ลุ่มน้ำชี-มูล คือแม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เปรียบได้กับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางภาคอีสานให้เติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศมาช้านาน
แต่ภายใต้ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว พื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูลกลับประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในฤดูฝนแทบทุกปี ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำมูล
ชวนไปสำรวจความเป็นไปของลุ่มน้ำชี-มูลในปัจจุบัน กับกรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและผิดชอบ ถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม ลักษณะทางกายภาพที่ต้องอาศัยความเข้าใจ พร้อมกับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ลักษณะทางกายภาพของลุ่มแม่น้ำชี-มูล
ลุ่มน้ำชี-มูล เป็นลุ่มน้ำใหญ่ที่ไหลออกสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำชีมีความยาวประมาณ 765 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่านจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด และยโสธร ไหลมาสู่อุบลราชธานี ส่วนแม่น้ำมูลมีความยาวประมาณ 640 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และไหลมาบรรจบที่อุบลราชธานี โดยลักษณะของทั้งสองลำน้ำจะไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ก่อนจะลงสู่แม่น้ำโขง ขนาดของพื้นที่สามารถรองรับน้ำภาคอีสานได้ทั้งภาค หรือพื้นที่ราวๆ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ฉะนั้นการจัดการน้ำในพื้นที่ตั้งขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญอย่างมาก
เหตุผลที่ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในทุกๆ ปี
เนื่องจากลำน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลมารวมกัน และเป็นแหล่งรวมน้ำของแม่น้ำชีกับแม่น้ำมูล จากลักษณะทางกายภาพที่ลำน้ำไหลจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก เมื่อมาเผชิญกับทิศทางของพายุที่พัดจากประเทศเวียดนาม จึงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดน้ำท่วม ยิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก โอกาสเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจึงมีสูงมาก ประกอบกับตัวจังหวัดเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท้ายน้ำก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง ฉะนั้นโอกาสที่น้ำจะไหลผ่านเมืองและเกิดน้ำท่วมจึงมีโอกาสสูงเช่นกัน ชาวบ้านหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงรู้จักกายภาพของลุ่มน้ำเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ในทุกๆ ปี ต้องมีการประเมินสถานการณ์ว่าเขื่อนแต่ละแห่งสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐฯ จะมีการพยากรณ์ว่ามวลน้ำจะเดินทางมาถึงจุดต่างๆ ในช่วงเวลาไหนและใช้เวลาเท่าไร เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่นมวลน้ำจากจังหวัดขอนแก่นจะเดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน จึงมีระยะเวลาในการเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลันได้
ความท้าทายในการจัดการน้ำในพื้นที่
โดยทั่วไปแล้ว การจัดการน้ำในแม่น้ำชีตอนบนหรือต้นน้ำ จะใช้การกักเก็บน้ำในเขื่อนที่จังหวัดชัยภูมิ 4-5 เขื่อน ส่วนแม่น้ำมูลจะใช้การกักเก็บน้ำในเขื่อนจังหวัดนครราชสีมา 4-5 เขื่อน หลักการจัดการน้ำที่ต้นน้ำดังกล่าว จำเป็นต้องกักเก็บน้ำให้มากที่สุด ส่วนกลางน้ำต้องมีอาคารชลประทาน อาคารบังคับน้ำ เพื่อหน่วงน้ำและระบายน้ำให้ไหลมาตอนล่างบริเวณปลายน้ำที่จังหวัดอุบลราชธานีน้อยที่สุด ตัวอย่างกรณีที่ต้นน้ำมีปริมาณน้ำฝนน้อย เขื่อนก็สามารถกักเก็บน้ำได้ไม่เต็มความจุ แต่ถ้าหากฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน ก็มีโอกาสเกิดน้ำก็ท่วมเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเขื่อนกักเก็บน้ำเกินความจุ ส่งผลให้น้ำไหลล้นข้ามอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งเป็นปกติของกลไกระบบอาคารอยู่แล้ว แต่เมื่อกลางน้ำไม่มีน้ำ ฝนน้อย น้ำที่ระบายมาก็อาจไม่ส่งผลกระทบก็เป็นได้ ทำให้ความท้าทายในการจัดการน้ำเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
หัวใจของการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม
การติดตามน้ำและบริหารจัดการน้ำ ต้องดำเนินการแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ ไปพร้อมๆ กัน ภายใต้หลักวิศวกรรมศาสตร์ในทุกๆ กระบวนการ แต่การดำเนินการต้องใช้ระยะเวลา ใช้งบประมาณ และใช้คนที่มีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่าการจัดการน้ำแบบ Non-structured หรือการไม่ใช้โครงสร้าง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับเวลาและปริมาณที่เหมาะสม เพราะการจัดการจราจรน้ำ ทั้งหน่วยงานรัฐฯ และภาคประชาชนจากทุกจังหวัดในพื้นที่ ต้องวางแผนร่วมกัน ไม่สามารถบริหารจัดการแยกกันได้
การรับมือกับปัจจัยทางสภาพอากาศที่ไม่สามารถประเมินได้ล่วงหน้า
การออกแบบระบบระบายน้ำโดยทั่วไป มีการออกแบบภายใต้เงื่อนไขในสถานการณ์ปกติ และเพิ่มเติมได้อีกบางส่วน อาคารโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการออกแบบไว้เพื่อรองรับสถานการณ์แบบหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้รองรับลักษณะการเกิดแบบ extreme event หรือปัจจัยที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะแปรปรวนอย่างหนัก เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีโครงการชลประทานหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าอุทกภัยจะหมดไป แต่เป็นการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง ส่วนเหตุผลที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี อาจเกิดขึ้นจากภูมิประเทศหรือผังเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เพราะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ล้วนมีผลกระทบทำให้ทางน้ำเปลี่ยน หรือปริมาณน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ
เทคโนโลยีหลักในการวัดระดับน้ำ คือการใช้เครื่องวัดระดับน้ำ ที่มีการรายงานผลเป็นเรียลไทม์ทุกชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการรายงานสถานการณ์น้ำแบบ Two-way Communication เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันและลดข้อขัดแย้ง ตัวอย่างเช่นการผันน้ำไปในพื้นที่ต่างๆ จำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วย ต้องมองผลกระทบภาพรวมของลุ่มน้ำจากทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ภาครัฐ และเอกชนไปอยู่ในคณะการทำงาน มีการตัดสินใจหรือมีมติในที่ประชุม เพราะโดยทั่วไปภายใต้สถานการณ์ปกติ กรมชลประทานสามารถตัดสินใจได้องค์กรเดียว แต่เมื่อเกิดวิกฤต ต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เข้ามาร่วมในการจัดการด้วย
บทบาทของกรมชลประทาน ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการปรับตัวของชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
กรมชลประทานพยายามเน้นย้ำและประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนมีส่วนในการลดการใช้ทรัพยากร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่วนมาตรการในการจัดการน้ำ ทางกรมชลประทานได้พยายามใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ โดยให้เขื่อนต้นน้ำแต่ละแห่งกักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนั้นคือการใช้ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งมาใช้ในการจัดการน้ำ ผ่านเครื่องมือทั้งในรูปของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการติดตามน้ำในแม่น้ำ ระบบการจัดจราจรน้ำ และการระบายน้ำ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ถึงระบบการจัดการน้ำในภาพรวม รวมถึงการเน้นย้ำให้รับข่าวสารข้อมูลจากภาครัฐและหน่วยงานราชการ ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สวทช. และกรมชลประทาน
เพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่กับน้ำได้อย่างยั่งยืน