หลังจบอีเวนต์ใหญ่ของประเทศอย่างการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ APEC 2022 ไปเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาพความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ ปรากฏบนสื่อต่างๆ มากมายอย่างที่หลายคนคงได้ผ่านตามา
แต่รู้ไหมว่า เบื้องหลังภาพความสำเร็จล้วนมีเรื่องราวน่าสนใจที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องราวของฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ที่คอยหมุนสอดประสานให้ภาพใหญ่เสร็จสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ชวนไปพูดคุยกับเหล่าคนเบื้องหลังของ บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ NCC PCO ในฐานะหนึ่งในทีมงานเบื้องหลัง ที่ทำให้การจัดงานประชุมเอเปคในรอบ 19 ปีของประเทศไทย สำเร็จลุล่วงมาได้
ภาพความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ล้วนขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กๆ
“เวลาพูดถึงงานขนาดใหญ่แบบ APEC หลายคนอาจจะมองเห็นแต่ภาพใหญ่ และเห็นแต่ภาพความสำเร็จตามสื่อต่างๆ แต่ยังมีเรื่องราวข้างหลังภาพอีกมากมายหลายคนที่เป็นคนทำงานเพื่อให้ได้ภาพนั้นออกมา อาจจะเห็นภาพผู้นำที่ถ่ายรูปร่วมกันในห้องประชุม แต่เรื่องราวที่อยู่หลังรูปใบนั้น ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านที่คอยดูแลความสะอาด หรือช่างทำเก้าอี้ที่ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมา ให้ผู้นำจากทั่วโลกใช้ในงาน แม้แต่เรื่องที่พื้นฐานที่สุดอย่างเรื่องไฟฟ้า เราอาจจะคุ้นชินว่าเมื่อเดินเข้าไปในห้องแล้วไฟต้องติดตลอดเวลา แต่ถ้าไฟเกิดไม่ติดขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น จริงๆ คนตัวเล็กๆ นี่แหละที่เป็นองค์ประกอบฐานรากสู่ความสำเร็จนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนตั้งใจในงานของตัวเองในทุกๆ จุด ก็จะสร้างเส้นทางไปสู่ความสำเร็จได้เอง NCC PCO ถึงให้ความสำคัญกับทุกๆ คนในองค์กร เกิดการจ้างงานให้กับพนักงาน และกระจายรายได้ให้กับทุกภาคส่วน” พีรพรรณ อังคสุโข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เริ่มต้นกล่าวเปิดประเด็น ที่ชวนให้คิดตาม
“ไม่คิดมาก่อนเลย ว่าจะได้มาร่วมงานประชุมเอเปค ซึ่งเป็นงานระดับโลกแบบนี้ แม้เราจะเป็นเบื้องหลังที่ช่วยเติมเต็มงานเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ดีใจมากๆ เราทำงานโดยคิดว่าที่ศูนย์ประชุมฯ เปรียบเหมือนบ้านหลังหนึ่งของเรา ถ้าเป็นบ้าน ก็ต้องมอบความสะอาดให้คนที่มาเยือนอย่างเต็มที่มากที่สุด งานของเราแม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ทีมของเรามีการประชุมวางแผนกันหนักมาก ว่าเดี๋ยวตรงจุดนั้นหรือจุดนี้จะสกปรกแน่ๆ ทุกคนเตรียมพร้อมกันมาก ดีใจที่เราได้มอบความสะอาดให้กับลูกค้า พอมองที่นี่เป็นบ้าน เราถึงจะทำทุกอย่างเต็มที่” เรื่องเล่าของ กรรณิการ์ หรรตุลา พนักงานทำความสะอาดสาว ประจำศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอกย้ำแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี
ต่อจิ๊กซอว์ต้องเริ่มจากวาดภาพใหญ่ให้ตรงกัน
แน่นอนว่างานสเกลระดับชาติแบบนี้ การจัดการเพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้สมบูรณ์ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย พีรพรรณเผยแนวคิดน่าสนใจของ NCC PCO ว่าการต่อภาพจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ การวาดภาพร่วมกันของทุกคนที่มีหน้าที่ช่วยต่อ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะตลอดปี 2022 NCC ได้เป็น PCO ของการจัด APEC จากหลายกระทรวง ตั้งแต่ APEC MRT (Ministers Responsible for Trade–การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค), APEC TMM (Tourism Ministerial Meeting–การประชุมรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว), APEC WEF (Women and the Economy Forum–การประชุมเกี่ยวกับสตรีและเศรษฐกิจ) และ APEC MMRF (Meeting of Ministers Responsible for Forestry–การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้)
“ทุกคนที่อยู่ในทีมแทบจะไม่เคยจัดงาน APEC มาก่อน เพราะฉะนั้น ก่อนจะถึงวันงาน แทบจะไม่มีใครจินตนาการออกเลยว่างานจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องวาดให้เขาเห็นภาพ ว่างานที่เขาทำอยู่ทุกวัน เป็นจิ๊กซอว์ที่จะไปต่อในภาพงานใหญ่อย่างไรได้บ้าง ยกตัวอย่างคนที่มีหน้าที่ทำแบ็กดรอป ทุกวันเขาก็มีหน้าที่ต้องไสไม้ เลื่อยไม้ เพื่อที่จะทำแบ็กดรอปเป็นปกติ เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้เห็นหรอกว่างานของเขาจริงๆ แล้วจะกลายเป็นภาพข่าวที่กระจายไปทั่วโลก เป็นรูปท่านนายกรัฐมนตรีที่ไปจับมือกับผู้นำของเขตเศรษฐกิจต่างๆ แต่ถ้าเราสามารถวาดภาพให้เขาเห็นได้ก่อน เขาก็จะมีความภูมิใจในงานที่กำลังทำอยู่ เรื่องให้ทุกคนเห็นภาพใหญ่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก งานเอเปคที่ทุกคนเห็นอาจจะจัดขึ้นในช่วงเวลาแค่อาทิตย์เดียว แต่ว่าพวกเราเตรียมงานนี้มากกว่า 2 ปี เพื่อให้งานสมบูรณ์แบบที่สุด” พีรพรรณเล่าถึงความตั้งใจ
“ตอนที่รู้ว่าตัวเองจะได้เป็นหนึ่งในพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ได้ต้อนรับแขกในงานเอเปค ตอนนั้นรู้สึกกลัวมาก กลัวจะทำอะไรผิดพลาด เพราะมีเจ้าหน้าที่ มีคนใหญ่โตมาเยอะ กลัวจะทำอะไรติดขัด เพราะถึงแม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ถ้าติดขัดน่าจะส่งผลกระทบกับงานแน่ๆ แต่พอได้ทำจริง ได้ลงมือจริงๆ รู้สึกภูมิใจมากเพราะนี่เป็นงานระดับโลก มันทำให้หนูมองว่าคนเบื้องหลังที่เป็นจุดเล็กๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ ถ้าไม่มีเบื้องหลังงานก็อาจจะไม่ผ่านไปได้ด้วยดีแบบนี้” พรประวี ลาพาพรรณ พนักงานจราจร บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงเวลาการจัดประชุม ซึ่งเป็นช่วงที่เธอนั้นกดดันมากๆ และเมื่อก้าวผ่านมาได้ กลับเหมือนเติบโตไปอีกขั้น
ความท้าทายกับการจัดงานในช่วง Post Pandemic
หากนับกันจริงๆ การจัดประชุมเอเปคที่ประเทศไทยครั้งนี้เป็นการประชุมแบบ Onground จึงไม่ต้องถามถึงความท้าทายและกดดันในการจัดงานในครั้งนี้ “การประชุมเอเปคคราวที่แล้วที่นิวซีแลนด์ ยังเป็น Virtual Conference อยู่เลย งานที่จัดที่เมืองไทยเลยเป็นครั้งแรกที่จัดแบบออนกราวด์ เราจึงต้องให้ความสำคัญในการจัดประชุมให้ปลอดภัย ในขณะที่เราเปิดประเทศแล้ว รวมทั้งแขกที่มาเข้าร่วมประชุมก็ต้องถือว่าเป็นแขกระดับประเทศ อันนี้เลยเป็นความท้าทายในการจัดงานช่วง Post Pandamic และเป็นงานประชุมในสเกลใหญ่มากๆ ด้วย วิธีการของเราคือ เลือกคนที่ใช่ ฝึกฝน และให้ความสำคัญกับทุกตำแหน่ง งานประชุมไม่ใช่งานที่แค่อ่านหนังสือมาแล้วจะทำเป็น ถ้าให้เปรียบเทียบภาพให้เห็นชัดที่สุดคือเราไม่สามารถว่ายน้ำได้จากการแค่อ่านแค่ตัวหนังสือ แต่ว่าประสบการณ์การทำงาน การแก้ไขปัญหาหน้างานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนจากลงมือทำจริงมากที่สุด” พีรพรรณอธิบายถึงแนวคิดในการเลือกสรรคนทำงานในตำแหน่งต่างๆ
“วิธีจัดการกับความกดดันหรือเวลาเกิดปัญหาของผม ง่ายๆ เลย แค่ตั้งสติและแก้ไปตามแบบแผนที่วางไว้ ตัวผมเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ทำหน้าที่ช่วยจัดการดูแลส่วนต่างๆ ในอาคารให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เวลางานที่เราทำไปมีผลตอบรับที่ดี” สิขรินทร์ สุภาวกูล ช่างเวรฯ ปฏิบัติการบำรุงรักษาอาคาร ที่ต้องเดินสำรวจตลอดทั้งงาน ให้มั่นใจว่าว่าไม่มีปัญหาทั้งเรื่องไฟฟ้า และปัญหาเชิงเทคนิคต่างๆ เกิดขึ้นตลอดการจัดงาน
“การทำเก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์ในงานเอเปค เป็นสิ่งท้าทายมากๆ เพราะเวลามีน้อย แต่เราก็ทำงานกันเต็มที่ แม้งานจะมีรายละเอียดเยอะ ขึ้นโครงต้องเป๊ะ ดอกเดือยต้องเป๊ะ ต้องให้ได้ตามแบบที่กำหนด การตกแต่ง การแกะสลัก ทุกขั้นตอนมีความสำคัญหมด แต่เราไม่ท้อนะ ทั้งทีมเราร่วมมือกัน ผมภูมิใจนะที่ได้รับงานที่สำคัญแบบนี้ ภูมิใจแทนทีมงาน บางครั้งได้เห็นเก้าอี้ที่เราเคยทำในโทรทัศน์ เราเองก็ภูมิใจ” อีกหนึ่งคนที่รู้สึกท้าทายมากๆ ในการจัดงานในครั้งนี้ คือ สวิง เบาะดา ผู้รับหน้าที่จัดหาพร้อมทำเก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์บางส่วนให้กับเหล่าผู้นำได้ใช้ภายในงาน
“ผมเคยทำงานเอเปคที่จัดที่ไทยเมื่อปี 2003 มาแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ผมอยู่ที่ NCC มา 26 ปี ผมภูมิใจมากๆ ทุกวันนี้มีความสุขมากครับที่ได้ทำงานที่นี่” นิคม พุชธภูมิ ช่างทำแบ็กดรอปที่อยู่กับศูนย์ประชุมยาวนานกว่า 26 ปี เล่าถึงความสุขและความภาคภูมิใจ
ภาพความสำเร็จที่เป็นของทุกๆ คน
“สำหรับงานประชุมเอเปคครั้งนี้ ทีมงานเราใช้คำเดียวเลยคือคำว่า Achievement เพราะทุกคนรู้ว่าไม่มีการย้อนเวลาให้งานกลับมาจัดอีกครั้งได้ มันจะเป็นครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ เราต้องทำงานนี้ให้สำเร็จให้ได้ ทีนี้พอตั้งคำว่า Achievement เป็นเป้าหมายหลัก ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้า และเป็นหนึ่งในทีมงาน ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ทุกคนไปถึงเป้าหมายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฝึกสอนหรือเรื่องการสร้างประสบการณ์ ไปจนถึงเรื่องการ Empower ให้เขามีอำนาจตัดสินใจในการทำงาน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฝนตก แดดออก ฟ้าร้อง ทุกคนยึดคำว่า Achievement เพื่อให้งานสำเร็จ” พีรพรรณพูดถึงแรงผลักดันเบื้องหลังที่ทำให้ทีมทุกคนก้าวผ่านความกดดัน ความท้าทายมาได้
“เราไม่ได้มองคำว่า Achievement เป็นความกดดันส่วนบุคคลนะ แต่มันเป็นความสำเร็จ ของทีมงานทุกคนจริงๆ แน่นอนว่าทุกการทำงานต้องมีความกดดัน แต่ถ้าไม่มีความกดดัน เราก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จในการทำงาน เคยมีคำที่มีคนกล่าวไว้ว่า ‘คนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย’ การที่เราจะไปถึงความสำเร็จได้ ต้องไม่คิดถึงแค่ตัวเองคนเดียว ทุกงานที่ NCC PCO ล้วนเป็นเรื่องของ Team Achievement” พีรพรรณอธิบายปิดท้ายด้วยว่า งานนี้เป็นงานที่ต้องมีใจรักก่อน เพราะทุกอย่างล้วนมีแต่ความกดดัน แต่ความรู้สึกสำเร็จหลังจบงาน เป็นความอิ่มเอม และเป็นเสน่ห์ที่ไม่สามารถหาจากงานอื่นได้
เบื้องหลังภาพถ่ายความสำเร็จ ยังมีเรื่องราวมากมายที่ไม่ได้ถูกบันทึก ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยพลังจากคนเล็กๆ เหล่านี้ ที่ช่วยกันประกอบให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้