้โอกาสที่จะได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อโชว์ศักยภาพของเขา พวกเขาทำมันออกมาได้ดีมาก มันเป็นภาพที่ว่านจำได้เลยว่าทุกคนสามัคคี ทุกคนอยู่ร่วมกันแล้วดูรักกันมาก แม้บางครั้งจะหยุมหัวกันบ้าง
เรือนจำมักมีภาพจำที่หดหู่ คุณว่านหล่อเลี้ยงความหวังให้กับตัวเองในแต่ละวันอย่างไร
ว่านเป็นคนไม่ค่อยอยู่นิ่งอยู่แล้ว ชอบทำโน่นทำนี่ให้เรายุ่ง เราก็เลยเลือกที่จะไม่อยู่เฉยๆ และเลือกที่จะทำงานให้กับแดน และเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารเรือนจำ เพราะเหล่าผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยงาน ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยบริหารและช่วยงานในเรือนจำ มีผลงานและสินค้าหลายๆ อย่าง ที่ผู้ต้องขังผลิตออกมาแล้วก็นำเสนอให้กับทางเรือนจำ ซึ่งทางเรือนจำก็ได้ผลพลอยได้ตรงนี้ไปด้วย คือ ได้รายได้ มีโปรไฟล์ได้ไปโชว์ว่าทางเรือนจำได้ผลิตผู้ต้องขังที่มีคุณภาพ
ถึงเวลา ที่เรือนจำไทยควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ต้องขัง LGBTQ+ อย่างจริงจังแล้วหรือยัง
ถึงเวลาแล้ว และเรือนจำสำหรับสาวประเภทสองมันควรมีอยู่แล้ว เพราะสภาพจิตใจและลักษณะทางกายภาพเขาก็มีความแตกต่างกับผู้ชายในระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้ามีแยกออกไปก็จะดี เพราะถ้าพวกเขาได้อยู่ร่วมกัน ก็จะสรรค์สร้างเรื่องราว ผลงานต่างๆ ให้เรือนจำ สามารถเป็นผู้ต้องขังที่ดีให้กับเรือนจำได้
และก็จะไม่มีเหตุการณ์ร้ายๆ ที่สร้างบาดแผลในจิตใจของพวกเขาเพิ่มเติม เพราะการที่สาวประเภทสองเข้าไปอยู่ในเรือนจำชาย มันก็บอบช้ำมากพอแล้ว ถ้าไม่ได้โอกาสที่จะเลือกที่อยู่ เขาก็ต้องทนอยู่กับคนเหล่านั้นที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องเจ็บตัวหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมากๆ
จริงๆ แล้วเรือนจำที่ว่านอยู่เปิดกว้างให้กับสาวประเภทสองมากๆ ถือว่าให้มากกว่าหลายๆ เรือนจำที่ว่านเห็นและศึกษามา เพราะเขามองว่าบุคคลเหล่านี้มีคุณภาพและมีความสามารถ ที่ช่วยให้เรือนจำก้าวไปข้างหน้าได้
“ก็คุกไม่ใช่บ้าน” คุณว่านคิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้?
ถ้าการที่คนนอกมองเข้ามาว่า เรือนจำไม่ควรจะให้โอกาสหรือมีข้อเสนออะไรให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อให้ใช้ชีวิตมีความสุข ว่านขอยกตัวอย่างว่า ในเคสที่คนใกล้ตัวคุณต้องเข้าไปอยู่ข้างใน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คุณก็คงเป็นคนหนึ่งที่อยากให้เขาคนนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ข้างใน ได้ใช้ชีวิตที่ดีหน่อย หรือคาดหวังไม่ให้เขาเจอเรื่องร้ายๆ
อยากจะให้มองตรงนี้ว่า ถ้าเรือนจำให้โอกาสและมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้ต้องขัง มันเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ถ้าเรือนจำไม่สนับสนุน พวกเขาคงต้องใช้ชีวิตเหมือนตกอยู่ในความทุกข์ หรือเป็นนรกขนาดย่อมของพวกเขา อย่างน้อยพวกเขาต้องได้รับโอกาสบางอย่างจากเรือนจำบ้าง