ในยุคที่การเล่าข่าว ยังคงเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของการเสพข่าวของผู้คน รวมไปถึงรายการข่าวที่มีการเชิญแขกรับเชิญมาพูดคุยกันแบบเจาะลึก เพราะไม่ใช่แค่แง่มุมต่างๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์ที่เจาะลึกมากกว่า ยังเพิ่มอรรถรสของการเสพข่าวที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ คือหนึ่งในรายการทอล์ก ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ช่วงเวลา 15.30 น. จากช่องไทยรัฐทีวีที่กำลังมาแรง โดยมี อุ๋ย – ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ คนข่าวตัวจริงที่โลดแล่นอยู่ในวงการข่าวมากว่า 2 ทศวรรษ นอกจากนั้นยังมีรายการ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ ที่เขามานั่งเล่าข่าว ออนแอร์ 7 วันในช่วงหัวค่ำ เวลา 1 ทุ่มอีกด้วย ซึ่งภาพเบื้องหน้า เขานิยามตัวเองว่าเป็นยามเฝ้าข่าว ทำงานหนักอยู่กับข่าว 24 ชั่วโมง แต่เบื้องหลัง ยังมีแง่มุมไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่เรียกว่าส่งเสริมชีวิตความเป็นคนข่าวของเขาอย่างแยกกันไม่ออก
เป็นโอกาสไม่บ่อยที่ The MATTER ในฐานะของสำนักข่าวออนไลน์ จะมีโอกาสได้เปิดปาก เปิดใจกับคนข่าวตัวจริงแบบนี้
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นคนข่าวทุกวันนี้ อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
เริ่มจากการที่เราชอบดูฟุตบอลก่อน เราเป็นเด็กนักเรียนอยู่ที่บ้านฉาง จังหวัดระยอง คือชอบเตะฟุตบอลอยู่แล้ว จะชอบอ่านสตาร์ซอคเก้อร์ สยามกีฬา มีคอลัมนิสต์ที่ชื่นชอบอย่าง พี่บอ.บู๋ พี่แจ็คกี้ พี่ลิตเติ้ลโจ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากจะเป็นแบบเขา อยากเขียนคอลัมน์ ได้ไปประจำที่กรุงลอนดอน อยู่อังกฤษคอยติดตามข่าวสาร เราก็อยากเป็นอย่างนั้น พอโตขึ้นมาหน่อย เรียนมหาวิทยาลัย มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ จุ้น พีรยุทธ โอรพันธ์ ตอนนี้เป็นอาจารย์อยู่คณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์ ตอนเรียนด้วยกัน มันจะถือหนังสือเล่มหนึ่งมาทุกวัน คือ มติชนรายสัปดาห์ หรือไม่ก็ สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ทีนี้เราอ่านสตาร์ซอคเก้อร์หมดทุกหน้า ทุกคอลัมน์แล้ว ก็ไม่รู้จะอ่านอะไร ว่างๆ ก็เลยลองหยิบของมันมาอ่าน ทำให้ได้เสพข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จากคอลัมนิสต์ต่างๆ อย่าง หนุ่มเมืองจันท์ ไปโดยไม่รู้ตัว พอเรียนจบก็เข้ามาทำงานเป็นนักข่าว ก็เริ่มจากทำงานวิทยุก่อนที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิก
แสดงว่าอยากเป็นนักข่าวกีฬาก่อนใช่ไหม
ความจริงตั้งใจเป็นนักข่าวกีฬา เป็นจังหวะชีวิตมากกว่า เพราะว่าตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจารย์ก็แจ้งมาตอนปี 4 ว่า ศูนย์ข่าวแปซิฟิก ออกอากาศทางวิทยุทุกต้นชั่วโมง ในเครือกองทัพบก ต้องการรับนักข่าวนะ ถ้าใครสนใจให้ส่งเทปเดโมไป อาจารย์ก็เห็นเราทำงานกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ซุ่มเสียงพอได้ อาจารย์แนะนำว่าลองส่งเทปไปสิ พอส่งไป เขาก็แจ้งมาว่าเราผ่านการคัดเลือก ไปสอบเป็นขั้นตอนเลยได้งาน
เส้นทางก็เลยมาทางนักข่าวสายการเมือง ไม่ได้มาทางนักข่าวกีฬา แต่พอวันหนึ่งเป็นช่วงกีฬาซีเกมส์ จำได้ว่า ตอนนั้นอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ เขาก็ส่งนักข่าวไปทำข่าวซีเกมส์ ไปกัน 4-5 คน เราก็เป็นหนึ่งในนั้น ไปอยู่เป็นเดือนๆ ก็ได้ทำข่าวกีฬาเป็นการทำข่าวกีฬาจริงจังครั้งแรกในชีวิต ทำให้รู้ว่าเราไม่ใช่นักข่าวกี
พอช่วงนั้นอยู่กับข่าวการเมือง กลายเป็นว่าเราชอบทำข่าวการเมืองมากกว่า แต่ความจริงศูนย์ข่าวแปซิฟิกตอนนั้น ถ้ามีข่าวดังๆ แรงๆ เขาก็จะส่งไปทำหมด มีไปวิ่งอาชญากรรมด้วย ชีวิตทำงานคือจันทร์ – อังคารต้องไปทำเนียบ พุธ – ศุกร์ไปสภา คือพอไปทำเนียบ ไปสภา เข้าห้องผู้สื่อข่าวหรือรังนกกระจอกบ่อยๆ ตอนแรกๆ ที่ไปนั่งฟังประชุมสภา ก็รู้สึกว่าอะไรเนี่ย หลังๆ ฟังจนชินแล้ว จับประเด็นได้ ก็เลยได้ทักษะติดตัวมา
ตอนนั้นมีไอดอลนักข่าว ที่มองว่าอนาคตอยากจะเป็นแบบนั้นบ้างไหม
พออยู่ศูนย์ข่าวแปซิฟิกไปสักปีกว่าๆ ก็ย้ายมาอยู่ช่อง 9 อสมท. สำนักข่าวไทย ซึ่งตอนนั้นมีพี่สรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำรายการถึงลูกถึงคน เป็นรายการทอล์ก และเป็นช่วงที่พี่กิตติ สิงหาปัด ตอนนั้นอยู่ ITV เราก็อยากเป็นพี่สรยุทธ อยากเป็นพี่กิตติ หรืออาจารย์วีระ ธีรภัทร ที่จัดวิทยุ ส่วนปัจจุบันที่ชื่นชอบคือ พี่หนุ่ม กรรชัย ในเชิงของรายการทอล์ก ก็มี 4 คนนี้ที่เราติดตาม ใช้วิธีครูพักลักจำ ดูเขาแล้วก็เอามาปรับใช้กับตัวเอง หรือบางท่านได้คุยกัน ก็จะถามว่าถ้าผมเจอแบบนี้ต้องทำยังไง ถ้าเจอแบบนี้พี่ทำยังไง ทำให้เห็นว่าเราอยากเป็นอย่างนี้ อยากทำรายการแบบนี้บ้าง
ในยุคนั้นการเล่าข่าวถือว่าได้รับความนิยมมากน้อยขนาดไหน
ด้วยยุคสมัยของการเปลี่ยนไปในปัจจุบันด้วย คนดูอาจจะต้องการความมีส่วนร่วมหรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกัน ระหว่างผู้ประกาศข่าว พิธีกรข่าว คนทำงานข่าว คนอ่านข่าวให้เราฟังแบบคนดู มันอาจจะไม่เหมือนสมัยก่อนที่อ่านตามสคริปต์ เงยหน้าก้มหน้า แล้วก็สวัสดี ลากันไป อีกอย่างหนึ่งก็จังหวะตอนนั้น พอรายการลักษณะเล่าข่าวที่เราเห็นแบบนั้น เรารู้สึกว่าเราชอบอย่างนั้นอยู่แล้ว เลยได้เติบโตมาเส้นทางสายนั้น เพราะพอได้โอกาสทำงานขึ้นมาจริงๆ ก็ไต่เต้ามาตามระดับนะ จากรายงานสดจากข้างนอก มาอ่านข่าวข้างในเป็น break ข่าวต้นชั่วโมง ข่าวเที่ยง ข่าวภาคค่ำ จนอยู่ช่วงหนึ่งช่อง 9 เขาก็ได้เปิดทำรายการคุยข่าวเอง จนกระทั่งมาอยู่ไทยรัฐ ก็ได้ทำรายการทอล์กด้วย
จากความชอบ มาสู่รายการ ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ ได้ยังไง
ผมมาอยู่ไทยรัฐ ถ้านับปีนี้ก็น่าจะปีที่ 5 แล้ว คือช่วงที่เข้ามาก็มาอ่านข่าวภาคค่ำ คือ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ ช่วง 19.00 – 22.40 น. ช่วงกันยายนปี 2565 ตอนนั้นก็พยายามมองว่าสถานีข่าว ยังไงก็ต้องมีรายการทอล์ก แล้วอีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวจะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ครบ 4 ปี ของสภาผู้แทน เราก็เลยเปิดรายการนี้ขึ้นมา แล้วก็พยายามคิดว่าเราจะใช้ชื่อรายการอะไร ชื่อแบบไหนดี ก็คิดกันมาหลายชื่อเลย ทั้งผู้บริหารของไทยรัฐ ผอ. ข่าว หรือผมเอง ก็รู้สึกว่า เวลาเห็นพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หรือของออนไลน์ จะมีคำว่า เปิดปากคนนั้น เปิดปากคนนี้ เปิดใจก็มี ก็เลยคิดว่า เปิดปาก น่าจะโดน คือสั้น ง่าย แล้วก็คนน่าจะจดจำได้ง่าย เพราะปกติถ้าเราคิดถึงชื่อของรายการข่าว หรือรายการทอล์กก็จะวนๆ อยู่กับคำว่า ข่าว เราก็เลยหยิบชื่อนี้มาใช้ จนออกมาเป็น ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ คำก็คล้องจองกันอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นของการทำรายการทอล์กรายการนี้ขึ้นมา
ตอนแรกที่วางมู้ดแอนด์โทนของรายการ มองภาพไว้ประมาณไหน
ทีแรกก็ยังคิดอยู่ว่ามันจะน่ากลัวหรือเปล่า ชวนใครไปเขาจะมาหรือเปล่า แต่ก็คือความจริงแล้ว พอทำรายการทอล์กก็ต้องอิงกับตัวพิธีกรด้วย ว่ารายการจะออกมามู้ดแอนด์โทนยังไง คืออย่างผมก็จะเป็นลักษณะไม่ได้ถึงขั้นไล่บี้จนตายคาหน้าจอ หรือว่าเอามาแหวกอกกันกลางเวที จะเป็นมู้ดแอนด์โทนที่อยากให้เขามาคุย แล้วมาเปิดความจริง หรือเปิดความในใจให้เราฟังมากกว่า หรือว่าจะสะท้อนไปถึงคนที่อยู่ทางบ้านที่ดูอยู่มากกว่า อยากให้ออกมากลมกล่อม และได้อะไรที่ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลา 45 นาทีของรายการ นอกจากวันไหนที่มีแขกเยอะจริงๆ แล้วประเด็นมันไม่ลงจริงๆ เราก็จะต่อออนไลน์อีกครึ่งชั่วโมง เป็นมู้ดแอนด์โทนลักษณะนี้มากกว่า
อยากให้อธิบายถึงการทำงานในแต่ละเทป การเตรียมประเด็นต่างๆ และการหาแขกรับเชิญ มีการเตรียมตัวอย่างไร
เราก็จะทำงานร่วมกัน ทั้งตัวผมเอง กองบ.ก. 4-5 คน ทีมโปรดิวเซอร์ และทางผอ.ข่าว ทุกวันเราก็จะมาคุยกันแล้ว พอจบรายการ ส่งแขกเสร็จ ขอบคุณกันเรียบร้อย ก็จะมานั่งคุยกัน ว่าพรุ่งนี้อยากเล่นเรื่องอะไร ซึ่งต้องอิงกับกระแสสังคมด้วย ว่าเรื่องนี้ยังโอเคอยู่ไหม คนยังสนใจไหม ถ้าคนสนใจเรื่องนี้เราจะเชิญใครที่สามารถเชิญมาพูดคุยกันได้บ้าง ก็รีบติดต่อ ว่างไม่ว่างก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง แก้ไขสถานการณ์ในการเชิญแขกแต่ละวัน อย่างข่าวกำนันนก หลายรายการเขาก็คงจะนำเสนอเหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับตำรวจและกำนัน ซึ่งเป็น 2 ตำแหน่งในทางข้าราชการที่คนรู้สึกสนใจ แล้วพอมาเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้น มีการยิงกันตาย มีส่วยเข้ามาอีก มีฮั้วประมูลเข้ามาอีก เรื่องราวมีอะไรให้แตกต่อยอดแขนขาเป็นสตอรี่เยอะแยะไปหมดเลย
ตั้งแต่ทำรายการเปิดปากกับภาคภูมิมา รู้สึกว่าเทปไหนสนุกมากที่สุด
คงเฉพาะเจาะจงยาก เพราะถ้าปีหนึ่งที่ผ่านมา เราก็มีไปเกือบ 300 เทปแล้ว คือความจริงแล้ว เปิดปากกับภาคภูมิ ตั้งใจว่าเราต้องการเป็นกระบอกเสียงหรือช่วยเหลือสังคม เราเชื่อว่าข่าวหรือว่ารายการข่าวสามารถสร้างสรรค์สังคมหรือจรรโลงสังคมได้ แม้ว่าคนดูอาจจะบอกว่าเดี๋ยวนี้ข่าวมีแต่ดราม่า เน้นแต่เรื่องของอาชญากรรม ความรุนแรง ผีสางความเชื่อหรือเปล่า คือมันเป็นส่วนหนึ่งของข่าวที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ถ้าเราจะมีรายการสักรายการหนึ่งที่จะเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือสังคมได้ เราอยากให้รายการมันออกมาในแง่มุมนั้น แต่แน่นอนว่ามันปฏิเสธเรื่องกระแส หรือว่าการพูดคุยในเรื่องที่สังคมต้องการรู้ หรือต้องการที่จะให้เจาะลึกลงไปไม่ได้ ประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เราก็พร้อมจะพูดคุยหมด
แต่ถ้าจะถามว่ารู้สึกอย่างไร ผมรู้สึกภูมิใจที่เราได้เป็นสื่อกลางให้กับทุกคน มีหลายเทปเราก็ประสานหาทนายหรือกระทรวงยุติธรรมที่จะเข้ามาคุยกัน เพราะว่าเขาถูกยัดข้อหา หรือเขายืนยันว่าเขาไม่ผิด เราก็จะมาพิสูจน์กัน อย่างเช่นมีอยู่เทปหนึ่ง เราโทรหาตำรวจคุยกันกลางรายการ ส่งข้อมูลระหว่างกัน พอตำรวจ กระทรวงยุติธรรม หรือทนายยื่นมือเข้ามาช่วย เขาไปตรวจสอบข้อมูล พบว่าเขาเป็นแพะจริงๆ ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาเพื่อสู้คดีต่อ คือมันไม่ใช่หมายความว่ามาออกรายการเราแล้ว พิพากษาจนได้หลุดพ้นคดี เพียงแต่ว่าเขาได้ออกมาเพื่อจะมาต่อสู้คดีข้างนอก ซึ่งดีกว่าการต่อสู้คดีอยู่ในคุก พอเราได้ทำเรื่องนี้ รู้สึกว่าได้ช่วยเหลือสังคม ไม่ได้หมายความว่าเคสอื่นหรือกรณีอื่นไม่ได้ช่วยเหลือสังคมนะ ซึ่งก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง เราคุยกับนักการเมือง พรรคการเมือง เราก็ได้เป็นสื่อกลางให้สังคมได้ฟังว่า พรรคนี้หรือนักการเมืองคนนี้ เขาคิดแบบไหน เขามีนโยบายยังไง หรือประเด็นอาชญากรรมอย่างคดีกำนันนก เราก็ได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการตีแผ่ให้เห็นว่า ถ้าคนจะติดสินบนกันหรือจะฮั้วกัน จะจ่ายส่วยกันยังไง หรือคดีฆ่ากันตาย เราก็ได้สื่อให้สังคมได้เห็นว่าในแง่มุมของกฎหมาย ถ้าคุณทำแบบนี้มันใช่หรือไม่ใช่ ผิดมันถูกยังไง หรือถ้าคุณเจอเรื่องแบบนี้เอง คุณควรจะทำยังไง
ตอนที่ได้รางวัล ‘นักข่าวน้ำดี’ จากรายการเปิดปากกับภาคภูมิ และ ‘ผู้ประกาศข่าวชายยอดเยี่ยม’ จากรายการไทยรัฐนิวส์โชว์ รางวัลนาคราชอวอร์ดครั้งที่ 6 รู้สึกยังไงบ้าง
เป็น 2 รางวัลล่าสุดที่ได้รับ คือก่อนหน้านี้ก็จะมีรางวัลนาฏราช ก็คงจะเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ได้รับมา คือต้องเอารางวัลนี้ตอบกลับไปที่ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังมากกว่า คือหลายคนอาจจะเห็นผมจากทางหน้าจอ ซึ่งความจริงก็คือคนที่ออกมานำเสนอ คนที่ออกมาเป็นคนอ่านข่าว เป็นพิธีกร แต่ความจริงแล้วเบื้องหลังยังมีทีมงานอีกเยอะแยะไปหมดเลย ทั้งทีมที่ต้องไปทำข่าว ทีมหาแขก ทีมสตูดิโอ ก็เป็นธรรมดาก็ต้องดีใจ แต่ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง แล้วก็สนับสนุนการทำงานของเรามากกว่า หรือแม้แต่คนดู คือถ้าเราไม่มีคนดู รายการมันก็คงไม่ได้รับการสื่อสารออกไป หรือว่าเผยแพร่ออกไปว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
ในฐานะที่เป็นคนข่าว เสพข่าวด้วยตัวเองมากน้อยขนาดไหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 24 ชั่วโมงของเราคือข่าว เหมือนเป็นชีวิตจิตใจ เหมือนเรากินข้าว กินน้ำไปแล้ว พอเราเลิกงานกลับบ้านก็จริง แต่บางทีเราดูเฟซบุ๊ก เพจดัง TikTok ไอจี ทวิตเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ดังๆ ส่วนมากมันก็จะเป็นฟีดข่าว พอเราเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าทำ เรื่องนี้น่าสนใจ ไปตามดูหน่อยดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเสพจนแบบไม่มีเวลาส่วนตัว วันๆ นั่งดูแต่ข่าว เหมือนเราหายใจเข้าออกเป็นจังหวะข่าวมากกว่า ถ้าถามว่าเอาเวลาไปนั่งมอนิเตอร์ข่าวตอนไหน ไปตามข่าวตอนไหน ก็ทั้งวันนั่นแหละ จังหวะนั่งตรงนี้ เดินไปตรงนั้น หยิบมือถือขึ้นมา แล้วไถไปเจอเรื่องนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาโดยธรรมชาติ น่าจะเอามาเสนอตอนเย็น ตอนค่ำ หรือว่าพรุ่งนี้เชิญคนนี้มาทอล์กกันดีกว่า
เคยรู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยกับการทำข่าวบ้างไหม
ก็ไม่ถึงขั้นนั้นนะ อาจจะเป็นเพราะเราอยากทำงานทางด้านแวดวงข่าวอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเราทำงานข่าวแล้วเรารู้สึกทรมาน เหนื่อย ไม่อยากไปทำเลย ทุกวันนี้พอเห็นข่าวแล้วรู้สึกอะดรีนาลีนมันสูบฉีด อยากทำจังเลย เรื่องนี้ต้องทำ เรื่องนี้ส่งคนไปหน่อย ยังรู้สึกตื่นเต้นแล้วก็มีแพสชันในการทำข่าว ไม่เคยรู้สึกอิ่มตัวเลย
มองว่าโลกโซเชียลฯ ทำให้วงการข่าวทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร
ความจริงก็มีทั้งข้อดีข้อไม่ดี ที่แตกต่างกันนะ ทุกวันนี้นักข่าวพลเมืองเยอะ ทุกคนมีสื่อในมือ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่นักข่าวในตัวเองนะ แต่เป็นบรรณาธิการข่าวในตัวเองด้วยซ้ำ เพราะในสื่อโซเชียลฯ ของตัวเอง คุณสามารถที่จะถ่ายทอดออกมาแล้วก็ส่งออกไปได้เลย กลั่นกรองในตัวเองออกไปได้เลย เพียงแต่ว่าเรื่องเหล่านั้น ถ้าคนที่จะมาอ่านต่อหรือมาเสพต่อ ก็ต้องไปดูว่าเรื่องนี้น่าเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน แน่นอนว่ากว่าแต่ละเรื่องที่จะได้มา ต้องมาผ่านกองบ.ก. กว่าจะออกมาเป็นหนังสือพิมพ์แต่ละเล่ม หรือกว่าจะออกมาเป็นข่าวทางโทรทัศน์ มันช้ากว่าอยู่แล้ว แต่อาจจะชัวร์กว่า ข้อดีข้อเสียก็ต่างกันไป
บางคนก็บอกสื่อสมัยนี้หากินง่าย เอาคลิปนู้นคลิปนี้มาออกก็เป็นข่าว ความจริงแล้วเราว่าไม่ใช่หรอก คือช่องทางในการสื่อสารหรือการเรียกร้องของคนที่เดือดร้อนมันง่ายขึ้น เร็วขึ้น เมื่อก่อนเขาต้องไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบที่สภา ไปหาตำรวจ ส่งแฟกซ์ไปหานักข่าว หรือส่งจดหมายไป ตรงนี้ก็ช้า คือส่วนหนึ่งของความล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมที่เขาต้องเจออยู่นะ แต่พอเขาสามารถที่จะส่งตรงไปได้เลย แล้วสื่อเห็น สื่อหยิบจับมาได้เลย ทำให้การช่วยเหลือหรือการเป็นปากเป็นเสียงต่อๆ กันไปก็เร็วขึ้น
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นทำเพจ ‘อุ๋ย ภาคภูมิ ยามเฝ้าข่าว’ ขึ้นมาเอง
เป็นความอยากทำส่วนตัว เพื่อจะมีช่องทางที่จะเอาไว้สื่อสารบ้าง เพราะ เราในฐานะคนข่าวก็จะรู้ข่าวที่เยอะ และอัปเดตทุกวัน มันอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ได้บ้าง ก็รู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้เขียน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก
มองเรื่องการเปลี่ยนผ่านของสื่อเก่ากับสื่อใหม่อย่างไร สื่อทีวีที่เคยว่าจะตายก็ยังคงอยู่
เรื่อง disrupt ของวงการสื่อ คือแน่นอนว่าช่วงที่มีสื่อออนไลน์ที่แรงขึ้นมา คนก็บอกว่าทีวีจะตาย คือถ้าเราย้อนไป ตอนที่มีวิทยุก่อน แล้วก็มีทีวีเข้ามา คนก็บอกว่าวิทยุจะตาย สุดท้ายวิทยุก็ไม่ได้ตาย ก่อนจะมีวิทยุ มีหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ คนบอกว่ามีวิทยุ หนังสือพิมพ์จะตาย หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ตาย พอมีทีวีจนถึงทีวีดิจิทัล มามีสื่อออนไลน์ คนก็บอกว่าทีวีจะตาย ผมว่ามันไม่มีใครตายหรอก เพียงแต่ว่าแพลตฟอร์มของการเสพสื่อของคนอาจจะเปลี่ยนไป device หรือว่าอุปกรณ์ของเขา ว่ามันคืออะไรมากกว่า เพียงแต่ทุกวันนี้การผลิตสื่อของเราจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มไหน ก็เป็นไปตามยุคสมัยของการเสพสื่อของแต่ละคน ที่สำคัญคือ Content is king เนื้อหายังเป็นความสำคัญของการเลือกดูเลือกเสพของคนอยู่ ไม่ว่าเขาจะดูในอุปกรณ์แบบไหน แพลตฟอร์มไหนก็แล้วแต่ คนทำสื่อก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
อยากบอกอะไรถึงนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคโซเชียลฯ แบบนี้
เดี๋ยวนี้อินฟลูเอนเซอร์หรือคนที่โดดเด่นขึ้นมา เขาไม่ต้องไปง้อช่องแล้ว นักร้องบางคนไม่ต้องไปง้อค่ายด้วยซ้ำ คือหลายคนก็โดดเด่นขึ้นมาโดยไม่ต้องจำเป็นจะต้องมาออกทีวีแบบเราก็ได้ ฉะนั้นถ้าถามว่าเด็กรุ่นใหม่เขายังอยากเป็นอย่างนี้ไหม เชื่อว่าเขาก็ยังอยากเป็น เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะโดดเด่นหรือนำเสนอตัวเองขึ้นมาได้ มันมีมากกว่าในยุคสมัยของเรา คนเรานอกจากมีความสามารถแล้ว ต้องมีโอกาสด้วย เพียงแต่ว่าถ้าคุณอยากจะก้าวเข้ามาสู่การเป็นนักข่าว ทำวิชาชีพข่าวอย่างแท้จริง แน่นอนว่าต้องมีกระบวนการขั้นตอนของการหล่อหลอม ถ้าคุณอยากเป็นคนเล่าข่าวก็ไลฟ์ได้เลย แต่ก็ต้องไปดูเรื่องของลิขสิทธิ์ ภาพ เสียง ที่มาของแหล่งข่าวที่คุณจะใช้ ซึ่งตรงนั้นก็ต้องไปสู่เรื่องของการเป็นสถานีข่าว สำนักข่าวก่อน เมื่อคุณได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น ก็จะได้หล่อหลอมจิตวิญญาณ หรือจริยธรรมของการทำข่าว ซึ่งอาศัยการเรียนรู้ในความเป็นวิชาชีพสื่อสารมวลชน
ชีวิตประจำวันของคนข่าว ในแต่ละวันทำอะไรบ้าง
ตื่นสักประมาณ 7.00 – 8.00 น. ก็จะมาดูแล้วว่าตอนเช้ามีข้อความในไลน์ ในกลุ่มข่าวต่างๆ หรือว่าเช็กดูมอนิเตอร์ข่าวสารอะไรต่างๆ สักนิดหน่อย ว่ามีอะไรต้องอัปเดตความคืบหน้าหรือเปล่า จากนั้นก็ดูข่าวตามช่องทางต่างๆ ช่วงสายๆ 10.00 – 11.00 น. ก็จะเตรียมตัวแล้วก็ออกจากบ้านมาถึงออฟฟิศที่ไทยรัฐประมาณเที่ยง พอบ่ายก็จะมาประชุมทีมกับกองบ.ก. ในส่วนของรายการ ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ ว่าวันนี้มีอะไรที่จะต้องเพิ่มเติมหรือว่ามีอะไรที่จะต้องปรับเปลี่ยนบ้างไหม เสร็จแล้วสัก 13.30 น. ก็จะไปแต่งหน้าทำผม เตรียมตัวเสร็จประมาณ 14.00 น. ก็จะมารอแขก ถ้าแขกมาถึงเร็วหน่อยก็จะมานั่งพูดคุยประเด็นอะไรต่างๆ ก่อนเข้ารายการ 15.00 น. ก็จะเข้าสตูฯ จัดรายการสด ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’ พอเสร็จ 16.15 น. ออกมาก็จะมาเตรียมตัวสำหรับ รายการ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ ดูภาพ ดูเสียง ดูคอนเทนต์ต่างๆ ระหว่างนี้ก็อาจจะกินข้าวเย็นไปด้วย พอจัดรายการตอน 19.00 – 22.40 น. จบรายการออกมาก็จะมาสรุป มาคุยกับทีมไทยรัฐนิวส์โชว์นิดหน่อยว่าที่เรานำเสนอไปวันนี้ มีตรงไหนต้องเพิ่มเติมแก้ไขอะไรยังไงไหม หรือว่าพรุ่งนี้จะไปตามเรื่องอะไรต่อ และจะมีการคุยกับทีมเปิดปากกับภาคภูมิเกี่ยวกับเรื่องแขกของวันต่อไปด้วย สัก 23.00 น. ประมาณนั้นก็จะออกจากออฟฟิศ ถึงบ้านประมาณ 23.30 น. กลางคืนรถไม่ติดมาก ถึงบ้านก็อาบน้ำ เตรียมตัวเข้านอนประมาณ 00.30 น.
ฟังดูค่อนข้างแน่นพอสมควร แบ่งเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัวยังไงบ้าง
ก็ส่วนมากถ้าเช้าวันไหนที่ตื่นมาทัน ไม่เกิน 6.30 น. ก็จะขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนเอง เวลาเหลือก็จะนั่งกินกาแฟ กินขนมปัง แต่เสาร์อาทิตย์ผมจะได้หยุด จะสบายหน่อย ได้มีเวลาในการดูแลครอบครัว ดูแลลูก ถ้าวันไหนที่แมนฯ ยูฯ มีแข่ง ก็จะเชียร์ด้วยกันกับลูกชาย ถ้าวันไหนว่างก็จะทำอาหาร ทำกับข้าวกินกันบ้าง แต่ก็ทำเมนูที่ไม่ยากมาก หรือไม่ก็ออกไปหาอะไรกินอร่อยๆ
การบาลานซ์ชีวิตด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบ ส่งผลดีต่อการทำงานอย่างไร
ผมว่ามันช่วยให้ผ่อนคลายมากกว่า เพราะว่าบางทีเราต้องนำเสนอข่าวสาร หลายเรื่องก็เป็นเรื่องรันทดหดหู่ ถ้าเราไปจมอยู่กับมัน บางทีก็ทำให้รู้สึกแบบเศร้าหมอง คือเราต้องรีบตัดจบ เสร็จรายการ ต้องไปดูฟุตบอล อ่านคอลัมน์ฟุตบอล หาของอร่อยกิน ทำอาหารกิน จะได้ผ่อนคลาย ไม่อย่างนั้นมันจะเครียดมากเลย เหมือนเวลาคนที่เขาเป็นนักแสดง เขาไปเล่นบทบาทนั้นบทบาทนี้ เขาต้องตัดจบ ไม่อย่างนั้นถ้าอินมากไป มันจะส่งผลกับสภาพจิตใจ ต้องบาลานซ์อารมณ์ เพราะว่าอย่าง TikTok เองก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำมาเพื่อไปเล่าเรื่องข่าว แต่จะเป็นแบบอยากทำอะไรสนุกๆ ไปเจออาหารอร่อยจังเลย ขออัดคลิปหน่อย ไปเจออันนั้นอันนี้มา ก็เล่าให้กันฟัง หรือบางทีไลฟ์คุยเรื่องฟุตบอล เรื่องแมนฯ ยูฯ เรื่องอะไรไปเรื่อยเปื่อยมากกว่า
ได้ยินมาว่าเป็นนักสะสมเสื้อบอลแบบจริงจังด้วย
ใช่ๆ เพราะว่าก็เราชอบแมนฯ ยูฯ ถ้าแมนฯ ยูฯ เขาออกมากี่ชุดของฤดูกาลนี้ก็ซื้อหมด แต่จะซื้อของทีมอื่นด้วยนะ ทีมอื่นเยอะกว่าแมนฯ ยูฯ ด้วยซ้ำ ถ้าเห็นว่าเสื้อทีมไหนสวย ก็เล็งไว้แล้วรอช้อนตอนที่มันลดราคา สะสมไปเรื่อยๆ แต่แมนฯ ยูฯ จะซื้อต้นฤดูกาลเลย เพราะเป็นแฟนคลับอยู่แล้ว
เคยคิดไหม ว่าถ้าเกษียณจากการเป็นนักข่าว อยากจะไปทำอะไรต่อ
ความจริงไม่เคยคิดเลยนะ เพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะเกษียณเมื่อไร ถ้าตั้งเป้าไว้เราก็อยากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีคนจ้าง คือความจริงเราก็อยากเป็นเหมือนสื่ออาวุโสหลายๆ ท่าน ทั้งอาจารย์วีระ คุณสุทธิชัย หยุ่น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจจะไม่ออกทีวี แต่ก็ไปจัดรายการวิทยุหรือว่ามีคอลัมน์ เขียนบทวิพากษ์วิจารณ์ของตัวเอง ที่ทำเพจของตัวเองก็ไม่ได้ต้องการอะไร คือเอาไว้ว่างๆ อยากจะเขียนอะไรก็จะได้เขียนลงไป เพราะก่อนหน้านี้เคยเป็นคอลัมนิสต์ให้เขาอยู่บ้าง แต่พอถึงเวลาเรางานรัดตัวส่งให้เขาไม่ทัน เลยกลายเป็นการมัดตัวเองไป เราอยากทำอะไรในสิ่งที่ไม่ต้องฝืนทำ
ห้ามพลาด! รับชมรายการทอล์ก ‘เปิดปากกับภาคภูมิ’
ได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 15.30 น. และรายการ ‘ไทยรัฐนิวส์โชว์’ ได้ทุกวัน
เวลา 19.00 น. ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 และทุกช่องทางออนไลน์
และกดติดตามช่องทางต่างๆ ของ อุ๋ย – ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้ที่
TikTok : https://www.tiktok.com/@auiphakphoom
Instagram : https://www.instagram.com/auiphakphoom
Facebook อุ๋ย ภาคภูมิ ยามเฝ้าข่าว : https://www.facebook.com/profile.php?id=100083100080454